...+

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

การดูแลสุขภาพแบบยั่งยืน กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลสันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์


        สันปูเลย พื้นที่ทางผ่านก่อนขึ้นสู่จังหวัดทางภาคเหนือของไทย อยู่ในเขตอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ขนาด 19.09 ตารางกิโลเมตร มีหมู่บ้านในความรับผิดชอบทั้งหมด 15 หมู่บ้าน มีผู้นำ อบต. ชื่อ นายมนตรี เดชะปัญ ของผู้นำมีมุมมองว่า การมีสุขภาพที่ดีเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนทำสิ่งอื่นต่อไปไม่ได้ และการมีกองทุนฯ นั้นทำให้การทำงานเกี่ยวกับสุขภาพมีความคล่องตัวมากขึ้น  ทำให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองได้มากขึ้นด้วย

        "ปัญหาสุขภาพเกิดจากประชาชน แต่ประชาชนยังชินกับการพึ่งพาเจ้าหน้าที่ เมื่อเจ็บป่วย"
        ประโยคนี้เป็นที่มาของความต้องการในการสร้างกองทุนฯ ให้เกิดความยั่งยืนโดยประชาชน เพราะต้องการสร้างให้ประชาชนมีความรู้ ในการดูแลสุขภาพของตนเองก่อนที่ตนเองจะเจ็บป่วย การไม่ใส่ใจดูแลเรื่องสุขภาพขั้นพื้นฐาน สามารถก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพได้ทั้งสิ้น ดังนั้น หากมีกองทุนฯ ผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจากกองทุนฯ ก็คือ ประชาชน นั่นเอง

        การทำงานของกองทุนฯ สันปูเลยนั้น เริ่มต้นจากชาวบ้าน การรวบรวมปัญหา เสนอความต้องการของชาวบ้าน ผ่านคณะกรรมการหมู่บ้านจากการทำประชาคม เข้าไปสู่การเสนอโครงการเพื่อพิจารณาจัดทำโครงการตามความต้องการของสมาชิกได้ทั้งหมด 12 โครงการ ซึ่งทั้งหมดครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยเรียน เยาวชน ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ หรือ กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง

        เมื่อมีโครงการที่เกิดจากความต้องการของประชาชนแล้ว การมีส่วนร่วมก็มีมากขึ้น แต่ละโครงการของกองทุนฯ ก็จะมีความต่อเนื่องมากขึ้น แม้นว่าบางโครงการจะไม่มีงบประมาณมาสนับสนุนแล้วก็ตาม ชาวบ้านก็ยังคงดำเนินกิจกรรมนั้นอย่างต่อเนื่อง เพระทราบดีว่ากิจกรรมจากโครงการนั้นมันมีประโยชน์อย่างไร เช่นเดียวกับโครงการหนึ่งที่ถือว่า เป็นโครงการดีเด่นของสันปูเลย คือ โครงการส่งเสริมการออกกำลังกาย

            ในระยะแรก โครงการนี้ใช้งบประมาณจากกองทุนฯ คือ จ้างครูมาสอนเต้นแอโรบิควันละ 200 บาท เมื่องบประมาณหมด ชาวบ้านก็ยังสร้างความต่อเนื่องของโครงการโดยเก็บเงินกันเอง เพื่อจ้างครูสอนเต้นต่อไป โครงการนี้ ทำให้ได้มาซึ่งสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงของชาวบ้านนั่นเอง และสิ่งที่ได้นอกเหนือจากนั้น คือ คนในชุมชนที่ไม่รู้จักกันออกมาเต้นด้วยกัน ทำให้ได้รู้จักกันมากขึ้น

            กองทุนฯ อบต.สันปูเลย มีสิ่งขับเคลื่อนที่ทำให้นำโครงการไปสู่ความสำเร็จหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น วิสัยทัศน์ของผู้นำที่ตัดสินใจเข้าร่วมกองทุนฯ และมองเห็นความสำคัญของกองทุนฯ ว่ามีประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ อสม. ที่ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง และทำงานด้วยความเข้าใจ มีความเสียสละ นอกเวลางานก็ให้เวลาเพื่อพัฒนาชุมชนของตน เพราะต้องการให้คนในชุมชนมีสุขภาพแข็งแรง สุดท้ายคือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งแต่เริ่มต้นหาปัญหา ตั้งความต้องการเป็นโจทย์แล้วแสดงความคิดเห็นให้เป็นผล ร่วมกันตัดสินใจและสุดท้ายร่วมกันเป็นเจ้าของโครงการ

            การประชาสัมพันธ์ที่ดีในโครงการต่างๆที่มีนั้น อบต.สันปูเลยได้ใช้เกือบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำประชาคม, พบปะพูดคุย, ปรึกษาหารือ ทักทาย, สอบถาม สื่อสารกันโดยตรง ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง หรือการประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายของแต่ละหมู่บ้านเอง รวมไปถึงวารสารต่างๆ ของ อบต.และป้ายประชาสัมพันธ์ที่มีอยู่แล้วตามจุดต่างๆในหมู่บ้าน

            การค้นหาปัญหา ความต้องการ ความคิด การวางแผน ตลอดจนการดำเนินการตามโครงการ บนพื้นฐานความต้องการของประชาชนที่แท้จริงแล้วนั้น จะทำให้เกิดการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และนั่นคือที่มาของ การสร้างหลักประกันสุขภาพแบบยั่งยืน

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
วราพร วันไชยธนวงศ์
เจนนารา สิทธิเหรียญชัย
อัญชลี นิลเป็ง
จินตนา พรสัมฤทธิ์โชค
สุภาพร อิศรางกูล ณ อยุธยา
วพบ.เชียงใหม่

ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

1 ความคิดเห็น: