...+

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บีโอไอ:บทเรียนจากภาพยนตร์ “วอลล์สตรีท เงินอำมหิต”

โดย ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์ 30 มกราคม 2554 14:02 น.
ในช่วงปลายปีที่ผ่านมามีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่เป็นข่าวเกรียวกราว คือ เรื่อง วอลล์สตรีทภาค 2 ที่ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “วอลล์สตรีท เงินอำมหิต” หรือมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Wall Street : Money Never Sleeps” โดยสุดยอดของผู้กำกับภาพยนตร์ คือ โอลิเวอร์ สโตน ซึ่งเป็นบุคคลที่คุ้นเคยกับเมืองไทยเป็นอย่างดี เนื่องจากเคยนำภาพยนตร์ฮอลลีวูดมาถ่ายทำในประเทศไทยหลายเรื่อง

สำหรับตัวละครสำคัญที่นำแสดงในภาพยนตร์ คือ ไมเคิล ดักลาส ดาราเจ้าบทบาทชื่อดัง รับบทตัวละครนายกอร์ดอน เก็คโค เป็นสุดยอดนักเล่นหุ้นในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทที่ทำทุกอย่างไม่ว่าจะถูกกฎหมาย หรือไม่ก็ตาม เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลภายใน (Inside Information) เพื่อใช้ในการแสวงหากำไรในตลาดหุ้น

สำหรับลูกสมุนคนสำคัญของนายเก็คโค คือ นายบัด ฟอกซ์ ซึ่งแสดงโดยนายชาลี ชีน ทำหน้าที่แสวงหาข่าวภายในจากบรรดาเพื่อนฝูง รวมถึงไปซื้อกิจการบริษัททำธุรกิจให้บริการทำความสะอาดสำนักงาน เพื่อให้ตนเองซึ่งปลอมตัวเป็นหัวหน้าพนักงานทำความสะอาด สามารถเข้าไปรื้อค้นเอกสารลับภายในบริษัทต่างๆ ที่เป็นลูกค้าใช้บริการทำความสะอาด โดยไม่มีใครสงสัย

ภาพยนตร์ในภาคแรกได้นำเสนอคำพูดของนายเก็คโคที่อมตะตลอดกาลสำหรับภาพ ยนตร์ฮอลลีวูด ที่ต่อมากลายเป็นคำพูดที่อ้างอิงกันแพร่หลายว่า “Greed is good” หรือ “ความโลภเป็นสิ่งที่ดี” ดังนี้

“ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ คำว่าความโลภ เนื่องจากไม่สามารถเสาะหาคำที่เหมาะสมกว่านี้ได้ เป็นสิ่งที่ดี ความโลภเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ความโลภทำให้การดำเนินการประสบผลสำเร็จ ความโลภช่วยสร้างความชัดเจนและทำให้เราเจาะเข้าถึงสาระของวิญญาณแห่ง วิวัฒนาการ”

สำหรับตอนจบในภาคที่แล้ว นายเก็คโคกำลังถูกทางการรวบรวมหลักฐานเพื่อจับกุมในข้อหาค้าหุ้นอย่างผิด กฎหมายโดยอาศัยข้อมูลภายใน (Insider Trading) ทั้งนี้ นายไมเคิล ดักลาส เล่นบทนี้ได้ยอดเยี่ยมมาก ทำให้เขาคว้ารางวัลออสการ์ในฐานะดาราแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยมจากการแสดงในภาพ ยนตร์วอลล์สตรีทภาคแรกเมื่อปี 2530 ซึ่งนับเป็นภาพยนตร์ที่ประสบผลสำเร็จมาก โดยได้รับทั้งรางวัลและรายได้ เป็นการลบล้างภาพลักษณ์ที่ว่าภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาในลักษณะคมเฉือนคมในทาง ธุรกิจจะไม่ทำเงิน

สำหรับในภาคที่ 2 เป็นการเล่าเรื่องเหตุการณ์ภายหลังจากที่นายเก็คโคติดคุกยาวนานถึง 8 ปี เมื่อพ้นคุกออกมาแทบจะไม่หลงเหลือความยิ่งใหญ่เลย ไม่มีใครมารอรับที่ประตูคุก ต้องเดินทางกลับบ้านเองในสภาพเดียวดาย แตกต่างจากนักโทษคนอื่นๆ ที่แม้ยากจน แต่ก็ยังมีญาติพี่น้องมารอรับ

สำหรับพระรองในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ เจค มัวร์ ซึ่งแสดงโดยนายไชอา ลาบัฟ เป็นวาณิชธนกรในบริษัทวาณิชธนกิจ Keller Zabel Investments และเป็นแฟนกับวินนีย์ (แครีย์ มัลลิแกน) ซึ่งเป็นลูกสาวของเก็คโค

สำหรับตัวโกงในภาคนี้ คือ นายเบร็ตตัน เจมส์ หุ้นส่วนคนหนึ่งในบริษัทวาณิชธนกิจ Churchill Schwartz ซึ่งแสดงโดยนายจอช โบรลิน โดยเป็นบุคคลสำคัญที่ในอดีตอยู่เบื้องหลังในการนำหลักฐานไปให้ทางการจนทำให้ นายเก็คโคต้องเข้าคุก โดยมีบุคลิกลักษณะสุขุมเยือกเย็น แต่ซ่อนไปด้วยความทะเยอทะยานสูง ต้องการทำกำไรมากที่สุดไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลงก็ตาม โดยค้าหุ้นผ่านบัญชีลับของตนเองในนาม Locust Fund ทั้งนี้ ได้ใช้ข้อมูลภายในที่มองเห็นล่วงหน้าถึงวิกฤตเศรษฐกิจว่ากำลังจะเกิดขึ้น และเก็งกำไรอย่างถูกต้องว่าราคาหุ้นจะตกต่ำในอนาคต ทำให้มีกำไรมากมาย

ในที่สุดนายเก็คโคและนายมัวร์ได้ร่วมมือกันโค่นนายเบร็ตตันเพื่อชำระ แค้น โดยเปิดเผยความชั่วร้ายผ่านเว็บไซต์ Frozen Truth ของลูกสาว ว่าได้ค้าหุ้นอย่างลับๆ อย่างผิดกฎหมาย แม้เป็นเว็บไซต์ที่ไม่มีชื่อเสียง แต่ข่าวสารได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้นายเบร็ตตันถูกปลดออกจากบริษัท นอกจากนี้ ยังถูกทางการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีในข้อหาผิดกฎหมายหลายกระทงอีกด้วย ทั้งผิดกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในด้านการปั่นหุ้น และผิดกฎหมายในด้านหนีภาษี

สำหรับภาพยนตร์เรื่องวอลล์สตรีททั้ง 2 ภาค ได้สอนบทเรียนหลายประการ

ประการแรก การเปิดเผยความชั่วร้ายทางอินเทอร์เน็ต นั้น แม้ผ่านเว็บไซต์ขนาดเล็กที่ดูผิวเผินยังไม่มีชื่อเสียงติดตลาดก็ตาม แต่สามารถเผยแพร่ข้อมูลอย่างรวดเร็วจนเราคิดไม่ถึง

ประการที่สอง ผู้ฉลาดย่อมสามารถทำกำไรได้ไม่ว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงก็ตาม ขณะที่บรรดาหมูก็จะถูกเชือดวันยังค่ำ หรือที่ตรงกับสุภาษิตไทยที่ว่า “คนโง่ย่อมเป็นเหยื่อของคนฉลาด”

ประการที่สาม การเก็งกำไรในตลาดหุ้นนั้น ข้อมูลภายในนับเป็นปัจจัยสำคัญ โดยนายเก็คโคได้กล่าวว่า “สินค้าที่มีมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่ผมรู้จัก คือ ข้อมูลข่าวสาร”

ประการที่สี่ การซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายในก็ถือเป็นอาชญากรรมถึงขั้นติดคุกได้

ประการที่ห้า หากติดคุกแล้ว ก็ไม่แย่เสมอไป โดยนายเก็คโคกล่าวในภาพยนตร์ว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่เขามีโอกาสเรียนรู้ จากภายในคุก ต้องขอขอบคุณคนที่ส่งเขาเข้าไป กล่าวคือ บางครั้งคุกอาจเป็นเพียงสถานที่แห่งเดียวเท่านั้นที่จะมีเวลาว่างให้นึกคิด ไตร่ตรองและก่อให้เกิดสติสัมปชัญญะขึ้น โดยเมื่อมองผ่านกรงขังออกไปภายนอกแล้ว จะตั้งคำถามตนเองว่า “คนอยู่ภายนอกคุกนั้น มันบ้าหรือเปล่า?”

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2553-8111 หรือที่ head@boi.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น