...+

วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ต้นไม้-ต้นไร่ ๐ ไม้ก๊อก (๑)

แพน นนทรี

            ไม้ก๊อกเป็นเปลือกต้นโอ๊คชนิดหนึ่ง ชาวอียิปต์โบราณใช้ไม้ก๊อกทำเป็นทุ่นสำหรับอวนจับปลาตั้งแต่สมัย ๓,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ตั้งแต่นั้นมามนุษย์ก็รู้จักใช้ไม้ก๊อกให้เป็นประโยชน์อย่างอื่นๆเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน และแม้ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเจริญก้าวหน้าถึงยุคอวกาศ ยุคคอมพิวเตอร์อะไรก็แล้วแต่ ทุกวันนี้มนุษยฺก็ยังไม่สามารถผลิตวัสดุให้มีคุณภาพได้เท่าเทียมกับไม้ก๊อกได้  เพราะว่ามันมีคุณสมบัติที่ประหลาดล้ำลึกและวิเศษสุดจริงๆ โดยปกติเปลือกไม้โอ๊คชนิดนี้ จะหนาระหว่าง ๑-๓ นิ้ว  หากตัดเอามา ๑ ลูกบาศก์นิ้ว ส่องกล้องดูจะเห็นเป็นลักษณะรังผึ้ง มีเซลล์อากาศประมาณ ๔๐ ล้านเซลล์ แต่ละเซลล์จะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ๑๔ ด้าน ดังนั้น ประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาตรของไม้ก๊อกจึงเป็นอากาศ

            และนี่เองแหละครับที่ทำให้มันเป็นวัสดุที่กันความร้อน และกันเสียงได้อย่างวิเศษสุด ยิ่งกว่านั้นมันยังกันน้ำได้ด้วย ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีสารพิษ ยืดหยุ่น จับต้องบีบรัดก็นุ่มมือ สะอาดเรียบร้อยเจริญตา ถ้าขึ้นไปเดินบนแผ่นไม้ก๊อกจะรู้สึกนุ่มเท้า ไม่รู้สึกกร่อนง่าย และยิ่งไปกว่านั้นทนไฟซะด้วย วิเศษวิเศโษถึงขนาดนี้ก็ต้องนำมาโชว์ตัวที่วิกนี้กันหน่อยละครับ

            เซลล์เล็กๆของไม้ก๊อกเป็นเสมือนลูกโป่ง เมื่อถูกกดเข้าไปแล้วก็จะคืนตัวเหมือนเดิม ขนาดเดิม ตามรอยตัดของไม้ก๊อกนั้น เมื่อใช้กล้องขยายส่องดูจะเห็นว่าเซลล์ถูกตัดเหลือเป็นรูปถ้วย นึกถึงลูกดอกที่ปลายมียางเป็นรูปถ้วยแบๆ เมื่อยิงไปที่ผนัง ลูกดอกก็จะติดฉับอยู่ที่นั่น ลักษณะของเซลล์ที่รอยตัดของไม้ก๊อกก็แบบนั้นแหละครับ คุณสมบัติวิเศษสุดของมันก็คือว่าไม่ว่าไม่ก๊อกจะเปียกหรือแห้ง และไม่ว่าพื้นผิวที่ไม้ก๊อกจะสัมผัสจะเปียกหรือแห้ง จะสะอาดหรือมีน้ำมันลื่นๆ เซลล์ที่ผิวไม้ก๊อกก็ทำหน้าที่ได้อย่างปกติ

            ต้นโอ๊คชนิดนี้เป็นต้นไม้ขนาดโต ใบโตเป็นมัน ขอบใบเป็นจักๆ เหมือนฟันเลื่อย เปลือกดูเทอะทะและขรุขระดูเหมือนหนังจระเข้  เวลาดูทั้งต้นจึงมีลักษณะเป็นสง่าแบบทึมๆคล้ายคนแก่ ได้รับขนานนามตามท้องเรื่องทางวิทยาศาสตร์ว่า เควอร์คัส ซูเบอร์ ว่ากันว่าเป็นต้นไม้ที่สุขภาพดีเยี่ยมไม่ปรากฎโรคภัยอะไรรบกวน เมื่อตัดโค่นลงแล้ว ตอไม้ก็จะแตกต้นอ่อนขึ้นมาใหม่  ต้นอ่อนพวกนี้สามารถแยกเอาไปปลูกได้อีก ต้นโอ๊คชนิดนี้ใช้เวลานานกว่าจะโตเต็มที่ ชอบขึ้นในดินปนทราย ไม่ต้องดูแลอะไรมาก ขึ้นในที่สูงไม่เกิน ๓,๓๐๐ ฟุต อากาศในฤดูร้อนต้องแห้งและฤดูหนาวต้องชื้น ต้องไม่ไกลจากทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ต้นโอ๊คชนิดนี้เป็นนักอนุรักษ์นิยมปรับตัวเข้ากับสภาพแปลกๆได้ยากมาก เคยมีคนพยายามเอาไปปลูกในที่หลายๆแห่งของโลกกันแล้วอย่างเอาเป็นเอาตาย  เจ๊งทุกทีไป   เคยเอาไปออสเตรเลีย บราซิล ชิลี อิสราเอล ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ รัสเซีย ตุรกี และแม้แต่สหรัฐอเมริกา ปลูกเล็กปลูกน้อยได้ แต่ทำเป็นการค้าไม่ไหว เพราะงั้นขณะนี้จึงมีปลูกเป็นการค้าเฉพาะในถิ่นเดิมของมัน คือ ปอร์ตุเกส สเปน อิตาลี ฝรั่งเสศ ซาร์ดิเนีย คอร์ซิกา แอลจีเรีย มอรอกโค และทูนิเซีย

            ไทยแลนด์นั้นก็รู้กันอยู่ว่ามีต้นก่อซึ่งเป็นต้นโอ๊คชนิดหนึ่งขึ้นอยู่ทางภาคเหนืออยู่บ้าง จึงมีสิทธิ์ที่จะลองปลูกไว้ดูเล่นได้เหมือนกัน ไม่ทราบว่าใครลองแล้วหรือยัง

            อารยธรรมต่างๆที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นรอบๆทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งแต่ยุคเก๋ากึ๋กได้สอนให้มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์ไม้ก๊อกเรื่อยมา ... ทำเป็นพื้นรองเท้าแตะ ทำเป็นจุกใช้กับเหยือกน้ำและถังไม้ ทำรังผึ้ง และที่ใช้ประโยชน์ได้พิลึกพิลั่นมากก็คือ คนอังกฤษในศตวรรษที่ ๑๗ เอามาทำเป็นหมอนหนุนแก้มให้พองออกมาตามธรรมชาติ คนฟันหักฟันหรอหลายๆซี่ เป็นแฟนกันเกรียวเลยครับ

            เดี๋ยวนี้เราใช้ไม้ก๊อกมากมายหลายวิธี ..ทำเป็นฝาจุกแชมเปญ ทำรองเท้าคนพิการ วัสดุปูพื้นกันความร้อนในยานอวกาศ ไม้ก๊อกนั้นเมื่อผสมเข้ากับยางสังเคราะห์ จะทำให้ทนทานต่อน้ำมันจึงใช้ทำประเก็นสำหรับเครื่องยนต์ได้อย่างวิเศษ นอกจากนี้ก็ทำอะไรจุกจิกอีกพะเรอเกวียน ผมไม่จาระไนให้มากความหรอกนะครับ ขออนุญาต

            วิทยาการด้านป่าไม้เจริญรุดหน้าไปมากในศตวรรษนี้ ดังนั้นผลผลิตของไม้ก๊อกจึงเพิ่มขึ้นถึงสี่เท่าตัว ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๐ เป็นต้นมา ทั่วโลกมีป่าไม้ก๊อกรวมกันได้ ๑๒.๕ ล้านไร่ ผลผลิตไม้ก๊อกปีละ ๔ แสนตัน คิดเป็นมูลค่าเมื่อปี ๑๙๘๑ ได้ราวๆ ๑๓,๐๐๐ ล้านบาท  ประเทศยักษ์ใหญ่ของวงการผู้ผลิตก็คือ ปอร์ตุเกสเจ้าเก่านั่นแล มีอยู่ราวๆ ๒.๕ ล้านไร่ ผลิตออกมาได้ราว ๒ แสนตัน อันดับรองลงไปได้แก่สเปน ซึ่งผลิตได้ราวๆ ๒๘ เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือก็เป็นผลผลิตจากประเทศต่างๆ รอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อย่างที่บอกไว้ตอนต้นๆแล้วนั่นละครับ

            ทั้งหมดนี้ต่างไปจากประเทศสารขัณฑ์ซึ่งเคยมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เมื่อวิทยาการด้านป่าไม้เจริญมากขึ้นในช่วง  ๕๐ ปีที่ผ่านมานี้ กรมป่าไม้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นกรมป่าไหม้ รัฐมนตรีถูกขังคุกจนตาย รัฐมนตรีถูกซักฟอกในสภาเรื่องซุงพม่า ครับ... ล่อกันมั่วไปหมดทั้งหมู่ทั้งจ่า


            ดูไปแล้ว ต้นไม้ก๊อกมีลักษณะคล้ายๆงู คือ ต้องลอกคราบแล้วก็จะมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้เรื่อยๆ ตลอดช่วงอายุอันยาวนานถึงมากกว่า ๑๕๐ ปี เราจะลอกเปลือกไม้ก๊อกได้ราวๆ ๑๒ ครั้ง    การ "เปิดบริสุทธิ์" ครั้งแรกของต้นโอ๊คชนิดนี้จะทำกันตอนเป็นสาวเต็มตัวทีเดียว คือ อายุอานามล่วงเข้า ๒๐ ปีบริบูรณ์ ครั้งแรกนี้เปลือกอาจจะหนาไม่สม่ำเสมอกันและคุณภาพของ "เนื้อ" ของเปลือกที่ลอกออกมาได้ก็จะไม่ค่อยสม่ำเสมอกันนัก แต่ว่าหลังจากนั้นความหนาและคุณภาพของเปลือกก็จะดีวันดีคืน เรื่อยไปประมาณ ๕-๖ ครั้ง ต่อจากนั้นละก็เลี่ยมเล้เรไรเลยทีเดียวละครับ คุณภาพล้นแก้วล้นขวด เปลือกคุณภาพเยี่ยมได้มาตรฐานตลอดชีวิต

            กว่าจะได้มาตรฐานก็ล่อเข้าไปเกินครึ่งศตวรรษทีเดียวละครับ เรื่องพรรณยังงี้เหมาะสำหรับคนนุ่งยีนใจเย็นเท่านั้น ประเทศสารขัณฑ์ปลูกสักให้ได้อายุแค่ ๕๐-๖๐ ปี ยังทำกันไม่ได้เพราะนุ่งยีนคนละยี่ห้อ
           
            ต้นไม้ก๊อกขณะยังเล็กอยู่จะลอกเปลือกได้ราวๆ ๓๕ ปอนด์ เมื่ออายุ ๕๐ ปีจะได้ราวๆ ๑๐๐ ปอนด์ พออายุ ๘๐ ปี จะได้ถึงราวๆ ๕๐๐ ปอนด์เข้าไปโน่นทีเดียว มีสถิติโลกขึ้นป้ายไว้ว่าต้นโอ๊คยักษ์ต้นหนึ่ง เส้นรอบวง ๑๖ ฟุต ลอกเปลือกได้  ๓,๘๖๙  ปอนด์เมื่อปี ๑๘๘๙ จากประเทศยักษ์ใหญ่ คือ ปอร์ตุเกสนั่นละครับ

            (อ่านต่อตอนที่ ๒ -  ตอนจบ)


ที่มา  ต่วยตูน เดือนมีนาคม ๒๕๓๑ ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๗  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น