...+

วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

ตำนานซุ้มสาวกอด

ดิตถ์ ตัณฑไพบูลย์


..ณ หุบเขาที่โอบล้อมด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน สูงทะมึน
มีดินแดนเขียวขจีของไม้ดอก
ไม้ใบที่ปลูกไว้บนชั้นบนขั้นของพื้นดินลาดเทสู่ที่ราบที่เรียกว่า
"นาขั้นบันได" ในความเขียวชอุ่มของทิวเขาสลับซับซ้อนและแปลงไร่นาพืชผล
ซึ่งส่วนใหญ่ได้ปลูกไม้ดอกโซนหนาวคือ ดอกกุ๊ชชี่
และท่ามกลางความกรุ่นระเหยของโอโซนฝนที่แผ่ซ่าน ความหอมของกลิ่นไอดิน
ที่นี่เป็นหุบเขาวนาคามที่เต็มไปด้วยสันติสุข
แม้จะเยือกเย็นด้วยสายหมอกที่เรี่ยยอดไม้อยู่ชั่วนาตาปี
แต่ก็อบอุ่นด้วยไมตรีจิตที่อวลด้วยสายใยแห่งมิตรภาพบริสุทธิ์

ที่นี่เป็นที่ตั้งของ "โครงการหลวงห้วยน้ำริน"
ที่มีวัตถุประสงค์ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรแก่ชาวเขาภาคเหนือของประเทศไทย
เร่งรัดขจัดการปลูกผิ่น และปรับปรุงมาตรฐานการครองชีวิตให้ดีขึ้น
โครงการนี้ตั้งอยู่บนเทือกเขานางแก้ว กิโลเมตรที่ ๖๔
และแยกทางเข้าไปตามเส้นทางไหล่เขาอีก ๙ กม.
บนทางหลวงสายเชียงใหม่-เวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่ามูเซอดำ ที่มีชื่อภาษาอังกฤษ และจีนว่า
LAHU หรือ ล่าหู่

มันเป็นที่ตั้งของแผ่นดิน "ตำนานรักดอกกุ๊ชชี่"
เป็นนิวาสถานของชนเผ่ามูเซอดำ ผู้มีประวัติการต่อสู้ของพรานป่า
และรักการผจญภัยล่าเสือร้าย-กระทิงเปลี่ยวยิ่งกว่าการนอนกกผู้หญิง

มูเซอ เป็นเสรีชนเผ่า พม่า-ธิเบต
ชอบอาศัยอยู่บนเขาที่มีความสูงตั้งแต่ ๔,๐๐๐ ฟุตขึ้นไป
อพยพถอยหนีจีนผู้รุกรานเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทนตั้งแต่ปี 2518 แล้ว
เป็นชนเผ่ารักสงบ พลเมืองมีราว 45,000 คน
โยกย้ายเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่บ้านห้วยน้ำริน จังหวัดเชียงรายร่วม 100
ปีแล้ว มีประชากรราว 350 คน
ชาวเขาผู้ใฝ่สันติ มูเซอรนี้ นับถือผีป่า ผีดอย ผีฟ้า ผีไร่
อย่างเคร่งครัด เพื่อขอความคุ้มครองให้พืชผลอุดมสมบูรณ์
โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ
จะต้องทำพิธีอัญเชิญวิญญาณมาเป็นประธานงานในวันเทศกาลใหญ่ๆ เช่น
วันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น
มูเซอ จัดเป็นกลุ่มชาวเขาเผ่าเดียวที่รักการผจญภัย
ล่าสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งจะออกป่าล่าสัตว์เป็นพวกเป็นหมู่ หมู่ละ
10-15 คน ยกย่องผู้ล่าสัตว์เก่ง
อาวุธที่ใช้ล่าสัตว์มีทั้งปืนและหน้าไม้ที่อาบยาพิษ
การล่าสัตว์ป่านิยมการติดตามแกะรอย
เมื่อพบรอยสัตว์ที่พึงประสค์แล้วก็จะบนบานบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าเขาเพื่อขอล่าสัตว์เจ้าของรอยเป็นอาหาร
เมื่อล่าสัตว์ได้แล้วก็จะทำพิธีสังเวย ด้วยเนื้อสัตว์เคราะห์ร้ายเช่นกัน

การแกะรอยล่าสัตว์ป่า บางวันก็พบง่าย
บางครั้งก็ข้ามวันข้ามคืน แกะรอยติดตามเสือลำบากบ้าง กระทิงที่ถูกปืน
ป่วยทั้งสาหัสและไม่สาหัส ซึ่งทั้งสองกรณีนี้จำเป็นต้องติดตามพิฆาต
มิเช่นนั้นจะเป็นอันตรายต่อชาวบ้าน เพราะมันจะทำร้ายคน ไม่ว่าเด็ก
ผู้ใหญ่ ด้วยความอาฆาตมาดร้าย ดังนั้น บางครั้งผู้ติดตามแกะรอยสัตว์ลำบาก
ก็จะเจอจุดจบเสียเอง
เพราะถูกสัตว์ร้ายซุ่มโจมตีจนเสียชีวิตไปก็มีอยู่เสมอ

ในที่นี้
ผมใคร่จะกล่าวถึงบทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งของชนชาวมูเซอ
ที่มีอารมณ์สุนทรีย์ของความรักและระบบการครองเรือนที่ผิดแผกกับชาวเขาเผ่าอื่น

วิถีชีวิตรักของเผ่าชาวเขาบนดอยสูง
จะเน้นความอิสระเารีในการเลือกคู่ครองด้วยพฤติกรรมที่แตกต่างกัน
เป็นต้นว่า ชาวมูเซอดำ กลุ่มที่ผมกำลังเขียนถึงอยู่นี้
เป็นชาวเขากลุ่มเดียวที่เน้นระบบผัวเดียวเมียเดียว
ไม่นิยมมีเมียครั้งละหลายๆคน เช่นชาวเขาเผ่าอื่นๆ
เมือผิดใจไม่ลงรอยกันก็จะขอเลิกรักกัน
แม้ฝ่ายหญิงก็มีสิทธิ์ที่จะขอเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อนด้วย
ในกรณีที่ฝ่ายชายเอาแต่ล่าสัตว์ไม่ใส่ใจทำการบ้านการมุ้ง
ปล่อยให้ฝ่ายหญิงว้าเหว่เอกาอยู่แต่ผู้เดียว โดยเฉพาะเรื่องนี้
เป็นกติกาที่ผู้หญิงจะต่อต้านที่จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร
ก็ต้องหาผัวคนใหม่ที่รู้จักอารมณ์อ้างว้างเดียวดายยามฝนตกพรำๆของผู้หญิง

กลไกควบคุมระบบสังคมเรื่องนี้
หนีไม้พ้นกติกาที่ถูกครอบงำด้วยระบบผี เช่นเดียวกับชาวเขาเผ่าอื่นๆ
กรณีไม่ว่าจะได้เสียกัน จะเลิกร้างกัน หรือผิดผัวผิดเมีย เป็นกากีร้อยชู้
ก็จะต้องเสียค่าปรับไหม เป็นเงินรูเปีย (เงินทำด้วยโลหะเงิน 100%
เป็นเงินของรัฐบาลอินเดียสมัยอังกฤษปกครอง ชาวเขานิยมใช้ 1
รูเปียเท่ากับเงินไทย 10 บาท ) มากน้อยตามแต่กติกาของสังคม
กำหนดบทลงโทษเอาไว้ (ตั้งแต่ 50-150 รูเปีย)

การหย่าร้างจะเกิดขึ้นเสมอ
เพราะผู้ชายมูเซอชอบออกป่าล่าสัตว์ ไม่สนใจการบ้านการมุ้ง
หรืออาจจะจงใจเพื่อจะได้เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ก็เป็นได้
เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ศกนี้
ผมได้ร่วมไปทำงานวิจัยชาวเขาเผ่ามูเซอ พร้อมกับ ดร.ไพบูลย์ สุทธสุภา
และคุณฐานิศวร์ วงศ์ประเสริฐ นักวิจัยชาวเขาแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คุณฐานิศวร์ วงศ์ประเสริฐ เป็นผู้ศึษาชีวิตชาวเขาโดยเฉพาะเผ่ามูเซอ
ผ่านการศึกษาขั้นปริญญาโทจากต่างประเทศออสเตรเลีย
ได้รับหน้าที่เป็นล่ามให้กับผม โดยได้สัมภาษณ์ทั้งผู้แก่ (ผู้ใหญ่บ้าน)
ชื่อ จะก่าโหล และปู่จองหรือครูหมอผีประจำหมู่บ้าน ชื่อ จะแบะ
ด้วยภาษามูเซอที่นับว่าสื่อความกับชาวบ้านได้ดีเยี่ยม ส่วน ดร.ไพบูลย์
สุทธสุภา ได้ติดกลุ่มมาร่วมดูแลโครงการหลวงในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญการเกษตรจากมหาวิทยาลัยนอตติ้งแฮม
ประเทศอังกฤษพร้อมกับคุณฐานิศวร์ เป็นเวลา 15 ปีมาแล้ว ดังนั้น
ข้อมูลต่างๆ ที่ผมเก็บมาเล่ามาเขียนนี้
จึงมิใช่ยกเมฆนั่งเทียนเขียนแน่นอน

ผมมีเรื่อง "โลกเสรีภาพแห่งความรัก"
ของชาวเขาเผ่ามูเซอดำมาเล่าให้ฟังพอเป็นกระสาย
เพื่อให้หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่และหนุ่มกลัดมันวัยรุ่น
ทั้งหลายน้ำลายสอหาโอกาสขึ้นไป Weekend พบปะอีสานขนเขาสูง
แต่ขอเตือนจงระวังเอดส์เอาไว้บ้าง
เพราะได้ข่าวฝรั่งฮิปปี้นำเชื้อไปเผยแพร่นมนานหลายปีมาแล้ว
แถวเมืองปายกับชาวเขาเผ่าอื่นๆก็มี

เรา-หมายถึงผม ดร.ไพบูลย์ สุทธสุภา และคุณฐานิศวร์
วงศ์ประเสริฐได้พักอยู่บนบ้านพักรับรองของศูนย์วิจัยฯ
ห้วยน้ำรินอยู่หลายคืนเพื่อรอดูผลการวิจัยระบบสังคม SEX เสรีของชนเผ่า
แล้วเหตุก็พิสูจน์ให้เห็นในคืนวันที่ ๓ นั่นเอง

บนแอ่งเขารูปฝาชีหงาย
สลับภูเขาลูกแล้วลูกเล่าก่ายทะมึนเป็นหลืบเป็นชั้น
เบื้องหน้าเป็นดอยระฆังที่แบ่งเขตสามจังหวัด ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย
และลำปาง ที่มีความสูงกว่า ๒,๐๐๐ เมตร หม่นมัวด้วยแสงจันทร์ขึ้น 15 ค่ำ
เพราะฝุ่นดินลอยขึ้นไปเปื้อนฟ้า ป่าแล้งจัดมาแรมเดือนตั้งแต่ก่อนสงกรานต์
ดาวไก่น้อยเรืองแสงกะพริบอยู่เบื้องตะวันออกไกลแสนไกล
แล้วเหมือนฟ้าจะหลั่งเมตตาเกรงผู้คนร้อนตาย จึงประทานห่าฝนลงมาชุ่มดิน
เมื่อสองคืนที่แล้วติดต่อกัน
พอดับร้อนกระตุ้นดอกกุ๊ชชี่ที่กำลังตูมให้เร่งบาน

พวกเราซึ่งมี ดร.ไพบูลย์ คุณฐานิศวร์
และพนักงานโครงการหลวงห้วยโป่งอีก ๒ คน ขื่อ คุณจิระ และคุณชาติชาย
ซึ่งคุณจรัล หัวหน้าโครงการห้วยโป่งใช้ให้ขึ้นมาตามพวกเราให้ลงเขาไปรับประทานอาหารเย็นร่วมกับอธิการบดีของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
กทม. ซึ่งขึ้นมาควบคุมการก่อสร้างอาคารที่ทางมหาวิทยาลัยของเขาได้บริจาคเงิน
เพื่อร่วมอุทิศสมทบโครงการด้วย
แต่เนื่องจากเป็นเวทีค่อนดึกที่พวกเราเองก็ติดลมกับเจ้าน้ำอมฤตสีอำพันกันแล้ว
เราจึงขอผัดลงไปพบในวันรุ่นขึ้น

ไกลออกไป ณ ดินแดนหมมอกเหมยไม่เคยจางหายนี้
แลเห็นยอดดอยตะคุ่มผลุบโผล่เป็นหลืบเป็นชั้นปิดกั้นม่านฟ้า
แสงนวลจันทร์สาดประกายผ่องขาวไปทั่วหุบในแอ่งกะทะ
เต็มไปด้วยเสน่ห์และมนต์ขลังกระไรปานนั้น

อากาศหัวดึกเริ่มเย็นลงแล้ว
ได้ยินเสียงสวบสาบ-กรอบแกรบของกิ่งไม้หักดังขึ้นข้างหู
พร้อมกับกลิ่นสาบสาวชาวเขาโชยมากระทบจมูก
และเห็นเงาผู้หญิงสามคนตะคุ่มๆบนลานบ้านพัก
เหมือนสาวเจ้าจะขึ้นมาทักทายร่วมวง
แต่ก็เสมือนหนึ่งจะเอียงอายแล้วหลบเร้นเพราะไม่คุ้นเคย

สักครู่ แลเห็นไม้ซีกแยงทะลุขึ้นมาจากพื้นฟากและฝาขัดแตะ
แล้วเขี่ยที่ขาของคุณชาติชายและคุณจิระ
ชายหนุ่มทั้งสองมองหน้ากันแล้วหันมาสบตากับผมเป็นเชิงบอกขอตัว
เพราะมีสาวมูเซอดำมาขอพบ ผมพยักหน้าอย่างรู้ทัน
แล้วทั้งคู่ก็ค่อยๆลงกระไดละจากวงลงไปพบอีสาวแฃะเกี่ยวก้อยจูงแขนกัน 4 คน
2 คู่ ลับหายเข้าไปในซุ้มไม้ที่ฝ่ายหญิงตบแต่งเอาไว้ ซุ้มใครซุ้มมัน
ได้ยินเสียงทั้งหยิกเอินและตัดพ้อ
ถ้าจะแปลความคงต่อว่าที่ทั้งสองหนุ่มหายหน้าหายตาไ
ด้เชยชมแล้วก็ลาลับไม่ใยดี ได้ยินเสียงสองชายร้อง คงถูกหยิกถูกข่วน
สักครู่หนึ่ง เสียงหัวร่อต่อกระซิกก็แว่วตามลมมา
เพราะพุ่มไม้ที่ลาดเทไปตามไหล่เขาอยู่ไม่ไกลบ้านพัก และแล้ว
ทั้งสองซุ้มก็แผ่วเสียงลง
เสียงครวญครางที่เต็มไปด้วยความสุขหรรษาก็เข้ามาแทนที่
ภายใต้แสงจันทร์ที่สกาวฟ้า
แลเห็นยอดพุ่มไม้ไหวยวบยาบเป็นพักแล้วเงียบเสียงลงในที่สุด

ขอวาดฝันแต่งแต้มลงในลมหายใจของความรักของแต่ละชนเผ่านั้น
ย่อมฝังประทับความละมุนละไมของประเพณีไว้ด้วย มันมิใช่สิ่งมายา
แต่มันศักดิ์สิทธิ์และอบอวลไปด้วยภาษาของความอ่อนโยนชำแรกแทรกซึมอยู่อย่างมั่นคงสถาพร
ตะวันรอนอ่อนแสงลงเรี่ยยอดไม้
ลมเย็นพัดโชยต้นดอกกุ๊ชชี่ลูใบโอนเอน ในไร่ไม้ดอก อีสาว 2-3 คน
นั่งร้องเพลงชาวดอย พร่ำรำพันถึงความรักความเสน่หา
บ้างคลอด้วยขลุ่ยจาตุแล ที่วิเวกหวานข้ามเขาเนินเล็กๆ
ที่จับกลุ่มด้วยหนุ่มน้อยวัยรุ่น 15-16 สองสามคน
โต้ตอบเพลงรักกันข้ามเนินที่ขวางกั้นด้วยไร่มะเขือเทศ
อีสาวครวญเพลงรักชื่อว่า "พี่ไปไร่กับใคร" ด้วยภาษาเผ่าพอถอดเป้นร้อยแก้ว
ดังนี้

"ส่งเสียงเจื้อยแจ้วไป
พี่จำเสียงของน้องได้ไหม
วันนี้ น้องฝากเสียงเพลงลอยตามลมไป
และฝากความคะนึงหาพร่ำบอกไปกับนก
หากพี่ได้ยินเสียงนกร้อง
ได้ยินสายลมครวญมากับพรายน้ำ
นั่นแลคือเสียงพร่ำบอกความคิดถึงของน้อง"

หนุ่มหนึ่งในสามวัยรุ่น โต้กลับด้วยเสียงก้องกังวาน

"จาตุแลดังม่วนล้ำ สาวเฮย
เสียงของสูเจ้าพลิ้วมากับลมโชยพัดเฉื่อย
เหมือนหนึ่งเจ้าจะบอกลาไปไร่หนุ่มอื่น
คนอื่นเขามีคู่แล้ว
เหลืออยู่แต่ข้าคนเดียว
นางนกเอย เจ้าช่วยคาบคำข้า
บอกสาวเจ้าว่าข้าแสนจะห่วงใย"

ดอกกุ๊ชชี่บานเต็มพื้นที่ไร่ที่ลาดเอียง
แดง-เหลือง-ขาว-สลับฟ้า แต่งแต้มสีสันระเนนระนาดประดับป่า
ข้าวแตกรวงเหลืองอร่ามทั่วท้องทุ่ง
ที่มีลำห้วยไหลผ่านไม่มีวันทวนไหลกลับคืน- ไม่ทวนไหลกลับคืน


ที่มา ต่วยตูน ปักษ์แรก เดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น