...+

วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2553

หนึ่งพันสามร้อยยี่สิบหกปี

ฮิวเมอริสต์


เป็นเรื่องนานมาแล้วจริงๆ แต่ผมก็จะเล่าให้ฟัง เพราะประการที่หนึ่ง ไม่ได้นานเกินไป คือเพิ่งจะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เท่านั้นเอง ไม่ใช่กุมภาพันธ์ปีโน้นหรือปีนู้น ประการที่สอง เป็นเรื่องที่ผมอยากเล่า (ไม่เอกหรอกนะครับ) ถ้าเป็นเรื่องที่ผมไม่อยากเล่าแล้วล่ะก้อ ต่อให้เกิดเม่อเดือนที่แล้ว หรืออาทิตย์ที่แล้ว หรือกำลังเกิดอยู่หยกๆ สดๆร้อนๆ เดี๋ยวนี้เอง หรืออีกประเดี๋ยวจะเกิด หรือพรุ่งนี้มะรืนนี้จะเกิด ผมก็จะไม่เล่า เอ้า สบถก็ได้ (ไม่ต้อง ไม่ต้อง อยากจะอวดสำนวนสบถที่คิดขึ้นได้ใหม่เสียจริง)


ความจริงก็เป็นแบบเดียวทำนองเดียวกับเรื่องอื่นอื่นที่แล้วแล้วมา เช่นกะเรื่องปีใหม่ กว่าจะได้รู้เรื่องปีใหม่ส่วนตัวของผมว่า รูปร่างหน้าตากิริยาท่าทางเป็นยังไง ก็ไปรู้เอาเมื่อปีได้เก่าลงไปแล้วถึงสี่เดือน นั่นเป็นเทคนิคส่วนตัวของเรา คือ ของผมเองกับของต่วยตูนโดยเฉพาะ ซึ่งคุณผู้อ่านหรือไม่ได้อ่านย่อมเข้าใจ แต่ถ้าท่านผู้ใดผู้หนึ่ง หรือสองผู้สามผู้จะไม่เข้าใจ ก็อย่าไปขวนขวายหาทางเข้าใจเลย ป่วยงานป่วยการป่วยธุรการธุรกิจเปล่าๆ ให้รู้สึกเพียงว่า จะเป็นกำไรไว้ดีกว่าว่า ถ้าหากว่าผมพังไปโดยส่วนย่อย น้อยส่วนหรือมากส่วน หรือโดยสิ้นเชิง คุณก็ยังมีได้อ่านได้รู้จากผมสำรองไว้ต่อไปได้อีกสองสามเดือน เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ยังงี้แล้ว ถึงยังไงก็อย่าเพิ่งช่วยกันแช่งผมก็แล้วกัน ในกรณีที่โดนผมแซวเอาในเรื่องเกี่ยวแก่การ "ล่อแหลม"

คือ ผมออกจะเห่ออยู่ ก็ไม่น้อยละ แต่ก็ไม่มากเกินไปนัก คือ พอดีพอควรแก่เหตุการณ์สถานเวลา ซึ่งจะเรียกว่าเห่อ ฟุ้งซ่านก็ออกจะแรงไปหน่อย ขอรับไว้แค่ตื่นเต้นดีอกดีใจปลาบปลื้มใจ คือ ยินดีเบิกบานวาบเข้าในใจก็เห็นจะพอ ผมได้เล่าไว้บ้างแล้วในที่อื่นและโดยวิธีอื่น และโดยเหตุที่ในที่นี้ ก็เป็นที่ที่ควรเล่าไว้ ในฐานผู้คุ้นเคยกันมานานพอใช้ ผมก็ต้องเล่าไว้ด้วยให้จงได้ละ

คือ เรื่องที่ผมโชคดี ได้มีโอกาสได้รับพระราชทานโล่จารึกชื่อและเข็มเชิดชูเกียรติ ในฐานะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประเภทหัสคดี ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๙ ที่พระที่นั่งจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ยี่สิบสี่กุมภาพันธ์ที่แล้วมาโน่นไงครับ

เรื่องก็มีว่า คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีหนังสือราชการปึกเบ้อเร่อ ส่งมาแจ้งให้ผมและใครใครชื่อต่างต่างกันอีกสิบเจ็ดชื่อได้ทราบว่า เนื่องจากบรรดาศิลปินได้อุตสาหะ อุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะไว้เป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก ทั้งในสาขาวรรณศิลป์ สาขาทัศนศิลป์ และสาขาศิลปะการแสดง คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเห็นสมควร ประกาศเกียรติคุณศิลปินผู้มีความสามารถดีเด่น ในฐานะ "ศิลปินแห่งชาติ" จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการคัดเลือก "ศิลปินแห่งชาติ" ขึ้นในพุทธศักราช ๒๕๒๙ คณะอนุกรรมการดังกล่าวได้ดำเนินการคัดเลือก "ศิลปินแห่งชาติ" และเสนอคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติพิจารณา บัดนี้คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้พิจารณาแล้ว จึงขอประกาศเกียรติคุณ ศิลปินที่ได้รับการคัดเลือกรวม ๑๘ คน เป็น ศิลปินแห่งชาติประจำปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ ดังรายนามต่อไปนี้

โอ้โอแยะจัง ตั้งสิบแปดชื่อรวมทั้งผมด้วย หน้ากระดาษตรงนี้เป็นสัมปทานส่วนตัวของผม ผมขอลงชื่อไว้คนเดียว คือ ผมเอง ชื่อนอกนั้นจะหาอ่านได้จากหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับในตอนกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่แล้ว หรือจะขอมาที่ผมก็ได้ ผมจะลงทุนค่ากระดาษและลงแรงค่าเขียน ส่งมาให้คุณถึงบ้าน อ้อ เห็นควรจะต้องลงชื่ออีกคน คือ คุณ ก.สุรางคนางค์ เพราะได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ในสาขาวรรณศิลป์ ด้วยกัน ทางด้านนวนิยาย ส่วนผมสาขาวรรณศิลป์ทางด้าน หัสคดี นอกนั้นก็เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ทางด้านปั้น แกะสลัก จิตรกรรม ประติมากรรม การทอผ้า เครื่องถม แล้วก็ สาขาการแสดง ทางด้านหนังตะลุง ดนตรีไทย หุ่นกระบอก คีตศิลป์ หมอลำ เพลงพื้นบ้าน ดนตรีพื้นบ้าน เพลงไทยสากล ดนตรีไทย นาฏศิลป์

ศิลปินแห่งชาติ ทั้งสิบแปดท่าน (ผมก็พลอยเป็นท่านไปด้วย ขอโทษนะครับ เอาเขาหน่อย อย่าว่ากระไรเลย ) ผมถือว่า มีศักดิ์ศรีเสมอกันหมด ไม่กำหนดว่าสาขาไหนทางด้านไหนจะสำคัญยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย แต่การจะประกาศชื่อจะประกาศเป็นลำดับหนึ่งเท่ากันหมด เนื้อที่บรรทัดก็ไม่พอจะบรรจุ จึงจำเป็นต้องเรียงลำดับเรื่อยไปนับแต่ต้นจนสุดท้าย อ้าว แล้วใครจะเป็นลำดับต้นล่ะ แล้วใครจะยอมไปอยู่ลำดับสุดท้ายล่ะ ถ้าตกลงกันไม่ได้ มิต้องทดสอบลองกำลังกันหรือ หรือมิฉะนั้นก็ต้องใช้วิธีจับสลาก ก็ต้องเสียเวลาเชิญประชุมพร้อมหน้ากันให้ยุ่งยาก ใช้วิธียังงี้ก็แล้วกัน คือ สาขาของศิลปินเรียงลำดับจากสาขาที่ศิลปินจำนวนน้อย ไปหาที่มีจำนวนมาก ก็ต้องเรียงสาขาวรรณศิลป์ ก่อน เพราะมีเพียงสองท่านเท่านั้น แล้วรองลงไปเป็นที่สองก็ สาขาทัศนศิลป์ ซึ่งมีจำนวนศิลปินหกท่าน และลำดับที่สามก็เป็น ศิลปะการแสดง ซึ่งมีศิลปินแห่งชาติ สิบท่าน

แล้วทีนี้ในแต่ละสาขาก็มีศิลปินจำนวนสอง แล้วก็หก แล้วก็สิบ จะลงชื่อยังไง ก็จะต้องมีลำดับก่อนหลัง แล้วก็จะทำยังไงถึงจะตกลงเป็นที่เรียบร้อย แสดงว่ามีศักดิ์ศรีเสมอกันหมดได้ ก็ต้องเรียงลำดับตัวอักษรซี ตั้งแต่ ก. ถึง ฮ. นะ ไม่ใช่กลับเอา ฮ. มาขึ้นก่อนแล้วเรียงกลับไป ก. สาขาวรรณศิลป์นั้นมีสองท่านเท่านั้น แต่ผมสมัครจะเรียกหนึ่งท่านกับหนึ่งคน คือ คุณ ก.สุรางคนางค์ ท่านหนึ่ง แล้วก็ผมคนหนึ่ง คุณ ก.นั่น ก็นำด้วย ตัว ก.ล่ะ ส่วนผมก็หนี อ.ไปไม่พ้น ซึ่งก็ยอมอยู่หลังตัว ก.วันยังค่ำ ไม่ว่าชื่อจริงหรือนามปากกา จึงอยากจะแอบไปเปลี่ยนชื่อล่วงหน้าไว้ก่อนยังไง ก็จะหาตัวอะไรที่อยู่ก่อนตัว ก.ไม่ได้ เพราะฉะนั้น รายชื่อของศิลปินแห่งชาติ ปี ๒๕๒๙ ก็นำด้วยสาขาวรรณศิลป์ ซึ่งมีจำนวนศิลปินน้อยที่สุด และนำด้วย คุณ ก.สุรางคนางค์ อักษรต้นของชื่อเป็นตัวอักษรแรกสุด แล้วลงท้ายด้วยสาขาศิลปะการแสดง ชื่อหลังที่สุด คือ นายรง ภักดี ด้านนาฏศิลป์ จึงรั้งเป็นนามสุดท้ายท่านที่สิบแปด ซึ่งถือว่า มีศักดิ์ศรี แห่งความเป็นศิลปินแห่งชาติ เสมอเหมือนเป็นระดับเดียวกันหมด

ทั้งสิบแปดท่าน ซึ่งผมก็พลอยเป็นท่านด้วยท่านหนึ่ง ซึ่งเรียกตัวเองว่า ท่านทีไรก็ให้หนาวหนาวสั่นทุกที ไม่เรียกยังนั้นก็ต้องเรียกเยิ่นเย้อรุ่มร่ามเป็น สิบเจ็ดท่านกับหนึ่งคน เปลืองตัวหนังสือไปเปล่าๆ ทั้งสิบแปดท่านนั้น นอกจากชื่อจะแตกต่างกันแล้ว อายุก็ยังแตกต่างกันอีกด้วย อย่าให้บันทึกเป็นรายบุคคลเลย เอามากที่สุดก็ คุณคำหมา แสงงาม สาขาทัศนศิลป์ด้านการปั้นแกะสลักอายุ เก้าสิบเก้า ปีหน้าก็ครบศตวรรษ เอ่ยชื่อศิลปินท่านนี้ นึกขึ้นมาได้ว่าระหว่างนั่งพักรอเวลาอยู่ในห้องชั้นล่าง มีพนักงานผู้หนึ่งมาเรียกชื่อท่านว่า คุณคำมา ก็คงกระดากปากที่จะเรียกตามชื่อจริงของท่านว่า คุณคำหมา แท้ที่จริง คำหมา เป็นมงคลนามของท่านศิลปินผู้นี้มาตลอดเก้าสิบเก้าปีแห่งอายุของท่าน คำว่า "คำ" ก็คือ ทองคำ ส่วนคำว่า "หมา" นั้นก็คือหมาอย่างธรรมดาทั่วไปนี่แหละ เป็นคำแสดงว่าผู้ให้กำเนิดมีความรักผูกพันอย่างแน่นแนบสนิท จึงให้ชื่อว่า "หมา" ตามความเชื่อของผู้ใหญ่รุ่นเก่านั้นมีว่า ถ้าเรารักลูกผูกจิตใจแล้ว ภูติผีปีศาจมันจะแกล้งเรา โดนพรากเอาลูกที่เรารักนักหนานั่นไปเสีย ผู้เป็นแม่เป็นพ่อก็จะต้องแกล้งทำเป็นไม่รัก ลวงอ้ายพวกภูติผีปีศาจ ด้วยการเรียกลูกเสียว่า อ้ายหมาอีหมา อ้ายผีมันก็แสนโง่ มันก็นึกว่าเขาไม่ได้รักลูกเขาหรอก ก็ไม่เห็นน่าสนุกอะไรจะพรากเอาลูกเขาไปเสีย แต่ถ้าเรียกลูกว่า พ่อดวงใจของแม่ พ่อทูนหัวของแม่ ยังงี้ล่ะก้อ ไม่เท่าไร่อ้ายผีปีศาจมันก้แกล้งพรากเอาชีวิตไปเสีย แล้วก็ไปชวนกันหัวร่อสนุกสนานที่แกล้งคนให้ร้องไห้อาลัยลูกได้ แต่ถ้าเรียกเสียว่า อ้ายหมูอ้ายหมาละก้อ มันนึกว่าไม่รักไม่อาลัยใยดี ก็เลยปล่อยเฉยเฉยเสียไม่แกล้งพรากไป คุณคำหมามีฝีมือในการแกะสลักยอดเยี่ยม มีลูกศิษย์เป็นเรือนพัน ล้วนแต่เรียก ครูหมา อาจารย์หมา ทั้งนั้นเพราะเป็นคำมงคลที่พ่อแม่ใช้เรียกมาแต่เล็กแต่น้อยแล้ว ไม่ต้องมานั่งคิดวิตกไปว่าจะเป็นคำหยาบอะไรเลย

คุณคำหมาอายุ เก้าสิบเก้า นำหน้าลิ่ว รองลงมาก็มีอายุเก้าสิบถ้วน ท่านหนึ่ง แปดสิบแปด สองท่าน แปดสิบหก หนึ่งคนคือผมเอง แปดสิบถ้วน หนึ่งท่าน เจ็ดสิบเจ็ด สองท่าน เจ็ดสิบหก สองท่าน เจ็ดสิบห้า หนึ่งท่าน เจ็ดสิบสอง หนึ่งท่าน เจ็ดสิบถ้วน หนึ่งท่าน หกสิบแปด หกสิบเจ็ด หกสิบห้า ห้าสิบแปด ห้าสิบสี่ วัยละหนึ่งท่าน รวมอายุศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.๒๕๒๙ ทั้งสิ้น หนึ่งพันสามร้อยสี่สิบหกปี คิดเฉลี่ยท่านละ เจ็ดสิบสี่ปีกว่า ก็ใกล้ฝั่งแค่เอื้อมด้วยกันทั้งนั้น ไม้เท้าระเกะระกะไป แต่ท่านถือกันอย่างมากก็คนละอัน ผมเองคนเดียวถือมันเสียสองอัน ซ้าย ขวาเลย อันขวา ธรรมดา เป็นโครเมี่ยม มีรูปรับสูงต่ำให้เหมาะได้ อันซ้ายนั่นยุ่งหน่อย คือที่ปลายข้างลงดิน มีสาขาเล็กขนาดครึ่งของส่วนบน แยกออกสี่สาขา ตรงจุดที่สูงจากพื้นดินหนึ่งฟุต ประโยชน์คือใช้วางลงไปเป็นหลักมั่นคงไม่คลอนแคลนเอนเอียงไปทางไหนได้ เพื่อใช้มือซ้ายจับไว้ให้มั่นตอนก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าได้หนึ่งก้าว เสร็จแล้วก็ยกอ้ายสี่แฉกด้วยมือซ้ายไปวางเป็นหลักคอยอยู่ข้างหน้าพร้อมเท้าซ้าย ไปรอให้เท้าขวากับอ้ายหนึ่งท่อนก้าวไปได้หนึ่งก้าว

ไม่มีโอกาสนับจำนวนไม้เท้าได้ทั้งหมด แต่ศิลปินที่รวยอายุและรวยไม้เท้าทั้งสิบแปดท่าน (ผมได้รวมเป็นท่านอีกที) ก็ได้ขึ้นบันไดสามสิบขั้น ไปเฝ้าทูลลอองพระบาท รับพระราชทานโล่รางวัลจารึกชื่อพร้อมด้วยเข็มเชิดชูเกียรติ ณ ห้องเสวยใหญ่ชั้นบนของพระที่นั่งจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และลงบันไดมาสาบสิบขั้นได้ครบถ้วนหน้ากันด้วยความปีติอิ่มเอิบทั่วกัน


ที่มา ต่วยตูน เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๐ ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น