...+

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

แบกกล้อง ท่องเที่ยว ห้องความรู้ที่ไม่มีวันหมด

ความสวยงามของภาพถ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาพทิวทัศน์ สัตว์เลี้ยง คน อาหาร หรือสถาปัตยกรรม ล้วนดึงดูดให้เราสนใจได้ไม่ยาก ไม่เฉพาะความสวยงามทางศิลปะเท่านั้น แต่แรงบันดาลใจก็ก่อตัวขึ้นทุกครั้งครั้งที่เราได้ชื่นชม บางคนเห็นที่สถานที่ท่องเที่ยวในภาพแล้วเกิดอาการชีพจรลงเท้า อยากเดินทางขึ้นมาทันใด หรือบางคนอยากกดชัตเตอร์ขึ้นมาเสียเอง

ช่างภาพตั้งกล้องถ่ายภาพทางธรรมชาติ (ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต)


จะว่าไปแล้วการถ่ายภาพสวยๆขึ้น มาสักภาพคงไม่ยากเย็นอะไร แค่ทอดสายตามองผ่านเลนส์ แล้วกดชัตเตอร์ก็ได้ภาพที่อยู่ตรงหน้าเก็บเป็นความทรงจำ 1 ใบ แต่ถ้าต้องการอยากได้รูปสวยๆ ช่างภาพรุ่นใหม่หลายคนคงมีคำถามในใจว่า จะซื้อกล้องแบบไหน ถ่ายภาพอย่างไร หรือควรจะเริ่มจากอะไรดี

ลองมาดูมุมมองช่างภาพหน้าใหม่ อย่าง "แม็กซ์" กานตพงศ์ สุธาธรรม นัก ศึกษาสาขามัลติมีเดีย ชั้นปีที่4 และนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต ชั้นปีที่1 ม.รังสิต ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการกดชัตเตอร์ครั้งแรกว่า ชอบดูภาพถ่ายตามอินเตอร์เนต เมื่อเห็นภาพสวยๆแล้วประทับใจ เกิดอยากถ่ายภาพขึ้นมาเองบ้าง จึงซื้อกล้องคอมแพคแล้วเริ่มถ่ายภาพทุกอย่างรอบๆตัว ถ่ายมาเรื่อยๆ และศึกษาเรื่องการถ่ายภาพและการใช้กล้องอย่างจริงจัง เป็นช่างภาพมือสมัครเล่นมาร่วม 2 ปี

"เรา เห็นว่าภาพแบบนั้นเขาถ่ายได้ไง ทำไมกล้องคอมแพคเราถ่ายไม่ได้ ก็เลยซื้อกล้องแบบDSLR (Digital Single Lens Reflex) มาใช้ ซึ่งมีข้อดีคือ เป็นกล้องกึ่งโปรที่ราคาไม่แพงมาก มีOptionที่หลากหลายและเล่นภาพได้หลายแบบ ส่วนตัวไม่ได้ถ่ายรูปส่งประกวดจริงจัง แค่อยากออกไปเที่ยว ก็ไปกับเพื่อนๆบ้าง ไปคนเดียวบ้าง อย่างไปมาบุญครองเห็นแสงสวยดี ก็ตั้งขาตั้งกล้องถ่ายรูปตรงนั้นเลย ไปเชียงรายก็ถ่ายวัด ชอบไปเที่ยวมากกว่า ก็ถือโอกาสถ่ายรูปไปด้วย ถ้าไปเที่ยวอย่างเดียวไม่เก็บภาพมาด้วย มันก็เหมือนไม่ได้บันทึกความทรงจำที่นั้นๆไว้" แม็กซ์เล่า

"แม็กซ์" กานตพงศ์ สุธาธรรม นศ.สาขามัลติมีเดีย ชั้นปีที่4 ม.รังสิต
แม็กซ์ ยอมรับว่า ความหลงใหลในการลั่นชัตเตอร์ เกิดจากความชอบท่องเที่ยวเป็นหลัก หากเดินทางท่องเที่ยวแล้วไม่ได้เก็บภาพความประทับใจมาด้วยก็เหมือนทิ้งความ ทรงจำของช่วงเวลานั้นให้กลืนหายไปกับกาลเวลา กล้องจึงกลายเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่เขาขาดไม่ได้ทุกครั้งที่ออกเดินทาง

"ถาม ว่าเสน่ห์การถ่ายภาพอยู่ตรงไหน ผมว่ามันเป็นเสน่ห์ของภาพถ่ายมากกว่า ภาพถ่ายมันดึงดูดคน เหมือนอย่างที่ช่างภาพเขาถ่ายภาพลงหนังสือต่างๆ หรือโปสการ์ดที่เราเคยดู คือมันดึงดูดและสร้างแรงบันดาลใจให้ผมอยากถ่ายรูปให้ได้แบบนี้บ้าง แล้วพอเราถ่ายรูปออกมาสวยก็เป็นความภูมิใจว่า เราทำได้" แม็กซ์กล่าว

แม็กซ์ บอกอีกว่า การถ่ายภาพให้ออกมาดี ไม่จำเป็นต้องใช้กล้องแพงๆ หรือมีอุปกรณ์เสริมครบครัน แต่อยู่ที่การทำซ้ำบ่อยๆ ถ่ายภาพให้บ่อยจนชินมือแล้วจะเป็นการฝึกฝนไปเองในตัว และยังได้ความสุขในการเดินทางท่องเที่ยวไปด้วย แม้แต่กล้องคอมแพคเองก็สามารถถ่ายภาพออกมาสวยได้ สาเหตุที่กล้องDSLR เข้ามามีบทบาทเพราะ คอมแพกยังเล่นแสง หรือการปรับชัดตื้น-ชัดลึกยังดีไม่เท่า อย่างไรก็ตาม เขามองว่าภาพถ่ายก็เป็นเรื่องของฝีมือของคนถ่ายมากกว่า

"เรา ก็ต้องพิสูจน์ฝีมือก่อน อย่างหลายคนโพสต์รูปตามบล็อคต่างๆก็เป็นการพิสูน์ฝีมือตัวเองแบบหนึ่ง อาจจะมีแมวมองของนิตยสารเข้ามาแล้วชอบใจ อาจจะจ้างเราก็ได้ การถ่ายรูปมันไม่มีข้อกำหนดหรือมีใครมาตัดสินว่าเก่งไม่เก่ง มันอยู่ที่มุมมองของแต่ละคนว่า มองว่าภาพนั้นเป็นภาพยังไง คนนึงมองมุมหนึ่ง ก็เห็นภาพเป็นแบบหนึ่ง อีกคนมองเห็นต่างออกไป ก็อยากฝากว่าถ้าเพิ่งเริ่มถ่ายรูป ไม่ต้องกลัวว่าจะสวยไม่สวย กดๆชัตเตอร์ไปเถอะ กดไปมากๆเข้าเดี๋ยวมันก็เริ่มสวยขึ้นเองแหละครับ หรือถ้าคนอื่นบอกไม่สวย แต่มันสวยในมุมมองเราก็พอแล้ว" แม็กซ์เล่า

อภินันท์ บัวหภักดี บ.ก.ภาพ อนุสาร อ.ส.ท.
ในขณะที่ "เจี๊ยบ" หรือ อภินันท์ บัวหภักดี บรรณาธิการ ภาพอนุสาร อ.ส.ท. และช่างภาพมืออาชีพ อธิบายว่า การศึกษาเรื่องกล้องและภาพถ่าย ควรเริ่มศึกษาจากกล้องฟิล์มก่อน เนื่องจากกล้องฟิล์มทำให้ศึกษาได้อย่างรู้ลึก - รู้จริง สามารถเรียนรู้ได้ว่าภาพมาได้อย่างไร กล้องดิจิตอลเรียนรู้ได้น้อยกว่ากล้องฟิล์ม แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่ากล้องดิจิตอลในปัจจุบัน เพิ่มความสะดวกสบายขึ้นได้มาก

"กล้อง ดิจิตอลมันทำให้ขาดความนุ่มลึกในการถ่ายภาพไปเยอะทีเดียว ตรงนี้อาจจะเป็นสิ่งบั่นทอนในการเรียนรู้ แต่ข้อดีคือกล้องดิจิตอลมีส่วนช่วยในการกระจายภาพถ่ายไปในสื่ออื่นๆได้ อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว แต่ภาพจะออกมาดีไม่ดี หลักๆมาจากฝีมือช่างภาพเอง ซึ่งสามารถเรียนรู้กันได้ ขึ้นอยู่กับว่ามีความตั้งใจจริงมากแค่ไหน และต้องหมั่นหาเวทีถ่ายภาพให้ได้มากๆ จริงๆการถ่ายภาพมันสัมพันธ์กับการเดินทางท่องเที่ยว คือ ช่างภาพยิ่งเดินทางท่องเที่ยวด้วย ยิ่งมีมุมมอง และประสบการณ์มากขึ้น มีแนวคิดในการจะถ่ายอะไร ถ่ายอย่างไรมากขึ้นเรื่อยๆ" อภินันท์กล่าว

นอกจากนี้อภินันท์ยังเห็นว่า การถ่ายภาพไม่ใช่เรื่องของอุปกรณ์ขั้นเทพ แต่เป็นประสบการณ์ที่ค่อยๆสั่งสมมาเรื่อยๆ แม้จะมีอุปกรณ์ที่ดี ก็สู้ออกไปท่องเที่ยวเก็บประสบการณ์ข้างนอกไม่ได้ และต้องบวกกับความพยายามของช่างภาพเอง ความพยายามเป็นบ่อเกิดแห่งความสำเร็จ อีกทั้งการถ่ายภาพเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ด้านของศาสตร์ สามารถศึกษาเรียนรู้ได้เท่าทันกันหมด หากต้องการถ่ายภาพให้ดีๆ ก็ต้องศึกษา ในส่วนของศิลป์ เป็นเรื่องส่วนตัวของใครของมันแต่ศิลปะไม่มีสูตรสำเร็จ เป็นมุมของใครของมันที่อยากนำเสนอออกมา

"สำหรับ นักศึกษาเท่าที่เจอมา จะเป็นการรวมกลุ่ม หรือรวมเป็นชมรม เขาก็ฝีมือดีมากนะ และขยัน สนใจศึกษาในการถ่ายภาพมาก นักศึกษากลุ่มนี้เขาสนใจเฉพาะด้านจริงๆ เขาก็ก้าวหน้าไปในสิ่งที่เขาสนใจ ก็ดีมากเลย เขามีศักยภาพที่สูงทีเดียว เคยเจอบางคนก็ถ่ายภาพเก่งดูแล้วคุณภาพการศึกษาบ้านเราก็ไม่ได้ด้อย เด็กเก่งๆก็ยังมีอยู่" อภินันท์กล่าว

ช่างภาพเก็บภาพมุมสูง(ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต)
ด้าน ธันยพัฒน์ รัตนสาสน์ ผู้ จัดการฝ่ายการตลาดทางตรง บ.โฟโตฮัทฮัท กรุ๊ป(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงกล้องที่เหล่านักศึกษานิยมว่า นักศึกษาส่วนใหญ่จะซื้อเป็นDSLR (Digital Single Lens Reflex) ชื่อดัง 2 ยี่ห้อ เนื่องจากเขาจะต้องใช้กล้องแบบนี้เรียน โดยเฉพาะสาขานิเทศศาสตร์สาเหตุอาจเป็นเพราะทั้ง 2 ยี่ห้อเป็นแบรนด์ที่ติดตลาด และช่างภาพมืออาชีพก็ใช้กันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งภาพที่ได้มีคุณภาพดี

"กล้อง ดิจิตอลแบบซิงเกิลเลนส์ตอนนี้ราคาถูกลงมาก ก็ทำให้กลุ่มที่เคยเล่นกล้องคอมแพคหันมาใช้แบบซิงเกิลเลนส์มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษาก็ถามหาแบบซิงเกิลเลนส์กันแล้ว ธรรมชาติการถ่ายภาพของนักศึกษาคือ มักจะไปเป็นกลุ่มเป็นก๊วน น้องๆซื้อไปเขาก็ไปแลกเปลี่ยนอุปกรณ์กันใช้ในกลุ่ม คนไหนมีแฟลต มีเลนส์ ก็ยืมกันใช้ มันก็เอื้อประโยชน์ให้เขาด้วย ถ้าเพื่อนมียี่ห้อไหน เขาก็จะเชียร์ให้ซื้อยี่ห้อเดียวกันทั้งกลุ่มเพื่อจะได้แลกเปลี่ยนกันได้ เพราะถ้าเขาจะซื้อAccessory เพิ่มเอง มันก็ต้องใช้เงินอีกเยอะ" ธันยพัฒน์ เล่า

นอกจากนี้ ธันยพัฒน์ยังเล่าอีกว่า นักศึกษาในปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ามาเพื่อถามความรู้การถ่ายภาพจาก พนักงานมากนัก เพราะเขาจะศึกษาเองมาก่อนแล้ว จากการสังเกตพบว่าน้องๆมักจะเลือกกล้องจากการใช้งานเป็นหลัก ไม่ถึงกับเป็นแฟชั่นที่เห็นพอเห็นมีแล้วอยากมีตาม แต่ส่วนใหญ่จะมีจุดมุ่งหมายส่วนตัวอยู่แล้วว่าจะเอาไปใช้งาน ก็ขึ้นอยู่กับภาพที่เขาต้องการว่าอยากได้แบบไหน ทางเราจึงจะเข้าไปแนะนำกล้องที่เหมาะสม

"กล้อง คอมแพกต่างกับซิงเกิลเลนส์เยอะนะ ต่างในเรื่องของรายละเอียด ความคมชัด การวัดแสง ถ้าต้องนำไปใช้ในงานไวนิล หรือหนังสือพิมพ์ก็ต้องเลือกที่ความละเอียดสูงๆ ไว้ก่อน และต้องใช้ไฟล์ใหญ่เพราะถ้าใช้ความละเอียดน้อยภาพก็แตก ไม่สวยงาม ต้องดูก่อนว่าลูกค้าจะเน้นแบบไหน ถ้าชอบท่องเที่ยว รักการถ่ายภาพก็จะเล่นซิงเกิลเลนส์กัน แต่ถ้าต้องการซื้อไว้พกติดตัว ไปไหนก็หยิบถ่ายรูปได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว เจอเหตุการณ์อะไรก็กดชัตเตอร์ไป ใช้ออโต้อย่างเดียว ก็จะแนะนำเป็นกล้องคอมแพค" ธันยพัฒน์ กล่าว

อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าการถ่ายภาพเจ๋งๆสักใบ คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพียงแต่ต้องอาศัยความใฝ่รู้ใฝ่เรียนสักหน่อย บวกกับการเดินทางท่องเที่ยวหากำไรชีวิตเพิ่มเติมเข้ามาอีกนิด เพียงเท่านี้ รูปสวยๆก็มาอยู่ในมือเราได้ไม่ยาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น