...+

วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปฏิรูปประเทศไทย!

โดย แสงแดด 27 กรกฎาคม 2553 15:16 น.
ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา
สถานการณ์บ้านเมืองเริ่มจะคลี่คลายดำเนินเดินหน้าไปในทิศทางที่น่าจะดีขึ้น
"บรรยากาศตึงเครียด!" ค่อยๆ ทยอยความเขม็งเกลียวลงไปบ้างไม่มากก็น้อย
หลังจากที่ "ความรุนแรง" จนสร้าง "ความตึงเครียด"
เกิดขึ้นช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม จนแทบไม่น่าเชื่อว่า
ประเทศไทยเกือบจะเป็น "รัฐล่มสลาย (Failed State)"

"ประชาคมโลก"
ต่างวิตกกังวลอย่างมากกับสถานการณ์บ้านเมืองเราในช่วงนั้น
จนกระทั่งนานาประเทศทั่วโลกต่างเตือนประชาชนของเขาในการเดินทางมาท่องเที่ยว
ประเทศไทย จนถึงขั้น "ประกาศห้ามเข้าเด็ดขาด!" ตลอดจน
"ยกระดับความรุนแรง" สูงถึง "ระดับ 4 - ระดับ 5"
ที่เสี่ยงสูงในการเดินทางเข้าประเทศไทย

ผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์ "พฤษภาอำมหิต" ส่ง
ผลถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เลยเถิดมาจนถึง
การค้าการขายและการลงทุนในที่สุด
และที่ส่งผลกระเพื่อมเพิ่มเติมต่อเนื่องคือ การประกาศ
"พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)" ที่
เดิมครอบคลุมหลายสิบจังหวัด จนในที่สุดเหลือ 24 จังหวัดและมาที่ 19
จังหวัด จนล่าสุดเหลือเพียง 16 จังหวัด โดยน่ามีความเป็นไปได้สูงว่า
อีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คงเหลือเพียง 3-4 จังหวัดเท่านั้น

หลังจากเหตุการณ์ได้เริ่มผ่อนคลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น จนบรรยากาศ
"ด้านการท่องเที่ยว-การค้าการขาย-การลงทุน" ส่งสัญญาณกระเตื้องขึ้น
จนสามารถเรียกได้ว่าเป็น สถานการณ์ปกติ แต่ถามว่า "การเคลื่อนไหว"
ยังมีอยู่บ้างหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า "มีแน่นอน!"
ทั้งในส่วนของบนดินและใต้ดิน
จนฝ่ายกฎหมายและฝ่ายความมั่นคงสามารถรวบรวมพยานหลักฐานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ
"กองกำลังชุดดำ" ที่มีส่วนกับการก่อเหตุรุนแรงช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม

ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เพียรพยายามเร่งดำเนินการสร้าง
"ความปรองดอง-สมานฉันท์" ให้เกิดขึ้น โดยให้เป็นไปตามกรอบของ
"คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ"
จากวุฒิสภาที่มี คุณดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกวุฒิสภาเป็นประธาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น"

แนว คิดสำคัญของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือ
"การปฏิรูปประเทศไทย" ที่มุ่งเน้นไปสู่ "การสร้างความปรองดองสมานฉันท์"
โดยมุ่งหวังสูงสุดที่จะนำให้สถานการณ์บ้านเมืองกลับสู่สภาวะปกติ
และแน่นอน "ก้าวเดินหน้าต่อไปสู่อนาคต" ที่ดีกว่า

หลัก การสำคัญ 5 ประการ ที่นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์
ตั้งเป้าหมายสำคัญ คือ หนึ่ง การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ สอง
การปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ สาม การปฏิรูปสื่อ สี่
การตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และห้า สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ
ดูแลปัญหาปากท้องประชาชนระดับรากหญ้า

ด้วยเจตนารมณ์ที่พยายามเดินหน้าสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้น
การตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ เริ่มทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะชุดที่เกี่ยวกับ "การปฏิรูปประเทศไทย" และ
"การปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ"

ว่ากันตามความเป็นจริง และ "การปฏิรูปประเทศไทย"
คงจะไม่เกิดแนวคิดและทิศทางอย่างจริงๆ จังๆ
ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองถึงขั้นรุนแรงและช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม
จึงนับได้ว่าเป็น "ช่วงการเปลี่ยนผ่าน-การเปลี่ยนแปลง"
ครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ที่ถึงเวลาจำต้องปรับปรุงแก้ไขทั้ง "โครงสร้าง-ระบบ"
การเมืองไทยให้ดีขึ้น โดยเฉพาะ "โครงสร้างอำนาจ" ของ
"กระบวนการทางการเมืองการปกครอง" เกือบทั้งหมด

นอกเหนือมากกว่านั้น "การทบทวนปัญหา" ทั้งทาง "สังคม-เศรษฐกิจ"
ของประชาชนโดยทั่วไป ทั้งในเมืองหลวง เมืองขนาดใหญ่ และตามชนบท
เริ่มได้รับความสนใจจาก "ภาครัฐบาล-ภาคราชการ" มากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะประเด็น "ความเป็นธรรม" กับ "ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม"
ตลอดจน "ปัญหาความยากจน-ปัญหาหนี้สิน-ปัญหาที่ทำกิน"

และที่มากที่สุดคือ "ความเสียเปรียบ-เสียโอกาส"
แทบทุกด้านของพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนต่างๆ
และตามชนบทที่ก่อให้เกิด "การเอารัดเอาเปรียบ" ทั้งจาก "ข้าราชการ"
และบรรดา "พ่อค้า-คนกลาง" ทั้งหลาย ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของ "ความกดดัน"
จากหัวจิตหัวใจของพี่น้องประชาชนที่ "ถูกรังแก-เบียดเบียน" ที่
"ปะทุระเบิด" ขึ้นมา บวกกับ "การยุยง"
ของบรรดาแกนนำที่ปลุกระดมให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ
เพื่อร่วมชุมนุมประท้วงเรียกร้อง โดยเฉพาะ นปช.และกลุ่มเสื้อแดง
จนเหตุการณ์บานปลายในที่สุด

เหตุการณ์เช่นนี้ ถามว่า
ได้มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่กับบ้านเมืองเรา ก็ต้องตอบว่า
"เกิดขึ้นอย่างแน่นอน!" เนื่อง ด้วยพี่น้องประชาชนช่วงประมาณ 8-9 ปี
สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสาร พร้อมทั้งสามารถบริโภคข่าวสารได้ตลอด 24
ชั่วโมง เพียงแค่มีโทรทัศน์
และถ้ามีจานดาวเทียมด้วยแล้วจึงสามารถรับรู้บริโภคข้อมูลจากค่าย
และ/หรือสำนักข่าวพิเศษได้อย่างมากมาย จนสามารถเรียกว่าเป็น
"การบริโภคข่าวด้านเดียว" อาทิ สถานีโทรทัศน์ ASTV บ้างสถานีโทรทัศน์ PTV
บ้าง (เสื้อแดง) ที่มุ่งโจมตีรัฐบาล
และอาจเลยเถิดไปถึงสถาบันสำคัญของชาติบ้านเมือง
และส่อแนวโน้มว่าต้องการเปลี่ยนแปลง "โครงสร้างการเมืองการปกครอง"

จากการรับรู้และบริโภคข้อมูลข่าวสาร จนอาจ "เอียงกระเท่เร่"
แต่ที่แน่นอนคือ "ความรู้-ความตื่นตัว" และเริ่ม
"ตระหนักถึงสิทธิหน้าที่ตนเอง" มากยิ่งขึ้น จนก่อให้เกิด
"การหวงแหนสิทธิ" และ "เรียกร้องสิทธิ์" จนต้องการ "การมีส่วนร่วม"
จึงเป็นที่มาของ "การเมืองภาคประชาชน"

ถามว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ดีหรือไม่
ก็ต้องตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า "ดี!" เพราะการเมืองการปกครองใน
"ระบอบประชาธิปไตย" ภาคประชาชนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของ
"การพัฒนาทางการเมือง"

เพียงแต่ปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหารุนแรงและบานปลายคือ
"การปั่น-ปลุกระดม" จากบรรดา "แกนนำ-หัวคะแนน"
ของพรรคการเมืองที่ยึดครองพื้นที่ "ปลุกปั่น" พร้อมทั้ง "จัดจ้าง"
ประชาชนส่วนหนึ่งที่ไร้อุดมการณ์เดินทางมาสมทบกับกลุ่มพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจริงๆ
สร้างความวุ่นวายและอ้างว่า "พลังมวลชน!"

"คณะ กรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์
เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ของศาสตราจารย์
ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ค่อนข้างจะแข็งขันมากที่สุด ด้วยการประชุมเพียง
1-2 ครั้ง และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการถึง 4 ชุด
เพื่อศึกษาพิจารณาการปฏิรูปการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
กระบวนการทางกฎหมาย และความยุติธรรม
และการมีส่วนร่วมกับประชาชนและรับฟังความคิดเห็นฯ
ที่ทุกชุดต่างเร่งเดินหน้าทำงานกันพอสมควรไปบ้างแล้ว

"การปฏิรูปประเทศไทย"
ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์นำเสนอแนวคิดจากหลากหลายกลุ่ม และสถาบันต่างๆ
มากมาย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด องค์กรใด ต่างมี
"ความกังวล-ห่วงใย" และที่น่าดีใจ "การรักชาติบ้านเมือง"
ล้วนเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบ เชิงบวก ก็ตาม
แต่พุ่งเป้าไปที่ "การปฏิรูปฯ" ให้กลับสู่สภาวะปกติสุขบน
"ความแตกแยกทางความคิดกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม" จะด้วย "เจตนาดีหรือไม่ก็ตาม!"

ความพยายามของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ที่ต้องการให้ประเทศไทยได้รับการปฏิรูปอย่างจริงจัง และเท่าที่ติดตามนั้น
ค่อนข้างมั่นใจว่า "การแทรกแซง" จาก รัฐบาลไม่น่าจะเกิดขึ้น ในทางกลับกัน
กลับสนับสนุนงบประมาณในการทำงานให้แก่คณะกรรมการทุกชุด
เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ซึ่งต้องบอกตามตรงว่า
"ต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี" ที่จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์
"สันติสุข" ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

แม้กระทั่ง ชุดของคุณอานันท์ ปันยารชุน "คณะกรรมการปฏิรูป"
และนายแพทย์ประเวศ วะสี "คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป" เช่นเดียวกัน
ที่เพียรพยายามเดินหน้าและขอเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ 3 ปี
โดยต่างยอมรับว่า "ความละเอียดอ่อนของวิกฤตปัญหา" ตลอดจน
"การต่อต้านการปฏิรูป" ที่ยากต่อการหยั่งลึก!

โครงการ ปริญญาโท สาขาการบริหารจัดการสาธารณะสำหรับนักบริหาร
(EPA) ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ
"สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ก.พ.ร. (IGP)"
มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มเนชั่น
เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ต้องการมีส่วนร่วมกับการปฏิรูปประเทศชาติ
ด้วยการจัดการอภิปรายหัวข้อ "ปฏิรูปประเทศไทย : ในฝันหรือเป็นจริง"
ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม นี้
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ทุกภาคส่วนในปัจจุบันต่างมองไปข้างหน้าสู่ทิศทางของการปฏิรูปประเทศไทย
เพราะฉะนั้น กลุ่มการเมืองใดที่เห็นต่างด้วยการสร้าง "ความขัดแย้ง"
ก็ไม่น่าเป็นคนไทยต่อไป ขอให้คนไทยทุกคนรักชาติบ้านเมือง
และร่วมปฏิรูปประเทศไทยให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น