...+

วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

หลังแต่งงาน . . . ไม่หวานเหมือนเคย?

สมัยยังเป็นแฟนกัน ชี้นกแล้วบอกว่าไม้ ก็เชื่อ ประมาณว่า “เธอว่าไงฉันก็ว่าตาม” แต่หลังจากแต่งงานกันแล้ว ที่เคยชี้นกแล้วเป็นไม้ นอกจากไม่เป็นเหมือนเคยแล้วอาจถูกเหมารวมว่าไร้สาระ คิดได้ไง อะไรประมาณนั้น….มันเป็นอย่างนั้นไปได้ยังไง ใครกันแน่ที่เปลี่ยนไป

สถานการณ์ชีวิตคู่ อย่างนี้ต้องให้ น.พ.สุกมล วิภาวีพลกุล จิตแพทย์และคอลัมนิสต์สำนวนพริ้ว มาช่วยแจกแจงวิเคราะห์เหตุและผลผ่านประสบการณ์อันช่ำชอง (แต่ได้รับการยืนยันว่ารักเดียวใจเดียว มีภรรยาเพียงหนึ่งเท่านั้นจ้ะ)

จูงมือกันอยู่ดีๆ แต่งไปไม่นานแค่เดินยังไม่อยากเข้าใกล้ รึจะใช่สัญญาณ

ห่างเหิน…ไม่จำเป็น เสมอไปหรอกครับ เพราะปกติผู้ชายเดินเร็วก้าวเท้าเร็ว ผู้หญิงมักเดินอ้อยอิ่ง ตอนสมัยเป็นแฟนกัน มันก็ยังรอกันได้ แต่พอแต่งงานกันไปแล้ว การเอาอกเอาใจ ความเกรงใจมันก็น้อยลง นอกเหนือจากการเดินห่างกันแล้ว ต้องดูพฤติกรรมอื่นๆ ของสามีด้วยว่าเขายังเอาใจใส่และเทคแคร์ความรู้สึกของอีกฝ่ายอยู่หรือเปล่า

ก็ทำอย่างนี้น่ะสิ…เธอถึงบ่น เขาถึงบ่น เราทั้งสองจึงต่างบ่น

จริงๆ มันก็ไอ้พฤติกรรมเดิมๆ ที่เป็นมาตั้งแต่ยังเป็นโสดนั่นแหละครับ แต่ที่ต้องบ่น เพราะ 2 สาเหตุ คือ

1. ไม่เคยรู้มาก่อน เพราะตอนเป็นแฟนกันมันปิดบังมาตลอด หรือสร้างภาพให้ดูดี เพิ่งมารู้ธาตุแท้หรือตัวตนที่แท้จริงหลังจากเป็นสามีภรรยากันแล้วนี่แหละ เช่น กินมูมมาม ผายลมอย่างเปิดเผยและสง่างาม เรอแบบไม่เกรงใจใคร หรือพฤติกรรมบางอย่างที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว เช่น นอนกรน เป็นต้น

2. รู้มาตั้งแต่เป็นแฟนกันแล้ว แต่พอแต่งงานแล้ว มันมีความคาดหวังมากขึ้นว่าเธอจะต้องเปลี่ยนแปลง แต่เขาก็ยังเหมือนเดิม เช่น ชอบเที่ยวเตร่กับเพื่อนฝูง กินเหล้า สูบบุหรี่ บ้าช้อปปิ้ง ขี้เหนียว หมกมุ่นเรื่องทางเพศ ฯลฯ

ตอนเป็นแฟนกันนะ คนทั้งสองยังมีความอดทนต่อกันอยู่ แต่หลังจากนั้นเราจะทนกันน้อยลงและอยากให้อีกฝ่ายเปลี่ยนแปลงและดูดีในแบบ ที่เราต้องการ…นี่แหละที่มาของคำบ่น

ยิ่งบ่นก็ยิ่งทำ นานวันเข้ารอยร้าวจะมาเยือน

การกระทำเหล่านั้น จะส่งให้เกิดรอยร้าวขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือความอดทนและการปรับตัว คือถ้าฝ่ายหนึ่งรู้ว่าพฤติกรรมของเราเขาไม่ชอบ ก็ลด ละ เลิก…อย่างนี้อีกฝ่ายเขาก็สบายใจหายห่วง

แต่ถ้าฝ่ายนั้นเขาไม่เปลี่ยนแปลง ก็ต้องอาศัยความอดทน อดกลั้นหรือปล่อยวางของอีกฝ่าย ภาษาไทยมักใช้คำว่า “ทำใจ” ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันเฝือ แต่มีความหมายลึกซึ้ง คือแปลว่า การอยู่กับสิ่งที่ตัวเราไม่ชอบ ด้วยสภาพจิตที่ไม่เป็นทุกข์ ภาษาธรรมะเรียกว่าอุเบกขา ภาษาชาวบ้านเรียกง่ายๆ ว่าปล่อยวาง

ถ้ามีสองปัจจัยนี้ ถึงกระทบแต่ก็ไม่กระเทือน ก็อยู่กันได้อย่างไม่ทุกข์ใจมากนัก ไม่ต้องถึงกับเลิกร้างแยกทางกัน

แบบนี้สิ มากกว่าความห่างเหิน ยิ่งกว่าความห่างไกล เพราะมันกำลังเปลี่ยนไป

เฉยเมย ไม่สนใจกัน ตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างอยู่ ผู้หญิงเริ่มเห็นว่าผัวคนอื่นดีกว่าผัวตัวเอง และผู้ชายก็รู้สึกว่าเมียเพื่อนสวยกว่าเมียเรา . . . เริ่มเกิดความคิดว่าเราคิดผิดที่มาอยู่กินกับคนๆ นี้ หากปล่อยให้เกิดจุดเริ่มต้นนี้ได้ ขั้นตอนถัดไป ก็คือเริ่มมองหาคนอื่นที่ดีกว่าคู่เดิมที่มีอยู่ . . . ตอนแรกก็แค่คิดในใจ ตอนหลังคิดนอกใจ จากมโนกรรมก็กลายเป็นวจีกรรมและกายกรรมในที่สุด

เราคิดมากไป หรือ เขาเปลี่ยนไปจริงๆ วัดจากอะไร

การที่มีเรื่องนิด เดียวแต่ฟุ้งซ่านเยอะแยะ เพราะมันมีประสบการณ์เดิมๆ สะสมในใจ เหตุการณ์เล็กน้อยก็อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่นำไปสู่การมีปากเสียงกันได้

ถ้าสังเกตตัวเอง แล้วเจอว่าเราเป็นคนที่เจอเรื่องขี้ปะติ๋ว แต่โมโหโกรธาใหญ่โต . . . อย่างนี้แปลว่าเรามีแผลใจ แล้วคำพูดหรือการกระทำนั้นๆ มันไปสะกิดโดนแผลใจ ทำให้เจ็บเยอะหรือเจ็บนาน

เล็กๆ น้อยๆ คลี่คลายสถานการณ์ห่างเหิน

1. อย่าถกเถียงกันเวลาโกรธ เพราะผู้หญิงบางคนมักใช้คำพูดว่า “มาคุยกันให้รู้เรื่องเดี๋ยวนี้” ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าเราคุยกันตอนกำลังยัวะ มันจะเป็นการเอาชนะกัน ไม่นำไปสู่การคลี่คลาย…หน้าที่ของแต่ละคนตอนโกรธ คือต้องจัดการกับการโกรธนั้นให้สงบเสียก่อน ตอนนี้เราจึงจะคุยกันอย่างรับฟังกันมากขึ้น

2. เรียกกันด้วยสรรพนามหวานๆ เช่นชื่อเล่น หรือ ฉัน/เธอ ดีที่สุดคือ “ที่รัก/Darling” ไม่ควรเรียกกันว่า “ข้า/เอ็ง” หรือไอ้ที่หยาบกว่านั้น…เพราะถึงเวลาทะเลาะกัน คำหยาบมันหมดสต็อก และจะดูยิ่งรุนแรงด้วยน้ำเสียงและหน้าตาท่าทาง เรื่องราวอาจบานปลายไปกันใหญ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น