...+

วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

2554 ปีแห่งการสร้างระบบคุ้มครองเศรษฐกิจ-สังคมผู้สูงอายุ

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

นับแต่ปี 2552 ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้วจากการมีผู้สูงวัยกว่าร้อย ละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือราว 7.6 ล้านคน ทั้งคาดการณ์ว่าการเพิ่มขนาดและสัดส่วนอย่างต่อเนื่องเช่นนี้จะทำให้ในปี 2568 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 14.9 ล้านคน หรือ 2 เท่าของปี 2552 และในปี 2573 จะเพิ่มถึง 17.8 ล้านคน หรือร้อยละ 25 ของประชากรทั้งประเทศ

ปี 2554 จึงเป็นปีสำคัญสำหรับตั้งต้นสร้างระบบความคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคม สำหรับผู้สูงอายุเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากรที่ก้าว กระโดด เพราะวันวัยสนธยานอกจากต้องการการดูแลสุขภาพเพราะสภาพร่างกายเปราะบางแล้ว การประคับประคองชีวิตไม้ใกล้ฝั่งให้อยู่รอดในโลกทุนนิยมได้โดยไม่กระเบียด กระเสียรเกินไปก็สำคัญไม่ด้อยไปกว่ากัน

ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะพยายามพยุงชีวิตบั้นปลายด้วยการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพ ถ้วนหน้าแก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 500 บาท/คน/เดือน ทว่าในปี 2552 ที่ผ่านมาก็มีผู้สูงวัยได้รับเบี้ยยังชีพแค่ 5,652,893 คน หรือร้อยละ 80 ของผู้สูงอายุทั่วประเทศเท่านั้น อีกทั้งระยะยาวยังไร้หลักประกันว่ามาตรการถ้วนหน้านี้จะยั่งยืนเพราะยึดโยง กับการเมืองแนบแน่นทีเดียว

ดังนั้นทางออกจากการดำรงชีพยากจนข้นแค้นจึงต้องสร้างวินัยการออมผ่าน ‘ระบบบำนาญแห่งชาติ’ เพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้ที่มั่นคงโดยไว ทว่าก็น่าเสียดายที่การออมของวัยแรงงานเพื่อใช้จ่ายยามชราภาพผ่านโครงการกอง ทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยกระทรวงการคลัง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในระดับสภาผู้แทนราษฎรกลับครอบคลุมแค่กลุ่ม แรงงานนอกระบบ 24 ล้านคนเท่านั้น ทั้งๆ ที่แรงงานมีการเปลี่ยนงานระหว่างนอกระบบไปเป็นแรงงานในระบบ หรือกลับกันไปมาอยู่ตลอดเวลา รัฐบาลจึงควรคำนึงถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยสร้างระบบการออมที่ต่อเนื่อง ยั่งยืนเพื่อเป็นหลักประกันรายได้แก่แรงงานเพื่อใช้จ่ายยามชราภาพ และควรขยายช่องทางการออมที่มีความหลากหลายในรูปแบบที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ด้วย

มากกว่านั้นภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาทบทวนและหา มาตรการลดการกีดกันทางอาชีพระหว่างผู้สูงอายุกับวัยอื่นๆ ผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานผู้สูงวัยเพื่อให้ผู้สูงอายุมีงานทำ มีรายได้ และมีสวัสดิการที่ได้รับการคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง เพราะการงานนอกจากเป็นวิถีทางปฏิบัติธรรมสำหรับผู้สูงอายุแล้ว ยังเกื้อหนุนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้สูงวัยให้ไม่มลายด้วย เพราะการเพิ่ม ‘โอกาส’ การทำงานแก่ผู้สูงอายุที่ยังมีศักยภาพสามารถประกอบอาชีพได้จะทำให้ไม่ต้อง พึ่งพิงเป็นภาระทางเศรษฐกิจกับบุตรหลาน ครอบครัว หรือรัฐมากนัก

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่ทำงานนอกระบบราว 2.79 ล้านคน หรือร้อยละ 91 โดยกลุ่มนี้เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการดูแล คุ้มครองสวัสดิการ และประกันสังคมแต่อย่างใด ไม่เท่านั้นยังขาดอำนาจการต่อรองรเรียกร้องสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายแรงงานด้วย ซ้ำร้ายกว่านั้นนับวันจะเผชิญปัญหาจากการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม งานหนัก และขาดความต่อเนื่อง

นอกเหนือหนุนเกื้อชีวิตด้วยการสร้างหลักประกันด้านรายได้ยาม ชราภาพ ลดภาระพึ่งพิงโดยการเพิ่มโอกาสการจ้างงานเพื่อเพิ่มความคุ้มครองทางเศรษฐกิจ และสังคมแล้ว คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัยยังต้องการระบบบริการสุขภาพที่สามารถเข้าถึง ได้ด้วย เพราะปัจจุบันผู้สูงอายุได้รับบริการสุขภาพเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น อันเนื่องมาจากเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพเพราะสังขารเสื่อมถอยด้วยโรคร้ายรุม เร้าเกินกว่าจะไปสถานพยาบาลได้ ไม่ก็โดดเดี่ยวขาดคนคอยดูแลพาไป

ดังนั้นหน่วยบริการสาธารณสุขและภาครัฐต้องเร่งพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ให้สามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ และเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้นทั้งส่วนส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษา และการฟื้นฟูสภาพ พร้อมกับพัฒนารูปแบบบริการในชุมชนโดยชุมชนเพิ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมการดูแลใน บ้านและครอบครัวโดยความช่วยเหลือของชุมชน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าในสถานพยาบาลที่ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ยากจนและอับจนเกิน กว่าจะเข้ารับรักษาได้

ในขณะเดียวกันแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุวัยปลายและการย้าย เข้าสู่เขตเทศบาลของผู้สูงอายุที่แต่ก่อนคุ้นเคยแค่วัฒนธรรมชนบทที่ต่างออก ไปก็ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีประชากรสูงอายุมาอยู่อาศัยมากขึ้นมีภารกิจสำคัญในการพัฒนาระบบการเข้า ถึงบริการสุขภาพ โดยการประสาน จัดตั้ง และส่งเสริมการรวมกลุ่มกิจกรรมทางสังคมของผู้สูงอายุที่มีลักษณะเป็นกลุ่ม ย่อยๆ ให้ดูแลกันเองได้ในชุมชน เช่น สร้างกลไกย่อยในชุมชนของกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อการดูแลทางสังคมโดยส่ง เสริมบทบาทของภาคประชาสังคมและอาสาสมัคร

กระนั้นสำหรับกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ในภูมิภาคก็ติดขัดข้อจำกัดมากจากสภาพความเป็นสังคมเมืองที่ไม่ เอื้อต่อการรวมกลุ่มผู้สูงอายุ และช่วยเหลือกันในละแวกบ้าน หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมในชุมชนจึงควรริเริ่มและพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุในเมือง ที่เหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มคนแก่เฒ่าที่อยู่เดียวดายซึ่งอาจมีปัญหามากกว่ากลุ่มที่อยู่ กับครอบครัว

ปี 2554 จึงเป็นปีสำคัญของการตั้งต้นสร้างระบบความคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคม สำหรับผู้สูงอายุไทย ทั้งแง่มุมการออมเพื่อสร้างระบบบำนาญแห่งชาติที่จะถักทอเป็นเครือข่ายคุ้ม ครองทางสังคม การสร้างโอกาสการทำงานสำหรับคนชายขอบที่ทวีจำนวนขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการดึง อปท.เข้ามาเป็นกลไปการมีส่วนร่วมดูแลผู้สูงอายุด้วย

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น