...+

วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เป็นรูปธรรม

สิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางมาเป็นเวลานาน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ แต่ในความเป็นจริงประชาชนคนไทยรวมถึงประชาคมโลกเข้าใจและตระหนักถึงความหมายอันแท้จริงของสิทธิมนุษยชนของพวกเขาเพียงใด นอกจากนั้น ความดำรงอยู่ ความถูกต้อง และเนื้อหาของสิทธิมนุษยชน ยังเป็นที่โต้เถียงกันมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐในการสนับสนุน ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้เป็นรูปธรรมมากกว่าเป็นนามธรรมเหมือนดังเช่นที่ผ่านมา

ในระดับสากล หลักกฎหมายที่ประชาคมโลกยอมรับและพร้อมที่จะปฎิบัติโดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้การรับรองเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการร่วมมือระหว่างประเทศที่มีความสำคัญในการวางกรอบเบื้องต้นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ตามเจตนารมณ์ที่ปรากฏในคำปรารภของปฏิญญาสรุปได้ว่า สิทธิมนุษยชน หมายถึง สิทธิที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งไม่สามารถจำหน่าย จ่าย โอน หรือแจกให้กับผู้หนึ่งผู้ใดได้ สิทธิดังกล่าวนี้มีความเป็นสากลและเป็นนิรันดร์ นอกจากนั้น ในข้อ 1 ของปฏิญญาดังกล่าวยังกำหนดไว้ว่า "มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระเสรี เท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง"

ประเทศไทยให้การรับรอง "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" ของสหประชาชาติดังกล่าวข้างต้น ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 256 กำหนดให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกหกคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 257 ดังต่อไปนี้

(1) ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีและเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป

2) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

(3) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

(4) ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย เมื่อได้รับการร้องขอจากผู้เสียหายและเป็นกรณีที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

(5) เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย และกฎ ต่อรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

(6) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน

(7) ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน

(8) จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศและเสนอต่อรัฐสภา

(9) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชนประกอบด้วย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใดหรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ รวมทั้งมีอำนาจอื่นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

การกำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหายได้นั้น ส่งผลให้ประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเป็นรูปธรรมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553 สถาบัน Eisenhower Fellowships สหรัฐอเมริกา ได้ร่วมมือกับ Eisenhower Fellowships Alumni (Thailand) จัดสัมมนาเรื่อง “สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ขึ้น ในการสัมมนาดังกล่าวมีการอภิปรายเรื่อง “สิทธิมนุษยชนในอาเซียน” โดยผู้อภิปราย คือ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เช่น ศาสตราจารย์ อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ศาสตราจารย์ วิทิต มันตรภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร. ศรีประภา เพชรมีศรี ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยมีผู้เขียนเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติโดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกลไกในระดับภูมิภาค ถือเป็นการเคลื่อนไหวอันจะส่งผลให้เรื่องสิทธิมนุษยชนมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นต่อไปในอนาคต

ในระดับสากล สหภาพยุโรปได้ร่วมกันจัดทำอนุสัญญาแห่งยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ECHR) ขึ้น ต่อมาปี ค.ศ. 1951 ประเทศอังกฤษได้ให้สัตยาบันและตราพระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1998 ขึ้นบังคับใช้เป็นกฎหมายภายในเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าวและถือเป็นการรวมอนุสัญญาแห่งยุโรปในเรื่องสิทธิมนุษยชนและกฎหมายอังกฤษเข้าด้วยกัน อีกประการหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรปอย่างชัดเจน คือ การจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปขึ้น (European Court of Human Rights) ณ เมืองสตราส์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งแม้ประเทศอังกฤษจะให้สัตยาบันและออกกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับอนุสัญญาแห่งยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่ผู้เสียหายที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ต้องยื่นฟ้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป

คดีที่น่าสนใจที่ขึ้นสู่ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป คือ คดี SW v United Kingdom; CR v United Kingdom (ค.ศ. 1995) ที่ผู้ร้องทั้งสองต้องคำพิพากษาในคดีข่มขืนกระทำชำเราและพยายามข่มขืนกระทำชำเราภรรยาของตนเองก่อนที่การสมรสจะสิ้นสุดลงตามกฎหมาย ผู้ร้องคัดค้านคำพิพากษาโดยอ้างว่าคำพิพากษานั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญาแห่งยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ECHR) ข้อ 7 ที่กำหนดว่า “ห้ามมิให้พิพากษาลงโทษบุคคลใดในทางอาญาสำหรับการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำใดที่มิได้มีกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดทางอาญา ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายภายในประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศ” ขึ้นอ้างว่า ขณะที่ผู้ร้องได้กระทำความผิด กฎหมายยังไม่ได้บัญญัติให้การข่มขืนกระทำชำเราภรรยาตนเองเป็นความผิดอาญา ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่ต้องรับผิด แต่ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปเห็นว่าบทบัญญัติตาม ข้อ 7 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเสรีภาพ และป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงควรตีความและนำไปใช้ในลักษณะเป็นมาตรการป้องกัน ซึ่งการกระทำของผู้ร้องเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างชัดเจน ดังนั้น ผู้ร้องไม่สามารถอ้างความไม่มีอยู่ของความผิดตามข้อ 7 เป็นประโยชน์แก่ตนเองเพื่อไม่ต้องรับการลงโทษ กรณีนี้จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ร้องตามอนุสัญญาแห่งยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ECHR) ข้อ 7

เห็นได้ว่าหลายประเทศทั่วโลกต่างมีความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนดังเช่นคดีดังกล่าวข้างต้น ซึ่งในขณะที่คดีขึ้นสู่ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป ประเทศอังกฤษยังไม่ได้มีการออกกฎหมายภายในเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญาดังกล่าว แต่ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปได้ตัดสินคดีให้ผู้กระทำความผิดต้องรับผิด เป็นการวางแนวปฏิบัติและสร้างทัศนคติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทุกคนรวมทั้งประชาคมโลกตื่นตัวและให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองตนเองและผู้อื่นให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างสงบสุข

ดังนั้น สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยจึงเป็นสิ่งท้าทายและรอการพิสูจน์สำหรับกระบวนการยุติธรรมไทย หากมีการเสนอเรื่องหรือฟ้องคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในอนาคต เพื่อพิสูจน์ว่ากลไกในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมีประสิทธิภาพและบังคับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น