...+

วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ที่มาของการให้พรในพุทธศาสนา

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗
จุลวรรค ภาค ๒

[๑๘๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า อันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมแล้ว กำลังทรงแสดงธรรม ได้ทรงจามขึ้น ภิกษุทั้งหลายได้ถวายพระพรอย่างอึงมี่ว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงพระชนมายุ ขอพระสุคตจงทรงพระชนมายุเถิดพระพุทธเจ้าข้า ธรรมกถาได้พักในระหว่างเพราะเสียงนั้น จึงพระผู้มีพระภาครับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ถูกเขาให้พรว่า ขอจงเจริญชนมายุในเวลาจาม จะพึงเป็น หรือพึงตายเพราะเหตุที่ให้พรนั้นหรือ
ภิ. ไม่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า
ภ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงกล่าวคำให้พรว่า ขอจงมีชนมายุ ในเวลาที่เขาจาม รูปใดให้พร ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
[๑๘๖] สมัยนั้น ชาวบ้านให้พรในเวลาที่ภิกษุทั้งหลายจามว่า ขอท่านจงมีชนมายุ ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ มิได้ให้พรตอบ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร เมื่อเขาให้พรว่า จงเจริญชนมายุ จึงไม่ให้พรตอบเล่า ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านมีความต้องการด้วยสิ่งเป็นมงคล เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ที่เขาให้พรว่า จงเจริญชนมายุ ดังนี้ ให้พรตอบแก่ชาวบ้านว่า ขอท่านจงเจริญชนมายุยืนนาน

โดยแท้จริงแล้วคำว่า "พร" นั้นแปลว่า..."คำพูด ที่แสดงความปรารถนา" ซึ่งเกิดจากผู้รับพร ต้องการความดี ความเป็นมงคล
เรื่องของการให้พร ขอพร มีบันทึกมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้วมีการขอพรของนางวิสาขา ต่อพระพุทธองค์...การขอพรของนางสุชาดา ต่อพระอินท์...ในสมัยนั้น ก็มีชาวบ้านมาขอพรจากพระสงฆ์เช่น...ขอให้ท่านกล่าวว่า...จงมีอายุยืนยาว ดังนี้เป็นต้น

ในเบื้องต้น พระพุทธองค์ทรงคำนึงเรื่อง ศีล และความถูกต้องจึงไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุให้พรใดๆเลย แม้พระองค์เอง ก็ไม่ให้พรแต่สอนให้ทำความดีแทน เมื่อนางวิสาขา ซึ่งเป็นอุบาสิกา มาขอพร พระพุทธองค์ตรัสว่า..."ตถาคตเลิกให้พรแล้ว วิสาขา" ทั้งนี้เพราะความสำเร็จ ย่อมไม่ได้จากพรที่รับ แต่มาจากผลของกรรมหรือการกระทำที่ทำไว้ ดังพุทธพจน์ที่ว่า..."ผู้ใดทำกรรมอย่างใดไว้ ย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้น"

แต่ต่อมา เมื่อพระสงฆ์ไม่ให้พรเลย ก็เป็นที่ติเตียนของชาวบ้านอีกพระพุทธองค์จึงทรงพิจารณาและเห็นว่า ที่แท้แล้ว ชาวบ้านต้องการสิ่งที่เป็นมงคล จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุให้พรได้ ดังพุทธพจน์นี้..."ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านมีความต้องการด้วยสิ่งเป็นมงคลเราอนุญาตให้ภิกษุ...ให้พรตอบแก่ชาวบ้านว่า ขอท่านจงเจริญชน
มายุยืนนาน"....พระวินัยปิฎก ๗/๑๘๖

ถ้าสังเกตุดีๆ เราจะพบว่า เมื่อมีการอวยพร หรือรับพร ทุกคนจะรู้สึกได้ทันทีว่า นั่นเป็นสิ่งดี เป็นสิ่งดีงามที่เกิดขึ้นในตอนนั้น ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะมีคุณธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเสมอ ในการให้พรนั้นคือ "เมตตาธรรม" เป็นความเมตตาของผู้ให้พร ที่ประสงค์จะให้ผู้รับ มีความสุข มีความเจริญ ได้รับสิ่งที่ดี...ผู้รับเองก็รู้สึกได้ในทันที ดังนั้น การให้พร และรับพร จึงเป็นสิ่งที่ดีเสมอ ในสังคมเรา

การขอพร ก็เป็นเรื่องแปลก ความจริง เราทุกคนก็ทราบกันว่า..."ผลย่อมมาจากเหตุ" คือ...เช่นทำดี ก็ย่อมได้ดี แต่ในสมัยนี้เมื่อเราขอพร เราก็มักจะขอผลที่ดีงามเลย คือ ขอผลดี โดยไม่หวังว่าจะทำเหตุที่ดีแต่อย่างใด แต่สมัยโบราณ คนจำนวนมากขอพรที่จะได้ทำเหตุที่ดี คือ ขอเพื่อจะได้มีโอกาสทำความดี เช่น.พรของนางวิสาขา เป็นต้น

นางวิสาขาได้ขอพรที่จะถวาย ผ้าสรง น้ำ อาหาร ที่เหมาะกับภิกษุอาพาธ และยา เป็นต้น คือ ขอต่อพระพุทธองค์ให้ภิกษุรับของเหล่านี้ได้ จากบุคคลที่ต้องการถวาย โดยนางวิสาขา ไม่ได้ขอพร อะไรให้แก่ตนเองเลย แต่เป็นการขอโอกาสที่จะทำดี และให้มีพุทธบัญญัติให้พระสงฆ์รับสิ่งเหล่านี้ได้จากคนทั่วไป เพื่อที่ทุกคนจะได้ทำบุญ
เหล่านี้ได้

อย่างไรก็ตาม การให้พรหรือรับพร เป็นเรื่องของความดีงามทั้งสิ้น แต่นี้ไป เมื่อเราจะให้พรใคร ให้ตั้งความเมตตาไว้ในใจแล้วให้พร เมื่อจะรับพร ให้คิดว่า เราจะทำสิ่งที่ดีงาม เพื่อที่พรที่เรารับนั้นจะได้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นมงคลมากขึ้น พระพุทธองค์ทรงสอนว่า...เมื่อเรามี 'ความสุจริต'...พร้อมทั้ง กายวาจาใจ เมื่อนั้น คือ..'มงคลดี เวลาดี' จะทำอะไรก็ดี จะรับพร ก็ย่อมต้องดีด้วยเช่นกัน ฯ

พรที่ประเสริฐ
การบำเพ็ญกุศลนั้นน่าจะถือได้ว่าเป็นการให้พรตัวผู้ทำกุศลเองประการหนึ่งนอกไปจากพรที่ได้รับจากผู้อื่นที่มีผู้อื่นให้ พรทั้งสองประการนี้ผู้รับจะรับได้เพียงไรหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการทำใจเป็นสำคัญที่สุด

พร คือความดี การให้พรก็เช่นเดียวกับการรับวัตถุสิ่งของ จะต้องมีเครื่องรับการรับวัตถุต้องมีเครื่องรับเป็นวัตถุ เช่น มือ ภาชนะ อื่น ๆไม่เช่นนั้นจะรับวัตถุใดไม่ได้ แม้มีผู้ส่งให้ ผู้รับไม่มีเครื่องรับไม่ยื่นมือมารับ ของก็จะหายหกตกหล่นหมดสิ้นจะรับไว้เป็นสมบัติของตนไม่ได้

ไม่มีอะไรจะรับพรได้...นอกจากใจ

การรับพรก็เช่นกันแต่เมื่อพรมิใช่เป็นวัตถุ จะเตรียมเครื่องรับที่เป็นวัตถุเช่นมือหรือภาชนะอื่น ๆย่อมรับไม่ได้ พรเป็นเครื่องของจิตใจ คือ ผู้ให้ตั้งใจด้วยปรารถนาให้พรโดยเปล่งเป็นวาจาบ้างหรือเพียงนึกในใจบ้างการจะสามารถเป็นผู้รับพรอันเป็นเรื่องของจิตใจได้จะต้องเตรียมเรื่องรับที่เกี่ยวกับจิตใจเช่นกัน และก็มีเพียงอย่างเดียวคือ ใจไม่มีอะไรอื่นจะทำให้สามารถรับพรได้นอกจากใจ

ใจเท่านั้น ที่สามารถรับพรได้ทั้งพรที่ตนเองให้ตนเอง และพรที่ผู้อื่นให้ นั่นก็คือต้องทำใจให้พร้อมที่จะรับพรได้

มีใจอยู่ เหมือนมีมืออยู่เมื่อมีผู้ส่งของให้ ก็ต้องยื่นมือออกไปรับไปถือ จึงจะได้ของนั้นมาไม่ยื่นมือออกรับออกถือ ก็รับไม่ได้ ก็ไม่ได้มา และแม้เป็นของที่ดีที่สะอาดมือที่รับไว้เป็นมือที่สะอาดของดีที่สะอาดก็จะไม่แปดเปื้อนความสกปรกที่มือจะเป็นของดีของสะอาดควรแก่ประโยชน์จริง

พึงพิจารณาถึงเหตุของพรที่ได้รับให้ถ่องแท้

การรับพรต้องน้อมใจออกรับ คือ ใจต้องยินดีที่จะรับ และต้องเป็นใจที่สะอาดไม่เช่นนั้นจะรับพรไม่ได้ พรที่ตนเองพยายามให้แก่ตนเองก็รับไม่ได้พรที่ขอจากผู้อื่นก็รับไม่ได้
เพื่อให้สามารถรับพรอันเกิดจากการบำเพ็ญกุศลด้วยตนเองผู้ทำกุศลต้องมีใจผ่องใสเตรียมรับ ขณะกำลังรับ และเมื่อรับไว้แล้วและด้วยใจที่ผ่องใสนั้นพึงพิจารณาที่มีผู้ให้ ให้เข้าใจกระจ่างชัดว่าพรนั้นเป็นผลของเหตุใด เพราะธรรมดา เมื่อให้พรพรนั้นก็เป็นการแสดงชัดแจ้งเพียงส่วนผล ส่วนเหตุเร้นอยู่เบื้องหลัง เมื่อให้พรสั้นๆ เพียงผลแม้มิได้แสดงเหตุแต่ก็เท่ากับให้พรที่รวมทั้งเหตุแห่งผลนั้นด้วย

การรับพรที่ให้ผลสมบูรณ์จริง

เช่นเมื่อมีผู้ให้พรว่า ขอให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละผู้จะสามารถรับพรนั้นได้จะต้องมีใจผ่องใส พิจารณาให้เห็นตลอดสายให้เข้าใจว่าพรที่แท้จริงสมบูรณ์ คือ ขอให้รักษาตัว รักษาใจให้ดี อย่าให้เศร้าหมองจะได้มีอายุยืน มีผิวพรรณงาม มีความสุขมีกำลังแข็งแรง

พรนี้มีทั้งส่วนเหตุที่เร้นอยู่ไม่แสดงแจ้งชัด คือขอให้รักษาตัว รักษาใจให้ดี อย่าให้เศร้าหมอง ส่วนผลของพรนี้ที่แสดงแจ้งชัด คือขอให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ผู้จะรับพรที่มีผู้ให้แล้วได้จึงต้องทำใจให้ผ่องใสพิจารณาให้เห็นส่วนเหตุของพรนั้นและปฏิบัติให้ได้ในส่วนเหตุ จึงจะได้รับส่วนผลเป็นการรับพรสมบูรณ์จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น