...+

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ชื่อสะพานที่หายไป

พ.ท.เลขา ศรีแก้ว

            ที่ผมจั่วหัวเรื่องว่า ชื่อสะพานที่หายไปนั้น มีสองเรื่อง คือ ชื่อหายไป และไปอยู่ไม่ถูกที่ จะพูดเป็นสะพานๆไปครับ

            ชื่อแรก ชื่อสะพานแดงหายไป ชื่อนี้มีคนเรียกมาแต่ดั้งเดิม แม้แต่ป้ายรถยังมีเขียนว่า สะพานแดง แต่ชื่อสะพานไม่มี กลายเป็นชื่อ สะพานบางซื่อ ทั้งๆที่ไม่ได้ไปข้ามคลองบางซื่อเลย

            ผมจะเล่าถึงลักษณะของสะพานแดง เมื่อยังเรียกสะพานแดง ก่อนสะพานแดงสมัยนั้นเป็นสะพานไม้ทาสีแดง เป็นไม้ทั้งหมดอัดแน่นด้วยน็อตแน่นหนา จำได้ว่า รถยนต์ข้ามอย่างเดียว ส่วนรถรางเขาจะทำเป็นสะพานเหล็กโค้งข้ามคลองเปรมประชากร ผมเข้าใจว่า สะพานที่ทาสีแดง ประชาชนจึงเรียกว่าสะพานแดง ต่อมาทางการเห็นว่า สะพานทรุดโทรม จึงสร้างเป็นสะพานซีเมนต์อย่างแข็งแรง  เมื่อเสร็จแล้วไม่มีสีแดงที่ตัวสะพานเลยเปลี่ยนเป็นสะพานบางซื่อ ผมไม่เคยเห็นใครเรียกสะพานนี้ว่า สะพานบางซื่อเลยครับ เห็นเรียกแต่สะพานแดงอยู่นั่นเอง ผมไม่ได้ทักท้วงอะไรหรอกครับ เห็นไม่ตรงชื่อมันแปลกดี เลยเขียนมาเล่าให้ฟังกัน และจะได้ระลึกถึงเมื่อครั้งในอดีตกันครับ สะพานแดงตั้งอยู่หน้าสโมสรนายทหารสื่อสาร ถนนทหาร สะพานที่คล้ายกับสะพานแดง คือ สะพานกรมช่างแสง ปัจจุบันเรียกกรมสรรพาวุธ สะพานนี้เป็นสะพานไม้ทาสีแดงเหมือนกับสะพานแดงที่ถนนทหารเช่นกัน

            อีกสะพานหนึ่ง คือ สะพานข้ามคลองเปรมประชากรโดยแท้ เดี๋ยวนี้ผมไม่เห็นมีชื่อ เรียกกันไปตามที่รู้ที่เห็นเลยไม่รู้ว่าใครเรียกถูก คือ สะพานนี้ตั้งอยู่ที่หัวโค้งทางไปเตาปูน ที่เรียกเตาปูนเพราะเมื่อก่อนนี้เป็นที่ผลิตปูนซีเมนต์ของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย  และผลิตกระเบื้องด้วย โรงปูนซีเมนต์นี้ตั้งอยู่หน้าสถานีรถไฟบางซื่อ สะพานนี้เมื่อเริ่มสร้างชาวบ้านจะเรียกว่า สะพานใหม่ (คงเพราะสร้างใหม่) ต่อมาเรียกว่า สะพานเปรมประชา เพราะมีตลาดเปรมประชาเป็นเรือนแถวไม้ หน้าตลาดมีวิกลิเก ลิเกวิกนี้ คุณโจหลุยที่ท่านทำหุ่นละครเล้กนี่แหละครับ สมัยนั้น คุณโจหลุยแสดงเป็นตัวโจ๊กหรือตลก คนเขาเรียกว่า "หลุย" เฉยๆ ตอนนั้นผมยังเรียนหนังสืออยู่

            เอ้า... มาต่อเรื่องสะพานดีกว่า สะพานนี้ต่อมามีการปรับปรุง จำได้ไม่แน่ชัดเพราะนานมาแล้ว โรงปูนช่วยสนับสนุนในการสร้าง เลยเรียกเปลี่ยนไปอีก เรียกว่า สะพานโรงปูน บางคนกลับเรียกว่า สะพานสูง  ความจริงสะพานสูงนี้ อยู่ที่หน้าวัดธรรมาภิรตาราม (วัดสะพานสูง) ที่ข้ามจากถนนเตชะวณิชย์ไปที่โรงกรองน้ำ ใกล้ๆกับโรงเรียนจีนชื่อชินไต้ทง หรือไต้อะไรจำไม่แน่ สะพานนี้มีมาก่อนสะพานที่ผมกล่าวไว้ที่ข้างบนนี้ครับ เดี๋ยวนี้การเรียกเลยเรียกไม่เหมือนกัน คนเก่าเรียกสะพานเปรมประชา คนต่อมาเรียกสะพานโรงปูนก็มี เรียกสะพานสูงก็มี เพราะป้ายบอกชื่อสะพานเขียนบอกไม่มี เชิงสะพานด้านถนนเตชะวณิชย์มีแต่ป้ายบอกทางไปสถานีรถไฟบางซื่อ และกลับรถ และป้ายบอกทางไปบางโพ ตามที่ผมคิดควรเรียกว่า สะพานเปรมประชา น่าจะดีกว่า เพราะข้ามคลองเปรมประชากร ตลาดเปรมประชาอยู่ที่ถนนประชาราษฎร์สาย ๒

            สะพานเปรมประชาชื่อนี้มีครับ แต่ไม่ได้ข้ามคลองเปรมประชากรสะพานเดิมเป็นสะพานทำด้วยไม้ แต่ผมไม่เห็นมีชื่อ "สะพานเปรมประชา" ที่ข้ามคลองประปา กับข้ามคลองบางซื่อ ที่ทางการเขียนไว้ขณะนี้ แต่เดิม สะพานนี้มีเมื่อสมัยก่อนเป็นสะพานไม้ทำเป็นสองตอน ตอนหนึ่งข้ามคลองประปา อีกตอนนึงข้ามคลองบางซื่อ คลองบางซื่อนี้เริ่มจากตรอกข้าวสาร ผ่านวัดไผ่ตัน ส่วนอีกสะพานเป็นสะพานคลองประปา ผ่านสะพานรถไฟ ไปจนถึงโรงกรองน้ำสามเสน

            สรุป สะพานที่มีชื่อว่า สะพานเปรมประชา แต่ไม่ได้ข้ามคลองเปรมประชา ส่วนสะพานที่ข้ามคลองเปรมประชา เรียกกันหลายชื่อ สะพานสูงบ้าง คนเก่าเรียกสะพานเปรมประชา สะพานแดงเรียกสะพานบางซื่อ เฮ้อ... งงดี ขอจบเรื่องสะพานครับ

            ต่อด้วยเรื่องบอกทิศทางที่ตั้งสถานที่ จะเริ่มงงอีกไหมเนี่ย ชื่อสถานที่นี้คือ ป้ายบอกชื่อไปเตาปูน ที่ถนนประชาราษฎร์สาย ๒ และที่ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี อ้อ...มีอีกที่ครับ ที่เชิงสะพานที่ไม่มีชื่อนี้แหละครับ มีอีกหน่อยเป็นป้ายในกรอบเล็กๆ เขียนว่า ไปบางโพ ไปเตาปูน อย่างที่ผมอธิบายไว้แต่ต้นแล้วว่า เตาปูนคือ โรงปูนซิเมนต์ไทย เมื่อก่อนทำปูนฯ ที่นี่ ปัจจุบันเลิกทำ ได้ย้ายไปอยู่ท่าลานแล้ว แต่สถานที่เก่ายังเหลือปล่องเตา ๓ ปล่อง ไว้เป็นอนุสรณ์ แต่ป้ายที่ชี้ไปเตาปูนนั้น โรงปูนใครๆก็รู้จักว่าเป็นโรงปูน แต่ถ้าไปตามป้ายบอกจะหาโรงปูนไม่พบ เพราะป้ายที่ชี้บอกนั้น เขาชี้บอกไปสถานีตำรวจเตาปูน ป้ายนี้ควรเขียนว่า ไป สน.เตาปูน จะถูกกว่า ไม่ควรเขียนไปเตาปูน ตามที่ผมคิดอีกนั่นแหละ ผมขอจบเรื่องป้ายบอกทิศทางเท่านี้แหละครับ เดี๋ยวทางหน่วยงานที่ทำจะมาว่าเอา ผมพูดก็เพราะอยู่ที่นี่มา ๕๕ ปีแล้ว

            พูดถึงเปรมประชา เมื่อก่อนนี้ถนนจากสามแยกเตาปูน (เมื่อก่อนนี้เรียกสามแนกบางโพ)  มาจรดที่คลองเปรมฯนี้ ไม่มีชื่อ เพิ่งมาตั้งชื่อว่า ประชาราษฎร์สาย ๒ เมื่อมีสะพานข้ามคลองเปรมนี่เอง สุดถนนก็สุดเขตติดคลอง เมื่อก่อนที่จะทำถนนนี้ยังไม่มีรถเมลหรือรถอื่นวิ่ง ถ้าวิ่งมาก็เป็นถนนตันยังไม่มีสะพานข้ามแต่อย่างใด สุดถนนนี้มีตลาดเรียกตลาดเปรมประชา มีวิกลิเก หลังตลาดจะมีบ้านผู้คนอยู่กลุ่มหนึ่ง มีทางเข้าเป็นตรอกเรียกว่าตรอกฝรั่ง (ฝรั่งผลไม้) สวนฝรั่งนี้คนจีนเป็นคนทำสวน กว้างยาวมาก ตั้งแต่หลังกลุ่มชุมชน (เมื่อก่อนนี้ไม่มีคำชุมชน) จากริมถนนประชาราษฎร์สาย ๒ ปัจจุบันไปจรดริมทางรถไฟสายใต้ แต่คนที่นี่เมื่อก่อนนี้เรียกทางรถไฟบางซ่อน รวมทั้งสำนักงาน ต่วยตูนที่อยู่ขณะนี้ด้วย เป็นสวนฝรั่งทั้งนั้น

            ถนนริมคลองประปา ฝั่งตะวันตกของสำนักงานต่วยตูน เป็นทุ่งนา มาตั้งชื่อว่าถนนประชาชื่น หัวถนนประชาชื่นด้านถนนประชาราษฎร์สาย ๒ เมื่อก่อนนี้ เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นที่ตั้งไฟฉายและปืน ปตอ. เมื่อเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรบินมากลางคืนของคืนหนึ่ง ไฟฉายฉายขึ้นไปยังถูกยิงสวนกลับลงมากระสุนแดงเป็นสาย กระสุนยิงลงมาใกล้ที่ผมหลบอยู่ริมคลองฯ ตอนยังเล็กแต่จำได้ร้องเสียงหลงเหมือนกัน ถนนริมคลองประปาทั้งสองฝั่งเป็นถนนดิน คลองก็ยังไม่มีการกั้นเขื่อน สะพานข้ามยังไม่มีรถเมล์ยังไม่มีวิ่ง

            ต่อมา สงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง ชุมชนตรอกฝรั่งจะมีนิโกรเข้ามากับผู้หญิงทุกๆวัน คงจะมีหญิงหากิน ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า กะหรี่ ต่อมาคำนี้ก็เปลี่ยนไปเรียกว่าโสเภณี จนถึงคำสุภาพหน่อยที่เรียกว่า หญิงบริการ ตรอกฝรั่งคนแถวนี้เลยเรียกตรอกนี้ว่า ตรอกมะนาวหวาน แต่ตรอกนี้ไม่ได้ปลูกมะนาวสักต้น นี่เป็นที่มาของตรอกฝรั่งครับ ปัจจุบัน ตรอกมะนาวหวานไม่มีแล้ว ปลูกสร้างเป็นคอนโดไปหมดแล้ว เหลือแต่ชื่อ

            สะพานข้ามคลองประปาที่ถนนประชาราษฎร์สาย ๒ มีที่เดียว สะพานอื่นยังไม่มี นอกจากสะพานรถไฟแถบบางซ่อนเท่านั้น ต่อมาก็มีการสร้างสะพาน ๙๙ (เรียกกันว่า สะพาน เก้า เก้า) มีศาลเจ้าที่แยบมาจากริมคลองเปรมที่สุดถนนสายประชาราษฎร์สาย ๒ ในปัจจุบัน และก็มีสะพานต่อๆมา เช่น สะพานไปเขตบางซื่อ อ้อ...สะพาน เก้า เก้า คือ ที่ตั้งสำนักงานต่วยตูนนี่เองครับ ใกล้ๆกับบ้านผู้เขียน

            ยังมีเรื่องเก่าๆแถมอีกหน่อย ครับ เรื่องรถรางสายบางกระบือ สะพานแดง บางซื่อ วิ่งเริ่มต้นตั้งแต่บางกระบือที่ศาลานกกระจอก หน้าโรงเรียนราชินีบน เป็นที่เริ่มต้นรถรางอีกสายหนึ่ง คือ สายบางกระบือ- วิทยุ ที่ผมจะว่าต่อไปนี้ คือ สายบางกระบือถึงบางซื่อ สุดที่สถานีรถไฟบางซื่อ ซึ่งชาวบ้านจะเรียกแถวนี้ว่าเตาปูน สถานีตำรวจอยู่หลังสถานีรถไฟ ต่อมาเป็นกิ่งเตาปูน แล้วก็ย้ายไปสถานีรถไฟบางซื่อ สมัยนั้นเป็นสถานีชั้นหนึ่ง สถานีสามเสนยังเล็กกว่ามาก เดี๋ยวนี้สถานีสามเสนเป็นสถานีชั้นหนึ่งไปแล้ว ขอเข้าเรื่องรถรางต่อครับ รถรางสายนี้มี ๘ คัน มีหลีก ๘ หลีก เครื่องแบบของคนรถราง นายตรวจแต่งสีกากี ใส่เสื้อแขนยาว คอตั้งกางเกงขายาว สวมหมวกทรงหม้อตาล คนขับรถราง กางเกงขาสั้น เสื้อแขนสั้น สวมหมวกหนีบแบบทหาร กระเป๋าแต่งกายเหมือนคนขับฯ สวมรองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าแบบทหารไม่แน่ใจ นายตรวจสวมรองเท้าหนัง กระเป๋ามีกระบอกตั๋วสั้นๆ และสะพายกระเป๋าหนังมีสายนกหวีด คนขับรถรางและกระเป๋าจะเปลี่ยนกันทำหน้าที่ซึ่งเขามีเวรผลัดกัน คนรถรางส่วนมากเป็นคนมีอายุสักหน่อย โดยมากจะผ่านการเป็นทหารมาทั้งนั้น  จึงไม่ค่อยมีอารมณ์ใส่ผู้โดยสารเหมือนเด็กหนุ่มอย่างกระเป๋ารถเมล์ กระเป๋ารถรางและคนขับมีความเมตตาแก่เด็กและคนชรา ตลอดถึงผู้ที่ถือของพะรุงพะรัง โดยเฉพาะพวกแม่ค้า รถรางจะจอดรับและยังช่วยยกของจนถึงที่นั่ง เขายังพูดจาหยอกล้อกันสนุกสนานเป็นกันเองน่าชื่นใจ สมัยนี้หาไม่ได้อีกแล้ว และรถรางก็ไม่มีแล้ว เป็นรถเมล์สมัยนี้ ผมเห็นคาตาเลย สาย.....อะไรก็ช่าง เถอะ กระเป๋าผู้หญิงอ้วนๆพอคนแก่ถือของขึ้นรถด้วยความเชื่องช้า ไม่ช่วยยกของ ยังว่าซ้ำเสียอีก ผู้โดยสารเป็นผู้หญิงทนดูไม่ได้เลยเข้าไปยกของให้ กระเป๋ายังมองตาเขาอย่างเคียดแค้น ทำปากหมุบหมิบเสียอีก คล้ายในทำนองหาว่า .....สใส่เกือก คงใช่....เราเองได้แต่มองเพราะอยู่ท้ายรถ นอกเรื่องไปมากแล้ว เดี๋ยวโดนใส่เกือกแน่

        ว่ากันหลีกรถรางดีกว่า ที่ว่ามีหลีกอยู่ ๘ หลีก ที่จำได้เพราะนั่งทุกวัน ความจริงไม่ค่อยได้นั่งหรอก อยากโก้ เลยขอยืนหน้าเลย  ที่เขาเรียกว่าชั้นหนึ่งนั้นแหละครับ เอ้า-เริ่มตั้งแต่บางกระบือมาบางซื่อ

            หลีกที่ ๑ ในสมัยนั้นเป็นบ้านไม้ของทหารม้า พอข้ามสะพานอนุวัฒน์โรดม (สะพานข้ามคลองบางกระบือ) เข้าชิดด้านซ้ายก็เป็นหลีกที่ ๑ ปัจจุบันเป็นโรงเบียร์บุญรอดฯ
            หลีกที่ ๒ ในสมัยนั้น ตรงกับบ้านพักของแผนกยกกระบัตร ตอนนั้นอยู่ในกรมช่างแสง ปัจจุบันคือกรมสรรพาวุธทหารบก นี่คือหลีกที่ ๒ ปัจจุบัน คือ บ้านพักข้าราชการ ร้อย.ม. (ลว.) ที่ ๑ พล.๑ รอ.ติดกับโรงเรียนโยธินบูรณะ
            หลีกที่ ๓ ก่อนที่จะถึงหลีกที่ ๒ ตรงมุมโรงเรียนโยธินฯ และมุมกรม ป.ต.อ. เป็นสี่แยก สี่แยกนี้เป็นวงเวียน เรียกว่า สี่แยกเกียกกาย รถรางจะวิ่งผ่ากลางวงเวียนแล้ววิ่งตามรั้วกรม ป.ต.อ. จนเลยปากประตูทางเข้ากรม ป.ต.อ.ไปสักหน่อยจะเป็นหลีกที่ ๓
            หลีกที่ ๔ หลีกนี้เลยประตูกรมสรรพาวุธปัจจุบัน เยื้องประตูกรมทหารสื่อสาร เป็นหลีกที่ ๔ พอรถรางวิ่งมาถึงหน้าสโมสรนายทหารสื่อสาร จะเป็นคลองเปรมประชากร รถรางต้องข้ามสะพานๆ นี้คือ สะพานแดง (ปัจจุบัน ชื่อ สะพานบางซื่อ) สะพานรถรางจะวิ่งโค้งลงมาเลียบตามริมคลองถนนเตชะวณิชย์ มาจนถึงหน้าบ้านพักนายทหารอากาศปัจจุบัน  หรือกรมช่างอากาศ เป็นหลีกที่ ๕
            หลีกที่ ๖  จะอยู่เยื้องหน้าวัดธรรมาภิรตาราม (วัดสะพานสูง) หลีกนี้จะตรงกับโรงเรียนซินไต้ทง เป็นโรงเรียนจีน เป็นหลีกที่ ๖
            หลีกที่ ๗ หลีกนี้เมื่อสมัยนั้น จะตรงกับบ้านหม่อมพระองค์หนึ่ง ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าพระนามอะไร ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสถานีอนามัยบางซื่อ
            หลีกที่ ๘ เมื่อออกจากหลีก ๗ มาแล้ว รถรางจะวิ่งเลียบริมคลองมาจนถึงทางโค้ง ตรงข้ามฝั่งถนนประชาราษฎร์สาย ๒ สมัยนั้นสะพานข้ามคลองไม่มี พอสร้างสะพานครั้งแรก สะพานยังไม่สูงใหญ่เช่นในปัจจุบัน เมื่อมาสร้างปรับปรุงอีกครั้ง จึงเป็นสะพานที่เห็นกันอยู่เดี๋ยวนี้ รถรางจะวิ่งมาตามริมคลองของโรงปูนซิเมนต์จนถึงทางแยกคลองเป็นหลีกสุดท้าย (ก่อนถถึงแยกคลองเป็นสะพานยกได้ ยกเพื่อให้เรือบรรทุกปูนเข้าออก)  ตรงทางแยกคลองนี้ เมื่อก่อนมีที่ส่งปูนลงเรือ โดยไม่ใช้คนแบกลงเรือ ที่ส่งปูนจะเป็นรูปเกลียววนลงมที่เรือจอดอยู่กลางคลองรับปูนไปได้เลย ผู้ที่นั่งรถรางระหว่างรอหลีกก็มองเพลินๆ ฆ่าเวลาที่รอหลีก

            เมื่อออกจากหลีกสุดท้ายแล้ว รถรางจะวิ่งไปอีกโค้งหนึ่ง เพื่อวิ่งไปทางสถานีรถไฟบางซื่อ และจะไปสุดระยะที่นี่ ขณะสุดทาง คนขับกับกระเป๋าจะแยกกันทำหน้าที่ คือ เปลี่ยนตะแกรงหน้ารถกลับมาอยู่ทางด้านหน้าที่จะไป  โดยทั้งกระเป๋าและคนขับจะช่วยกันยกเปลี่ยน ส่วนสาลี่ที่เกี่ยวกับสายไฟฟ้า คนขับเป็นผู้รั้งสาลี่ลงมาอยู่ด้านหลัง กระเป๋าเปลี่ยนเบาะที่นั่งชั้น ๑ กลับมาอยู่ตอนหน้ารถ พร้อมทั้งที่กั้นชั้นเป็นอันเสร็จพร้อมที่จะกลับไปได้แล้ว


ที่มา  ต่วยตูน ปักษ์แรก เดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๗  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น