...+

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

อีสานใต้ ไข้เลือดออกระบาดหนัก พบป่วยแล้ว 2,500 ราย ตาย 2 โคราชมากสุด

ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ไข้เลือดออกระบาดหนัก 4 จังหวัดอีสานใต้
พบผู้ป่วยแล้วกว่า 2,500 รายเสียชีวิต 2 ราย
โคราชมากสุดเกือบพันรายเสียชีวิต 1 เป็นเด็กวัย 8 ขวบ
ระบุสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงโลกร้อนทำให้ปรากฏการณ์เกิดโรคเปลี่ยนแปลงยุงลาย
ขยายพันธุ์ได้มากขึ้นและถ่ายทอดเชื้อจากรุ่นสู่รุ่น
เผยพบผู้ใหญ่สถิติป่วยพุ่งต่อเนื่อง เหตุชะล่าใจไม่รีบไปพบแพทย์
เตือนปชช.ดูแลตัวเองไม่ให้ยุงลายกัด ยึดหลัก 5 ป. ตัดวงจรพาหะนำโรค

วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 (สคร.5)
จังหวัดนครราชสีมา ถ.ราชสีมา-โชคชัย อ.เมือง จ.นครราชสีมา นพ.สมชาย
ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา
เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกว่า จากรายงานทางระบาดวิทยา
กรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.- 26 มิ.ย. 2553
ประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศ 26,185 ราย เสียชีวิตแล้ว 30
ราย

สำหรับในเขตพื้นที่สาธารณสุขเขต 14 ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา,
บุรีรัมย์, สุรินทร์ และชัยภูมิ พบว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.จนถึงขณะนี้
มีผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 2,543 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดย จ.นครราชสีมา
พบผู้ป่วยมากสุด 948 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นเด็กอายุ 8 ขวบ ชาว
อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เสียชีวิตเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา รองลงมาคือ
จ.สุรินทร์ 849 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต, จ.บุรีรัมย์ 532 ราย
เสียชีวิต 1 ราย เป็นหญิงอายุ 19 ปี ชาว อ.พุทไธสง เพิ่งคลอดลูกได้ 9
เดือน และ จ.ชัยภูมิ 214 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา พบว่า
ปรากฏการณ์ในเรื่องรูปแบบของการเกิดโรค (Pattern of dengue )
ที่เคยทำนายได้ค่อนข้างแม่นยำ เช่น เกิดปีเว้นปี หรือ 2 ปีเว้น 2 ปี
ได้เปลี่ยนไป และลักษณะของการเกิดโรคในฤดูหนาวต่อฤดูแล้งก็เปลี่ยนไป
จากการพบจำนวนผู้ป่วยเล็กน้อยหรือไม่พบเลยในช่วงปลายปีต่อต้นปี
กลายมาเป็นพบผู้ป่วยมากขึ้นและเป็นกลุ่มก้อนก็มี
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือสิ่งแวดล้อมและยุงลาย
เนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล
และสภาพอากาศที่อุ่นขึ้นทำให้วงจรชีวิตของยุงพัฒนาการฟักตัวเร็วขึ้น

ปัจจัยด้านเชื้อไข้เลือดออก
มีรายงานการวิจัยที่ค้นพบองค์ความรู้ที่สอดคล้องกัน ว่า
ยุงลายสามารถถ่ายทอดเชื้อจากรุ่นสู่รุ่น ไม่เฉพาะยุงลายตัวเมียเท่านั้น
ยุงลายตัวผู้ก็มีเชื้อไวรัสเดงกี่และสามารถถ่ายทอดผ่านการผสมพันธุ์ได้ด้วย
และปัจจัยด้านคน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง
ปัจจุบันพบว่าในผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 15
ปีมีสัดส่วนการป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกสูงขึ้นเรื่อยๆ
จากที่ผ่านมามักพบเด็กอายุตั้งแต่ 1-10 ปีป่วยเป็นโรคนี้มาก
และมีอาการรุนแรงกว่าในเด็ก เนื่องจากการวินิจฉัยที่ล่าช้า
เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ไม่นึกถึงโรคไข้เลือดออกในผู้ใหญ่
และผู้ป่วยไปพบแพทย์ช้า จะไปเมื่อมีอาการซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วงอย่างมาก

ด้าน นายอภิรัตน์ โสกำปัง หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อนำโดยแมลง สคร.5
กล่าวว่า สถิติผู้ป่วยไข้เลือดออกในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นทุกจังหวัด
จำนวนผู้ป่วยสูงขึ้น 1-2 เท่า
โดยจังหวัดที่มีอัตราการป่วยต่อแสนประชากรมากที่สุดคือ จ.สุรินทร์
ส่วนจังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดคือ จ.นครราชสีมา จำนวน 984 ราย
โดยอำเภอที่พบการระบาดมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ อ.เมือง ผู้ป่วย 228 ราย,
ด่านขุนทด 79ราย, สีคิ้ว 18 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย
ทั้งนี้จากการส่งตัวอย่างเลือดผู้ตายไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์
จ.นครราชสีมา พบว่า ผู้ป่วยมีเชื้อชนิดที่ 2 และ 3
ซึ่งก่อโรครุนแรงและทำให้เสียชีวิตดังกล่าว

สำหรับการเฝ้าระวังป้องกันโรค สคร.5
ได้ตั้งทีมสอบสวนและควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็วจังหวัดละ 1 ทีม
และทีมระดับอำเภอจำนวน 80 ทีม เพื่อเฝ้าติดตามโรคในพื้นที่ 4 จังหวัด,
พัฒนาเครือข่ายระดับ
อบต.ให้สามารถจัดทำแผนงานโครงการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกได้ด้วยตัวเอง,
สำรองเครื่องพ่นสารเคมี และสนับสนุนอุปกรณ์ประกอบการควบคุมโรค เช่น
ยาทากันยุง และ สื่อสุขศึกษา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม
อยากฝากให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้ยุงลาย
พาหะนำโรคไข้เลือดออกกัดไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดสามารถป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก
ได้ทั้งนั้น โดยให้ช่วยกันปฏิบัติด้วยการยึดหลัก 5 ป.คือ ปิดฝ่าโอ่ง หรือ
ภาชนะขังน้ำให้มิดชิดแน่นหนา อย่าให้ยุงลายเข้าไปได้, เปลี่ยนน้ำทุก 7
วัน เช่น น้ำในแจกัน กระถางกันมด โอ่งน้ำใช้ อ่างล้างส้วม เป็นต้น ,
ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะต่างๆ, การปรับปรุงสิ่งแวดล้อม
ทั้งในตัวบ้านไม่ควรแขวนผ้าให้รกรุงรังเป็นแหล่งเกาะพักของยุงลายได้
ส่วนนอกบ้านควรตัดหญ้า ตัดต้นไม้ กระถางต้นไม้ต่าง ๆ
ควรตัดแต่งอย่าให้เป็นแหล่งเกาะพักของยุงลายได้

และ ป.ที่ 5 คือ เจ้าของบ้านต้องลงมือปฏิบัติเอง จนเป็นนิสัย
ไม่ต้องรอ อสม.หรือ รอคนอื่นมาทำให้ สิ่งสำคัญสุดท้าย คือ
การป้องกันยุงลายกัด โดยเฉพาะในช่วงกลางวัน ถ้านอนให้กางมุ้ง, เปิดพัดลม,
จุดยากันยุงหรือทายากันยุงป้องกัน
หากมีอาการต้องสงสัยป่วยเป็นไข้เลือดออกให้ไปพบแพทย์ทันที นายอภิรัตน์
กล่าว ในตอนท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น