...+

วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553

พุทธบาท ดูแลสุขภาพแบบครบวงจร

กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลพุทธบาท
อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์
เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์


        ตำบลพุทธบาท อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นชุมชนชนบท ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ จึงมีความรักสามัคคี มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

          กองทุนฯ ที่นี่มีแนวคิดที่ว่า การมีกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ น่าจะเกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีแก่ประชาชน โดยเฉพาะการสร้างเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และเป้าหมายของกองทุนฯ ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี รู้ทันโรคภัยต่างๆ หาแนวทางป้องกันและแก้ไขโรคภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ในปัจจุบัน รวมถึงให้ประชาชนมีความรู้ในสิทธิที่จะได้รับจากกองทุนฯ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างแท้จริงและอย่างต่อเนื่อง

         ในระยะแรก การสมทบเงินเข้ากองทุนฯ สมทบตามเกณฑ์ของ อบต.ขนาดเล็ก ยังไม่มีการสมทบจากประชาชน และโครงการในช่วงแรก จะมาจากตัวแทนแต่ละหมู่บ้านเสนอขึ้นมา ไม่ได้มาจากการทำประชาคมในหมู่บ้าน

       โครงการตลาดนัดสุขภาพสัญจร เป็นโครงการแรกที่สถานีอนามัยในพื้นที่ทั้งสามแห่งได้ร่วมกันทำขึ้น ซึ่งก็เกิดปัญหาหลายด้านไม่ว่าจะเป็นความไม่เข้าใจระเบียบในการเบิกจ่ายงบของกองทุนฯ หรือการดำเนินโครงการที่ขาดการประสานความเข้าใจที่ดีระหว่างสถานีอนามัยกับ อบต.  พุทธบาท


      ระยะต่อมา เมื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกองทุนฯ เริ่มมีการเรียนรู้ร่วมกันในการบริหารจัดการแล้ว สามารถให้ประชาชนเข้าถึงการบริการสุขภาพด้วยตนเอง มิใช่ด้วย "การสมัคร" หรือ "การขอร้อง" ให้เข้าร่วม

      ตามแนวคิดของนายก อบต.พระพุทธบาท นายสมเดช ธรรมา ที่ว่า
       "เน้นการสร้างเสริมพลานามัยให้มากขึ้น ให้พี่น้องไม่ป่วย ไม่เจ็บ" คือ ยึดหลักสร้างสุขภาพมากกว่าซ่อมสุขภาพ โดยประชาชนสามารถเข้าร่วมดูแล และบริหารระบบจัดการสุขภาพด้วยตนเองในอนาคต และมีระบบหลักประกันสุขภาพที่มีความยั่งยืน


      เมื่อชาวบ้านมีความเข้าใจในกองทุนฯ มากขึ้นก็ทำให้มีส่วนร่วมมากขึ้น
       "ความแตกต่างก่อนและหลังมีกองทุนฯ เข้ามาคือว่า เมื่อก่อน อสม.จะเป็นผู้สำรวจข้อมูลของชาวบ้าน ให้คำแนะนำต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้ชาวบ้านได้มีโอกาสเสนอปัญหาโดยการเขียนเป็นร้อยแก้ว แล้วทางเจ้าหน้าที่ก็นำมาเขียนโครงการ"

      โครงการที่เคยทำและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันได้รับการตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดี ก็คือ โครงการตลาดนัดสุขภาพสัญจร เพราะปัจจุบันได้พัฒนาให้ครบวงจร คือ บริการตรวจสุขภาพตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงสูงอายุ ชาวบ้านสามารถมาทีเดียวตรวจได้ทั้งครอบครัว โดยไม่ต้องเสียเวลา ตรวจเสร็จมีบริการตัดผมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จากนั้นมีอาหารเลี้ยง ชาวบ้านรู้สึกว่า มาครั้งเดียวได้ครบทั้งหมดไม่เสียเวลา  ทำให้เกิดการตอบรับจากประชาชน มีการตื่นตัวเรื่องสุขภาพ ทำทุกอย่างให้เป็นเรื่องง่ายไม่ยุ่งยาก แล้วสามารถตรวจและคัดกรองโรคได้ทุกช่วงอายุ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการทำโครงการต่อไปได้อีกด้วย

      นายก อบต.มีหลักในการทำงานดังนี้
       "เราอยู่กับเขาแบบพี่น้อง ไม่ใช่เราทำตัวเป็นเจ้านาย เมื่อมีงานบุญ งานแต่ง ขึ้นบ้านใหม่ เราก็เข้าร่วมด้วยเสมอ เขาเจ็บเราก็เจ็บ เขาสุขเราก็สุขด้วย"

        ปัจจัยที่ทำให้การทำงานไปสู่ความสำเร็จมาจากวิสัยทัศน์ของผู้นำ ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนางานด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วม และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา โดยมีอนามัยเป็นแกนหลักด้านข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ และมี อบต.คอยให้การสนับสนุนในการดำเนินงาน มีทีมงานที่เข้มแข็ง ทำงานด้วยความเข้าใจ มีจิตอาสาเพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง


      การมีส่วนร่วมของประชาชน ร่วมในการแสดงความคิดเห็น ร่วมในการตัดสินใจ แม้อาจจะขาดความรู้ ความเข้าใจในหลักการและแนวคิด ทำให้กรทำงานไม่ประสานกัน ขาดความเข้าใจที่ดีระหว่างกัน แต่หากมีการพัฒนา การบูรณาการ และการบริหารจัดการที่ดีแล้ว การดูแลสุขภาพแบบครบวงจรก็มิใช่เป็นเรื่องยาก เพราะ "ไม่ได้ขอร้อง ไม่ได้ให้สมัคร" แต่ให้ทำด้วยใจของตนเองต่างหาก เพียงเท่านี้การดูแลสุขภาพจากใจ คงเป็นการดูแลอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนของชาวพุทธบาทอย่างแน่นอน

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
นุโรม จุ้ยพ่วง
วพบ.พุทธชินราช



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น