...+

วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

หมอกควัน– โลกร้อน– การใช้รถใช้ถนน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 29 กรกฎาคม 2553 16:04 น.
โดย...สุจิตรา

ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือนั้นเป็นปัญหาที่เกิดประจำทุกปีโดยเฉพาะใน ช่วงหน้าแล้ง ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลายประการทั้งจากภายในประเทศและจากประเทศข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ป่าโดยธรรมชาติ การเผาป่าโดยความจงใจของมนุษย์เพื่อเป็นเหตุอ้างในการตัดไม้หรือเพื่อบุกรุก ป่าและเก็บผลิตผลจากป่า การเผาไร่นาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งการเผาเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมทั่วไป และการเผาถ่านหินลิกไนต์ในอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้า

ผลจากกระบวนการเผาดังกล่าวก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก โดยเฉพาะอนุภาคเล็กกว่า 10ไมครอน (หรือ 10 ไมโครเมตร, ประมาณหนึ่งในเจ็ดของความกว้างเส้นผมคนเรา) อนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะยิ่งอนุภาคมีขนาดเล็กมากยิ่งแทรกซึมเข้าสู่ทางเดินหายใจและเข้าสู่ถุง ลมปอดได้ง่าย อันจะก่อให้เกิดให้เกิดการระคายเคืองทำให้เกิดปัญหาโรคทางเดินหายใจ

ที่น่ากลัวมากๆ คือสารอนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้ สามารถที่จะกระตุ้นเซลล์ที่มีการแบ่งตัวตามปกติอยู่แล้วให้เกิดการกลาย พันธุ์ (Mutation) อันเป็นต้นเหตุของการเกิดมะเร็งทางเดินหายใจและมะเร็งปอดได้โดยง่าย

ได้มีการสำรวจโดยทีมงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าในช่วงปี 2545 ถึง 2548 สถิติผู้ป่วยจากโรคทางเดินหายใจในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ที่น่าตกใจคืออัตราผู้ที่เป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นถึงหกเท่าตัวในช่วงเวลาดัง กล่าว (จาก 0.9 ต่อแสนประชากร เป็น 5.8 ต่อแสนประชากร)

ค่ามาตรฐานของอนุภาคขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนอยู่ที่ไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลบ.เมตร แต่ค่าที่วัดได้ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ในปี 2550 มีค่าสูงกว่ามาตรฐานถึงสามเท่า (340-383 ไมโครกรัมต่อลบ.เมตรตามลำดับ) ในขณะที่เชียงรายและลำปางสูงกว่าค่ามาตรฐานสองเท่า (212-259 ไมโครกรัมต่อลบ.เมตรตามลำดับ) แม้ว่าในการสำรวจล่าสุดในปีนี้ (2553) ค่าที่วัดได้จะลดลงบ้าง แต่ก็ยังสูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ (231 ไมโครกรัมต่อลบ.เมตร ในจังหวัดเชียงราย และ 280 ไมโครกรัมต่อลบ.เมตรในจังหวัดเชียงใหม่)

ข้อมูลที่แจกแจงให้ฟังคงทำให้ท่านผู้อ่านได้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ ใกล้ตัวท่านอันเกิดจากหมอกควันบ้าง แต่พิษสงของหมอกควันยังไม่หมดแค่นี้

พักเรื่องหมอกควันไว้ก่อน ลองหันมาดูเรื่องโลกร้อนกันบ้าง

เป็นที่ทราบกันดีว่า ภาวะโลกร้อนเกิดจากก๊าซเรือนกระจกอันประกอบไปด้วยก๊าซหลักๆ อันได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โอโซน (O3) มีเธน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (NO2) ซึ่งก๊าซที่กล่าวมาทั้งหมดก็ล้วนเป็นผลจากกระบวนการเผาไหม้ในอุตสาหกรรม การเผาไหม้เชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้า การเผาไหม้ในกระบวนการสันดาปภายในของรถยนต์ และสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ เหตุที่เราเรียกว่า ก๊าซเรือนกระจกเพราะก๊าซเหล่านี้ซึ่งอยู่ในชั้นบรรยากาศชั้นล่างสุด (Troposphere) สะสมพลังงานความร้อนที่เกิดจากรังสีอินฟราเรด และรังสี UV ที่ตกกระทบมายังโลกและสะท้อนกลับไม่ให้หนีหายออกนอกอวกาศไป ทำให้เกิดความร้อนในชั้นบรรยากาศดังกล่าวสูงมากขึ้น

อันที่จริงแล้วภาวะเรือนกระจกมีความสำคัญต่อโลกมาก เพราะถ้าโลกนี้ไม่มีภาวะเรือนกระจกแล้ว อุณหภูมิโลกจะลดลงมาเหลือ -18 องศาเซลเซียส นั่นคือสิ่งมีชีวิตไม่มีโอกาสเกิดบนโลกแน่นอน

แต่ภาวะเรือนกระจกที่เกิดจากก๊าซเหล่านี้ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม และต้องไม่มากจนเกินไป จากข้อมูลการศึกษาพบว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ยกเว้นในช่วงปี 2478-2485 ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากนั้นปริมาณก๊าซเรือนกระจกก็มีแนวโน้มสูงตลอด (ดังรูป)

ก๊าซเรือนกระจกที่มากเกินไปส่งผลสำคัญสองประการคือ โลกร้อน และรังสี UV เข้ามายังโลกในปริมาณมาก

เรื่องโลกร้อนนั้นมีผู้รู้กล่าวถึงทั้งหลักฐานเชิงประจักษ์และผล กระทบที่จะตามมาอย่างมากมายซึ่งท่านผู้อ่านคงหาอ่านได้ตามโลกอินเทอร์เน็ต ทั่วไป ไม่ว่าจะในเรื่องของอุณหภูมิโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกที่มีแนวโน้มลดน้อยลงอย่างรุนแรง ภาวะน้ำท่วมส่วนต่างๆของโลก การผันแปรอย่างรุนแรงของสภาพภูมิอากาศและนำมาสู่อุทกภัยและวาตภัยในพื้นที่ ต่างๆ และการระบาดของโรคที่มียุงเป็นพาหะ เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออก อันเป็นผลจากสภาพอากาศที่อุ่นขึ้นและเอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของยุง

แต่ที่ผู้เขียนอยากกล่าวถึงคือการที่ปริมาณรังสีที่อันตรายโดยเฉพาะ รังสี UV ที่ทะลุทะลวงเข้ามายังโลกมากขึ้นเพราะรูโอโซน (Ozone Hole) ในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ที่ใหญ่ขึ้น

ท่านผู้อ่านคงมึนงงว่า ตกลงแล้วก๊าซโอโซนที่ว่านี้ดีหรือไม่ดีกันแน่

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ชั้นบรรยากาศที่หุ้มห่อโลกนี้มีสี่ชั้นที่สำคัญ คือ

- ชั้นโทรโปสเฟียร์ (Troposphere) ซึ่งอยู่เหนือผิวโลกไม่เกิน 15 กม.

- ชั้นสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) ซึ่งอยู่เหนือผิวโลก 15-50 กม.

- ชั้นเมโซสเฟียร์ (Mesosphere) ซึ่งอยู่เหนือผิวโลก 50-85 กม. และ

- ชั้นเทอร์โมสเฟียร์ (Thermosphere) ซึ่งอยู่เหนือผิวโลก 85-500 กม. เหนือกว่านั้นก็เป็นเขตอวกาศ

โอโซนที่อันตรายคือโอโซนในชั้นสตราโทรโปสเฟียร์เพราะเป็นก๊าซ เรือนกระจกที่เป็นอันตรายต่อระบบหายใจโดยตรง โอโซนในชั้นนี้ส่วนใหญ่แล้วจะสร้างจากการแตกตัวเป็นออกซิเจนอิสระโดยอาศัย สารตั้งต้นคือ ไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogen dioxide, NO2) ซึ่งเป็นก๊าซเสียที่เกิดจากกระบวนสันดาปภายในของเครื่องยนต์ ซึ่งเมื่อโดนแสงแดด NO2 ก็จะแตกตัวให้อะตอมออกซิเจนซึ่งจะไปรวมตัวกับโมเลกุลออกซิเจนกลายเป็น “โอโซน”

ในขณะที่โอโซนที่เป็นคุณกับมนุษย์คือโอโซนในชั้นสตราโตสเฟียร์ เหตุที่เป็นคุณเพราะโอโซนในชั้นบรรยากาศดังกล่าวช่วยดูดซับรังสี UV ถึงร้อยละ 99 ก่อนเข้าสู่พื้นผิวโลก โอโซนในชั้นดังกล่าวสร้างจากการที่โมเลกุลออกซิเจนดูดซับรังสี UV แตกตัวเป็นออกซิเจนอิสระและทำปฏิกิริยากับโมเลกุลออกซิเจนกลายเป็น “โอโซน” ในทางกลับกันการที่ “โอโซน” ในชั้นสตราโตสเฟียร์จะสลายกลายเป็นออกซิเจนอิสระและโมเลกุลออกซิเจนก็ต้อง อาศัยรังสี UV เช่นกัน รวมความว่าทั้งการสร้างและการสลาย UV ในชั้นสตราโตสเฟียร์ล้วนต้องใช้ UV ทั้งสิ้น นี่จึงเป็นกลไกในการที่บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์หรือที่เรียกว่า ชั้นโอโซน สามารถปกป้องโลกจากรังสี UV ได้

แล้วรูโอโซน (Ozone Hole) เกิดจากอะไร?

รูโอโซนในชั้นสตราโตสเฟียร์ที่มีขนาดกว้างใหญ่ขึ้นนั้นเกิดจากการหาย ไปของโอโซนอันเป็นผลมาจากการโมเลกุลของคลอรีนที่อยู่ในสารคลอโรฟลูออโรคาร์ บอน (Chlorofluorocarbons, CFC) ซึ่งจะแตกตัวออกจากสาร CFC ภายใต้รังสี UV และไปแย่งจับกับออกซิเจนอิสระ (ดังรูป) ทำให้โมเลกุลออกซิเจนแตกตัวออกจากโมเลกุลโอโซน แต่สุดท้ายคลอรีนที่จับกับออกซิเจนอิสระก็จะแยกจากกันและคลอรีนอิสระก็จะไป จับกับโมเลกุลโอโซนใหม่อีก คลอรีน 1 ตัวสามารถทำให้โอโซนแตกตัวได้ถึง 1,000 โมเลกุล รูโอโซนจึงมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีขนาดคงที่จากการที่เลิกใช้สาร CFC ในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นและอุตสาหกรรมกระป๋องอัดฉีด แต่ก็ยังต้องใช้เวลาอีกนานหลายร้อยปีกว่าที่รูโอโซนจะมีขนาดเล็กลง

โอโซนในชั้นโทรโปสเฟียร์ที่เป็นพิษจะไปทดแทนโอโซนที่เป็นคุณที่อยู่ในชั้นสตราโตสเฟียร์ได้หรือไม่?

ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น เพราะโอโซนเป็นก๊าซที่หนักกว่าอากาศถึงเท่าตัว (อากาศมีความหนาแน่นประมาณ 1.2 กก. ต่อ ลบ.เมตร หรือ 1.2 กรัมต่อลิตร ในขณะที่โอโซนมีความหนาแน่น 2.144 กรัมต่อลิตร) โอโซนในชั้นโทรโปสเฟียร์จึงตกค้างอยู่บนผิวโลก

เมื่อไม่มีชั้นโอโซนที่เพียงพอ รังสี UV ที่เป็นอันตรายก็จะเข้ามาถึงชั้นผิวโลกได้มากขึ้นและก่อให้เกิดอันตรายทั้ง ต่อผิวหนังโดยเฉพาะการเกิดมะเร็งผิวหนัง และที่คนไทยยังไม่ตระหนักคือ ภาวะต้อกระจก (Cataract) ซึ่งก็คือการที่เลนส์ตาขุ่นมัว ทำให้มองไม่เห็นและต้องเข้าคิวเพื่อผ่าตัดใส่เลนส์ตาเทียมกัน โรคนี้จะเห็นได้ชัดเจนในชาวไร่ชาวนาที่ไม่ระมัดระวังป้องกันดวงตาของตนจาก แสงแดด ข้อแนะนำประการแรกสำหรับท่านผู้อ่านคือ พยายามใส่แว่นกันแดดทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร แม้กระทั่งบนเครื่องบินที่เปิดหน้าต่าง

แล้วหมอกควันที่กล่าวในตอนต้นบทความเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนอย่างไร ? เรามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร?

สองเรื่องนี้เกี่ยวพันอย่างมาก เพราะการเผาฟางข้าว 1 ไร่จะก่อให้เกิดมลพิษในอากาศถึง 1,217 กิโลกรัม โดยเป็นก๊าซเรือนกระจกอันประกอบด้วย คาร์บอนไดออกไซด์ 1,210 กิโลกรัม และไนโตรเจนไดออกไซด์ 2 กิโลกรัม ที่เหลืออีกประมาณ 5.2 กิโลกรัมคือฝุ่นละอองและอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน

ในทางกลับกันถ้าไม่เผาฟางข้าว จะเป็นการช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจน โปรแตสเซียม และ ฟอสฟอรัส ให้แก่ดินถึง 23 กิโลกรัมต่อไร่ หรือคิดเป็นเงินได้ถึง 185 บาทต่อไร่ นอกจากนี้แล้วยังเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินถึง 800 กิโลกรัมต่อไร่

ใครที่ควรจะรับผิดชอบ?

สิ่งหนึ่งที่เรามักพบเห็นคือการที่หน่วยราชการจะให้ความรู้แก่ ประชาชน (กลุ่มเล็กๆ) ในรูปแบบของการจัดอบรมสัมมนาประชุมเพื่อเผยแพร่ความรู้ และการจัดทำป้ายบอกต่างๆ ตามข้างทาง รวมทั้งพยายามบอกชาวบ้านว่า อย่าเผาป่า อย่าเผาหญ้า อย่าเผาฟางข้าว และอย่าอื่นๆ อีกมากมาย แต่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำอะไรนอกเหนือจากการจัดอบรมสัมมนา รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอันได้แก่ อบจ. เทศบาล และ อบต. ได้ลงมือทำอะไรบ้าง หรือเพียงแต่เอาเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมาสร้างตึกที่ทำการของ อบจ. และ อบต. รวมทั้งคอยคิดแต่จะตัดถนน

ตัวอย่างเช่นในเรื่องที่ชาวนาเผาฟางข้าวและตอซังข้าวเพื่อเตรียมนา เราบอกชาวไร่ชาวนาว่า “อย่าเผาฟางข้าว” แต่หน่วยงานราชการได้ช่วยอะไรชาวไร่ชาวนาเพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้ บ้าง เช่น การมีรถไถกลบไว้บริการในพื้นที่ การรับซื้อฟางข้าวเพื่อไปแปรรูปหรือทำประโยชน์อื่นเพื่อมิให้มีการเผา หน่วยงานราชการได้สร้างระบบติดตามผลการให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องดัง กล่าวอย่างเป็นระบบหรือไม่ อาทิ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องตอบเป็นตัวเลขแก่สาธารณชนได้หรือไม่ว่าขณะนี้ แนวโน้มการเผาฟางข้าวของชาวนาเพื่อเตรียมนานั้นมีแนวโน้มลดน้อยลง คงที่ หรือมากขึ้น หรือตัวเลขอยู่ในเอกสารของเจ้าหน้าที่ จะขอดูเมื่อไรก็ได้ แต่ไม่เคยมีคนขอดูรวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการทั้งอธิบดี และปลัดกระทรวง เพราะไม่เคยติดตาม

แล้วรัฐบาลล่ะครับ จริงใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือไม่ ได้ติดตามจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องถึงความคืบหน้าของการแก้ไขดังกล่าว อย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ได้ส่งสัญญาณถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินการจัดการปัญหาดังกล่าวและปัญหา อื่นๆ หรือไม่

โจทย์ข้อนี้ เป็นโจทย์ที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบและร่วมกันแก้ไข ทั้งชาวไร่ชาวนา ทั้งหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รัฐบาล” การแก้ไขจึงจะเคลื่อนหน้าไปในทิศทางที่ถูกได้ รัฐบาลต้องเลิกหวังว่าหน่วยงานราชการจะเดินหน้าเอง และต้องเลิกหวังในทุกเรื่อง ตราบเท่าที่รัฐบาลไม่ติดตามอย่างใกล้ชิดรัฐบาลก็อย่าหวังเลยว่าหน่วย งานราชการจะเดินเอง เพราะหน่วยงานราชการก็เกรงว่าเมื่อเดินไปเองแล้วจะชน “ตอ”

ปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญที่ทุกคนทุกฝ่ายทุกหน่วยงานจะ ต้องมีร่วมกันคือ “ความรักชุมชน รักบ้านเมือง รักคนที่อยู่ร่วมกัน” การแก้ปัญหาต่างๆ จึงจะสัมฤทธิผลได้ ตัวอย่างเช่น คนญี่ปุ่น คนเกาหลี ที่รักบ้านรักเมืองของเขา บ้านเมืองของเขาจึงก้าวหน้ามาได้ดังทุกวันนี้

เชื่อเถอะครับว่า ความสำเร็จในการที่จะแก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งสิ่งที่ทุกคนโหยหาคือ “ระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง” นั้น ต้องเริ่มที่ “ถนน” เพราะ “ถนน” เป็นที่ที่ทุกคนต้องใช้ร่วมกันในทุกวัน เป็นที่ที่ต้องอาศัยความเอื้ออาทรของผู้ใช้รถใช้ถนน การใช้ “ถนน” จึงจะไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและปลอดภัยที่สุด อาจกล่าวได้ว่า การใช้รถใช้ “ถนน” เป็นพฤติกรรมที่สะท้อนถึง “ความรักชุมชน รักบ้านเมือง รักคนที่อยู่ร่วมกัน” ของคนในสังคมนั้น ๆ

ตราบ ใดที่เรายังคงขับรถช้าแต่ชิดเลนขวาโดยคำนึงแต่เพียงว่า “ฉันอยู่เลนของฉัน ฉันไม่คร่อมเลนคนอื่น” โดยไม่คำนึงถึงระยะห่างรถของตนกับรถคันหน้าที่ห่างมากและห่างมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รถคันหลังต้องแซงไปทางซ้ายซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก ตราบใดที่เราเปลี่ยนเลนโดยไม่เปิดไฟเลี้ยวแต่เนิ่นๆ โดยคิดเพียงว่า “ปลอดภัยอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องเปิดไฟเลี้ยวเลย” จนบางคนลืมไปเลยว่ารถของตนมีไฟเลี้ยว หรือลืมไปว่าการเปิดไฟเลี้ยวเป็นการแสดงความมีน้ำใจเพราะเป็นการให้ข้อมูล แก่รถข้างเคียง นั่นก็แสดงว่า ยังไม่ตกผลึกถึงคำว่า “ความรักชุมชน รักบ้านเมือง รักคนที่อยู่ร่วมกัน” หรือรักแต่ปาก ตราบนั้นความคาดหวังที่จะแก้ปัญหาที่สำคัญๆ ของชาติบ้านเมืองได้ก็จะยังคงลางเลือนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น