...+

วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

เรื่องเล่าจากชาวเนินมะกอก กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลเนินมะกอก อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

            ความเป็นมาด้านสุขภาพของชาวเนินมะกอก นั้นมีที่มามากกว่า 10 ปี ก่อนที่จะมีองค์กรต่างๆจะเข้ามานำเสนอและให้ความสำคญเกี่ยวกับสุขภาพด้วยซ้ำ

            ดังเรื่องที่เล่าว่า เมื่อปี 2538 ครั้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมีงบฯ สนับสนุนแก่สถานีอนามัย  ก็เริ่มมีโครงการผู้สูงอายุเกิดขึ้น แล้วต่อมาก็มีการจัดงานรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในวันสงกรานต์
            และมีการจัดกิจกรรม การตรวจสุขภาพ วัดความดัน ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง รวมถึงการให้ความรู้กับผู้สูงอายุ จัดกิจกรรมที่ผู้สูงอายุต้องการทำ เช่น สอนการสานกระบุง ตะกร้า และพัด บางกิจกรรมผู้สูงอายุก็สอนกันเอง ผู้สูงอายุเหล่านี้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและนี่เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการให้ความร่วมมือของชุมชนเนินมะกอก

            ชุมชนเนินมะกอกนับเป็นชุมชนพื้นที่ใหญ่ระดับหนึ่ง คือ มีพื้นที่ 60.60 ตารางกิโลเมตร มีชาวบ้าน 7,274 คน และมีหมู่บ้านถึง 12 หมู่บ้านในความดูแล ด้วยความเป็นชุมชนใหญ่การให้ประชาชนที่อยู่ในชุมชนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมนั้นถือว่า เป็นข้อจำกัดที่ยาก แต่สำหรับ นายก อบต. ซึ่งมีศักยภาพเป็นผู้ประสานสิบทิศ สามารถทำได้โดยไม่ยากเย็น
        เมื่อชาวเนินมะกอก มีผู้นำชุมชนที่มีแนวคิดที่เกิดขึ้นจากพื้นฐานความเข้าใจแล้วนั้น  วิธีการส่งสาร การให้ข้อมูล การเรียกร้องให้มามีส่วนร่วมจึงเป็นเรื่องง่าย หลังจากที่ได้ไปดูงานจากที่ต่างๆมาแล้ว ด้วยความเป็นครูมาก่อน ผู้นำจึงรู้ว่าควรทำอย่างไรให้ชุมชนเนินมะกอกนั้นเป็นครู หรือเป็นตัวอย่างแทนชุมชนอื่นได้ และนี่เป็นที่มาของการที่ชุมชนเนินมะกอกได้รับคัดเลือกเป็นชุมชนที่มีผลงานทางด้านสาธารณสุขมากมายชุมชนหนึ่ง และโครงการเด่นของเนินมะกอกคือ โครงการเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงอายุซึ่งมีมานานกว่า 10 ปีอย่างที่กล่าวไป

            "ผมอยู่ตรงนี้ก็ว่า เอ้า คุณไปลอกตัวอย่างที่เขาประสบความสำเร็จ แล้วจะไม่ให้ผมดำน้ำได้อย่างไร ไปดูงานมา เขาเป็นโครงการที่ใครก็ไปดู ที่นั่น เราก็ไปลอกโครงการมาเลย" ด้วยความที่เป็นครูมาก่อนจึงรู้ว่า การสอนคนให้สนใจและเข้าใจนั้น ควรสอนอย่างไร นายประสิทธิ์ ทิพยโกศัย นายก อบต. ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนอาชีวะใน จ.พิจิตร ข้าราชการปลดเกษียณผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล อาจารย์ที่มีลูกศิษย์มากเป็นที่เคารพ ศรัทธา และนับถือของชาวเนินมะกอก

            เมื่อท่านเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานศพ งานแต่ง หรืองานต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นงานจากลูกศิษย์ ก็จะใช้โอกาสดังกล่าวเหล่านั้น พูดคุยสอบถามสารทุกข์สุขดิบของลูกศิษย์และชาวบ้านอื่นๆ ที่มาร่วมงาน ก็จะเป็นที่มาของข้อมูลที่ได้มาโดยตรง นอกเหนือจากข้อมูลที่มีการทำประชาคมทุกๆเดือน
            หลังจากได้ข้อมูลแล้วก็จะใช้วิธีแก้ไขปัญหาโดยการ นำมวลชนที่มีผลกระทบโดยตรงมามีส่วนร่วมด้วย โดยการดึงเข้ามาเป็นแกนนำในโครงการต่างๆ

            ดังนั้น โครงการของ อบต.เนินมะกอกจึงมาจากการจัดกลุ่มต่างๆ แล้วเขียนโครงการขึ้นมาของบประมาณกับ อบต. โดยการให้คำแนะนำและปรึกษาจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายการคลังและเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ประธาน อสม. หรือ ประธานชมรมผู้สูงอายุ แล้วทั้งหมดนั้นจะมีคณะกรรมการคอยควบคุมและกำกับ มีฝ่ายบริหารจัดการกองทุนฯ มีคณะกรรมการคัดกรองกิจกรรม จัดสรรงบประมาณในการทำการเบิกจ่ายและติดตามผลงาน
            สัมพันธภาพที่ดีระหว่างทีมงานกับชุมชน ความต่อเนื่องและความใส่ใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทำให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังนั้น ส่งผลให้โครงการต่างๆนั้นยั่งยืน
           
            เริ่มจากแนวคิดที่ว่า ทำอย่างไรให้คนทุกกลุ่มห่างไกลจากโรค แล้วร่วมกันค้นหาคำตอบและเห็นตรงกันว่าถ้าคนเรากินอาหารดี สุขภาพจิตดี ได้ออกกำลังกาย ก็จะทำให้คนห่างไกลจาก โรคปลอดสารพิษและมีจิตใจผ่องใส

            เมื่อแนวคิดเหล่านี้ประยุกต์เข้ากับชีวิตชาวเนินมะกอกได้ หลักประกันสุขภาพที่ดีก็จะอยู่กับชาวเนินมะกอกตลอดไป

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
อังคณาพร สอนง่าย
วสส.พิษณุโลก


ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น