...+

วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บัณฑิตแพทย์ - ทันตแพทย์ดีเด่น มช. ยึดพระราชดำรัสพระราชบิดา รักษาคนไข้

บัณฑิตแพทย์ - ทันตแพทย์ ม.เชียงใหม่ รับรางวัลดีเด่นมูลนิธิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ พร้อมน้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ใช้ในชีวิต

นับเป็นความภาคภูมิใจของชาว มช.อีกครั้ง เมื่อบุคลากรจากสถาบัน สร้างชื่อเสียง และเป็นแบบอย่างอันดีแก่สังคม ได้แก่ ทพญ.วรกัญญา บูรณพัฒนา บัณฑิตทันตแพทย์จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลบัณฑิตทันตแพทย์ดีเด่น ประจำปี 2553 และ พญ.กนกวรรณ ภิญโญพรพาณิชย์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ได้รับรางวัลบัณฑิตแพทย์ดีเด่น ประจำปี 2553 จากมูลนิธิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือก



การพิจารณาคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองโดยคณะกรรมการคัดเลือกจากผู้สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยมีผลการเรียนระดับดีมากอย่างสม่ำเสมอตลอดหลักสูตร ผลการเรียนในวิชาหลักของแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์อยู่ในระดับดีมาก ควบคู่กับพิจารณาถึงความสามารถพิเศษ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ และมีคุณธรรมจริยธรรม อุทิศตนตามรอยพระราชจริยวัตรของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

สำหรับ ทพญ.วรกัญญา บูรณพัฒนา สำเร็จการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีการศึกษา 2552 ปัจจุบันปฏิบัติงานเป็นอาจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงความประทับใจในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ว่า รู้สึกประทับใจพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งพระองค์ท่านเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาด้านการแพทย์ของไทย

“พระองค์ทรงพระราชทานทุนการศึกษาให้นักศึกษาแพทย์ไทยได้มีโอกาสไปเรียนรู้วิชาแพทย์ยังต่างประเทศ และรู้สึกดีใจที่ตนได้มีโอกาสสอนหนังสือเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับนักศึกษา อีกทั้งการเป็นอาจารย์ยังทำให้ได้พัฒนาความรู้ตลอดเวลาอีกด้วย”

ด้าน พญ.กนกวรรณ ภิญโญพรพาณิชย์ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ส่วนตัวได้น้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ที่ว่า ไม่ต้องการให้เป็นหมอเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการให้เป็นคนด้วย เป็นคติประจำใจ เพราะการดูแลคนไข้นั้นไม่ ใช่เป็นเพียงการรักษาโรค แต่เป็นการเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยทั้งทางกายและจิตใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น