...+

วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

วธ.เตรียมเปิดพื้นที่การแสดงพื้นบ้านเพิ่ม หวังดึงคนรุ่นใหม่เข้าใจศิลปะท้องถิ่น

ปลัด วธ.เผย วธ.เตรียมเปิดพื้นที่การแสดงพื้นบ้านให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ ปชช.รุ่นใหม่เข้าใจการแสดงโบราณท้องถิ่น พร้อมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมข้ามชาติกับต่างประเทศทั่วโลก ขณะที่การรักษามรดกทางวัฒนธรรม สวธ.ได้ยกร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เสร็จแล้ว


วันนี้ (19 ม.ค.) ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายสมชาย เสียงหลาย ปลัด กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังเปิดงานมหกรรมโนราโรงครู และมหกรรมเชิงฟื้นฟูสืบสานเรื่องราวเกี่ยวกับ “โนราโรงครู” ว่า โนราเป็นศิลปะการแสดงที่สร้างสรรค์และเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นภาคใต้ ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการเปิดพื้นที่การแสดงพื้นบ้านมาให้ประชาชนใน กรุงเทพมหานครได้รับชม และต่อไป วธ.มีนโยบายในการเปิดการแสดงพื้นบ้านแต่ละภูมิภาคให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ ได้มีรายงานการศึกษาวิจัยของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับรอง พบว่า ประเทศไทยมีโอกาสพัฒนาการแสดงให้มีความสามารถนำเสนอเป็นงานทางวัฒนธรรมได้ อีกสาขาหนึ่ง และสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องพัฒนาการแสดงจะต้องทำให้คนดูในปัจจุบันเข้าใจการ แสดงโบราณด้วย โดยจะไม่มีข้อจำกัดทั้งภาษาและความเข้าใจ ซึ่งต่อไป วธ.จะจัดทำคู่มือบอกเล่าการแสดงพื้นบ้านเพื่อให้ประชาชนเข้าใจการแสดงนั้นๆ

ปลัด วธ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ วธ.จะมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมข้ามชาติร่วมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อคนทั้งสองประเทศมีความเข้าใจถึงภูมิหลังความเป็นมาของประเทศต่างๆ และมีความเคารพสิทธิทางวัฒนธรรมร่วมกัน และในเร็วๆ นี้ ตนจะมีการหารือกับ ศ.นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และมูลนิธิหอจดหมายเหตุพระพุทธทาส เกี่ยวกับการนำการแสดงไปเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ หรือ อุษาคเนย์ โดยจะนำเรื่องภาษา วรรณกรรม ความเชื่อ ศิลปะการแสดง หรือการเคารพซึ่งกันและกัน ของกลุ่มคนในประเทศอาเซียนมาหารือเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การยกระดับของการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาตินั้น ขณะนี้ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ยกร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เสร็จแล้ว และอยู่ในขั้นการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เป็นเจ้าของ วัฒนธรรมในภาคต่างๆ จากนั้นจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป

“ขณะนี้ประเทศไทยได้ มีการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในประเทศไปแล้วกว่า 50 สาขา และเมื่อกฎหมายฉบับนี้เสร็จเรียบร้อยจะใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการรับจดแจ้งมรดก ทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ รวมทั้งใช้รองรับต่อการที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วย วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก โดยไทยจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยมีกฎหมายรองรับชัดเจน รวมทั้งจะช่วยลดปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมของ ประเทศต่างๆ อีกด้วย” นายสมชาย กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น