...+

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อบรม 'อาสาสมัครฟื้นฟูประเทศไทย รุ่นที่ 1' โดย แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

ขออนุญาตเล่าให้ฟังจากการเป็นเพียงหนึ่งในผู้ เข้าร่วมงานนะคะ

ช่วงเช้า:
คุณแม่ชีศันสนีย์ได้ให้นักข่าวและ
อาสาผู้ที่ได้ลงพื้นที่มาเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ได้พบให้ผู้เข้าอบรมฟัง
พร้อมกับสอดแทรกธรรมะ แง่คิดให้พวกเราพยายามถ่ายทอดสิ่งดีๆ แง่คิดดีๆ
ออกสู่สังคมให้มากๆ ...หลังจากนั้นท่านก็เริ่มให้พวกเรา "เปิดใจกว้าง"
"ลดอคติ" "มีสติ" "เป็นผู้ฟังที่ดี" และฝึกให้พวกเราหยุดอารมณ์โกรธ
เกลียด ซึ่งเกิดขึ้นได้ในมนุษย์ ด้วยคำว่า "จ๊ะเอ๋ บ๊ายบาย" คือ
จ๊ะเอ๋กับความโกรธ คือรู้แล้วว่ารู้สึกอย่างไร
หลังจากนั้นให้บอกลาความโกรธ คือ ให้บอกลาความรู้สึกนั้นๆ ไป
โดยหายใจเข้าลึกๆ แทนคำว่า"รู้" หายใจออกยาวๆ แทนคำว่า "ปล่อยวาง"
(ประมาณนี้นะคะ อาจไม่แม่นเรื่องคำพูดค่ะ)

หลัง จากนั้นคุณแม่ให้ "ผู้นำชุมชน" ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
มาเล่าประสบการณ์ให้พวกเราฟัง และเล่าว่าแต่ละชุมชนเป็นอย่างไร
เผื่อเราต้องเข้าไปทำงานในชุมชนนั้นๆ ค่ะ

คุณแม่ชีสรุปช่วงเช้าให้ พวกเราว่า...การเริ่มต้นอย่างมีสติ
พ้นจากอำนาจของกิเลส เป็นอิสระจากความไม่รู้ จากอวิชชาต่างๆ
อาสาสมัครควรมีความพร้อมในลักษณะดังนี้
1) ทำงานทุกชนิดด้วยจิตที่ไม่ขุ่นมัว
2) เปิดใจกว้าง วางอคติ มีใจเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
3) มีจิตที่คิดจะให้โดยไม่เลือกปฏิบัติ
4) พร้อมที่จะเป็นผู้รับใช้ ขอบคุณบุคคลและโอกาสที่ให้รับใช้
5) ฝึกทำงานเฝ้าสังเกตอย่างมีสติ
6) รับฟังผู้อื่นด้วยใจเป็นกลาง
7) มีจิตใจที่หนักแน่น ไม่อ่อนไหว
8) ใช้การทำงานเป็นฐานแห่งการภาวนา ทั้งนี้เพื่อ "อยู่เย็นเป็นสุข พ้นทุกข์ร่วมกัน"

ช่วงบ่าย:
คุณ แม่ได้แนะนำคุณหมอและเจ้าหน้าที่จากกรมสุขภาพจิตเพื่อให้คำแนะนำพวกเราว่า
ถ้าจะเข้าไปทำงานในชุมชนจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง สรุปดังนี้นะคะ
1) มีสติ
2) ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี อย่าแสดงให้เห็นว่า
พวกเค้าเป็นผู้รับที่น่าสงสารหรือด้อยกว่าเรา
ควรที่จะขอบคุณพวกเค้าทุกครั้งที่ให้โอกาสเราเข้าไป "ฟัง" พวกเค้าค่ะ
3) ใช้ปิยวาจา
4) ท่าทางต้องนุ่มนวล ให้กำลังใจ ไม่แสดงสีหน้า หรือจ้องตานานเกินไป
5) อย่าพูดว่า "เราเข้าใจเขา" เพราะจริงๆ แล้วเราไม่ได้เข้าใจเขาจริงๆ
6) ไม่ให้ "รับปาก หรือ ให้สัญญา" เพราะหากทำไม่ได้
จะทำให้ชาวบ้านปิดรับความช่วยเหลือจากเราได้ คุณหมอแนะนำให้จดรายละเอียด
ข้อเรียกร้องต่างๆ เพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง
เพื่อช่วยเหลือในขั้นต่อไป
7) แนะนำว่า ถ้าลงพื้นที่ให้ใส่ "ยีนส์" หรือแต่งตัวติดดิน
เพื่อให้กลมกลืนกับคนในท้องที่

ส่วนเจ้าหน้าที่จากกรมสุขภาพจิต แนะนำดังต่อไปนี้ค่ะ;

สิ่งที่ควรทำในการเยี่ยมบ้าน (Do)
1) สังเกตและละเอียดอ่อน ดูว่าต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านหรือไม่
เขากำลังทำธุระยุ่งหรือเปล่า เช่น การปฏิบัติศาสนกิจ(ต้องไปวัด สวดมนต์)
2) ขณะที่พูดคุยควรสังเกตกิริยาท่าทาง สีหน้า แววตา เช่น ก้มหน้า ไม่สบตา
เสียงสั่น หรือพูดแล้วหยุดชะงักเป็นช่วง ๆ
3) ก่อนที่จะลงพื้นที่
ให้ประเมินสถานการณ์และความรู้สึกของคนในพื้นที่เสียก่อน เช่น
ความรู้สึกโกรธแค้น ต่อต้าน ชิงชังยังมีอยู่หรือไม่
4) แต่งกายสุภาพเรียบร้อย

สิ่งที่ไม่ควรทำ (Don't)
1) เวลาคนที่เราเยี่ยมร้องไห้ ไม่ควรร้องไห้ตาม
2) ไม่ควรซักไซ้ถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ยกเว้นอีกฝ่ายจะเป็นผู้เอ่ยขึ้นเอง

กิจกรรม ในการลงพื้นที่
1) สร้างสัมพันธภาพ ทักทาย แนะนำตัว บอกวัตถุประสงค์ของการมาเยี่ยมบ้าน
2) ทีมที่ไปควรมีการแบ่งบทบาทหน้าที่กัน เช่น ถ้าบ้านนั้นมีลูกเล็ก
ต้องมีคนเล่นและดูแลเด็ก
3) การคุยเพื่อสร้างสัมพันธภาพ คือ ถามถึงความเป็นอยู่ทั่ว ๆ
ไป/ความสัมพันธ์ในครอบครัว ถามเกี่ยวกับการกินการนอน สุขภาพส่วนตัว
ถ้าเป็นวัยรุ่น(อายุ 12-18 ปี)ให้ถามเกี่ยวกับการเรียน กีฬา
หรืองานอดิเรกต่าง ๆ ถ้าเป็นเด็ก(อายุ 5 ปีขึ้นไป)ถามชื่อ อายุ
นำของเล่นไปเล่นกับเด็กเพื่อให้เด็กคุ้นเคย
ให้เด็กวาดรูปแล้วเล่าสิ่งที่เขาวาดให้ฟัง
4) การสังเกต ดูว่าเด็กเกาะแม่แจ หรือหลบอยู่หลังแม่ตลอดหรือเปล่า
หรือมีพฤติกรรมแยกตัว หลบมุม ร่วมมือหรือไม่ร่วมมือ
ถ้าเป็นวัยรุ่นดูว่าเป็นมิตรหรือไม่เป็นมิตร
พูดจาข่มขู่หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงหรือไม่
5) การช่วยเหลือเบื้องต้น วัยรุ่นและผู้ใหญ่ ให้ระบายความรู้สึก รับฟัง
ถามถึงความคาดหวัง เป้าหมายในอนาคต ดูว่าเขามีจุดแข็งอะไรเพื่อให้กำลังใจ
จะได้มีแรงสู้ชีวิตต่อไป อาจใช้หลักคำสอนทางศาสนามาช่วย
ถ้าพบว่านอนไม่หลับแนะนำให้พบแพทย์ ถ้ากังวล วิตก
ถามถึงประสบการณ์ที่เคยจัดการความรู้สึกแล้วได้ผลก็ให้ทำอย่างนั้น
หรือแนะนำวิธีผ่อนคลาย เช่น ฝึกหายใจ สวดมนต์ ถ้าเคียดแค้นชิงชัง
มีท่าทีก้าวร้าวให้ยอมรับและเข้าใจความรู้สึกของเขาขณะนั้น
หลังระบายแล้วให้เขาคิดว่าความรู้สึกอย่างนี้ส่งผลกระทบต่อเขาอย่างไรบ้าง
ให้เขาวิเคราะห์ถึงผลเสียต่อตัวเขา ถ้าโศกเศร้า 3
เดือนแรกถือว่าเป็นปฏิกิริยาปกติ ให้เขาได้ระบายความรู้สึก
และหันเหความสนใจไปเรื่องอื่น ถ้าเกิน 3 เดือนควรปรึกษาแพทย์
6) คำแนะนำ ควรพยายามจัดกิจวัตรให้เข้าสู่ภาวะปกติเร็วที่สุด
สังเกตสมาชิกใครแยกตัว ซึมเศร้า ให้หากิจกรรมทำร่วมกัน
ให้เวลาในการพูดคุยกัน ถ้ามีอารมณ์ฉุนเฉียว ให้หากิจกรรมที่ออกแรงมาก
เช่น เล่นกีฬา หลีกเลี่ยงการกระทำและการพูดกระตุ้นอารมณ์กัน ในกรณีเด็ก
อยู่ใกล้ชิดโอบกอด พูดคุยปลอบประโลม ให้กำลังใจ ถ้าเด็กกัดเล็บ
ถอนผมให้เบี่ยงเบนความสนใจ ชักชวนเล่น ถ้าเด็กก้าวร้าว ให้จับหรือกอดเด็ก
และหลีกเลี่ยงการลงโทษ ในกรณีวัยรุ่น ชักชวนทำกิจกรรมร่วมกัน
หรือทำกิจกรรมที่เขาสนใจ เช่น ดนตรี กีฬา ฯลฯ

(ที่มา: เอกสารการเผยแพร่จากคุณกาญจนา วณิชรมณีย์ กรมสุขภาพจิต ที่มาพูดในงานค่ะ)

ช่วงบ่ายแก่ๆ:
พวกเราแบ่งกลุ่ม กันทำงาน มีทั้งหมด 7 กลุ่ม คือ
1. จิตอาสาภาวนากับการเยี่ยมชุมชน
2. จิตอาสาภาวนากับการเยี่ยมผู้ป่วย
3. จิตอาสาภาวนากับการสื่อสารประสานงาน
4. จิตอาสาภาวนากับการใช้สื่อ
5. จิตอาสาภาวนากับการทำงานมวลชน
6. จิตอาสาภาวนากับการการดูแลความปลอดภัย
7. จิตอาสาภาวนากับการสนับสนุน

เพื่อ หาข้อสรุปว่า หลังจากจบกิจกรรมวันนี้
แต่ละกลุ่มมีผู้ประสานงานหลักคือใคร ผู้ประสานงานรองคือใคร
(หมายถึงตัวแทนต่อจากผู้ประสานงานหลัก)
กิจกรรมครั้งต่อไปของแต่ละกลุ่มคืออะไร นัดครั้งหน้าเมื่อไหร่
และให้แต่ละกลุ่มประสานงานกับกลุ่มสื่อฯ เพื่อกระจายข่าวต่อๆ กันไปค่ะ

ช่วง เย็น (ก่อนกลับบ้าน):
คุณแม่ได้แนะนำให้รู้จักพระภิกษุรูปหนึ่ง (ขอโทษมากๆ
จำชื่อท่านไม่ได้ค่ะ) ท่านได้มาให้แง่คิดเพิ่มเติมในการทำงานอาสา
และทำให้เห็นว่า ถ้าเราทำสำเร็จ ชาวโลกจะประจักษ์ว่า
ประเทศไทยได้เกิดสิ่งมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่คือ
หลังจากที่ทะเลาะกันมามากมาย
ผลสุดท้ายทุกคนก็ช่วยกันสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ ด้วยจิตใจที่โอบอ้อมอารี
ต่อกัน (ประมาณนี้ค่ะ คำพูดอาจผิดเพื้ยนไปบ้าง ขออภัยด้วยนะคะ)

สุดท้ายคุณแม่ชีก็ให้เรานั่งสมาธิ สวดมนต์ แผ่เมตตาให้ทุกคน ทุกสรรพสิ่ง
ช่วงนั้น ลมเย็นพัดมา ทำให้จิตสงบมากๆ ค่ะ

สรุป ว่า...วันนั้นกลับบ้านด้วยจิตใจที่อิ่มเอิบ
และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสำหรับการ "เปิดใจ" "ลดอคติ" และ "พร้อมอาสา"
เพื่อช่วยให้สังคมเราดีขึ้นค่ะ ^____^


โดย 220453 อาสาพยาบาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น