...+

วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การบวชคืออะไร ?

พุทธทาสภิกขุ


เมื่อมีปัญหาขึ้นมาว่า การบวช คืออะไร ? ดังนี้แล้ว
ทางที่ดีที่สุดควรจะถือเอาใจความตัวพยัญชนะคำว่า "บวช" นั่นเอง คำว่า
"บวช" เป็นภาษาไทย ซึ่งถอดรูปมาจากคำในภาษาบาลีว่า ปพฺพชฺชา

คำว่า "ปพฺพชฺชา" นี้ มีรากศัพท์ คือ ป + วช : ป แปลว่า ทั่วหรือสิ้นเชิง

วช แปลว่า ไป หรือเว้น

คำว่า ป + วช จึงแปลว่า ไปโดยสิ้นเชิง หรือ เว้นโดยสิ้นเชิง

ที่ว่า "ไปโดยสิ้นเชิง" นั้นหมายถึง ไปจากความเป็นฆราวาส คือ
จากการครองเรือนไปสู่ความเป็นบรรพชิต คือ ผู้ไม่ครองเรือนโดยสิ้นเชิง
โวหารที่สูงไปกว่านั้น ท่านเรียกว่า ไปจากโลกโดยสิ้นเชิง ซึ่งหมายความว่า
ละเสียจากวิสัยที่ชาวโลกเขามีกัน เป็นกันโดยสิ้นเชิง นั่นเอง

คำว่า "ไปจากความเป็นฆราวาส" นี้หมายความว่า ไปจากบ้านเรือน ซึ่งหมายถึง

การสละความมีทรัพย์สมบัติ

การสละวงศ์ญาติทั้งหลาย

การเลิกละการนุ่งห่มอย่างฆราวาส

เลิกละการกินอยู่อย่างฆราวาส

เลิกละการใช้สอยอย่างฆราวาส

เลิกละอาการกิริยาวาจาอย่างฆราวาส

เลิกละความรู้สึกนึกคิดอย่างฆราวาสสิ้นเชิง

ดังนี้ จึงจะเรียกว่า ไปหมดจากความเป็นฆราวาส โดยสิ้นเชิง
หรือไปจากโลกโดยสิ้นเชิง

ข้อที่ว่า " สละความมีทรัพย์สมบัติ " นั้น หมายถึง
การยอมรับดำเนินชีวิตชนิดที่ไม่ต้องมีทรัพย์สมบัติ
ไปมีชีวิตอยู่ด้วยเครื่องอาศัยเลี้ยงชีวิต
ตามแต่จะมีผู้ศรัทธาหรือตามแต่จะหาได้มาบริโภคด้วยสิทธิอันชอบธรรมของนักบวชอันจะได้กล่าวถึงข้างหน้า
ทรัพย์สมบัติทั้งหลายเหล่าโน้น
เป็นของที่ฆราวาสผู้ไม่มีสิทธิอันชอบธรรมในอันที่จะบริโภคสิ่งของอันเขาถวายด้วยศรัทธา
จึงไม่มีความจำเป็นอันใดสำหรับบรรชิตผู้ตั้งหน้าแสวงหาคุณอันสูงโดยแท้จริง

ข้อที่ว่า " สละวงศ์ญาติทั้งหลาย "
นั้นหมายถึงไม่มีความอาลัยในหมู่ญาติอันเป็นเหตุให้ต้องเกี่ยวข้องหรือสงเคราะห์กันอย่างชาวโลกเขาทำกัน
บางคนยังต้องติดกับหมู่ญาติ เพราะเห็นแก่ปากท้อง
ในเรื่องอาหารการกินและอื่น ๆ
จนไม่มีโอกาสได้รับความเป็นอิสระโปร่งโล่งของบรรพชา

ในบาลีที่กล่าวถึงการบวช มีการย้ำถึงการสละวงศ์ญาติอยู่ทั่วๆ ไป
และอยู่ในรูปพระพุทธภาษิตโดยตรง นักบวชบางประเภทในสมัยพุทธกาล
สมาทานการไม่ไปเยี่ยมบ้านของตนจนตลอดชีวิตก็ยังมี แต่ในพุทธศาสนา
เรามุ่งเอาแต่เพียงการสละความอาลัยในหมู่ญาติ
ชนิดที่เป็นความรู้สึกของฆราวาสทั่วไปนั่นเอง

ข้อที่ว่า " เว้นการนุ่งหุ่มอย่างฆราวาส " นั้น ย่อม ๆ
เห็นกันอยู่แล้วว่า หมายความถึงอะไร แต่ขอให้ถือเอาใจความสำคัญให้ได้ว่า
ไม่ใช้เครื่องนุ่งห่มด้วยความมัวเมาในความงาม
หรือความนิ่มนวลทางสัมผัสของสิ่งที่ใช้นุ่งห่ม ซึ่งหมายความว่า
แม้จะใช้จีวรอย่างบรรพชิตแล้ว แต่ถ้ามุ่งไปในทางสวยงาม
หรือความนิ่มนวลทางสัมผัสเป็นต้นแล้ว ก็ยังมีความหมายว่า
ใช้เครื่องนุ่งห่มอย่างฆราวาส ทั้งที่กำลังห่มจีวรอยู่นั่นเอง

ข้อที่ว่า " เว้นจากการกินอยู่อย่างฆราวาส " นั้น มิได้หมายแต่เพียงว่า
เว้นการฉันในเวลาวิกาลหรือเว้นอาหารบางชนิดที่พระเณรไม่ควรฉันเป็นต้น
เพียงเท่านี้ก็หามิได้ใจความสำคัญนั้นอยู่ที่ว่าพวกฆราวาสกินเพื่อความเอร็ดอร่อย
กินเพื่อความสนุกสนานเฮฮากินจุบกินจิบพิถีพิถันตามวิสัยของฆราวาสผู้เอาแต่การตามใจตัวเองเป็นที่ตั้งผู้บวชแล้วจะต้องเว้นจากการกินอย่างฆราวาสนี้โดยเด็ดขาด
จะฉันด้วยความรู้สึกเพียงแต่ว่า
นี้เป็นอาหารที่ฉันเพียงเพื่อยังอัตตภาพนี้ให้เป็นไปได้พอสะดวกสบายพอเหมาะสมแก่การที่จะปฏิบัติธรรมวินัยอันเป็นไป
เพื่อออกจากทุกข์โดยประการทั้งปวง

โดยสรุปแล้ว ฉันอยู่ด้วยการระลึกถึงพระพุทธภาษิตของพระพุทธองค์
ซึ่งเราถือว่าเป็นพระพุทธบิดา อันได้ตรัสไว้ว่า "พวกเธอ
จงฉันบิณฑบาตสักว่าเหมือนกับน้ำมันสำหรับหยอดเพลาเกวียนหรือเหมือนกับมารดาบิดาซึ่งหลงทางกลางทะเลทราย
ต้องจำใจกินเนื้อบุตรของตน ที่ตายแล้วในกลางทะเลทราย
เพื่อประทังชีวิตของตนเองฉันนั้น" กิริยาดังกล่าวนี้ คือ
การเลิกละจากการกินอยู่อย่างฆราวาสโดยสิ้นเชิง

ข้อที่ว่า " เลิกละการใช้สอยอย่างฆราวาส " นั้น หมายถึง
ไม่ใช้สอยที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้สอยมีภาชนะเป็นต้น
โดยทำนองที่ฆราวาสเขาใช้กัน คือเพื่ออยู่อย่างสำรวย
เพื่ออยู่อย่างสนุกสนานในทางตามใจตัวเอง
หรือเพื่อโอ้อวดกันในทางสวยงามและมีมากเป็นต้น นี้เรียกว่า
ไปจากฆราวาสโดยสิ้นเชิง ในด้านการใช้สอยเครื่องใช้สอย

ข้อที่ว่า " ละขาดจากกิริยาวาจาอย่างฆราวาส " นั้น หมายถึง
ฆราวาสย่อมมีกิริยาวาจาอันเป็นไปตามใจกิเลส ตัณหา ตามความสะดวกสบาย
โดยปราศจากการควบคุม เพราะมุ่งแสวงแต่ความสนุกสนาน
เพลิดเพลินจากการตามใจตัวเองอย่างเดียว ผู้บวชแล้ว
จะต้องมีกิริยาวาจาอย่างสมณะ ในบทว่า

" กิริยาวาจาใด ๆ เป็นของแห่งสมณะ
เราจักประพฤติตนให้เป็นไปด้วยกิริยาวาจาอาการนั้น ๆ "
ผู้บวชแล้วลืมตัวในเรื่องนี้
ย่อมมีกิริยาวาจาที่คล้ายฆราวาสอยู่ทุกอิริยาบถ
เมื่อมีมิตรสหายที่เป็นฆราวาสมาหา
ย่อมทำการต้อนรับเหมือนอย่างที่เคยกระทำต่อกันในครั้งเป็นฆราวาส
ในบางรายถึงกับกอดคอกันก็มี หรือนั่งเข่าทับก่ายกันก็มี
กิริยาทางกายและวาจาเหล่านี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงถือว่าเป็นอาการของสมณะเลย แม้กิริยาวาจาอื่น ๆ
ซึ่งเป็นของฆราวาสซึ่งมีอยู่มากมายนั้น
ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ผู้บวชแล้วจะต้องละขาดด้วยสติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง

ข้อที่ว่า " เว้นจากความรู้สึกคิดนึกอย่างฆราวาสโดยสิ้นเชิง "
หมายความว่า พวกฆราวาสตามปรกติ มีความรู้สึกคิดนึกไปในทางเหย้าเรือน
คิดนึกไปในทางกามคุณ
ชอบปล่อยจิตให้ไหลไปในความคิดนึกทางกามารมณ์อยู่เป็นประจำ
เมื่อความรู้สึกคิดนึกทางกามคุณเกิดขึ้น ย่อมไม่ประสงค์ที่จักหักห้าม
แต่กลับจะพอใจ ปล่อยให้จิตใจไหลไปตามแนวนั้น ๆ ให้มากยิ่งขึ้นไปเสียอีก
เพราะเป็นความเพลิดเพลิน นี้เรียกว่า ความรู้สึกคิดนึกอย่างฆราวาส

ผู้บวชแล้วจะต้องละความรู้สึกคิดนึกชนิดนั้นโดยเด็ดขาด
ด้วยสติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง
คอยควบคุมกระแสแห่งความคิดนึกให้ไหลไปในทางของบรรพชิตโดยส่วนเดียว
นี้เรียกว่า ละความรู้สึกคิดนึกอย่างฆราวาสโดยสิ้นเชิง

การละทรัพย์สมบัติ การละวงศ์ญาติ การละการนุ่งห่มอย่างฆราวาส
การละการกินอยู่อย่างฆราวาส การละการใช้สอยอย่างฆราวาส
การละกิริยาอาการทางกายวาจาอย่างฆราวาส
และการละความรู้สึกคิดนึกอย่างฆราวาส ทั้งหมดรวมกันแล้วได้ในคำสรุปสั้น ๆ
ว่า " ไปหมดจากความเป็นฆราวาส " เต็มตามความหมายของพยัญชนะที่ว่า " ป+ วช
" หรือเป็นภาษาบาลีอย่างเต็มรูปว่า "ปพฺพชฺชา" นั่นเอง
นี้คือความหมายของคำว่า " บวช " ในส่วนที่ว่า " ไปหมด "
คือไปหมดจากความเป็นผู้ครองเรือนหรือเพศฆราวาสนั่นเอง

ส่วนความหมายของคำว่า " บวช " ที่ว่า " เว้นหมด " นั้น
อธิบายว่าเมื่อบวชเป็นบรรพชิตแล้ว จักต้องเว้นสิ่งซึ่งควรเว้น
ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้อย่างไรนั้นโดยสิ้นเชิง
ข้อนี้ผู้บวชแล้วย่อมจะได้รับการศึกษาธรรมวินัยจนรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งควรเว้นหรือควรละทั้งในส่วนวินัยและทั้งในส่วนธรรมะ
แล้วตนก็จะพยายามเว้นสิ่งที่ควรเว้นนั้นโดยสิ้นเชิงโดยอาศัยกำลังใจที่ได้รับมาจากการระลึกถึงอยู่เสมอว่าบวชนี้เราบวชเองการปฏิญาณในการบวชนี้ได้ทำในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์และโอกาสอันศักดิ์สิทธิ์และการบวชที่มีอานิสงส์อันสมบูรณ์นั้น
เป็นความหวังอย่างยิ่งของมารดาบิดาและเราผู้มีความเป็นมนุษย์อันถูกต้องนั้นจักต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เจริญงอกงาม
ก้าวหน้าขึ้นไปสู่ความสูง หรือยอดสุดของความเป็นมนุษย์อยู่เสมอไป
จึงจะสมกัน เมื่อระลึกได้ดังนี้
ก็มีกำลังใจที่จะละเว้นสิ่งที่ควรละเว้นได้โดยหมดจดสิ้นเชิง
ตามระเบียบวินัยอย่างครบถ้วนนี้คือความหมายของคำว่า " บวช " ในส่วนที่ว่า
" เว้นหมด "เมื่อรวมความหมายของคำว่า " ไปหมด " และคำว่า " เว้นหมด "
เข้าด้วยกัน ก็เป็นความหมายที่แสดงอยู่ในตัวเองอย่างครบถ้วนแล้วว่า
ตัวลักษณะแห่งการบวชที่จริงนั้นคืออะไร ?


อานิสงส์ของการบวช คืออะไร ?

เมื่อกล่าวถึงผลหรืออานิสงส์ของการบวชแล้วผู้บวชควรจะทำในใจถึงผลของการบวชให้กว้างออกไปเป็น3
ประการ เป็นอย่างน้อย
อานิสงส์ของการบวชนั้นย่อมมีมากมายกว้างขวางเหลือที่จะกล่าวให้ครบถ้วนเป็นรายละเอียดได้แต่เราอาจจะประมวลเข้าด้วยกัน
แล้วจำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภท กล่าวคือ

อานิสงส์ที่จะพึงได้แก่ ตัวผู้บวชเอง

อานิสงส์ที่จะพึงได้แก่ ผู้อื่น มีมารดา บิดาที่เป็นประธาน

อานิสงส์ที่จะพึงได้แก่ พระศาสนา

รวมเป็น 3 ประการด้วยกัน ดังนี้

สำหรับ อานิสงส์ที่จะพึงได้แก่ตัวผู้บวชเองนั้น โดยส่วนใหญ่
ย่อมหมายถึงการพ้นไปจากการเผาผลาญของไฟกิเลสและไฟทุกข์ หรือที่เรียกว่า "
นิพพาน " นี้เป็นที่ตั้ง หากไม่ได้ถึงนั้น
ก็ย่อมได้รองลงมาในอันดับที่รองลงมา คือ มีไฟกิเลส
และไฟทุกข์เผาผลาญแต่เพียงเบาบาง
แล้วแต่ว่าตนจะสามารถประพฤติปฏิบัติธรรมวินัยได้ดีเพียงไร
นี้กล่าวสำหรับผู้บวชตลอดไป

ส่วนผู้ที่บวชเฉพาะกาลชั่วคราว ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของบางประเทศนั้น
ย่อมได้ผลโดยสรุปคือ จักได้เรียนรู้ศาสนาที่ตนนับถือได้อย่างใกล้ชิด
จักได้ลองชิมการปฏิบัติธรรมะเป็นเครื่องพ้นทุกข์ดู เท่าที่ตนจะปฏิบัติได้
และในที่สุดจักได้กลับออกมาเป็นคนที่ดีกว่าเก่า
เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำในครอบครัว

ทั้งหมดนี้เรียกว่า อานิสงส์ที่ผู้นั้นจะพึงได้รับ
เฉพาะตนและตนจะต้องทำให้ได้รับจริง ๆ อย่าให้เสียทีที่ได้บวชเลย

สำหรับอานิสงส์ที่ได้พึงได้แก่ผู้อื่น มีมารดาบิดาเป็นต้นนั้น
ข้อนี้ย่อมหมายถึงการมุ่งตอบแทนบุญคุณของผู้มีบุญคุณ เป็นที่ตั้ง
มีมารดาบิดาเป็นประธานของบุคคลเหล่านั้น ๆ คนเราพอสักว่าเกิดมาในขณะนั้น
ยังไม่ทันจะลืมตาดูโลกได้ก็เป็นหนี้บุญคุณแก่คนทั้งหลาย
อย่างมากมายเหลือที่จะกล่าวได้เสียแล้ว
สำหรับมารดาบิดานั้นไม่ต้องกล่าวเพราะว่าท่านมีบุญคุณเหนือเศียรเกล้าของบุตรเพียงไรนั้น
ย่อมเป็นที่ประจักษ์กันดีแล้ว

ส่วนที่ว่า " เป็นหนี้บุญคุณผู้อื่นอีกมากมายเสียตั้งแต่ยังไม่ทันลืมตาดูโลก
" นั้น ข้อนี้หมายความว่า
พอเด็กคลอดออกมาก็ต้องอาศัยสติปัญญาวิชาความรู้ของผู้ที่เป็นแพทย์
เป็นหมอ ของผู้ที่รู้จักคิดรู้จักทำเครื่องนุ่งห่มขึ้นในโลก
และของผู้ที่ทำการช่วยเหลือแวดล้อมทุกอย่างทุกประการโดยไม่รู้สึกตัว
จนอาจจะสรุปได้ว่า พอเกิดมาก็เป็นหนี้บุญคุณคนทั้งโลกทีเดียว

เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนดี
ที่จะต้องตอบแทนบุญคุณของผู้มีบุญคุณทั้งหลาย ซึ่งมีมารดาบิดาเป็นประธาน

ในการตอบแทนบุญคุณนั้น บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
ได้กล่าวไว้ว่า ไม่มีอะไรที่จะตอบแทนดียิ่งไปกว่าการทำให้ผู้มีบุญคุณนั้น
ๆ ได้รับความดี ความงามอันสูงสุด สำหรับความดีความงามอันสูงสุดนั้น
ก็ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า การได้พ้นไปจากความทุกข์
หรือพ้นไปจากการถูกเผาผลาญของไฟกิเลสและไฟทุกข์

เพราะเหตุฉะนี้แหละ
บุตรที่จะต้องตอบแทนมารดาบิดาจักต้องสำนึกถึงการทำให้มารดาบิดาเป็นต้นนั้น
ได้รับความดีความงามเป็นความพ้นทุกข์ก่อนสิ่งอื่นใดทั้งสิ้นท่านผู้รู้ได้กล่าวเปรียบความข้อนี้ไว้ว่าแม้หากจะทำได้ถึงกับว่าให้มารดาบิดาทั้งสองอยู่บนบ่าของบุตร
แล้วฟูมฟักรักษามารดาบิดานั้น ไม่ให้อนาทรร้อนใจด้วยการกินอยู่เป็นต้น
บนบ่าโดยไม่ต้องลงสู่พื้นดินเลย เป็นเวลาตลอดกัปป์ตลอดกัลป์
ก็ยังหาจัดว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณมารดาบิดา ได้เพียงพอหรือเหมาะสมกันไม่
แต่ท่านได้กล่าวไว้สืบไปว่า ถ้าหากบุตรคนใดได้ทำมารดาบิดา
ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือว่าทำมารดาบิดาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ
ให้เป็นสัมมาทิฏฐิยิ่งขึ้น จนถึงกับออกจากทุกข์ได้หมดจนสิ้นเชิง นี้แหละ
ก็คือการตอบแทนบุญคุณของมารดาบิดาได้อย่างสมกัน

เราจึงเห็นได้ชัดว่า โอกาสแห่งการตอบแทนบุญคุณของมารดาบิดานั้น
นับว่ามีมากที่สุดในการบวช คือว่าด้วยการบวชนั้น
จักทำให้มารดาบิดาเป็นต้นนั้น มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น
ได้เป็นผู้ใกล้ชิด หรือเป็นญาติในพระศาสนายิ่งขึ้น
ได้ใกล้ชิดการประพฤติปฏิบัติธรรมวินัยยิ่งขึ้นได้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมอันลึกซึ้งยิ่งขึ้นหรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นผู้มั่นคงไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย
จนเป็นที่รับประกันได้ว่า ไม่มีทางที่จะตกไปสู่อบายได้เลย ดังนี้เป็นต้น

จึงนับว่า การบวชที่ถูกต้องนี้เป็นโอกาสที่จะตอบแทนบุญคุณมารดาบิดาได้จริง
ๆ แต่ทั้งนี้ ย่อมหมายถึงว่า ผู้นั้นจะต้องบวชจริง ศึกษาเล่าเรียนจริง
ประพฤติปฏิบัติจริง ๆ ได้รับผลแห่งพรหมจรรย์นี้จริง ๆ
แล้วตั้งหน้าตั้งตาสอนผู้อื่นจริง ๆ ล้วนแต่เป็นการทำจริงไปทั้งหมดดังนี้
จึงจะมีผลเป็นการตอบแทนบุญคุณมารดาบิดาเป็นต้น
อันเป็นที่รักที่เคารพจริงอย่างเหมาะสมกันได้

ขอให้ผู้บวชแล้วทั้งหลาย จงอ้างเอาคุณมารดาบิดาเป็นที่ตั้ง
โดยมีความสำนึกว่า ท่านเหล่านั้นได้มีบุญคุณแก่เรามาก่อนแล้ว
เป็นฝ่ายที่ทำแก่เราก่อน เรากำลังเป็นหนี้บุญคุณของท่านอยู่แล้ว
แล้วตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมวินัย ด้วยการทำจริง ดังกล่าวมา
ให้เป็นการตอบแทนบุญคุณมารดาบิดาอย่างเหมาะสมกัน
อย่าให้เป็นขบถหรือหลอกลวงต่อความหวังของมารดาบิดาแต่ประการใดเลย
อันนี้แลเรียกว่า อานิสงส์ของการบวชที่จะพึงได้แก่ผู้มีบุญคุณทั้งหลาย
มีมารดาบิดาเป็นต้น

สำหรับอานิสงส์อันจะพึงได้แก่พระศาสนาเอง เป็นประการสุดท้ายนั้น
ข้อนี้หมายความว่า แม้พระศาสนาก็เป็นสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง
อาจจะเสื่อมสูญไปได้ ถ้าหากไม่มีการปรุงแต่งสืบต่ออายุเอาไว้

เพราะฉะนั้น การบวชของพวกเรา
จึงมีความมุ่งหมายให้เป็นการสืบอายุพระศาสนาไปด้วยอีกส่วนหนึ่ง
เราที่ได้บวชนี้ก็เพราะมีพระพุทธศาสนา ถ้าหากไม่มีพระศาสนา
เราจะบวชได้อย่างไร เป็นสิ่งที่เข้าใจกันได้อยู่ดีแล้ว
บุญคุณของพระศาสนานั้นเองที่ทำให้เราได้บวช
เพราะฉะนั้นเราจักตอบแทนคุณของพระศาสนา

ถ้ากล่าวให้ยืดออกไปกว่านี้อีก คือ เราต้องรำลึกถึงคุณอุปัชฌาย์อาจารย์
ที่ได้สืบอายุพระศาสนากันมาเป็นลำดับ ๆ
นับตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาจนถึงบัดนี้ จนทำให้เราได้บวช
เราต้องสำนึกถึงบุญคุณของอุปัชฌาย์อาจารย์เหล่านั้น
ซึ่งแต่ละท่านล้วนแต่หวังว่า เราผู้เป็นลูกศิษย์ชั้นหลัง ๆ
จักช่วยกันสืบอายุพระศาสนาให้เป็นช่วง ๆ รับมอบกันไปอย่าให้ขาดสายได้
นี้เป็นเหตุให้เราต้องคิดตอบแทนคุณอุปัชฌาย์อาจารย์เหล่านั้น
ด้วยการสืบอายุพระศาสนาไว้ให้ได้จริง ๆ ถ้าจะกล่าวให้ยืดออกไปกว่านั้นอีก
เราจะต้องรำลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ผู้เป็นต้นกำเนิดของพระศาสนา ในข้อที่พระองค์ได้ทรงเสียสละ
ไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากในการประดิษฐานพระศาสนาซึ่งเมื่อเราได้ศึกษาประวัติอันประเสริฐของพระองค์แล้วเราจะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงบากบั่นในการประดิษฐานและเผยแพร่พระศาสนานี้
จนถ้าจะกล่าวโดยโวหารธรรมดาก็กล่าวได้ว่า " ตายคาที่บนแผ่นดินกลางทางเดิน
ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง " ไม่ได้ตายบนกุฏิเหมือนเราท่านทั้งหลายโดยมาก

สรุปข้อความนี้ว่า พระองค์ทรงมีความพยายามและความหวังอย่างยิ่ง
ที่จะประดิษฐานพระศาสนาของพระองค์ให้มั่นคงอยู่ในโลกนี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายรวมทั้งพวกเราด้วย
เพราะเหตุฉะนั้นแหละเราจะต้องบากบั่นในการสืบอายุพระศาสนา
ให้สมกับตัวอย่างที่พระองค์ได้ทรงกระทำไว้และให้สมกับบุญคุณอันใหญ่หลวงที่พระองค์ทรงกระทำไว้แก่สัตว์ทั้งหลายรวมทั้งพวกเราด้วย
เพื่อจะให้เป็นการสืบอายุพระศาสนาได้สมจริงนั้น
ย่อมมีอยู่แต่ทางเดียวเท่านั้น คือ เราจะต้องบวชจริง ศึกษาเล่าเรียนจริง
ประพฤติปฏิบัติจริงให้ได้รับผลของพรหมจรรย์นี้จริง
แล้วพยายามสั่งสอนผู้อื่นต่อกันไปจริง
จึงจะเป็นการสืบอายุพระศาสนาเป็นเครื่องบูชาตอบแทนพระคุณของพระองค์ได้จริง


เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายควรจะรำลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถึงพระคุณของอุปัชฌาย์อาจารย์ ที่ได้สืบอายุพระศาสนา
สืบต่อกันลงมาจนถึงพวกเรา และรำลึกถึงคุณของพระศาสนา
ซึ่งเป็นเครื่องบำบัดความทุกข์ของสัตว์ได้จริง
แล้วตั้งหน้าตั้งตาตอบแทนคุณพระศาสนา
คุณอุปัชฌาย์อาจารย์และคุณพระผู้มีพระภาคเจ้า
ด้วยการเรียนจริงปฏิบัติจริงเป็นต้น ดังกล่าวแล้วนี้เรียกว่า
อานิสงส์ของการบวชอันจะพึงได้แก่ ตัวศาสนาเอง
ซึ่งในที่สุดอานิสงส์อันนั้นก็จะแผ่ไปในทุก ๆ โลก
ทั้งมนุษยโลกและเทวโลกเป็นเหมือนร่มโพธิ์ร่มไทรที่คุ้มครองสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายให้เยือกเย็นอยู่ภายใต้ร่มเงาของพระศาสนาตลอดกาลนาน

รวมอานิสงส์ ทั้ง 3 ประการเข้าด้วยกัน คือ

อานิสงส์ที่พึงจะได้แก่ ตัวผู้บวชเอง

อานิสงส์ที่จะพึงได้แก่ ผู้มีบุญคุณทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นประธาน

และอานิสงส์ที่จะพึงได้แก่ ตัวพระศาสนา

ดังนี้แล้ว ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการเพียงพอแล้ว
ที่เราจะต้องเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง
ด้วยการอดกลั้นอดทนเพื่อให้เกิดการบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง
ได้รับผลจริง แล้วสั่งสอนสืบต่อกันไปจริง
ซึ่งอาจจะกล่าวได้ด้วยความมั่นใจว่า
ไม่มีการกระทำอย่างใดที่จะดียิ่งกว่าการกระทำอันนี้
ซึ่งถือว่าเป็นอานิสงส์ของการบวชที่พวกเราจะพึงได้รับ


เครื่องมือของคนบวช คืออะไร ?

ผู้บวชหรือผู้บวชแล้วก็ตาม ย่อมจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือสำหรับใช้
เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ในการบวช
และเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ได้รับอันตรายจากการบวช
ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า

" การบวชที่รับเอาไปไม่ถูกทาง ย่อมทำอันตรายแก่ผู้บวชเหมือนใบหญ้าที่มีคม
เมื่อจับดึงไม่ถูกทาง ย่อมบาดมือผู้จับดึงได้ฉันใดก็ฉันนั้น " ดังนี้

เพราะฉะนั้น ผู้จะเข้ามาบวชจำเป็นที่จะต้องมีความรู้
ให้เป็นเครื่องมืออันเพียงพอ
สำหรับจะทำให้การบวชของตนไม่เกิดเป็นอันตรายแก่ตน
นับตั้งแต่วาระแรกไปทีเดียว

ในอันดับแรกที่สุด ผู้บวชจะต้องมีความรู้สึกและรับรู้ไว้ว่า ผ้าเหลือง
หรือที่เรียกกันว่า " ผ้ากาสาวพัสตร์ " นั้น ท่านถือกันว่าเป็น
ธงชัยของพระอรหันต์ ซึ่งเรียกโดยภาษาบาลีว่า " อรหตฺตธโช "
ซึ่งตามตัวหนังสือก็แปลว่า " ธงชัยของพระอรหันต์ "อยู่แล้ว

ข้อนี้หมายความว่า ผ้าย้อมฝาดสีหม่นนี้
เป็นเครื่องหมายอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้มีความบริสุทธิ์และประเสริฐ
ตั้งอยู่ในฐานะเป็นปูชยนียบุคคล ทั้งของเทวดาและมนุษย์
แม้ที่สุดแต่สัตว์เดรัจฉาน ท่านก็กล่าวว่าย่อมรู้สึกว่า
ผ้ากาสายะนั้นเป็นเครื่องหมายของพระอรหันต์ ผู้ไม่เป็นข้าศึกแก่ตน

ฉะนั้นการที่จะนำเอาผ้ากาสายะ
หรือธงชัยของพระอรหันต์มาคลุมเข้าที่ตัวนั้น
ย่อมมีความหมายมากเกินกว่าที่จะถือว่า เป็นเพียงเครื่องนุ่งห่มชนิดหนึ่ง
ถ้าเมื่อบุคคลนั้นไม่มีคุณสมบัติในตน
ที่เพียงพอสำหรับการห่มผ้ากาสายะนั้นแล้ว
อันตรายก็จะเกิดขึ้นแก่ตนตามทางธรรมในทันที

ความข้อนี้ก็เป็นหลักที่พระพุทธองค์ตรัสยืนยันไว้ในที่หลายแห่ง เช่น
บาลีว่า " อนิกฺกสาโว กาสาวํ " ดังนี้ เป็นอาทิ
ซึ่งมีใจความดังที่กล่าวแล้ว

เพราะฉะนั้น ในขณะที่จะให้ผู้เข้ามาบวชห่มผ้ากาสายะในวันนั้น
ท่านจึงมีระเบียบกล่าวสอน ตจปัญจกกัมมัฏฐาน
เพื่อฟอกจิตใจบุคคลผู้ที่กำลังจะห่มผ้ากาสายะนั้น
ให้อยู่ในสภาพที่พอเหมาะสมแก่การ ที่จะห่มผ้ากาสายะในเบื้องต้นเสียก่อน

ตจปัญจกกัมมัฏฐาน นี้ เป็นกัมมัฏฐานในประเภท อสุภกัมมัฏฐาน
คือการพิจารณาให้เห็นความจริงของสิ่งเท็จเทียมที่ฆราวาสผู้นั้นเคยลุ่มหลงมาแต่ก่อนนั้นเสียก่อน
จนกระทั่งมีจิตใจสลดสังเวชในความที่ตนเคยลุ่มหลงเห็นโทษของความลุ่มหลงแห่งเพศฆราวาส
มีจิตใจสูงคือ สะอาด สว่าง และสงบขึ้นตามส่วน
จนพอจะกล่าวได้ว่าสูงกว่าระดับจิตใจของฆราวาสแล้ว
ท่านจึงได้ให้ห่มผ้ากาสายะนั้น ๆ

ฉะนั้น ขอให้ผู้บวชแล้วทุกคนจงได้สำนึกถึงความจริงอันสำคัญยิ่งข้อนี้
ระลึกนึกถึงคำมอบ " ตจปัญจกกัมมัฏฐาน " ของอุปัชฌายะ ผู้ให้บรรพชา
และนึกถึงการยอมรับปฏิบัติในกัมมัฏฐานเหล่านี้
เพื่อเปลื้องตนให้พ้นจากอันตราย
ในการที่นำผ้ากาสายะมาห่มโดยปราศจากความหมาย ตนก็จะเป็นผู้ไม่ประมาท
เป็นผู้เห็นภัยในความประมาทไม่เปิดโอกาสให้การบรรพชาของตนหรือการห่อหุ้มร่างกายตนด้วยธงชัยของพระอรหันต์นั้น
เกิดเป็นอันตรายขึ้นแก่ตนได้

ข้อนี้นับว่าเป็นเครื่องมืออันประเสริฐสุดของผู้บวช
ในการที่จะป้องกันตนให้พ้นจากโทษ อันจะเกิดขึ้นจากการบวชในวาระแรก
ในวาระต่อไป ก็จะเป็นเครื่องคุ้มครองตนให้พ้นจากอันตราย
หรือการเบียดเบียนของกิเลสทั้งหลาย มีราคะ เป็นต้น
ทำให้บวชอยู่ได้ด้วยความสวัสดี มีความวัฒนาถาวรสืบไป

เพราะฉะนั้นผู้บวชแล้วพึงสนใจในเครื่องมือ
หรืออาวุธคู่มืออันนี้ของนักบวช คือ
พึงขยันหมั่นเพียรพินิจพิจารณากัมมัฏฐานอันเป็นประธานกล่าวคืออสุภกัมมัฏฐานนั้น
ตลอดถึงกัมมัฏฐานอันเป็นบริวารกล่าวคือ การพินิจพิจารณาหรือที่เรียกว่า
ปัจจเวกขณ์ ในการรับและการบริโภคปัจจัยเครื่องอาศัย 4 อย่าง คือ วีจร
บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช
อันจักเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งตนให้ตั้งอยู่ในคุณสมบัติที่เหมาะแก่การนุ่งห่มผ้ากาสายะสืบไปตลอดกาลนาน

สิทธิของผู้บวช

เมื่อกล่าวถึงสิทธิของผู้บวช
พึงเข้าใจว่าเป็นการกล่าวถึงการที่นักบวชมีสิทธิอันชอบธรรม ที่จะบริโภค
จตุปัจจัย อันเป็น เทยยธรรมหรือเครื่องบูชาของชาวโลก
ตามปรกติก็เห็นกันอยู่แล้วว่า ผู้บวชไม่มีการประกอบอาชีพ ไม่มีการทำนา
ค้าขาย แต่ก็มีการดำรงชีพอยู่ ด้วยการเสียสละของชาวโลก

ข้อที่ต้องคิดต่อไปมีอยู่ว่า มีสิทธิอันชอบธรรมมาแต่ไหน
ในการที่จะบริโภควัตถุเทยยธรรม
อันทายกน้อมนำมาถวายด้วยความเคารพเหล่านั้น ?

สิทธิอันชอบธรรมในที่นี้ ย่อมมีเฉพาะแก่นักบวช
ผู้ทำตนให้เป็นนักบวชที่แท้จริง
และถูกต้องตามนัยที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อต้น ๆ เท่านั้น
สิทธิอันนี้หามีแก่ผู้บวชโดยสักว่าบวชไม่เลย
เมื่อไม่มีสิทธิอันชอบธรรมแล้วบริโภคปัจจัยเหล่านั้นเข้า
ท่านถือกันว่าย่อมเกิดเป็นหนี้เป็นสินขึ้นแก่นักบวชผู้นั้น
อันจักต้องชดใช้ให้แก่ทายกผู้เป็นเจ้าของเทยยธรรม
ซึ่งท่านกล่าวไว้ด้วยโวหารอุปมาอย่างขบขันว่า " จะต้องตายไปเกิดเป็นวัว
เป็นลา เพื่อรับใช้ทายกทายิกา ผู้เป็นเจ้าของเทยยธรรมนั้นสืบไป "
ในข้อนี้เราต้องพิจารณากันดูอย่างลึกซึ้ง และละเอียดลออ จึงจะเห็นได้ว่า
ผู้บวชที่แท้จริงนั้นมีสิทธิอันชอบธรรม
ที่จะบริโภควัตถุเทยยธรรมของทายกทายิกาเหล่านั้นจริง ๆ

การบวชของผู้บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง

ได้รับผลจริง และสั่งสอนผู้อื่นจริง ๆ นั้น

ย่อมเป็นการสืบอายุพระศาสนาได้จริง

การสืบอายุพระศาสนาได้จริงนั่นเอง
ทำให้เกิดสิทธิอันชอบธรรมแก่ผู้บวชในการที่จะบริโภควัตถุเทยยธรรมดังกล่าวแล้ว
การสืบอายุพระศาสนานี้โดยหัวใจแท้จริง
ย่อมอยู่ที่การที่มีผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลได้สำเร็จ
การที่จะปฏิบัติมรรคผลได้สำเร็จและมีอยู่ในโลกนั้นต้องมาจากการตั้งใจทำจริง
ๆ ของผู้ที่ตั้งหน้าตั้งตาโดยไม่คำนึงถึงสิ่งใดทั้งสิ้น
จึงจะเป็นผลขึ้นมาได้

ด้วยเหตุนี้แหละ
ผู้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติจึงต้องได้รับโอกาสในการปฏิบัติของผู้ปฏิบัติโดย
ไม่ต้องคำนึงถึงการประกอบอาชีพ
เพราะฉะนั้นการตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติของผู้ปฏิบัติ
เพื่อทำให้การบรรลุมรรคผลยังคงมีอยู่ในโลกนี้แหละ
ได้ทำให้เกิดสิทธิอันชอบธรรมขึ้น ในการที่จะบริโภควัตถุเทยยธรรม
โดยไม่ต้องมีการตอบแทนเป็นส่วนตัว

ด้วยเหตุนี้นักบวชที่แท้จริงมีสิทธิอันชอบธรรมดังกล่าวแล้วในการที่จะบริโภควัตถุปัจจัยเหล่านั้นตลอดถึงมีสิทธิอันชอบธรรมในการที่จะรับการกราบไหว้สักการบูชาของชาวโลกทั่วไป
ตลอดถึงมีสิทธิในการที่จะประพฤติพรหมจรรย์ อันเป็นอิสระ เพื่อบรรลุ
มรรคผล นิพพาน ตามความปรารถนา นี้เรียกว่า
เป็นสิทธิพิเศษของนักบวชโดยเฉพาะเท่านั้น

ขอให้เราผู้บวชแล้วทั้งหลาย จงรู้สึกในสิทธิอันนี้
เพื่อจะได้พยายามทำตนให้ทรงไว้ซึ่งสิทธิอันนี้
โดยไม่ต้องตกไปอยู่ในสภาพที่ " เป็นวัวหรือลา " ได้โดยเด็ดขาด
ทั้งหมดนี้ย่อมสำเร็จได้ด้วยการบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง
แล้วสอนเขาจริง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ซ้ำ ๆ ซาก ๆ นั่นเอง
หากปราศจากสิทธิอันนี้แล้ว ตนจะต้องเกิดวิปปฏิสาร คือความร้อนใจ
แม้ไม่ใช่ในวันนี้ ก็ต้องในวันใดวันหนึ่งโดยไม่ต้องสงสัยเลย


วัตถุที่ตั้งอาศัยของการบวช คืออะไร ?

เมื่อกล่าวถึงวัตถุที่ตั้งอาศัยของการบวช ย่อมหมายความว่า
เราจะพิจารณากันให้เห็นชัดว่า การบวชนั้นต้องมีที่ตั้งที่อาศัย
จึงจะตั้งอยู่ได้
เหมือนกับแผ่นดินเป็นที่ตั้งอาศัยของต้นไม้ทั้งหลายจึงตั้งอยู่ได้

ฉันใดก็ฉันนั้นสำหรับที่ตั้งอาศัยของการบวชนั้น ย่อมกล่าวได้โดยง่ายว่า
มีพระรัตนตรัย กล่าวคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นวัตถุที่ตั้งอาศัย
ด้วยเหตุนี้แหละเราจะต้องทำความเข้าใจในพระรัตนตรัย
จนเห็นแจ่มแจ้งชัดเจนว่า เป็นวัตถุที่ตั้งอาศัยของการบวชได้อย่างไร ?

พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้
โดยภายนอกก็ดูเป็นของต่างกัน คือ พระพุทธเจ้า
เป็นผู้ค้นพบธรรมะอันประเสริฐ สำหรับบำบัดทุกข์ทั้งปวงได้สิ้นเชิง
บำบัดทุกข์ได้ด้วยพระองค์เองได้หมดจดแล้ว
จึงทรงสอนผู้อื่นให้บำบัดทุกข์ตามไปด้วย

ส่วนพระธรรม นั้น คือสิ่งซึ่งพระองค์ทรงค้นพบ
และทรงใช้เป็นเครื่องบำบัดทุกข์นั่นเอง
มีอยู่ในรูปคำสั่งสอนหรือการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งเรียกว่า ปริยัติธรรม
บ้าง และอยู่ในรูปของการประพฤติปฏิบัติทางกาย วาจา ใจ ซึ่งเรียกว่า
ปฏิบัติธรรมบ้างและอยู่ในรูปแห่งผลของการปฏิบัติ คือ มรรค ผล นิพพาน
ซึ่งเรียกว่า ปฏิเวธธรรมบ้าง ทั้งปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม
และปฏิเวธธรรมนี้แหละ รวมกันแล้ว คือ พระธรรม

ส่วน พระสงฆ์ นั้น คือ ผู้ที่ได้รับเอาพระธรรมจากพระพุทธเจ้ามาศึกษา
และปฏิบัติจนได้รับผลของพระธรรมนั้น กล่าวโดยลักษณะภายนอก
พระรัตนตรัยย่อมแตกต่างกันอยู่ดังนี้

แต่เมื่อกล่าวโดย ความหมายอันลึกซึ้งในภายในแล้ว ย่อมจะเห็นได้ว่า
เป็นของอย่างเดียวกัน คือ

พระพุทธเจ้า นั้นมีความหมายอันสำคัญ อยู่ที่คุณธรรมอันประเสริฐ
ซึ่งมีอยู่ในภายในพระหฤทัยของพระองค์ ซึ่งทำให้พระองค์ได้นามว่า
พระพุทธเจ้า คุณธรรมอัน ข้อนี้ก็คือ ความบริสุทธิ์ สะอาดถึงที่สุด
ความสว่างไสวแจ่มแจ้งถึงที่สุดและความสงบเย็นเป็นสันติถึงที่สุด
ซึ่งมีอยู่ภายในพระองค์นั่นเอง

สำหรับ พระธรรม นั้นเล่าก็มีความหมายอันแท้จริงอยู่ที่คุณสมบัติที่กล่าวแล้วอย่างเดียวกันคือ
ปริยัติธรรม ก็เป็นการเรียนเรื่องความสะอาด สว่าง สงบ ให้ถึงที่สุด
ปฏิบัติธรรม ก็เป็นการปฏิบัติเพื่อให้ถึงความสะอาด สว่าง สงบ
ถึงที่สุดและตัว ปฏิเวธธรรม ก็คือ ตัวความสะอาด สว่าง สงบ ถึงที่สุด
ที่ได้รับในฐานะเป็นผลของการปฏิบัตินั่นเอง

ฉะนั้น พระธรรมทั้ง 3 ประเภท ก็ไปรวมอยู่ที่ ความสะอาดถึงที่สุด
ความสว่างถึงที่สุด และความสงบถึงที่สุด
ที่มีอยู่ในพระหฤทัยของพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน

ส่วนพระสงฆ์ นั้นเล่าย่อมหมายถึงผู้ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า
เพราะพระองค์ทรงมีคุณสมบัติคือความสะอาด สว่าง สงบ ถึงที่สุด
จึงได้รับเอาพระธรรม ซึ่งมีคุณสมบัติรวมอยู่ที่ ความสะอาด สว่าง สงบ
นั้นมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้ตัวท่านเองเกิดมีคุณสมบัติเป็นความสะอาด
สว่าง สงบ ขึ้นภายในใจของตน อย่างเดียวกับภายในพระหฤทัยของพระพุทธเจ้า

เราจึงเห็นได้ว่า ตัวความสะอาด สว่าง สงบ นั่นแหละ
คือตัวแท้หรือหัวใจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยไม่เพ่งถึงลักษณะภายนอก

เมื่อเรารู้จักพระรัตนตรัย ในลักษณะของความสะอาด สว่าง สงบ
เป็นอันเดียวกันดังนี้ เราย่อมเห็นเป็นโอกาสที่การบวชของเรา
จะได้มีวัตถุที่ตั้งอาศัยลงที่พระรัตนตรัยได้โดยง่าย กล่าวคือ
การมองเห็นชัดว่ายังเป็นโอกาส ยังเป็นฐานะ
ที่เราจะเข้าถึงองค์พระรัตนตรัยได้จริง ๆโดยการทำให้ความสะอาด สว่าง สงบ
นั้นเกิดขึ้นภายในใจของเราเองและเป็นโอกาสที่พระรัตนตรัยนั้น
จะเป็นที่พึ่งให้แก่เราได้จริง ๆ คือ ความสะอาด สว่าง สงบ
ซึ่งเป็นองค์พระรัตนตรัยแท้ อันเราได้ทำให้เกิดขึ้นในหัวใจของเรานั้น
ได้เป็นเครื่องดับไฟทุกข์ และดับไฟกิเลสให้แก่เราได้จริง ๆ
เพราะฉะนั้นหัวใจของเราผู้บวชแล้ว จึงมีวัตถุที่ตั้ง คือ เข้าถึง
พระรัตนตรัยตัวจริงได้ และพระรัตนตรัยนั้น
สามารถคุ้มครองปกป้องหัวใจของเราได้ การบวชของเราจึงมีวัตถุที่ตั้ง
ที่อาศัยอย่างมั่นคง
แล้วเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาเหมือนต้นไม้ที่ได้อาศัยแผ่นดินที่ดี
เป็นที่ตั้งแล้วเจริญงอกงามอยู่ ฉันใดก็ฉันนั้น

เพราะฉะนั้น ขอให้เราผู้บวชแล้วทุกคน
จงได้ปักใจให้ตั้งอาศัยอยู่ที่พระรัตนตรัย ด้วยการเพ่ง ด้วยการมุ่ง
ด้วยการพยายามประพฤติปฏิบัติจนสุดกำลังกาย กำลังใจ
เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแท้จริงด้วยการที่ตนมีหัวใจอันประกอบอยู่ด้วยความสะอาด
สว่าง สงบ ดังกล่าวมาแล้ว

เราจะเห็นได้ว่า ถ้าการบวชของเราไม่มีวัตถุที่ตั้งอาศัย
ไม่มีจุดที่มุ่งหมายสำหรับเป็นที่กำหนดให้แน่วแน่มั่นคงแล้ว
การบวชนั้นก็จะกวัดแกว่ง เหมือนวัตถุที่เบาแล้วถูกลมพัด
ไม่สามารถจะมีจุดหมายอันแน่นอนได้ การบวชนั้นก็จักเป็นหมันเปล่า
ไม่สมประสงค์ทั้งที่เรามีความตั้งใจจริง
เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องเข้าใจในวัตถุที่ตั้งอาศัยของการบวชอย่างชัดแจ้ง
แล้วปักใจทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ลงไปทั้งหมดจริง ๆ
ก็จะได้ประสบผลของการบวช ได้ครบถ้วนตามความปรารถนา


ความมุ่งหมายของการบวช

เมื่อกล่าวถึงความมุ่งหมายของการบวช
ชนิดที่เป็นความมุ่งหมายอันแท้จริงแล้ว พึงทราบว่า
หาได้อยู่ที่ขนบธรรมเนียมประเพณีหรืออยู่ที่ความต้องการจะได้อานิสงส์ 3
ประการของการบวชดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นไม่ ความมุ่งหมายอันแท้จริงนั้น
หวังผลพิเศษยิ่งไปกว่านั้น กล่าวคือ
ความมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดความเร็วในการบรรลุมรรค ผล นิพพาน นั่นเอง

โดยหลักทั่วไป คนเราอาจจะบรรลุมรรคผล นิพพาน ได้
เพราะการประพฤติธรรมวินัยอันถูกต้องก็จริง
แต่ถ้าเป็นอยู่ในเพศฆราวาสย่อมเป็นไปอย่างเฉื่อยชาหรือเถลไถลถึงกับล้มเหลวไปก็ได้
แม้ฆราวาสผู้นั้นจะมีความตั้งอกตั้งใจอย่างรุนแรงเพียงไร
ก็ไม่วายที่จะประสบอุปสรรคอันเกิดมาจากความเป็นฆราวาส
มีการต้องประกอบอาชีพ หรือถูกรบกวนอย่างอื่น
อันเป็นเหตุให้เนิ่นช้าโดยไม่ต้องสงสัย เมื่อมาเป็นอยู่อย่างนักบวช
ย่อมปลอดโปร่งจากอุปสรรคเหล่านั้น
สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้ก้าวหน้าไปได้โดยรวดเร็ว ประสบผลทันตาเห็น
นี้นับว่าความมุ่งหมายที่แท้จริงของการออกบวช
อยู่ที่การเป็นไปได้โดยรวดเร็วในการบรรลุผลของการบวชอย่างจำเป็นแท้จริง

สิ่งที่เราจะต้องระมัดระวังต่อไปในเรื่องนี้ก็คือว่า

เมื่อละจากเรือนบวชสู่ความเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว
จำเป็นที่จะต้องมีจิตใจอย่างผู้ไม่มีเรือนจริง ๆ
จะต้องละกิริยาอาการตลอดถึงความรู้สึกนึกคิด
และการประกอบการงานอย่างฆราวาสโดยสิ้นเชิง ความหนักอกหน

1 ความคิดเห็น:

  1. ใครจะบวชกายหรือบวชใจ แล้วจะทันปี 2555 ไม๊นี่ ปีที่พระอริยเจ้าห่วงใยลูกหลานชาวไทย อ่านต่อ...http://www.ainews1.com/article311.html

    ตอบลบ