...+

วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ1ใน7ของโลกอยู่ที่เมืองไทย

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 กรกฎาคม 2553 08:01 น.
"ไม้ กลายเป็นหิน" มีความสำคัญอย่างไร ? คำถามนี้
อาจทำให้หลายคนหน้านิ่วคิ้วขมวดด้วยความงง
เพราะอาจไม่รู้จักไม้กลายเป็นหิน ว่าคืออะไรด้วยซ้ำ
แต่ความสงสัยดังกล่าวสามารถหาคำตอบได้จากสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ
มรภ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเพียง 1 ใน 7 แห่งของโลก
ที่ศึกษาวิจัยทางด้านนี้โดยตรง

ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ให้ข้อมูลว่า
ไม้กลายเป็นหิน หมายถึง ไม้ในสมัยดึกดำบรรพ์ที่เปลี่ยนแปลงสภาพเป็นหิน
ซึ่งเกิดจากเนื้อไม้เดิมถูกแทนที่ด้วยแร่ธาตุ

"ไม้ กลายเป็นหินตามแหล่งต่างๆของโลกนั้น มีสาเหตุมาจากหลักใหญ่ 2
ประการ คืออิทธิพลของภูเขาไฟ เกิดจากการทับถมของพื้นที่ป่าไม้
หรือที่ราบที่มีท่อนไม้ฝังอยู่ ด้วยเถ้าภูเขาไฟ หรือฝุ่นภูเขาไฟ
ซึ่งมีซิลิกาเป็นองค์ประกอบอยู่มาก ตะกอนดังกล่าวเมื่อผุพังสลายตัว
ซิลิกาบางส่วนจะอยู่ในรูปสารละลายในน้ำใต้ดิน
สามารถแทรกซึมเข้าไปแทนที่เนื้อไม้อย่างช้าๆจนกระทั่งเข้าไปแทนที่ทั้งหมด"

ส่วนสาเหตุประการที่สองนั้น ผศ.ดร.ประเทืองอธิบาย ว่า
เกิดจากอิทธิพลของน้ำท่วม ทำให้มีการพัดพาตะกอน กรวด ทราย ดิน จำนวนมาก
ไปทับถมส่วนของต้นไม้เอาไว้
และสารละลายจากน้ำใต้ดินจะค่อยแทรกซึมไปแทนที่เนื้อไม้
จนกระทั่งเนื้อไม้กลายเป็นหิน
ผศ.ดร.ประเทือง อธิบายถึงความสำคัญของไม้กลายเป็นหินว่า
ไม่เพียงเป็นแค่ซากดึกดำบรรพ์ที่เก่าแก่ไปตามกาลเวลา
แต่เปรียบเสมือนกุญแจไขสู่โลกในอดีต และมีความสำคัญทางวิชาการในด้านต่างๆ

"ใน ด้านสาขาชีววิทยา พฤกษศาสตร์และบรรพชีวินวิทยา ไม้กลายเป็นหิน
มีประโยชน์ต่อการศึกษาเชิงวิวัฒนาการเพื่อจำแนกชนิดพืช
ไม่ต่างจากการศึกษาฟอสซิล โดยนำมาพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของพืชพรรณ
รวมถึงสภาพแวดล้อมในอดีต ส่วนในด้านสาขาธรณีวิทยา
นับเป็นหลักฐานสำคัญต่อการอธิบายปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา เช่น
การแยกตัวของแผ่นดินในทวีปต่างๆ สภาพผืนดินในยุคดึกดำบรรพ์
รวมทั้งสามารถนำมาศึกษาปรากฏการณ์การสูญพันธุ์ การล้มตายของไดโนเสาร์
หรือช่วยบอกอายุของชั้นหิน หรือตะกอน ซึ่งจำเป็นสำหรับการจัดลำดับชั้นหิน
ทั้งยังบอกสภาพแวดล้อมของโลกในแต่ละช่วงเวลา เช่น ภูมิอากาศ ปริมาณฝน
ฤดูกาล พืชพรรณธรรมชาติ ไม่แตกต่างจากการศึกษาฟอสซิลชนิดหนึ่ง"
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ ยังเผยว่า
ในประเทศไทยสามารถพบไม้กลายเป็นหินได้มากที่สุด ในพื้นที่ภาคอีสาน
เนื่องจากเป็นที่ราบซึ่งเคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ มีการพัดพาซากไม้ และตะกอน
ในระดับที่ลึกจนเกิดเป็นปรากฏการณ์ดังกล่าวได้

"ไม้ กลายเป็นหิน พบได้มากในพื้นที่ นครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์
สุรินทร์ ชัยภูมิ ประเทศไทยจึงนับเป็นแหล่งสำคัญในเอเชีย
โดยเฉพาะที่จังหวัดตาก
มีไม้กลายเป็นหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในพื้นที่ป่าสงวน
ส่วนที่เหมืองถ่านหินจังหวัดเลย ก็มีไม้กลายเป็นหินที่มีอายุมากกว่า 300
ล้านปี รวมถึงพื้นที่อื่นๆในภาคอีสานก็ล้วนแต่มีอายุไม่ต่ำกว่า 100
ล้านปี"

ผศ.ดร.ประเทือง เพิ่มเติมข้อมูลว่า
ปัจจุบันสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน มีอยู่เพียง 7 แห่งในโลก
ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา 4 แห่ง กรีซ จีน และไทย ประเทศละ 1 แห่ง
"การเกิดขึ้นของสถาบันวิจัยประเภทนี้
ก็ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศอินโดนิเซีย
ก็พบไม้กลายเป็นหิน แต่มีการขายในเชิงพาณิชย์ทำให้เสียโอกาสไป
สำหรับสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ของไทย เทียบเท่ากับคณะหนึ่งของ
มรภ.นครราชสีมา และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนในวิชา 'โคราชศึกษา'
มีบทเรียนที่เนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาซากดึกดำบรรพ์
ซึ่งครอบคลุมรวมทั้งซากไดโนเสาร์ และไม้กลายเป็นหินด้วย"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น