...+

วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

จากเกาหลีใต้ถึงสะพานมัฆวานฯ- ทำเนียบรัฐบาลอภิสิทธิ์....

โดย สำราญ รอดเพชร 22 กุมภาพันธ์ 2554 16:20 น.



ต้องกราบขออภัยท่านผู้อ่านที่สัปดาห์ก่อนงด “หน้ากระดานเรียงห้า” ไปดื้อๆ เหตุเพราะเจอภาคบังคับของหลักสูตร “การพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.)” รุ่นที่ 2 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นเจ้าของหลักสูตร พาไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ตอนแรกวางโปรแกรมไว้ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกไปสเปน กลุ่มที่สองไปอียิปต์ ผมเลือกไปอียิปต์ แต่บังเอิญอียิปต์เกิดเหตุชุมนุมไล่มูบารัค เขาเลยเปลี่ยนจากอียิปต์ไปเกาหลีใต้แทน..

ถึงจะน่าเสียดาย แต่เดินทางไปแดนกิมจิหนนี้ก็พอจะได้ความรู้ ความคิดติดหัวติดไม้ติดมือมาบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงสปิริตของนักการเมืองเกาหลีใต้..

อันที่จริงจะว่าไปพัฒนาการทางการเมืองของเกาหลีใต้นั้น ไม่ได้ดีเด่วิเศษกว่าการเมืองไทยสักเท่าใดหรอก ออกจะคล้ายๆ การเมืองไทยด้วยซ้ำไป นั่นคือ..ประชาชนได้ลุกขึ้นสู้ล้มเผด็จการทหารครั้งแล้วครั้งเล่า

ช่วง 2453-2488 เกาหลีถูกยึดครองโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาอำนาจแบ่งเกาหลีเป็น 2 ประเทศ “เหนือ-ใต้” โดยในวันที่ 10 พ.ค. 2491 สหรัฐฯ จัดให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในเกาหลีใต้เป็นครั้งแรก หลังเลือกตั้งรัฐสภาเกากลีใต้ได้เลือกนายซิงแมน ลี เป็นประธานาธิบดีคนแรก และต่อมาปี 2495 ได้แก้รัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งนายลีได้รับเลือกอีก 2 ครั้ง แต่ถูกประชาชนต่อต้านเมื่อวางแผนโกงจะชนะเลือกตั้งในสมัยที่ 4 ขณะที่ตัวเองอยู่ในวัย 85 ปีแล้ว

แล้วหลังจากนั้นเกาหลีใต้ก็เข้าสู่ยุคเผด็จการทหาร โดยนายพลปัก จุง ฮี รัฐประหารเมื่อ 16 พ.ค. 2504 เกาหลีใต้ล้มลุกคลุกคลานผ่านยุคต่างๆ มาจนกระทั่งปัจจุบัน..

2510-ปัก จุง ฮี ชนะเลือกตั้ง เป็นประธานาธิบดี

2515-ปัก จุง ฮี ชนะเลือกตั้ง (จากการเลือกตั้งทางอ้อม)

2522-ปัก จุง ฮี ถูกผอ.สำนักงานสืบความลับ (คนของปัก จุง ฮี) สังหาร/วันที่ 12 ธ.ค. 2522 นายพลชุน ดู วาน ร่วมมือกับนายพลโรห์ แตวูทำการรัฐประหาร

2523-ชุน ดู วาน ชนะการเลือกตั้ง ประชาชนชุมนุมเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งเพียงวาระเดียว

2530-นายพลโรห์ แตวู ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

2535-คิม ยอง ซัม ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ภายใต้การสนับสนุนของนาย พลโรห์ แตวู

2540-คิม แด จุง ได้รับเลือกตั้ง และได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพเมื่อปี 2543

2546-โนห์ มู ฮุน นักการเมืองมือสะอาด ได้รับเลือกตั้ง

2551-ลี เมียง บัค ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจนปัจจุบัน

เพื่อนชาวเกาหลีใต้คนหนึ่งบอกว่า ตอนนี้มีการคาดหมายกันว่า ลูกสาวนายพลปัก จุง ฮี คือว่าที่ผู้นำเกาหลีใต้คนต่อไป ดังนั้นพอจะกล่าวได้ว่าเกาหลีใต้เองก็ยากที่จะสลัดคราบไคลกลุ่มทุน-ขุนศึกได้อย่างสิ้นเชิง การเลือกตั้งซึ่งมี ส.ส. 299 คน (มีสภาเดียว) ก็ยังมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงกันไม่น้อยเช่นกัน แต่วัฒนธรรมการเมืองว่าด้วยการแสดงสปิริตทางการเมืองนั้นงดงาม และล้ำหน้ากว่าประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยด้วยกันหลายประเทศ..

รวมทั้งประเทศไทยที่นักการเมืองสะกดคำว่า หิริโอตตัปปะ...ละอายชั่วกลัวบาปไม่เป็น

ดูอย่างนายโนห์ มูฮุน หลังจากพ้นเก้าอี้ผู้นำมาได้ปีเดียว แค่มีข่าวว่าหลังบ้านรับสินบนมาสร้างบ้านต่อเติมบ้านเพียงเล็กน้อยและคดีก็ยังไม่ทันสั่งฟ้อง ก็กระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย (2552) พร้อมจดหมายสั่งลาขอโทษประชาชน เหตุเพราะเขาเป็นผู้ที่ประชาชนให้ความรัก ความศรัทธา ว่าเป็นผู้นำประชาธิปไตย มือสะอาด

หรือเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2553 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ที่ชื่อ ชุง อุน ชาน อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยโซล ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีล้มเหลวในการผลักดันโครงการพัฒนาเมืองเซจุง

และที่คนไทยได้ยินกันบ่อยครั้งก็คือ กรณี นายฮัน ดึ๊ก ซู กับพวกอีก 8 คนได้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และรัฐมนตรีเมื่อเดือนมิ.ย. 2551 เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีรัฐบาลเกาหลีใต้รื้อฟื้นข้อตกลงนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐฯ และถูกประชาชนหลายหมื่นคนประท้วง...

ครับ พอพูดถึงสปิริตของนักการเมืองเกาหลีใต้ก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงผู้นำการเมืองหนุ่มของเรา...นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2551 ขณะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ได้เคยเปล่งเสียงหนักแน่นในสภาเพื่อกระตุ้นต่อมละอายของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ในขณะนั้น

“...การที่จะมีประชาชนจะหนึ่งคนหรือจะแสนคน ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ ทบทวนตัวเอง หรือพิจารณาตัวเอง ไม่ได้ขัดกับหลักประชาธิปไตยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีข้อสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนั้น อาจจะแค่บกพร่องผิดพลาด ถ้าร้ายแรงกว่านั้นก็คือ ละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิของประชาชน หรือเลวร้ายอีกเรื่องหนึ่งคือ การทุจริตคอร์รัปชัน จริงครับ ปัญหาเหล่านี้มีกระบวนการทางกฎหมาย แต่ท่านดูเถอะครับ ทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ส่วนใหญ่เขาไม่รอให้กฎหมายจัดการครับ มันจะมีสิ่งที่เรียกว่าสำนึกหรือความรับผิดชอบของนักการเมือง ที่เขาบอกว่ามันต้องสูงกว่าคนธรรมดา มีเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่ง ท่านยกตัวอย่างกรณีของเกาหลี นั่นแค่คิดนโยบายนะครับ ว่าต้องเปิดการค้าเสรีเอาเนื้อวัวจากอีกประเทศหนึ่งเข้ามานะครับ คนลุกฮือขึ้นมาเป็นแสน เขาลาออกทั้งคณะ ผมว่าอายุรัฐบาลเขาสั้นกว่ารัฐบาลนี้นะครับ ตอนที่เขาตัดสินใจอย่างนั้น ใครที่เคยอยู่ในประเทศประชาธิปไตยในยุโรป ในสหรัฐฯ จะทราบ อย่าว่าแต่รัฐมนตรีเลยครับ ส.ส. ส.ว. บางทีมีเรื่องอื้อฉาวส่วนตัว ลาออกครับ...

“เวลามีการชุมนุมทางการเมืองจะถูกหรือผิดกฎหมายมันต้องมีคนเดือดร้อน แต่ถามว่าคนที่ตากแดดตากฝนบนถนน หลายคนละทิ้งการงาน ทะเลาะกับครอบครัว ตรงนั้นเรามองว่าเป็นกบฏหรือเครื่องมือทางการเมืองหรือ ไม่ใช่หรอก เราต้องคิด รัฐบาลต้องคิด นายกฯ ต้องคิด...แต่วันนี้ท่านนายกฯ ไม่คิดแล้วครับ ถ้านายกฯ กลัวว่า การลาออกจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ดีเพราะมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งซึ่งท่านเรียกว่าหยิบมือเดียว ไปดูเถอะครับ ถ้าหยิบมือเดียวกัน ถ้ากลัวเสียวัฒนธรรมประเพณี แต่หลายประเทศทำแล้ว ผมไม่เห็นมันเสียหาย ก็ไม่เป็นไรครับ บอกเลยว่าวันนี้ผมต้องพูดขัดใจเพื่อนสมาชิกอีกหลายคน ส.ส. โดยผมจะไม่เสนอให้ยุบสภา ผมเองแค่นึกถึงว่าเหนื่อยแค่ไหนในการหาเสียง ...ทำเถอะเพื่อให้บ้านเมืองสงบ สร้างบรรทัดฐานที่ดีเถอะครับ..”

เดือนธ.ค. 2551 ผู้นำฝ่ายค้านเจ้าของคำอภิปรายข้างต้น ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีผ่านเมษาเลือด 2552, พฤษภาเผาเมือง 91 ศพ 2553 และวันนี้กำลังถูกประชาชนชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์เรียกร้องให้ทำหน้าที่รักษาอธิปไตยของชาติ 3 ข้อ ถ้าทำไม่ได้ให้ลาออกไป...

ค่อนข้างแน่แล้วว่า นายกฯ อภิสิทธิ์เลือกหนทางการยุบสภา (ก่อนเดือนมิ.ย. 2554) โดยวาดหวังว่าจะกลับมามีอำนาจอีกครั้งอย่างแน่นอน..!!

ไม่เกี่ยวกับมาตรฐานเดียวหรือสองมาตรฐาน...แต่เป็นมาตรฐานของคนชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ...แต่บังเอิญเป็นคนละคนกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อ 31 ส.ค. 2551 เท่านั้นเอง...!!??

อันย้งฮี กาเซโย-ลาก่อน !!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น