...+

วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

ปรับนิสัย ลดเสี่ยงเบาหวาน- ความดันสูง กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลยางน้อย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม

เรียบเรียงโดย กฤนกวรรณ สุวรรณกาญจน์

            จากโครงการในกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ทั้งหมด ผลงานเด่นของ อบต.ยางน้อยคือ "โครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง" ที่มาของโครงการนี้ เกิดจากผลสำรวจภาวะสุขภาพของประชาชนใน ต.ยางน้อยเองด้วย
            คนยางน้อยได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่าย ชุมชนเล็กๆแห่งนี้ ยังเป็นสังคมพื้นฐานแบบปฐมภูมิที่ค่านิยมความเชื่อและศรัทธายังเหนียวแน่น ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม เคารพนับถือผู้อาวุโสญาติพี่น้อง ตั้งใจมั่นในพระพุทธศาสนา เพราะความรัก-ความสามัคคี เช่นนี้นี่เองที่ทำให้ชุมชนร่วมมือร่วมใจคิดระบบสุขภาวะชุมชน สร้างคุณภาพชีวิตอย่างมีส่วนร่วมด้วยการใช้ประโยชน์จากกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ
            อีกส่วนเป็นเพราะแนวคิดที่กว้างไกลของ นายก อบต.

            คุณแม่ของ นายชูศักดิ์ หล่มศรี นายก อบต.ยางน้อยเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เขาตั้งปณิธาณเอาไว้ว่า จะต้องสร้างระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อคนยางน้อย
            ในทุกๆครั้งที่คุณแม่ซึ่งป่วยด้วยโรคเบาหวาน ต้องเข้ารับการตรวจ ซึ่งต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง ต้องเสียเวลาเป็นวันๆ กว่าจะได้กลับบ้าน อีกทั้งต้องงดน้ำ งดอาหาร ตั้งแต่เที่ยงคืนเพื่อตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดและอีกหลายชั่วโมงกว่าแพทย์จะทำการตรวจรักษา เป็นผลให้ผู้ป่วยเบาหวานต้องเหนื่อยกับการรอคอย ทำให้ นายก อบต. ตระหนักว่าทำให้เสียเวลา เสียเงิน เสียสุขภาพจิต ที่สำคัญ คือ เสียความรู้สึกเมื่อได้รับบริการที่ไม่ทั่วถึงหรือเท่าเทียมกับบุคคลอื่นๆ

            อีกทั้งพบว่า คนตำบลยางน้อยส่วนใหญ่จะป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ดังนั้น มาตรการเชิงป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาหารการกิน การตรวจวัดความดัน การตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด จึงเป็นงานเร่งด่วน "โครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง" ซึ่งถูกคิดค้นอย่างเร่งด่วนเพื่อทำการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม

            มีการแบ่งงานเป็น 3 ขั้นตอน
            - ขั้นเตรียมการ เป็นระยะเริ่มคิดทำความเข้าใจโครงการกองทุน ระบบหลักประกันสุขภาพฯ ระดมสมอง ประชุมคัดเลือกคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อเข้าร่วมลงนาม
            - ขั้นดำเนินการ เป็นขั้นประชุม คิดเฟ้นโครงการและประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่กลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ จากการระดมสมอง อบต.ยางน้อย ร่างแผนงานโครงการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 4 กิจกรรม คือ การจัดบริการสุขภาพตามชุดสิทธิประโยชน์ การสนับสนุนงบประมาณแก่หน่วยบริการสาธารณสุข การสร้างเสริมสุขภาพโดยประชาชนในชุมชนในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ และการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพอย่างยั่งยืน
            - ขั้นประเมินผล สร้างตัวชี้วัดความสำเร็จของแผนและจัดทำงบประมาณอย่างโปร่งใส

            ทั้งนี้ ผลงานที่โดดเด่นของ อบต.ยางน้อย ได้แก่  โครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง อันเป็นมาตรการเชิงรุก ทั้งในแง่ของการอบรมให้ความรู้แก่ อสม. โดยมีที่ปรึกษาที่มีความชำนาญพิเศษเป็นเจ้าหน้าที่วิชาการสาธารณสุข อ.ยางใหญ่ ที่เข้ามาอบรมและเป็นผู้ให้ความรู้ อสม.ให้มีความสามารถออกพื้นที่ ติดตามเยี่ยมกลุ่มเป้าหมายถึงที่บ้านและทำการตรวจคัดกรองเบื้องต้น

            ปัจจัยชี้ขาด ความสำเร็จ
            1. ความตั้งใจของผู้นำและการเป็นแบบอย่างที่ดี โครงการทั้งหมดเกิดจากปณิธานอันแรงกล้าของนายกฯ ในการสร้างระบบสุขภาวะแก่ประชาชนในพื้นที่ซึ่งโดยพื้นฐานคนยางน้อยเคารพนับถือผู้อาวุโส - ญาติพี่น้องอันเป็นทุนตั้งต้นที่ก่อให้เกิดความสามัคคี
            2. ในแง่ของความคิดแล้วมีการพัฒนาเชิงกระบวนการอย่างครบวงจร สร้างเครือข่ายอย่างมีส่วนร่วม จนเกิดกระบวนการในการทำงานร่วมกันของคนในชุมชน กระบวนการคิดเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาท้องถิ่นเป็นอย่างมาก
            3. การเน้นงานบริการทางด้านสุขภาพเชิงรุก โดยกลุ่มงาน อสม.ที่มีความรู้จากการศึกษาข้อมูล วิธีการตรวจและเฝ้าระวังป้องกันเบื้องต้น เป็นกลไกสำคัญในการสร้างให้เกิดความเข้าใจและเป็นส่วนสร้างให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ป่วยเป้าหมาย
            4. มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ระบบสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชน
            กิจกรรมเหล่านี้ เป็นส่วนสอดคล้องและตรงกับความต้องการของคนยางน้อยและวัตถุประสงค์หลักของงานและแนวคิดของ อบต.ยางน้อยที่ต้องการปรับปรุงและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้มีความเพียงพอแก่ความต้องการของคนในชุมชน ปรับปรุงและพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว ด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนเพื่องานพัฒนาที่สำคัญ อันเป็นส่วนส่งเสริมให้ทุกกิจกรรมสำเร็จและมีความยั่งยืนที่สุด ได้แก่ การส่งเสริมและสนับสนุนให้คนทุกระดับในชุมชนเข้ามีส่วนร่วม

            เมื่อคนได้ทำประโยชน์แก่ชุมชนตัวเอง ทุกคนจะรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นชุมชนท้องถิ่นของตนเอง
            การสร้างหลักประกันสุขภาพให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นตนเองก็คงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรจนเกินไป

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
    สาคร อินโท่โล่
    สุจิมา ติลการยทรัพย์
    เนาวรัตน์ สุขณะล้ำ       
               



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น