...+

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ผู้ปกครองนักเรียน : ผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของนักบิดรุ่นเยาว์

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ 28 มิถุนายน 2553 14:03 น.


ทุกความรุนแรงมีเรื่องเล่า
ดังความรุนแรงของเยาวชนในยูนิฟอร์มนักเรียนนักศึกษาขณะขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ที่มีเรื่องเล่ามากมายให้ค้นหา
เพราะไม่ใช่แค่เรื่องราวความคึกคะนอง โชว์หญิง
หรือชื่นชอบความท้าทายที่รวดเร็วเท่านั้น
ทว่ายังเป็นเรื่องราวเชิงโครงสร้างของระบบขนส่งสาธารณะประเทศไทยที่รวมศูนย์
ไม่ครอบคลุมกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ต้องเดินทางไป-กลับโรงเรียนทุกวัน
โดยเฉพาะเยาวชนตามต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางจากชนบทรอบนอกเข้าตัวอำเภอหรือตัวเมืองเพื่อไปเรียนหนังสือ

มอเตอร์ไซค์จึงเป็นยานพาหนะตัวเลือกอันดับแรกทั้งของเยาวชนและผู้ปกครองในการเดินทางไป-กลับโรงเรียนของเด็กนักเรียนต่างจังหวัด
นั่นทำให้จำนวนรถมอเตอร์ไซค์สะสมทั้งสิ้น 16,549,307 คันเมื่อสิ้นปี 2552
เป็นรถที่จดทะเบียนในภูมิภาคมากถึง 14,158,941 คัน
ซึ่งในจำนวนนี้ก็น่าจะเป็นรถที่พ่อแม่ซื้อให้เยาวชนใช้ขับขี่ไปเรียนหนังสือไม่ใช่น้อย
ยิ่งปัจจุบันไม่เพียงผ่อนน้อยผ่อนนาน ดาวน์น้อยหรือไม่ต้องดาวน์เลย
ทว่าแคมเปญโฆษณามอเตอร์ไซค์ยังเจาะกลุ่มวัยรุ่นโดยตรงด้วยการใช้พรีเซนเตอร์ดารานักร้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ
และรูปทรงรถที่โฉบเฉี่ยว สมรรถนะเร็วแรงโดนใจ ดังปี 2552
ที่มีรถมอเตอร์ไซค์จดทะเบียนใหม่ถึง 1,635,807 คัน โดยอยู่ในเขตภูมิภาค
1,307,441 คัน

ทั้งนี้ ในบริบทของต่างจังหวัดที่ไร้ระบบขนส่งสาธารณะรองรับและรถนักเรียนที่มีให้บริการก็ขาดมาตรฐานความปลอดภัย
การตัดสินใจของผู้ปกครองที่ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้ลูกหลานขี่ไปโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลจึงน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกสบาย
และลูกๆ ที่ชอบรถทันสมัย

ทว่าความเป็นจริงกลับตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์ของพ่อแม่ที่ต้องการเห็นลูกขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปโรงเรียนด้วยความปลอดภัย
เพราะมอเตอร์ไซค์ได้กลายเป็นยานพาหนะสุดอันตรายที่นำการบาดเจ็บ พิการ
หรือตายมาสู่ลูกหลานวัยรุ่น
ดังสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ตรงกับรายงานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินที่พบว่ากลุ่มเยาวชนช่วงอายุ
15-24 ปี มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์สูงสุดอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นกลุ่มที่ขาดประสบการณ์และวุฒิภาวะในการตัดสินใจ

ไม่เท่านั้นทุกครั้งที่บิดคันเร่งยังหมายถึงการเดินทางเข้าสู่โลกใหม่สังคมใหม่เพื่อนใหม่ที่ยากมีใครทัดทานได้
เพราะท่วมท้นไปด้วยความเร็ว รุนแรง และเซ็กซ์ที่สุดแสนเร้าใจ
ดังรายงานวิจัยของกลุ่มเยาวชนผู้นำความปลอดภัยที่พบว่าเพียงรถมอเตอร์ไซค์คันเดียวก็เป็นเครื่องมือเปิดโลกเยาวชนให้ก้าวเข้าสู่โลกแห่งความรุนแรงและอบายมุขได้แล้วจากการการขับขี่รวมกลุ่มกับแก๊งเพื่อน
อีกทั้งมักชักชวนกันแต่งรถให้แรงเพื่อเพิ่มแรงดึงดูดเพศตรงข้าม
แข่งกันขับรถเร็ว ซิ่ง เพื่อความตื่นเต้น เร้าใจ สนุกสนาน
ขับขี่ผาดโผนเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง
และบางคราเลยเถิดถึงขั้นเข้าสู่โลกอาชญากรรม ยาเสพติด
และเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เพราะสภาพแวดล้อมชักจูงใจให้หลงผิด

รถมอเตอร์ไซค์พาหนะที่พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ
(Official sponsor)
ซื้อหาให้ลูกหลานวัยรุ่นวัยเรียนเพื่อหวังว่าพวกเขาจะใช้ขี่เดินทางไป-กลับโรงเรียนด้วยความสะดวกสบาย
กลับบ้านตรงเวลา ไม่ต้องห้อยโหนรถโดยสารสาธารณะ และประหยัดค่าใช้จ่าย
จึงกลับกลายเป็น 'พาหะ'
นำพาทุกข์โศกเศร้ามาสู่ตัวนักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองในที่สุด
เพราะแม้นจะเป็นพาหนะสนับสนุนการดำเนินชีวิตสะดวกสบาย
แต่บางครั้งก็แลกมาด้วยความสูญเสียถึงชีวิต

การชั่งน้ำหนักของผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการจึงหมายถึงการคำนวณบวกลบคูณหารระหว่างความสะดวกสบายของลูก
ค่าน้ำมันประหยัดกว่าค่าโดยสารรถโดยสารสาธารณะ
หรือกระทั่งการไม่อยากทนรบเร้าร้องขอรถมอเตอร์ไซค์ของลูกๆ
กับสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิต
และการใช้ชีวิตที่ผิดครรลองคลองธรรมของกฎหมายบ้านเมืองและศีลธรรมจรรยาจากการใช้รถมอเตอร์ไซค์เป็นเครื่องมือ
เพราะถึงที่สุดแล้วความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจไม่คุ้มค่าเท่าชีวิต
และไม่มีภาวะใดไม่มีทางเลือกถึงแม้นระบบขนส่งสาธารณะและรถนักเรียนตามต่างจังหวัดจะขาดแคลนและด้อยมาตรฐานก็ตามที

ดังความพยายามที่จะลดละเลิก 'นักบิดรุ่นเยาว์'
ในงานปฐมนิเทศผู้ปกครองของโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา
ของ 'กลุ่มเยาวชนผู้นำความปลอดภัย'
ที่เกิดจากการรวมตัวกันของนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่มุ่งรณรงค์ให้เพื่อนนักเรียนขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ปลอดภัย
โดยการผลักดันของ ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนับสนุนโดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน
(ศวปถ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่ได้ถ่ายทอดปัญหาและความทุกข์ทรมานหลังผู้ปกครองซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้ลูกไปโรงเรียน

ด้วยเครือข่ายเยาวชนกลุ่มนี้ตระหนักว่าลำพังรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนักเรียนที่เคยใช้รถมอเตอร์ไซค์แบบเร็วแรงมาเป็นขับขี่ปลอดภัย
ระมัดระวัง เคารพกฎจราจรไม่เพียงพอ
หากพ่อแม่ผู้สนับสนุนเงินทองอย่างเป็นทางการในการดาวน์และผ่อนรถยังคงไม่สำนึกถึงผลกระทบร้ายแรงจากการไม่ยับยั้งชั่งใจซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้ลูกที่มีวุฒิภาวะไม่เหมาะสมไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือไม่
เพราะท้ายสุดความสูญเสียที่ยากยอมรับได้จะมาเยือนครอบครัวแน่จากเหตุที่คนทั้งสองรุ่นขาดวุฒิภาวะพอๆ
กัน พ่อแม่ขาดวุฒิภาวะที่จะดูแลลูก
ขณะลูกก็ขาดวุฒิภาวะในการตัดสินใจใช้รถใช้ถนน

ครั้นหวังการกลับตัวกลับใจของวัยรุ่นที่เคยมีลีลาชีวิตสุดเหวี่ยงก็ยากจะเกิดขึ้นได้
ด้วยน้อยนักที่เยาวชนผู้เคยขี่รถมอเตอร์ไซค์เร็วแรง
และประสบอุบัติเหตุมาแล้วหลายครั้งจนฝากรอยแผลไว้เต็มตัวจะกลับมาขับขี่ด้วยความปลอดภัย
สวมหมวกนิรภัย และรณรงค์ให้เพื่อนนักเรียนที่ขี่ด้วยความเร็วแรงกลับมามีจิตสำนึกและวัฒนธรรมความปลอดภัย
ตัดสินใจในภาวะคับขันได้ดีขึ้น
รวมทั้งเป็นกำลังหลักในการสร้างความตระหนักแก่ผู้ปกครองถึงผลร้ายแรงจากการซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้ลูก
ดังเปรม ดิลกศรี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/2
โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 ประธานเยาวชนผู้นำความปลอดภัย
ด้วยส่วนมากมักบาดเจ็บ พิการ หรือตาย
ไม่น้อยก็ถลำลึกในแวดวงอาชญากรรมจนถอนตัวไม่ได้

นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนสำคัญจาก อำนาจ ภักดีเสน่หา
ผู้อำนวยการโรงเรียนที่ตระหนักถึงผลกระทบเลวร้ายจากการใช้รถมอเตอร์ไซค์ของเด็กนักเรียนที่มีวุฒิภาวะไม่เหมาะสม
ด้วยปีที่แล้วโรงเรียนต้องสูญเสียชีวิตนักเรียน 2
รายจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์
จนในการประชุมผู้ปกครองทุกครั้งต้องเตือนสติว่าถ้าไม่จำเป็นอย่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้ลูก
เพื่อจะป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้

ไม่เท่านั้นทางโรงเรียนยังกำหนดระเบียบโรงเรียนออกเป็นประกาศเรื่องการใช้รถมอเตอร์ไซค์ว่า
1) หากนักเรียนคนใดประสงค์จะขับขี่รถมอเตอร์ไซค์มาโรงเรียน
ผู้ปกครองจะต้องติดต่อขออนุญาตกับทางโรงเรียนก่อน
โดยแนบหลักฐานสำเนาใบขับขี่ของนักเรียนและทะเบียนบ้านมาด้วย 2)
นักเรียนที่นำรถมอเตอร์ไซค์เข้ามาในโรงเรียนจะต้องพกใบขับขี่และสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง

3) รถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้จะต้องอยู่ในสภาพเดิม ห้ามมีการตกแต่ง
ดัดแปลง หรือตกแต่งสภาพรถจนผิดกฎหมาย และ 4)
จะต้องจอดรถมอเตอร์ไซค์ในสถานที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น
โดยหลังออกประกาศดังกล่าวควบคู่กับรณรงค์
นักเรียนที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์มาโรงเรียนมีจำนวนลดลง และหากไม่จำเป็นจริงๆ
ผู้ปกครองก็ไม่ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้ลูกหลานใช้
และสนับสนุนให้นักเรียนใช้รถสาธารณะที่มีความปลอดภัยมากกว่า

ดังนั้น การรณรงค์ลดใช้รถมอเตอร์ไซค์ในเยาวชนจึงต้องดำเนินการควบคู่กับพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย
สะดวกสบาย ตรงเวลา และครอบคลุมนักเรียนในชนบทห่างไกล
เพื่อเป็นทางเลือกแก่เด็กและผู้ปกครอง
และที่สำคัญต้องกระตุ้นเตือนพ่อแม่ให้เลิกล้มการเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของนักบิดรุ่นเยาว์เสียที
เพราะนักซิ่งนอกสนามแข่งขันเหล่านี้นอกจากไม่มีวุฒิภาวะในการตัดสินใจจนเป็นอันตรายทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นแล้ว
ก็ยังไม่มีชุดหรืออุปกรณ์ความปลอดภัยใดๆ ป้องกันเลย
นอกจากยูนิฟอร์มนักเรียนนักศึกษา!

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น