...+

วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

ออกกำลังกาย ยืดชีวิต ที่เทศบาลตำบลเขาสามยอด กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลเขาสามยอด อ.เมือง จ.ลพบุรี

เรียบเรียงโดย วรุณวาร สว่างโสภากุล

            "หลังจากได้ออกกำลังกาย จากการตรวจร่างกายประจำปี เมื่อ 3-4 วันที่แล้วมาเนี่ย จากที่คลอเรสเตอรอลสูง ไตรกลีเซอไรสูง อยู่ระดับปกติหมดเลย"
            คุณรุจนรินทร์ ชาวบ้านตำบลเขาสามยอดเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองหลังจากเข้าร่วมโครงการออกกำลังกาย และโครงการออกกำลังกายนี้ ก็มิได้มาจากที่ไหน หากเป็นหนึ่งใน 31 โครงการของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ของเทศบาลตำบลเขาสามยอดที่จัดตั้งขึ้นในช่วงปีงบประมาณ 2550 นั่นเอง

            เทศบาล ต.เขาสามยอด แห่ง จ.ลพบุรี เป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ มีประชากรสองหมื่นแปดพันกว่าคน หน่วยงานทหาร 9 หน่วยงาน และสถานพยาบาล 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลอานันทมหิดล โรงพยาบาลลพบุรี และศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล (เดิมเป็นสถานีอนามัยเขาสามยอด)
            นายกเทศมนตรีตำบลนี้มีวิสัยทัศน์ว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในเทศบาล เป็นหน้าที่หลักของเทศบาล การมีกองทุนฯ ทำให้เทศบาลทำงานได้ง่ายและสะดวกขึ้น เพราะงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นงานที่เทศบาลของปฏิบัติอยู่แล้ว ดังนั้น นายกฯ จึงนำเทศบาลตำบลเขาสามยอดเข้าร่วมในโครงการนำร่องกองทุนหลักประกันสุขภาพของ สปสช.

            คณะกรรมการกองทุนฯ มีทั้งหมด 14 คน ส่วนหนึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยตำแหน่ง อีกส่วนหนึ่งมาจากการคัดเลือก โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือก คือ ต้องเป็นผู้ที่เสียสละและมีเวลา  คณะกรรมการกองทุนฯ อยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2ปี
            ในช่วงแรกของการทำงานนั้น คณะทำงานบอกว่า วางแผนง่ายมาก เพราะเทศบาลมีข้อมูลปัญหาสุขภาพของประชาชนจากการทำประชาคมชาวบ้านอยู่แล้ว

            คณะทำงาน เห็นว่า กองทุนฯ จะเข้มแข็งได้ ต้องให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนฯ และเข้ามามีส่วนได้ส่วนเสียกับกองทุนฯ แต่กระนั้นก็ตาม คณะกรรมการณ ไม่ได้ใช้วิธีการระดมทุนจากประชาชน เพราะคิดว่า ในตอนเริ่มต้นรัฐต้องจัดให้ได้ก่อน จนกระทั่งประชาชนเห็นผล จึงจะดึงประชาชนเข้ามาร่วมสมทบทุนได้

            แต่คณะกรรมการฯ มีวิธีอื่นในการสร้างความร่วมมือจากชุมชน
            วิธีหนึ่งก็คือ ชักชวนครูหรือทหารที่ปลดเกษียณแล้วมาช่วยงานเพื่อนำเอา "คลังสมองของสังคม" มาใช้เต็มศักยภาพ นอกจากนี้ คณะกรรมการยังคิดหาวิธีการง่ายๆ ให้ประชาชนได้เสนอโครงการด้วยตนเอง โดยการทำแบบฟอร์มขึ้นมาให้ประชาชนกรอก แทนที่ประชาชนจะต้องเขียนเป้นโครงการเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา วิธีการนี้ช่วยให้ประชาชนที่มีข้อจำกัดไม่สามารถเขียนโครงการได้ มีโอกาสที่จะเสนอปัญหาและโครงการที่ตนเองอยากให้มี

            และแล้ว กองทุนฯ เทศบาลตำบลเขาสามยอดก็ได้โครงการที่ให้บริการในปีงบประมาณ 2550 ถึง 31 โครงการ โดยแบ่งเป็นงานบริการด้านส่งเสริมสุขภาพ 25 โครงการ ใช้เงิน 69.06%    ของงบประมาณทั้งหมด งานควบคุมป้องกันโรค 4 โครงการ ใช้เงิน 20.77%  ของทั้งหมด และงานฟื้นฟูสภาพ 1 โครงการ ใช้เงิน 6%  ของงบประมาณทั้งหมด และงานบริหารจัดการ ใช้งบประมาณ 4.17% ของงบทั้งหมด

            รวมกันแล้ว กองทุนฯ เทศบาลตำบลเขาสามยอดใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,069,873 บาท โดยได้รับเงินมาจากสองส่วน คือ สปสช. และ เทศบาลตำบลเขาสามยอด
            สำหรับโครงการที่ถือว่า  เป็นโครงการเด่นของกองทุนฯ นั้นมี 3 โครงการ คือ

            โครงการกีฬาต้านยาเสพติด เอราวัณหัวใจสีขาว 1 และโครงการกีฬาต้านยาเสพติด เอราวัณหัวใจสีขาว 2 ทั้งสองโครงการจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเล่นกีฬาในช่วงปิดภาคเรียน และจัดแข่งขันกีฬาเยาวชนหลายช่วงอายุ ด้วยความร่วมมือของกองพลรบที่ 1 วัดพระบาทน้ำพุ และกองทุนฯ เขาสามยอด
            โครงการรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ โครงการนี้เป็นการมอบหมวกกันน็อคให้แก่ประชาชน ข้าราชการ และหนักงานรับจ้างของ รพ.อานันทมหิดล เพื่อเสริมสร้างวินัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์ นอกจากนี้ ยังให้ความรู้เกี่ยวกับกฏจราจรอีกด้วย
            โครงการฝึกรำไทเก็กชุดที่ 7 ชมรมไทเก็กซอยศรีละโว้ 4 โครงการนี้ เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการรำไทเก็ก ผู้เข้าร่วมโครงการจะมารำไทเก็กร่วมกัน 4-5 วันต่อสัปดาห์ จนกระทั่งขณะนี้ ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองเป็นวิทยากรได้แล้ว

            โครงการต่างๆของกองทุนฯ ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น จึงทำให้ประชาชนพึงพอใจอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่เกี่ยวกับการออกกำลังกาย ซึ่งมีอยู่หลายโครงการ และแสดงผลให้เห็นเป็นรูปธรรม ดังที่ นท.ชูชาติ ทิพยจันทร์ ประธานชุมชนซอยสังวาลย์ เล่าให้ฟังว่า
            " ต.เขาสามยอดเรามีชมรมผู้สูงอายุ สมาชิกประมาณ 1,600 คน เสียชีวิตประมาณ 40-48 คน พอมาปีนี้ หลังจากที่เรามีการออกกำลังกายอย่างจริงจังแล้ว ปีนี้เสียชีวิตประมาณ 20 กว่าราย แสดงให้เห็นว่า การออกกำลังกายมีประโยชน์มาก ทำให้ลดการเสียชีวิตลง 20 คนเศษๆ ซึ่งมันไม่เคยมีมา เมื่อก่อนนี้ตั้ง 40 ขึ้นไปนะครับ"
           
            เมื่อผู้รับบริการพอใจและมีสุขภาพดี ผู้ให้บริการก็ปลื้มใจและมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น
            หากถามว่า อะไรทำให้กองทุนฯ ของเทศบาลตำบลเขาสามยอด ประสบความสำเร็จ ปัจจัยสำคัญมาจาก คน 3 กลุ่มในชุมชน

            หนึ่ง คือ ผู้นำที่เห็นประโยชน์ของกองทุนฯ กล้าตัดสินใจเข้าร่วมในโครงการนำร่อง และขับเคลื่อนกองทุนฯให้ดำเนินไป
            สอง คือ คณะกรรมการกองทุนฯ ที่มีความรู้ มองการณ์ไกล เสียสละ ทุ่มเทเพื่อส่วนรวม เข้าใจปัญหาและข้อจำกัดของประชาชน จนเกิดการทำแบบฟอร์มโครงการให้ประชาชนกรอก และนำคนวัยปลดเกษียณแล้วแต่ยังมีความสามารถเต็มเปี่ยมมาร่วมงาน
            สาม คือ ประชาชนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในทุกๆขั้นตอน ตั้งแต่ร่วมให้ข้อมูล ร่วมทำประชาคม ร่วมเสนอปัญหาและโครงการ ร่วมทำกิจกรรมโครงการ และร่วมประเมินผล
            ด้วยความสามารถและความร่วมมือของคนในตำบลเขาสามยอด กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นของที่นี่ จึงกลายเป็นกองทุนที่ช่วยยึดชีวิตให้กับประชาชนในชุมชน เพื่อจะได้อยู่เป็น "คลังสมองของสังคม" ตราบนานเท่านาน

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
สุนทรี สิทธิสงคราม
วพบ.พระพุทธบาท สระบุรี



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น