...+

วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ก้าวแรกแห่งการพัฒนาของกองทุนหลักประกันสุขภาพบางสีทอง กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลบางสีทอง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

เรียบเรียงโดย วรุณวาร สว่างโสภากุล

            ทุกสิ่งทกุอย่างต้องมีการเริ่มต้น ทุกการก้าวเดินต้องมีก้าวแรก เด้กทารกกว่าจะลุกขึ้นยืนได้ต้องผ่านช่วงตั้งไข่ ลูกนกกว่าจะปีกกล้าขาแข็งก็ต้องหัดบิน การดำเนินการของกองทุนฯ บางสีทองในช่วงขวบปีแรก ก็เป็นย่างก้าวของการเรียนรู้และพัฒนาเช่นกัน
            ตำบลบางสีทอง ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแอ้งกระทะของ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อถึงฤดูน้ำเหนือไหลบ่า พื้นที่ส่วนใหญ่มักถูกน้ำท่วม ด้วยความที่อยู่ชานเมืองกรุง ตำบลแห่งนี้จึงมีหมู่บ้านจัดสรรปะปนกับสวนผลไม้และสวนไม้ดอกไม้ประดับ ประชากรกว่าเจ็ดพันคนใน 5 หมู่บ้าน ทำอาชีพหลากหลาย ทั้งทำสวน ทำไร่ รับจ้าง ค้าขาย รับราชการ เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจและเป็นพนักงานบริษัท หากถามถึงระบบสาธารณูปโภค  ที่นี่มีครบครัน ส่วนด้านสาธารณสุข มีสถานีอนามัยตำบล / หมู่บ้านอยู่ 1 แห่ง
            หลังจากรับเป็น อบต.นำร่องของโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ บางสีทองซึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นตามหลักเกณฑ์ของ สปสช. จัดประชุมวางแผนโครงการ โดยเชิญคนจากหลายภาคส่วนในตำบลมาร่วมแสดงความคิดเห็นและวางแผน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้าน สมาชิก อบต. ทุกหมู่บ้าน, อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ ประชาชนที่เป็นตัวแทนของกลุ่มชมรมต่างๆ ในชุมชน เช่น ชมรมผู้สูงอายุ ชมรมแม่บ้านและชมรมผู้ดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์ ในการประชุมครั้งนี้ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานและอนุกรรมการขึ้นเพื่อดำเนินงานโครงการต่างๆด้วย
            ตัว อบต.บางสีทอง เองไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทาง อบต.จึงต้องขอความร่วมมือจากสถานีอนามัยมาช่วยเขียนโครงการ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ พิจารณา
            โครงการที่ได้รับอนุมัติมี 5 โครงการ เป็นโครงการสำหรับเด็กเล็ก อายุแรกเกิดถึงต่ำกว่า 6 ปี 2 โครงการ โครงการสำหรับเด็กโตอายุ 6 ปี ถึงต่ำกว่า 25 ปี 1 โครงการ โครงการสำหรับผู้ใหญ่อายุ 25 ปีขึ้นไป 1 โครงการ และโครงการสำหรับผู้พิการ 1 โครงการ เรียกได้ว่า เกือบครบทุกกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขาดก็แต่กลุ่มหญิงมีครรภ์

            แต่ผลที่ออกมาในปีแรก ไม่เป็นดังเป้าที่ตั้งไว้ เพราะคณะทำงานยังไม่เข้าใจกรอบและแนวทางปฏิบัติของกองทุนฯ อย่างชัดเจน และแม้จะได้เงินงบประมาณจาก สปสช.ถึง 267,975 บาท บวกกับเงินสมทบจาก อบต.บางสีทอง อีก 26,797.50 บาท ทีมงานยังกล้าๆกลัวๆที่จะเบิกเงินจากกองทุนฯ ออกมาใช้ เพราะไม่แน่ใจในระเบียบการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ จึงแก้ปัญหาโดยนำงบประมาณด้านอื่นของ อบต.มาใช้ก่อน
            นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ อบต. มองว่า การขาดคนทำงานด้านสาธารณสุขเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้โครงการไม่ค่อยคืบหน้า
            "ทาง อบต.อยากได้บุคลากรด้านสาธารณสุขไว้ประจำ เพราะไม่มีใครที่มีความรู้ทางด้านสุขภาพที่ลึกซึ้ง ที่จะมาช่วยคิดกิจกรรมและดูแลทางด้านสุขภาพ เราต้องอาศัยสถานีอนามัย ซึ่งเขาเองก็มีงานประจำของเขามากอยู่แล้ว.. ทางนายกและปลัได้พยายามหา ณ ขณะนี้เราได้พยาบาลที่จะย้ายลงมาช่วยเราแล้ว แต่อยู่ระหว่างการโอนย้าย ซึ่งก้ไม่สามารถที่จะมาช่วยทำกิจกรรมโครงการต่างๆได้ทันในปีงบประมาณ 2550"
            โครงการที่ดำเนินงานแล้วเสร็จในปี 2550 จึงมีเพียง 1 โครงการคือ โครงการพัฒนาการสมวัยเด็กไทยสมองดี โครงการนี้ดำเนินการที่สถานีอนามัยบางสีทอง โดยจัดมุมพัฒนาการเด็กไว้ที่สถานีอนามัย ผู้ปกครองสามารถนำเด็กอายุ 0-5 ปี มาตรวจสุขภาพและตรวจพัฒนาการเด็กได้
            แม้จะเป็นโครงการเดียว แต่ก็เป็นโครงการที่คณะทำงานภาคภูมิใจ และถือว่า ประสบความสำเร็จโครงการหนึ่ง ผู้ปกครองเองก็พอใจกันถ้วนหน้า
            " ดีมากเลย เวลามาตรวจก็พาลูกมาได้ ปล่อยให้ลูกเล่นที่มุมเด็กเล่น เวลาเข้าพบหมอตรวจ ลูกไม่กวน และสบายใจเพราะไม่ต้องห่วงลูก หมอ (พยาบาล) ก็ตรวจพัฒนาการลูกให้ด้วย"
            ความสำเร็จของโครงการมาจากวิสัยทัศน์ของผู้นำที่เห็นความสำคัญของการร่วมกองทุนฯ และให้การสนับสนุนทุกอย่าง  แม้จะมีอุปสรรคต่างๆนานา ทั้งนายก อบต. และปลัด อบต. ก็มิได้ย่อท้อ กลับพยายามที่จะแก้ไขปัญหาและหาพันธมิตรเพื่อให้กองทุนเกิดประโยชน์กับประชาชนในตำบล

            "ในการทำกิจกรรม ผู้นำทีมจะเห็นความสำคัญ ให้การสนับสนุนทุกเรื่อง และช่วยแก้ปัญหาถ้ามีอะไรติดขัด จะคอยช่วยเหลือ ไม่มีอะไรก็จะช่วยหาให้ ร่วมทั้งให้ข้อแนะนำหรือติดต่อประสานงานให้ "ทีมงานคนหนึ่งเล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจในตัวผู้นำ
            อีกปัจจัยของความสำเร็จมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งร่วมบอกเล่าปัญหาและความต้องการของชุมชนผ่าน อสม. ร่วมเป็นคณะกรรมการ ร่วมทำกิจกรรมและช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมโดยการบอกต่อๆกันไป

            หนึ่งปีผ่านไป คณะทำงานกองทุนฯ ได้เรียนรู้และเข้าใจงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพมากขึ้น ทำให้เกิดความมั่นใจและเต็มใจทำงานมากขึ้น พร้อมกับมีแนวคิดที่จะพัฒนากองทุนฯ ให้ดียิ่งขึ้น
            "ถ้าถามว่า ขณะนี้ภูมิใจเต็มที่แล้วหรือยัง ขอตอบว่ายังภูมิใจไม่เต็มที่ เพราะถ้าเปรียบเทียบ ก-ฮ เพิ่งทำได้ซัก 10 ตัวพยัญชนะ ยังมีให้ทำอีกมาก และขณะนี้เริ่มมองเห็นช่องทางปัจจัยที่จะทำให้งานประสบผลสำเร็จแล้ว"
            หนึ่งในช่องทางนั้น ก็คือ การเผยแพร่ผลงานและประชาสัมพันธ์กองทุนฯ ให้ชุมชนรู้จักมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้ามาร่วมสมทบทุน
            ในส่วนของการพัฒนาโครงการ คณะทำงานกองทุนฯ อยากพัฒนาโครงการที่ทำสำเร็จแล้วให้ทั่วถึงมากขึ้น เช่น ขยายมุมเด็กเล่นให้กว้างขึ้น เพิ่มอุปกรณ์การตรวจพัฒนาการเด็ก  กระจายโครงการนี้ไปยังหมู่บ้านอื่นๆ เพราะประชาชนมาใช้บริการมากขึ้น ส่วนอีก 4 โครงการที่ยังคั่งค้างอยู่นั้น คณะทำงานมั่นใจว่า จะทำสำเร็จลงได้ เพราะมีประสบการณ์แล้ว นอกจากนี้ ยังต้องการทำโครงการเพิ่มเติมอีก เพื่อตอบสนองปัญหาของประชาชน

            "ในปีงบประมาณ 2551 อบต. มีแผนที่จะทำโครงการช่วยผู้ป่วยโรคไตที่ต้องถ่ายเลือด"
            ทั้งนี้ทั้งนั้น ทีมงานกองทุนฯ บางสีทองมีข้อเสนอแนะให้กับ สปสช.ว่าในระดับนโยบาย สสอ. โรงพยาบาล และ สสจ. ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม และ สปสช.น่าจะมีทีมลงไปประเมินผลและให้คำแนะนำแก่กองทุนฯ ระดับท้องถิ่น เพื่อที่คณะทำงานกองทุนฯ จะได้รู้ข้อบกพร่อง เพื่อปรับปรุงแก้ไขและทำงานต่อไปด้วยความมั่นใจ
            เห็นอย่างนี้แล้ว ดูท่าว่าพัฒนาการในช่วงขวบปีที่สองของกองทุนฯ บางสีทอง คงได้วิ่งปร๋อเลยทีเดียวเชียว

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
ดร.อุษณีย์ เทพวรชัย
ดร.นิชดา สารถวัลย์แพศย์
วัลภา เพิ่มอัจฉริยะวงศ์
ดร.ศรีวรรณ มีบุญ
วพบ.นนทบุรี


ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น