เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์
บ้านกลาง ตำบลหนึ่งใน อ.เมือง จ.ลำพูน ที่มีการบริหารงานกองทุนฯ โดยต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ดังคำกล่าวของนายประสิทธิ์ จันทกลาง นายก อบต.บ้านกลาง ที่ว่า
" ..บริหารด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส มีประสิทธิภาพ เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด"
ผู้นำ อบต.บ้านกลาง กล่าวว่า นอกจากการมีส่วนร่วมของคนแล้ว ในส่วนของงบประมาณก็เช่นกัน ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการสนับสนุนงบประมาณกองทุนฯ เพื่อก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของกองทุนฯ
"คิดว่าจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของกองทุนฯ เช่น เก็บเงิน 1 บาท ทุกหลังคาเรือนต่อเดือน"
จากแนวคิดนี้ ทำให้กองทุนฯ มีความยั่งยืนและได้รับผลสะท้อนกลับเป็นอย่างดีจากคนในชุมชน
การทำงานจะสำเร็จได้ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนฯ โดยการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง ให้ทุกภาคส่วนมีการประสานความร่วมมือในการดำเนินงาน ให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ และสุดท้าย ดึงหน่วยงานหรือองค์กรภายนอกให้เข้ามามีส่วนร่วม สนับสนุนงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินงานรวมไปถึงสนับสนุนบุคลากร ที่สามารถเพิ่มความรู้ให้กับคนในชุมชนได้
โครงการที่โดดเด่นในชุมชนบ้านกลาง เช่น โครงการเยี่ยมบ้าน โดยให้ อสม.ชวยดูแลสุขภาพของประชาชน ทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ โดยชุมชนมีค่าตอบแทนให้ อสม. ถือว่า เป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำโครงการให้ประสบผลสำเร็จมากกว่าการจ้างวาน หรือหากคณะทำงานสามารถดำเนินงาน ได้ผลการปฏิบัติงานดี ก็อาจมีการเพิ่มงบประมาณให้อีก เป็นการกระตุ้นแรงจูงใจในการทำงานได้อีกทางหนึ่ง
"การให้ตัวแทนประชาชนแต่ละหมู่บ้าน มาฝึกเต้นแอโรบิค กับครูสอนที่เทศบาลจ้างมา และกลับไปสอนในหมู่บ้านตนเอง"
ถือเป็นตัวอย่างของความพยายามในการพัฒนาบุคลากรในชุมชน เน้นการพึ่งตนเองมากกว่าจ้างวานบุคคลภายนอก
ปัจจัยขับเคลื่อนที่มีผลต่อความสำเร็จของกองทุนฯ บ้านกลางนั้น ประกอบด้วยมุมมองในการทำงานของผู้นำชุมชน ที่เล็งเห็นความสำคัญของกองทุนฯ และสามารถเข้าถึงประชาชนในชุมชนได้ สามารถสร้างความรุ้สึกเป็นเจ้าของกองทุนฯ ให้เกิดกับคนในชุมชน รวมไปถึงความร่วมมือในการดำเนินงานของคณะกรรมการเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงาน และสุดท้ายคือ ประชาชนที่มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจ และร่วมเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ยังมีหลักการทำงานที่ทำให้โครงการมุ่งไปสู่ความสำเร็จ คือ โปร่งใส สามาาถตรวจสอบได้ มีการชี้แจงงบประมาณทุกครั้งในการประชุม เพื่อให้ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์สูงสุด
แทบไม่น่าเชื่อว่า เงินเพียง 1 บาท สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพที่มั่นคงและสร้างแนวทางในการพัฒนาชุมชนได้มากถึงเพียงนี้ ใครอยากรู้ค่าของเงินอย่ารอช้า ดูบ้านกลางเป็นต้นแบบแล้วรีบนำไปพัฒนาท้องถิ่นตนโดยพลัน
ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
วราพร วันไชยธนวงศ์
เจนนารา สิทธิเหรียญชัย
อัญชลี นิลเป็ง
จินตนา พรสัมฤทธิ์โชค
สุภาพร อิศรางกูร ณ อยุธยา
วพบ.เชียงใหม่
ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น