...+

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ไตรภูมิกภา (ไตรภูมิพระร่วง) - วรรณคดีสมัยกรุงสุโขทัย



            เรื่องย่อ - เริ่มต้นเป็นบานแผนกบอกผู้แต่ง วันเดือนปีที่แต่ง หลักฐานประกอบการเรียบเรียง ว่าได้มาจากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาถึง ๓๐ คัมภีร์ ตลอดจนสำนักเรียนของผู้แต่งและบอกความมุ่งหมายที่แต่งว่า เพื่อเจริญพระอภิธรรมเทศนาโปรดพระราชมารดา และสั่งสอนประชาชนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ตั้งอยู่ในคุณงามความดี เนื้อเรื่องเป็นการอธิบายภูมิทั้งสาม คือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ
            ตอนต่อไป กล่าวถึงการได้กำเนิด และสภาพความเป็นไปแห่งภูมินั้นๆ อย่างละเอียดลออ
            ข้อคิดเห็น - ไตรภูมิกถานับเป็นวรรณคดีเรื่องแรกที่เรียบเรียงตามหลักการค้นคว้า โดยใช้หลักฐานประกอบถึง ๓๐ คัมภีร์ บอกผู้แต่ง วันเดือนปี และความมุ่งหมายที่แต่งไว้ครบถ้วน นอกจากนี้ยังมีความสำคัญทั้งในด้านอักษรศาสตร์ และศาสนา
            ในทางอักษรศาสตร์ - ให้ความรู้เกี่ยวกับภาษา เนื่องจากถ้อยคำสำนวนในหนังสือเล่มนี้บางส่วนเก่า เสมอจารึกในศิลาสมัยสุโขทัย แต่ก็มีคำสมัยหลังๆปนอยู่ไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่มีความเก่าและน่าเชื่อถือได้มากกว่าหนังสือที่สันนิษฐานว่าเกิดในสมัยเดียวกัน คือ สุภาษิตพระร่วงและตำรับนางนพมาศ การพรรณนาความในหนังสือนี้นับว่าเป็นเลิศ ทำให้เกิดภาพพจน์และอารมณ์สะเทือนใจ นอกจากนี้ยังเป็นต้นตำรับเรื่องราวนานาประการแก่วรรณคดีเรื่องอื่น เช่น ตอนเกี่ยวกับ เขาพระสุเมรุ, ป่าหิมพานต์, ช้างเอราวัณ แท่นบัณฑุกัมพลของพระอินทร์ ต้นปาริชาติและ นกกรวิก (การเวก) เป็นต้น
            ในทางศาสนา - นับว่าหนังสือนี้ชี้ให้เห็นบาปบุญคุณโทษสมความมุ่งหมายของผู้แต่ง ตรึงจิตใจของผู้ได้อ่านได้ฟัง ถึงแก่มีผู้นำข้อความบางตอนจากหนังสือนี้ไปวาดเป็นรูปภาพตามวัดก็มี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น