...+

วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

คัมภีร์แรกที่จะสูญไป=คัมภีร์มหาปัฏฐาน

ธาตุอันตรธานปริวัตต์

คำว่า อัตรธาน คือ ความเสื่อมสูญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มี ๕ ประการ คือ

๑.ปริยัติอันตรธาน การเสื่อมสูญแห่งพระปริยัติ

๒.ปฏิบัติอันตรธาน การเสื่อมสูญแห่งการปฏิบัติ

๓.ปฏิเวธอันตรธาน การเสื่อมสูญแห่งการสำเร็จมรรคผลนิพพาน

๔.ลิงคอันตรธาน การเสื่อมสูญแห่งเพศสมณะ

๕.ธาตุอันตรธาน การเสื่อมสูญแห่งพระบรมธาตุ



ปริยัติอันตรธาน

พระปริยัติ ได้แก่พระไตรปิฏกทั้ง ๓ คือ พระวินัยปิฏก พระสุตตันตปิฏก และพระอภิธรรมปิฏก ตราบใดที่พระไตรปิฏกยังดำรงอยู่ พระพุทธศาสนาก็ชื่อว่าดำรงอยู่ตราบนั้น เพราะบุคคลจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ก็ด้วยอาศัยการศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฏก เมื่อพระปริยัติเสื่อมถอยหาบุคคลที่จะศึกษาเล่าเรียนน้อย ศาสนาก็เสื่อมถอยตามไปด้วย การเสื่อมถอยแห่งพระปริยัตินั้นจะมีสิ่งบอกเหตุให้ทราบเป็นลำดับคือ

เมื่อถึงกลียุคสมัย พระราชามหากษัตริย์มิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมประเพณี อีกทั้งหมู่อำมาตย์ราชเสนาบดี รวมทั้งอาณาประชาราษฏร์ทั้งในเมืองและชนบท ต่างพากันงดเว้นจากการประพฤติธรรม พากันหาความสุขสำราญตามอัธยาศัย ข่มเหงเบียดเบียนผู้ที่อ่อนแอกว่า ให้เดือดร้อน เมื่อเป็นเช่นนี้ ดินฟ้าอากาศก็วิปริต ผิดปกติฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาก็หายาก หมู่มนุษย์และสัตว์พากันลำบากเดือดร้อนขาดแคลนอาหารทั้งทรัพย์สินเงินทอง เมื่อมนุษย์ทั้งหลายต่างพากันอดอยากยากเข็ญแล้ว จตุปัจจัยไทยทานที่จะถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ให้อยู่ดีมีสุขก็หายาก ภิกษุสงฆ์ก็พลอยได้รับความลำบากไปด้วย เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเป็นเช่นนี้ ก็ไม่สามารถสงเคราะห์กุลบุตรให้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติได้ ครั้นเมื่อพระปริยัติขาดผู้เล่าเรียนแล้วก็เสื่อมทรุดลงตามลำดับ ภิกษุทั้งหลายจะไม่รู้ความหมายแห่งพระปริยัติ จะเหลือแต่บาลีอย่างเดียวแต่ขาดผู้รู้ความหมาย

ในการเสื่อมสูญแห่งพระไตรปิฏกนั้น พระอภิธรรมปิฏกจะเสื่อมก่อน พระอภิธรรมนั้นมี ๗ คัมภีร์ ได้แก่

๑.พระสังคิณี

๒.พระวิภังค์

๓.พระธาตุกถา

๔.พระปุคคลบัญญัติ

๕.พระกถาวัตถุ

๖.พระยมก

๗.พระมหาปัฏฐาน



ในพระอภิธัมทั้ง ๗ คัมภีร์นี้ เมื่อจะเสื่อมก็เสื่อมลงจากยอด คือคัมภีร์มหาปัฏฐานก่อน ลำดับต่อไปก็เป็นคัมภีร์ยมก กถาวัตถุ จนถึงสังคิณี โดยลำดับ

เมื่อพระอภิธรรมปิฏกเสื่อมแล้ว ถ้าพระสุตตันตปิฏกและพระวินัยปิฏกยังดำรงอยู่ ก็ชื่อว่าพระพุทธศาสนายังดำรงอยู่เช่นกัน

พระสุตตันตปิฏกนั้น เมื่อจะเสื่อมก็เสื่อม มาจากยอดคือ อังคุตรนิกายเสื่อมก่อน จากนั้นก็ถึง สังยุตนิกาย มัชฌิมนิกาย และทีฆนิกายเป็นสุดท้าย เมื่อทีฆนิกายเสื่อมแล้ว พระสุตตันตปิฏกจึงได้ชื่อว่าเสื่อมสูญ จากนั้นภิกษุทั้งหลายไม่สามารถจะทรงจำซึ่งชาดกต่างๆ ได้ และชาดกที่จะเสื่อมเป็นชาดกแรกก็คือ เวสสันดรชาดก

ต่อจากนั้น ภิกษุทั้งหลายก็จะทรงจำไว้ซึ่งพระวินัยปิฏกเพียงอย่างเดียว ครั้นเวลาล่วงไป พระวินัยปิฏกก็เสื่อมลงเป็นปิฏกสุดท้าย และเมื่อเสื่อมคัมภีร์บริวาร จะเสื่อมเป็นคัมภีร์แรก ต่อจากนั้นก็เป็นคัมภีร์ขันธกะ คือ จุลวรรค คัมภีร์ภิกขุวิภังค์ ภิกขุณีวิภังค์ เสื่อมลงมาตามลำดับ จึงได้ชื่อว่าพระวินัยปิฏกเสื่อมสูญ

แม้กระนั้น พระปริยัติก็ชื่อว่าไม่เสื่อม ถ้าตราบใดที่ยังมีบุคคลสามารถจำคาถาแม้ไม่มากเพียง ๔ บาทเท่านั้น พระปริยัติก็ยังชื่อว่าไม่อันตรธาน แต่ถ้าเมื่อใด หาผู้รู้คาถาเพียง ๔ บาทนั้นไม่ได้แล้ว เมื่อนั้น พระปริยัติ ชื่อว่าอันตรธานสูญสิ้นหาเศษมิได้



ปฏิบัติอันตรธาน

กาลเวลาผ่านไป ภิกษุทั้งหลายไม่สามารถจะบำเพ็ญเพียรปฏิบัติให้เกิดฌาน วิปัสสนาและ มรรคผลได้ จะยังคงรักษาอยู่แต่ปาริสุทธิศีล ๔ เท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านนานไปภิกษุทั้งหลายพากันเบื่อหน่ายต่อการที่จะรักษาให้บริสุทธิ์ เพราะมองไม่เห็นประโยชน์ในการรักษาพากันเลิกละความเพียร มีแต่ความเกียจคร้านล่วงละเมิดอาบัติน้อยใหญ่ หมดสิ้นความละอาย แม้กระนั้นถ้าหากยังมีภิกษุทรงไว้ ซึ่งปาราชิกสิกขาบทอยู่แล้วปฏิบัติ ก็ชื่อว่ายังไม่อันตรธาน ต่อเมื่อไม่มีภิกษุสำรวมรักษาปาราชิกสิกขาบทแล้ว จึงได้ชื่อว่าปฏิบัติอันตรธาน



ปฏิเวธอันตรธาน

พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า ถ้ายังมีบุคคลสำเร็จเป็นพระโสดาบันแม้เพียงผู้เดียว ก็ยังชื่อว่าปฏิเวธยังดำรงอยู่ แต่ถ้าโลกนี้หาผู้สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคลไม่มีเลยนั้น ปฏิเวธ ก็ได้ชื่อว่าถึงกาลอันตรธาน



ลิงคอันตรธาน

ต่อไปภายภาคหน้า ภิกษุทั้งหลายมีปฏิปทาไม่นำมาซึ่งความเลื่อมใส จะอยู่ในอิรอยาบถใดก็ไม่สำรวมเหมือนพวกเดียรถีย์ไม่มีความสำรวม ประพฤตินอกรีดอนาจารต่างๆ ผิดเพศภิกษุซึ่งเป็นพุทธสาวก แม้กระนั้นก็ยังชื่อว่าเพศสมณะ ยังไม่ถึงกับอันตรธาน

แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไป ภิกษุทั้งหลายไม่ใช้ผ้าไตรจีวรมีสีอันควรแก่สมณเพศ เห็นว่าสีผ้ากาสาวพัสตร์ไม่มีความสำคัญ จากนั้นก็พากันละทิ้งบริขารแม้กระทั้งไตรจีวร พากันประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวทั้งบุตรและภรรยา จะมีก็แต่เศษผ้าเหลืองชิ้นน้อยๆ ห้อยอยู่ที่คอหรือผูกไว้ที่ข้อมือเท่านั้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการเป็นพระภิกษุ สมดังพระดำรัสที่ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาตรัสแก่พระอานนท์ว่า

“ ดูก่อนอานนท์ ในอนาคตกาล จะหาภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งจีวรมิได้ จะมีก็แต่โครตภูสงฆ์ คือ พระสงฆ์รุ่นสุดท้ายในพระพุทธศาสนา ผู้มีผ้ากาสาวพัสตร์ผูกที่ข้อมือหรือห้อยอยู่ที่คอ หาศีลาจาวัตรมิได้ แม้กระนั้นถ้าหากจะมีทายกมีจิตศรัทธาปรารถนาจะทำบุญ ก็จงตั้งจิตอุทิศถวายเพื่อสงฆ์ แล้ววัตถุจตุปัจจัยถวายแก่ภิกษุผู้มีผ้ากาสาวพัสตร์ผูกที่ข้อมือหรือห้อยที่คอนั้น ก็จะเกิดผลานิสงส์มหาศาลเช่นกัน”

ถึงแม้ภิกษุทั้งหลายจะมีความเป็นอยู่ย่อหย่อนถึงเพียงนั้น ก็ชื่อว่าเพศภิกษุยังคงอยู่ไม่อันตรธาน แต่เมื่อกาลเวลาล่วงไป ภิกษุเหล่านั้นพากันละทิ้งผ้าเหลืองชิ้นน้อย ๆ ที่ติดตัวอยู่นั้นเสีย จึงได้ชื่อว่า ลิงคอันตรธาน คือเพศภิกษุสูญสิ้นไม่เหลือเศษอีกต่อไป



ธาตุอันตรธาน

ธาตุอันตรธานเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ พระบรมธาตุนิพพาน “ และคำว่านิพพานนั้นมี ๓ ประการ คือ

๑. กิเลสนิพพาน คือการตรัสรู้ที่โคนต้นศรีมหาโพธิ์

๒. ขันธนิพพาน คือการดับเบญจขันธ์ ที่สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา

๓. ธาตุนิพพาน คือพระบรมสารีริกธาตุสูญสิ้นไปจากโลก ซึ่งจักเกิดขึ้นในอนาคต

การนิพพานแห่งพระบรมสารีริกธาตุแห่งพระบรมศาสดาที่ประดิษฐานอยู่ในที่ต่าง ๆ เมื่อไม่มีผู้สักการะบูชาพระบรมธาตุก็จะเสด็จไปยังถิ่นประเทศที่มีคนเคารพสักการบูชา จวบจนวาระสุดท้ายมาถึง ทั่วทุกถิ่นประเทศหาผู้สักการบูชาไม่มีเลย พระบรมธาตุทั้งหลายจากโลกมนุษย์ เทวโลกและนาคพิภพ จะเสด็จมาสู่ต้นพระศรีมหาโพธิ์สถานที่ตรัสรู้ทั้งหมด แล้วรวมกันเป็นรูปของพระพุทธองค์ ทรงประดิษฐ์สถาน ณ โคนต้นศรีมหาโพธิ์นั้น ประหนึ่งว่าพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ จะทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ในที่นั้น แต่ในครั้งนี้มนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายจะมิมีผู้ใดได้เห็นพระองค์เลย

ฝ่ายเทพยดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาล จะพากันมาประชุม ณ ที่นั้น ต่างก็กรรแสงโศกาอาดูรเหมือนเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ปรินิพพานที่เมืองกุสินารา ลำดับนั้น เตโชธาตุก็เกิดขึ้นที่พระสรีรธาตุเผาผลาญพระบรมธาตุจนหมดสิ้นหาเศษมิได้ เข้าถึงซึ่งความสูญหายไปจากโลก ได้ชื่อว่า “ พระบรมธาตุนิพพาน “

อายุกาลแห่งพระพุทธศาสนาก็สิ้นสุดลง ในบัดนั้น

เมื่อพระบรมธาตุนิพพานแล้ว เหล่าเทพยดาพากันทำสักการบูชาแล้ว ทำประทักษิณสิ้น ๓ รอบเสร็จสิ้นต่างก็พากันกลับสู่วิมานของตน ๆ ในเทวโลก

มหาปัฏฐาน



 เป็นคัมภีร์ที่ ๗ ของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ คัมภีร์มหาปัฏฐาน เป็น ๑ ใน ๗ คัมภีร์ที่พระพุทธองค์ทรงพิจารณาหลังจากที่ได้ตรัสรู้แล้ว ได้แก่ ๑. ธัมมสังคณี, ๒. วิภังคปกรณ์ ๓. ธาตุกถา ๔. ปุคคลบัญญัติ ๕. กถาวัตถุ ๖. ยมกปกรณ์ และ ๗. มหาปัฏฐาน และเป็นคัมภีร์ที่พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ไว้ว่า จะสูญสิ้นเป็นคัมภีร์แรก เพราะเป็นคัมภีร์ที่ละเอียดลึกซึ้ง สุขุมคัมภีร์ภาพด้วยปัจจัยแห่งปรมัตถธรรม โดยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องราวความเป็นไปของสภาพธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กัน โดยนัยมากมายทั้งพิศดารและละเอียดสุขุมลึกซึ้งยิ่งนัก ธรรมในมหาปัฏฐานนี้ ถ้าจะนับรวมกันทั้งหมดก็มีจำนวนถึงหลายโกฏิ ด้วยเหตุนี้ท่านอรรถกถาจารย์จึงเรียกคัมภีร์นี้ว่า “มหาปัฏฐาน” ตามหลักฐานกล่าวว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพิจาร ณาพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์อยู่นั้น เมื่อทรงพิจารณาคัมภีร์ที่ ๑ คือ ธัมมสังคณี จนถึงคัมภีร์ที่ ๖ คือ ยมก มาตามลำดับมิได้มีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้น ต่อเมื่อทรงพิจารณาคัมภีร์ที่ ๗ คือ ปัฏฐาน จึงได้เกิดรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายถึง ๖ สี (หรือที่เรียกว่า ฉัพพรรณรังสี)

ปัจจัย๒๔

เหตุปัจจะโย

อารัมมะณะปัจจะโย

อธิปะติปัจจะโย

อนันตะระปัจจะโย

สะมะนันตะระปัจจะโย

สะหะชาตะปัจจะโย

อัญญะมัญญะปัจจะโย

นิสสะยะปัจจะโย

อุปะนิสสะยะปัจจะโย

ปุเรชาตะปัจจะโย

ปัจฉาชาตะปัจจะโย

อาเสวะนะปัจจะโย

กัมมะปัจจะโย

วิปากาปัจจะโย

อาหาระปัจจะโย

อินทริยะปัจจะโย

ฌานะปัจจะโย

มัคคะปัจจะโย

สัมปะยุตตะปัจจะโย

วิปปะยุตตะปัจจะโย

อัตถิปัจจะโย

นัตถิปัจจะโย

วิคะตะปัจจะโย

อะวิคะตะปัจจะโย.



ปัจจัยมีประการต่างๆมากมาย ในการแสดงปัจจัย ๒๔ นั้น พระพุทธองค์ทรงจำแนกปัจจัยหนึ่งๆ มีธรรมเป็น ๓ หมวด คือ ปัจจัยธรรม หมายความว่า ธรรมที่เป็นเหตุ (ปัจจัย มีวจนัตถะว่า ผลธรรมย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ได้เพราะอาศัยธรรมที่เป็นเหตุนี้ ธรรมที่เป็นเหตุนี้จึงชื่อว่า "ปัจจัย")

ปัจจยุปบันธรรม หมายความว่า ธรรมที่เป็นผล (ปัจจยุปบันธรรม มีวจนัตถะว่า ผลธรรมที่เกิดจากเหตุปัจจัย ชื่อว่า "ปัจจยุปบัน")

ปัจจนิกธรรม หมายความว่า ธรรมที่มิใช่ผล (คือธรรมที่นอกจากผล) (ปัจจนิก มีวจนัตถะว่า หมวดธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อปัจจยุปบันธรรม ชื่อว่า "ปัจจนิก")

มหาปัฏฐาน มีนัยยะกว้างขวาง มีนัยหาที่สุดมิได้ มีอรรถอันสุขุมลุ่มลึกยิ่งกว่าพระสัทธรรมทั้งปวง อันมีในพระไตรปิฏก นับเป็นปกรณ์ใหญ่ เรียกว่า "มหาปกรณ์" เป็นปกรณ์ที่เมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้แล้วนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น