จากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น
ASTVผู้จัดการ -
นักวิชาการเตือนชะลอการท่องเที่ยวในพื้นที่ปะการังฟอกขาว
เพื่อรอเวลาให้ปะการังฟื้นตัว เผยปีนี้วิกฤตหนัก โดยเฉพาะสัตหีบ ชลบุรี
สำรวจพบการฟอกขาวกินพื้นที่ 50-70% ของแนวปะการังทั้งหมด
ซ้ำยังเกิดฟอกขาวในหอยมือเสือด้วย
ผศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยด้านปะการังโครงการ BRT
เปิดเผยหลังจากการลงพื้นที่สำรวจแนวปะการังในบริเวณอำเภอสัตหีบ
จังหวัดชลบุรี ว่า พบปะการังมีการฟอกขาวจำนวนมากประมาณ 50-70%
ของแนวปะการังทั้งหมด
ซึ่งนับเป็นการเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่กินพื้นที่มากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในทะเลฝั่งอ่าวไทย
"ทีมวิจัยได้มีการศึกษาและติดตามสถานการณ์ปรากฏการณ์ฟอกขาวของปะการังอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่เริ่มเกิดปะการังฟอกขาวขึ้นที่แนวปะการังฝั่งอันดามัน
และติดตามมาด้วยพื้นที่ในทะเลฝั่งอ่าวไทยเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
โดยจากการเดินทางไปสำรวจครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พบว่า
การฟอกขาวของปะการังในบริเวณอำเภอสัตหีบ มีการขยายพื้นที่มากขึ้น
และเกิดขึ้นกับแนวปะการังทุกแห่งในบริเวณดังกล่าว
จากเดิมที่มักจะมีการฟอกขาวเป็นหย่อมๆ เท่านั้น
นอกจากนี้ยังเกิดการฟอกขาวขึ้นในหอยมือเสืออีกด้วย"
ผศ.ดร.สุชนา กล่าวต่อว่า
จากการวิเคราะห์ปัจจัยการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว คาดว่า
สาเหตุน่าจะเกิดจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่ขึ้นสูงกว่าปกติ
จากเดิมที่มีอุณหภูมิ 30-31 องศาเซลเซียส ขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 32-33
องศาเซลเซียส โดยอาจจะเป็นผลมาจากอากาศที่ค่อนข้างร้อนจัดในช่วงที่ผ่านมา
หรืออาจมีกระแสน้ำอุ่นพัดเข้ามาในอ่าวไทย
ซึ่งเป็นสาเหตุเดียวกับการเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวในทะเลฝั่งอันดามัน
"อุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลให้สาหร่ายซูแซนเทลลีที่อาศัยอยู่ในปะการัง
และทำให้ปะการังมีสีสันหนีออกมาจากปะการัง ทำให้ปะการังกลายเป็นสีขาว
เช่นเดียวกับกรณีของหอยมือเสือ
ซึ่งเป็นหอยที่มีสาหร่ายซูแซนเทลลีฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อของหอย
เมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น สาหร่ายชนิดนี้จะทนอยู่ไม่ได้
และหนีออกมาจากเนื้อเยื่อหอย ทำให้เนื้อเยื่อหอยกลายเป็นสีขาว"
อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดการฟอกขาวแล้ว ปะการังจะยังไม่ตายทันที
แต่จะอ่อนแอและมีชีวิตอยู่ได้อีก 2-3 สัปดาห์
หากอุณหภูมิน้ำทะเลหรือสภาพแวดล้อมกลับคืนสู่สภาพปกติ
ปะการังจะสามารถปรับสภาพและฟื้นตัวได้ ดังนั้น หากในช่วง 2-3
สัปดาห์ข้างหน้า อากาศมีอุณหภูมิลดลง หรือ มีฝนตกลงมาเล็กน้อย
จะช่วยให้อุณหภูมิน้ำทะเลลดลง
และมีโอกาสที่ปะการังจะกลับมามีชีวิตและสีสันได้อีกครั้ง นอกจากนี้
สำหรับในพื้นที่ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว
ควรลดหรืองดกิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเล
เพื่อช่วยลดมลพิษที่จะถูกปล่อยลงสู่ทะเล
และให้เวลาปะการังในการฟื้นตัวกลับคืนสู่สภาพเดิม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น