...+

วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2553

แกะหนังสือ ทัศนะจากอินเดีย พระนิพนธ์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (๓-ตอนจบ)




ผู้แกะ - หนูเอียด

            สุดท้ายเล่นกลางสนาม แสดงการเล่นในเทศกาล โอลี่ (Holi)  คล้ายๆกับการเล่นสงกรานต์ของเรา วันโฮลี่จะมีประมาณ ๑๖ มีนาคม เป็นการฉลองการย่างเข้ามาของวสันต์ฤดู ชาวบ้านจะเต้นรำและขว้างสีต่างๆใส่กัน รัฐมนตรีช่วยบอกว่าเดี๋ยวนี้คนบางคน เอาอะไรสกปรกๆขว้าง และทำอะไรแผลงๆทำให้เทศกาลนี้ลดคุณค่าไปมาก ฉันว่าพอๆกับสงกรานต์บ้านเราที่เอาน้ำแข็งใส่ถุงพลาสติกขว้างกันจนหัวแตกหัวแตน

            และเมื่อทรงไปดูอินเดีย ใช้สะเดาเป็นยาและยาฆ่าแมลง ก็ทรงมีทัศนะต่อเมืองไทยของเราว่า

            อีกเรื่องหนึ่งที่ฉันสนใจและได้ศึกษาก่อนที่จะมาอินเดีย คือ เรื่องการทำยาปราบศัตรูพืชจากสะเดา สืบเนื่องมากหลายปีมาแล้ว ฉันได้เห็นชาวไร่ใช้ยาปราบศัตรูพืชในปริมาณมากอย่างผิดวิธี คือ ไม่มีมาตรการป้องกันอันตราย คุยถามดูจับได้ว่าเขาไม่ได้ขาดอุปกรณ์ป้องกันเพียง แต่ขาดความรู้ในเรื่องนี้ ผลคือ  มีผู้เจ็บป่วยจากยาฆ่าแมลงกันมาก เมื่อทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ฉันก็ให้บรรจุเรื่องแนวทางใช้ยาปราบศัตรูพืชลงในหลักสูตรการอบรมด้วย ได้ปรึกษากับกรมส่งเสริมการเกษตร เขาก็ช่วยส่งวิทยากรมาอบรมพวกคนสวนในวังในเรื่องนี้ และคิดกันว่าควรจะจัดเป็นนิทรรศการใหญ่ที่ ครอบคลุมเรื่องการปราบศัตรูพืชทุกแง่ทุกมุม ต้องจัดในลักษณะที่เกษตรกร หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเกษตรกร เช่น เจ้าหน้าที่เกษตร (บางคนอาจไม่ทราบทุกแง่) เจ้าหน้าที่อำเภอ ครู ต.ช.ด. ฯลฯ ได้มาศึกษาความรู้ด้วย ตกลงเมื่อปีที่แล้วจัดงานขึ้นที่หัวหิน ซึ่งนับว่าเหมาะสมดี เพราะเขตภาคตะวันตกนั้นเป้นเขตที่ปลูกพืชไร่กันมาก ทั้งอ้อย สัปปะรด ฯลฯ ต้องใช้ยาปราบศัตรูพืชมาก ในงานนี้มีนิทรรศการการแสดงอันตราย ของสารเคมีปราบศัตรูพืช  ทั้งยังเสนอวิธรปราบศัตรูพืชที่หลีกเลี่ยงจากอันตราย เช่นใช้พันธุ์พืชที่ทนแมลง ใช้วิธีการทางชีววิทยาและใช้สารเคมีที่ไม่มีอันตราย การใช้สะเดาก็เป็นวิธีหนึ่งที่แสดงในงานนั้น (ฉันจะเกริ่นแค่นี้เองว่าเหตุใดจึงสนใจสะเดา เล่าเรื่องมาตั้งไกล) ฉันดูแล้วก็ยังไม่ได้คิดอะไร เมื่อก่อนจะมาที่อินเดียสักเดือนสองเดือน มีเพื่อนที่เป็นนักเกษตรมาแนะว่า  อินเดียเขาใช้สะเดาเป็นยาปราบศัตรูพืช และค้นคว้าในเรื่องนี้ก้าวหน้ากว่าเรา ถ้ามีโอกาสก็ขอให้ศึกษามาให้ละเอียด ฉันนึกขึ้นมาได้ก็สั่งให้ปลูกสะเดาไว้ตามโรงเรียน ต.ช.ด. ที่ฉันทำโครงการไว้ เพื่อเตรียมการทดลองเกี่ยวกับยาฆ่าแมลง ถึงแม้โครงการจะไม่สำเร็จ ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร สะเดาน้ำปลาหวานเป็นอาหารโอชะที่ฉันชอบมาก  

            เมื่ออ่านมาถึงบันทัดสุดท้ายนี้ ใครเลยที่จะอดอมยิ้มเสียได้
              
            ความจริงแล้วมีเรื่องที่ได้ทรงรจนาไว้มากมายเกี่ยวกับโบราณสถาน ศิลปะวัตถุต่างๆ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้ทอดพระเนตรเห็น พิธีการต้อนรับต่างๆ การแสดง ฯลฯ แต่ หนูเอียดมัวแต่สนใจเขียนเรื่องหนังสือเสียมาก เลยไม่ได้ยกเอาเหตุการณ์เหล่านี้มาให้อ่าน ซึ่งต้องบอกกล่าวกันว่า ควรอย่างยิ่งที่จะไปหาซื้อมาอ่านกัน แม้ว่าราคาจะค่อนข้างสูง กล่าวคือ ปกอ่อนเล่มละ ๒๕๐ บาท และปกแข็งเล่มละ ๕๐๐ บาท แต่ไม่แพงเลย เมื่อเทียบกับเนือ้หาสาระที่ได้ กระดาษก็เป็นกระดาษปอนด์ภาพสีทุกหน้า และที่สำคัญก็คือ รายได้จากการจำหน่ายจะเข้าสมทบในมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
            มีจำหน่ายที่ธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขา
            และ ฮะแอ้ม ถ้าหากว่าอ่านพระนิพนธ์ฉบับนี้แล้วยังอยากอ่านเรื่องเกี่ยวกับพระองค์ท่านอีก ก็ลองมองๆ "อารมณ์ขันของสมเด็จพระเทพ ฯ" โดย คุณวิลาศ มณีวัต ของสำนักพิมพ์เครือต่วยตูน ของเราและซื้อมาอ่านอีกสักเล่มแค่ ๔๐ บาทเอง

ที่มา  ต่วยตูน เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๐ ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๙ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น