...+

วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

เพื่อนช่วยเพื่อน กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลผาสิงห์ อ.เมือง จ.น่าน

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

        เมื่อกล่าวถึงพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานจังหวัดน่าน เราคงนึกถึงชุมชนเมืองที่น่าจะมีความวุ่นวายมีรถยนต์พลุกพล่าน แต่สิ่งที่เราคิดอยู่นั้น มันตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะบางพื้นที่ในชุมชนนี้ ระบบไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงด้วยซ้ำ ชุมชนที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ คือ ผาสิงห์ ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน พื้นที่ในความรับผิดชอบของตำบลนี้มีไม่มาก เพียง 87 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน ประชากร 5,256 คน จัดเป็นชุมชนขนาดเล็ก แต่ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอกับการเป็นสถานที่ตั้งของท่าอากาศยานจังหวัดน่าน

        การที่กองทุนฯ สามารถเกิดในตำบลผาสิงห์ได้นั้น น่าจะมาจาก นายก อบต.ที่เล็งเห็นว่า โครงการของกองทุนฯ น่าจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพของคนในชุมชนผาสิงห์ได้ ดังนั้น จึงนำข้อมูลที่รับทราบมานำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการของ อบต. ซึ่งที่ประชุมก็เห็นด้วย จึงเริ่มการดำเนินงานตามนโยบายของกองทุนฯ โดยเริ่มต้นจาก การสรรหาคณะกรรมการและสร้างทีมในการทำงาน
        การกำหนดแผนงานโครงการภายใต้ฐานคิดสำคัญที่ว่า การยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง และการบูรณาการภารกิจในการทำงานด้านสุขภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นงานเดียวกัน โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลัก ดังนั้น ทีมงานจะต้องมีการประชุมชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ เกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพและการดำเนินงานกองทุนฯในทุกขั้นตอน

        เมื่อทาง อบต.ผาสิงห์ได้ตั้งเป้าหมายของกองทุนฯ ว่า ประชาชนต้องมีสุขภาพดี ซึ่งนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้วนั้น แนวทางในการทำงานก็เริ่มต้นที่การจัดทำประชาคมในทุกหมู่บ้าน สอบถามถึงความต้องการของประชาชนในแต่ละหมู่บ้าน ปัญหาที่เหมือนกันคล้ายคลึงกันก็จะจัดเป็นเรื่องเร่งด่วนที่มีในทุกพื้นที่ แล้วนำมาจัดทำเป็นโครงการเช่น โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน

        "เพื่อนช่วยเพื่อน" เกิดจากปัญหาของผู้สูงอายุ และผู้พิการในครอบครัว  ขาดการดูแลอย่างเหมาะสม ก่อให้เกิดภาวะความเครียดขึ้นในครอบครัว หรือบางครั้ง อาจทำให้รู้สึกเป็นภาระในการดูแล หรือ ผู้สูงอายุและผู้พิการเองอาจรู้สึกห่อเหี่ยวในการใช้ชีวิต ดังนั้น จึงมีการจัดทำโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนขึ้นมา โดยมีการเตรียมอาสาสมัครหรือ อสม. ที่ผ่านการอบรมเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการจากสาธารณสุข ได้ทำการออกเยี่ยมตามบ้านเพื่อให้คำแนะนำในด้านต่างๆ เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร หรือ การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย นอกจากนี้ยังมีการให้กำลังใจผู้สูงอายุ ผู้พิการ  รวมไปถึงให้กำลังใจญาติพี่น้องที่ต้องดูแลบุคคลเหล่านี้

        ภารกิจหลักของ อบต. คือ การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ต้องเล็งเห็นความสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชนมากขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้งานนั้นสำเร็จได้ อาจกล่าวได้ว่า มาจากการวางนโยบายและศักยภาพของผู้บริหาร อบต. รวมถึง คณะกรรมการที่มาจากกลุ่มตัวแทนประชาชน หรือ อสม. ที่ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนเหมือนเครือญาติ ทำงานด้วยความเข้มแข็ง มุ่งมั่น เสียสละ ทำงานด้วยใจจริงๆ และนี่ก็เป็นอีกสิ่งที่เป็นกลไกหลักสำคัญ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ไปสู่ความสำเร็จ

        "เพื่อนช่วยเพื่อน" สุดท้ายก็ก่อให้เกิดการทำงานแบบมีส่วนร่วม และเป็นส่วนร่วมในลักษณะของการดูแลซึ่งกันและกัน มีการประสานความร่วมมือ การปรับเปลียนวิธีคิดที่ทำให้ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน และสำคัญทีสุด คือ สุขภาพที่ดีขึ้นของคนในชุมชนนั่นเอง

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ศิริวรรณ ใบตระกูล
ศรีประไพ อินทร์ชัยเทพ
วลัยลักษณ์ ขันทา
ปานจันทร์ อิ่มหนำ
ดร.พัฒนา นาคทอง
วาสนา มั่งคั่ง
วพบ.ลำปาง

ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น