...+

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

โอวาทหลวงพ่อวัดท่าซุง เรื่องสมาธิ

ให้ตัดความกังวลเสียก่อน

เวลาปฏิบัติ เวลาเริ่มทำสมาธิ ตัดกังวลเสียก่อน สิ่งใดที่จะห่วงใยยกเลิกทิ้งไป ประเดี๋ยวเดียวมันไม่ตายหรอก และก็ตัดสินใจว่า เราจะต้องปฏิบัติให้มีผลตามคำแนะนำของครู ไม่ห่วงแม้แต่ร่างกาย
         ทุกคนเมื่อตัดกังวล ไม่ห่วงแม้แต่ร่างกายได้แล้ว ก็ตั้งใจสมาทานศีล เรื่องศีลนี่ความจริงไม่ใช่จะมีเฉพาะเวลาปฏิบัติ ศีลนี่เป็นเครื่องค้ำจุนฌานสมาบัติ สมาธิ หรือฌานจะมีขึ้นมาได้ก็เพราะศีล ถ้าศีลบกพร่อง ฌานก็บกพร่องด้วย ถ้าศีลสมบูรณ์แบบ สมาธิหรือฌานจึงจะสมบูรณ์แบบ
            เรื่อง นิวรณ์ ๕ ประการ อย่านึกถึงมันเลย
            นอกจากนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์ให้ทุกคนคุมอารมณ์ให้ดีใน พรหมวิหาร ๔ ให้จิตทรงตัวไว้ในพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ คำว่าปกติต้องเหมือน ศีล ศีล นี่ต้องบริสุทธิ์ทุกวันและพรหมวิหาร ๔ ต้องทรงตัว

พิจารณาร่างกายตามที่พระพุทธเจ้าสอน
            ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ทำกำลังใจให้ทรงตัว มีจิตสงบสงัดปราศจากอารมณ์อย่างอื่นเข้ามารบกวน เราตั้งอารมณ์ไว้ในกุศลส่วนใดส่วนหนึ่ง ให้ตั้งอยู่แต่เฉพาะอารมณ์นั้น  อย่างนี้จัดว่า ฌาน หรือสมาธิ

เมื่อทรงสมาธิดีแล้ว หรือว่าก่อนจะทรงอารมณ์อย่างนั้น เราก็พิจารณาขันธ์ ๕ ตามที่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่า ขันธ์ ๕ มีสภาพไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น และก็มีความเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด ขันธ์ ๕ นี่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเสียจริง ๆ แล้ว เราจะหลงร่างกายเพื่อประโยชน์อะไร

การเข้าถึงพระกรรมฐาน

การเจริญพระกรรมฐานนี่ไม่ได้หมายความว่า ใช้เวลานั่งสมาธิเสมอไป ถ้าเราใช้แต่เวลาที่นั่งสมาธิมีเวลาสงัด จิตใจเราจึงจะกำหนดถึงพระกรรมฐาน อย่างนี้ใช้ไม่ได้ เนื้อแท้การเจริญพระกรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ตาม ต้องใช้อารมณ์ของเรานี้ นึกถึงกรรมฐานเป็นปกติตลอดวัน อย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่าท่านเข้าถึงพระกรรมฐาน และพระกรรมฐานเข้าถึงท่าน
            การนั่งสมาธิให้คนเห็น พระพุทธเจ้าท่านทรงปรับว่าเป็นอุปกิเลส มันจะมีการโอ้การอวดอยู่
    ในตัวเสร็จ ใช้ไม่ได้
ให้ละอายและเกรงกลัวความชั่ว

ความจริงการเจริญพระกรรมฐานนี้ เป็นการเจริญเพื่อทรงสติสัมปชัญญะ และก็เป็นการเจริญให้มี หิริ และ โอตตัปปะ คือมีความละอายต่อความชั่ว เกรงกลัวผลของความชั่ว ถ้าเรายังขืนคบความชั่วอยู่ก็แสดงว่าทำตัวไม่คู่ควรกับขอบเขตพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นอลัชชี มีใจด้านเกินไป ถ้ามีอาการอย่างนี้อารมณ์ใจไม่แจ่มใส เราจะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์อะไร เสียเวลาประกอบกรรมความเลวของเราในสมัยเป็นฆราวาส
            นี่จงจำไว้ด้วยว่า สำนักพระพุทธศาสนาไม่ได้ตั้งใจประคับประคองคนเลว เขาประคับประคองกันแต่คนดีแม้แต่องค์สมเด็จพระชินศรีก็เช่นเดียวกันจึงขอบรรดาพระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาทุกท่านจงรู้สำนึกตัว ที่ใครเขาไม่ว่าไม่กล่าว ไม่ติไม่เตียน จะพึงคิดว่าเขาต้องการเรา ความจริงนั่นเขานั่งดูจริยาของเราต่างหากว่าเราพอจะคลายความเลวลงบ้างหรือไม่ ถ้าไม่คลายความเลวลงเพียงใด ไม่ช้าความเลวที่เราทำไว้มันจะสะสมตัว แล้วก็ไม่มีทางเลี่ยง มันจะให้ผลต่อท่านเมื่อถึงเวลาสมควร ความจริงเราให้โอกาสกันมากเกินไปแล้ว ต่อไปนี้จงพยายามกลับใจ ทรงไว้ซึ่งความดี

เรื่องพระนี่สำรวยไม่ดี

เวลาที่ปฏิบัติน่ะ ไม่ใช่มานั่งเงียบ ๆ นะ กลางวันทำงานก่อสร้างด้วย เรียนหนังสือด้วย นุงนังจิปาถะ ไม่ใช่นั่งเฉพาะไม่มีงานไม่มีการ แบบนี้พระพุทธเจ้าไม่ใช้ แบบที่เข้ากุฏิเจริญพระกรรมฐาน กินข้าวก็มีคนไปส่งข้าว ล้างชามไม่ได้ แบบนี้ไม่ใช่พระ พระพุทธเจ้าเองท่านก็ล้างบาตรเอง เช็ดบาตรเอง ทำความสะอาดพื้นที่เอง
            คนที่หลับตาเก่งนาน ๆ จะนึกว่าจะได้กรรมฐานดี ฉันไม่เชื่อเพราะถ้าจะดีจริง ๆ มันต้องดีทั้งหลับตา ดีทั้งลืมตา ดีทั้งอยู่ในที่สงัด ดีทั้งอยู่ในที่เกลือกกลั้วไปด้วยประชาชน ดีทั้งที่เวลาร่างกายปกติ และก็ดีทั้งที่เวลาร่างกายไม่ปกติ อารมณ์ต้องดีทั้งในขณะที่เราฟังคำสรรเสริญ และก็ดีทั้งในขณะที่คนเขาด่าเรา อารมณ์ของเราจะต้องสม่ำเสมอกัน ไม่ขึ้นไม่ลง ใครเขาสรรเสริญก็เฉย ใคร เขานินทาว่าร้ายก็เฉย อารมณ์เงียบสงัด เสียงเงียบสงัดเราก็เฉย เสียงจ๊อกแจ๊กจอแจโวยวายเราก็เฉย ลงเฉยเสียหมดมันก็หมดเรื่องกัน
            คำว่าสถานที่สงัด คือ เราใช้อารมณ์สงัด จะไปนั่งคิดว่าที่นั้นต้องไม่มีเสียง ที่นี่ต้องไม่มีเสียง เราคิดหรือว่าเวลาที่เราจะตายน่ะเราจะหาที่สงัดได้ เราต้องพร้อมใจไว้เสมอว่า เวลาที่เราจะตาย อาจจะมีเสียงเครื่องขยายเสียงทั้งด้านข้าง ด้านซ้าย และด้านขวาใกล้ๆ เรา อาจจะมีใครกำลังทะเลาะกันอยู่ก็ได้ หรืออาจจะมีใครเขามานั่งด่าเราอยู่ใกล้ ๆ ก็ได้ เราต้องเตรียมใจไว้ ถ้าอาการอย่างนั้นมันปรากฏ เราจะไม่เอาจิตของเราเข้าไปยุ่งกับเสียงกับอารมณ์ต่าง ๆ ทำจิตของเราให้สงัดจากเสียง เรื่องของเขาก็เรื่องของเขา เรื่องของเราก็เรื่องของเรา นี่เป็นอันว่าที่สงัดของเราไม่ใช่หมายความว่าสงัดเสียง ไม่ใช่หมายความสงัดจากอาการกายกรรม คือการทำงานต่าง ๆ ที่สงัดของเรา คือใช้อารมณ์จิตสงัดจากนิวรณ์ ๕ ประการ และสงัดจากกิเลสด้วย





พยายามละส่วนสุดสองอย่าง

            อารมณ์พระกรรมฐานกับอารมณ์ชาวโลกไม่เหมือนกัน มันกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไอ้การงานของชาวโลกนี่ ถ้าขยันมาก มุมานะมาก ผลงานมันสูงแล้วก็ดี แต่การเจริญพระกรรมฐานมุมานะมากถอยหลัง แทนที่จะก้าวหน้ามันกลับลงต่ำใช้ไม่ได้ เพราะว่าการปฏิบัติความดีเพื่อการบรรลุในพุทธศาสนา ต้องละส่วนสุดสองอย่างคือ
          หนึ่ง อัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนที่เรียกว่าขยันเกินไป
          สอง กามสุขัลลิกานุโยค เวลาทรงสมาธิหรือพิจารณาวิปัสสนาญาณมีตัวอยากประกอบ ไปด้วยอยากจะได้อย่างนั้น อยากจะถึงอย่างนี้ อยากจะได้ตอนโน้น

อีตอนนี้มันเจ๊ง ทั้งสองทาง ที่ถูกคือจะต้องวางใจเฉย ๆ ปล่อยอารมณ์ให้มันเป็นไปตามสบาย ๆ

ความมุ่งหมายของการปฏิบัติกรรมฐาน

            การปฏิบัติไม่ว่ากรรมฐานกองใดทั้งหมด อุปสรรคทางจิตย่อมปรากฏมีขึ้นเสมอ และอุปสรรคใด ๆ เกิดจากอารมณ์ก็ดี หรือว่าเกิดจากทางกายก็ดี ถ้าเราไม่ยอมแพ้เสียอย่างเดียว เราก็ชนะอุปสรรคต่าง ๆ มันจะมีขึ้นได้มันก็ต้องสลายตัวได้เหมือนกัน ต้องถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ทุกอย่างถ้าเราเอาจิตเข้าไปจับธรรมดาเสียอย่างเดียว จิตมันก็มีความสุข การเจริญพระกรรมฐาน ความมุ่งหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คือ ต้องการให้มีความสุข
            ความจริงการทำจิตให้เป็นสมาธิ หรือทำจิตให้เป็นฌานสมาบัติเป็นของไม่ยาก คนที่จะได้ดีเขาทำกันแบบนี้ ขณะที่ฟังก็ดี ขณะที่ตั้งใจทรงสมาธิจิตก็ดี เขาไม่ให้อารมณ์ส่งไปสู่อารมณ์อื่น รู้จักควบคุมใจของเราให้อยู่เฉพาะกิจที่เราจะพึงทำ คือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก และคำภาวนาลมหายใจเข้านึกว่า พุท ลมหายใจออกนึกว่า โธ นึกอยู่ควบคุมกำลังอยู่ เท่านี้ตามเวลาที่เรากำหนดไว้ เราจะไม่ยอมให้อารมณ์จิตเราไปสู่อารมณ์อื่น นอกจากลมหายใจเข้าออก และคำภาวนาว่าพุทโธ ถ้าเราบังคับจิตของเราอย่างนี้ไปทุกคราวที่เจริญพระกรรมฐาน จนกระทั่งจิตมีอารมณ์ชินอย่างนี้จิตของเราก็เป็นฌาน

พยายามฝึกจิตให้คล่องในการเข้าสมาธิ

การฝึกจิตให้คล่องในการเข้าสมาธิต้องพยายามทำ จงอย่าคิดว่าทำไม่ได้ ไม่มีใครเขาทำได้มาตั้งแต่เกิด ทุกคนต้องฝึกเหมือนกัน พระอรหันต์ทุกองค์ที่ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ฝึกกันมาแบบนี้ ค่อยทำค่อยไปทีละน้อย ๆ ในที่สุดมันก็เข้าถึง ถ้าเราไม่ละความพยายาม

การปฏิบัติต้องไม่ห่วงร่างกาย

ไอ้เรื่องอาการทางกายนี่เลิกถามกันเสียทีนะ มันจะเป็นมันจะตายอย่างไร ก็เชิญมันเถอะให้มันตายไป ถ้ามัวกลัวตายจะมานั่งเจริญกรรมฐานกันอยู่ทำไม ความดีมันไม่ได้หรอก คนกลัวตาย ห่วงกาย ห่วงมันมากกว่าความดี มันใช้ไม่ได้ อย่างนี้ไม่เอาไม่คบ

 ให้นึกถีงความตายเป็นอารมณ์

มีคนพูดกันว่า ถ้าเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน จะต้องสามารถระงับทุกขเวทนาได้หมด ไม่เจ็บไม่ป่วยไม่ร้อนไม่หนาว นี่ไม่ใช่ความจริง ร่างกายยังมีความรู้สึก ร่างกายยังมีจิต เป็นเครื่องรักษา ร่างกายยังมีวิญญาณรู้การสัมผัส ถึงแม้ว่าพระอรหันต์ก็ดี พระพุทธเจ้าก็ดี ก็ยังรู้สึก รู้สึกเจ็บ รู้สึกปวดเหมือนกัน นี่ว่ากันถึงอารมณ์ของพระโสดาบัน

เมื่อจิตเข้าถึงพระโสดาบันแล้ว มีความไม่ประมาทในชีวิต มีความรู้สึกเสมอว่า เราจะต้องแก่ เราจะต้องตายแล้วก็ขึ้นชื่อว่าความตายนี้ไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ไม่ใช่ว่าจะไปกำหนดอายุการตาย ว่าต้องตายเท่านั้น เท่านี้ จะตายตั้งแต่ความเป็นเด็ก หรือความเป็นคนหนุ่มเป็นสาว ความเป็นคนแก่ อาการที่จะตายอาจจะด้วยโรคภัยไข้เจ็บ อาจจะตายด้วยอุบัติเหตุ หรือตายเช้า ตายสาย ตายบ่าย ตายเที่ยง ตายกลางคืน  ตายดึก ตายหัวค่ำ เอาแน่นอนไม่ได้

ให้พยายามระงับนิวรณ์ไม่ให้มายุ่งกับใจ

จิตของเราถ้าหากนิวรณ์ไม่เข้ามายุ่งเมื่อไร มันก็เป็นฌานเมื่อนั้น นี่มันก็ไม่มีอะไรยากถ้าเรามีกำลังใจเข้มแข็ง จะไม่ยอมเชื่อไอ้ตัวร้ายนิวรณ์นี่ ที่นี้ในเมื่อเราไม่คิดถึงเรื่องอื่น ขณะที่พิจารณาก็มองดูแต่ขันธ์ ๕ อย่างเดียว และเวลาภาวนาก็จับเฉพาะลมหายใจเข้าออกกับคำภาวนาว่า พุทโธ อันนี้นิวรณ์มันไม่กวน จิตเข้าถึงปฐมฌานทันที


ต้องเข้าฌานให้คล่อง

ไอ้เรื่องการเข้าฌานนี่มันต้องคล่อง เหมือนกับเราเขียนหนังสือคล่องแคล่ว จะเขียนเมื่อไรก็เขียนได้ ไม่ใช่เขาบอกว่าเอ้าเข้าฌานซิ มานั่งตั้งท่าขัดสมาธิมันก็เสร็จแล้ว มันไม่ทัน เวลาเราจะตายจริงไปตั้งท่าได้เมื่อไร มันต้องคล่อง การจะทำให้คล่องก็มีอยู่ว่าต้นๆ ถ้าจิตมันเข้าถึงสมาธิให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ใหม่ ๆ มันก็อึดอัด ไม่ช้าก็เกิดอาการชิน มันชินเสียจนช้าไม่เป็น

ให้เจริญอานาปานุสสติกรรมฐาน

การเจริญสมถภาวนานี่เราต้องการให้จิตสงบจากอกุศล และจิตน้อมอยู่ในส่วนของกุศลเป็นปกติ พระโบราณาจารย์ท่านแนะนำให้นึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ โดยใช้คำภาวนา พุทโธ แต่ว่าถ้าภาวนาว่าพุทโธอย่างเดียว จิตก็จะลอยเกินไป ไม่มีที่เกาะ เพราะจิตมีสภาพกวัดแกว่ง ท่านจึงแนะนำให้ให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก อานาปานุสสติกรรมฐาน หรือการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกนี้เป็นกรรมฐานที่ลดความฟุ้งซ่านของจิต และเป็นกรรมฐานที่ระงับกายสังขาร เวลาที่เราป่วยไข้ไม่สบาย ให้ใช้ อานาปานุสสติกรรมฐาน เข้าระงับ และประการที่สาม  อานาปานุสสติ นี้ เป็นกรรมฐาน ระงับ โมหจริต และ วิตกจริต รวมความว่าตัดความโง่ของจิต ทำให้จิตฉลาดขึ้น
            การเจริญพระกรรมฐาน เราควรจับจุดเอา อานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นสำคัญ เพราะว่า อานาปานุสสติกรรมฐาน นี้ จะเป็นคนประเภทไหนก็ตาม มีความจำเป็นทั้งหมด เพราะว่า อานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานระงับอาการฟุ้งซ่านของจิต เราจะเจริญอะไรก็ตาม ถ้าไม่สามารถระงับความฟุ้งซ่านของจิตได้ สมาธิมันก็ไม่เกิด แล้วใครที่ไหนเล่ามีบ้างไหม ที่มีอารมณ์ไม่ฟุ้งซ่าน มีบ้างหรือเปล่า หาไม่ได้ คนที่มีอารมณ์ที่ไม่ฟุ้งซ่านจริง ๆ ก็มีพระอรหันต์เท่านั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ท่านจึงขึ้น อานาปานุสสติ ก่อนใน มหาสติปัฏฐานสูตร .



ให้รู้ลมหายใจเข้าออกในทุกอิริยาบท

            อันดับแรกขอให้ทุกท่าน ทำ อานาปานุสสติกรรมฐาน ให้เข้าถึงฌาน ๔ เอากันจริงกันจัง อย่าสักแต่ว่าทำ ความกลุ้มมันจะเกิดขึ้นนิดหน่อย เพราะว่าใหม่ ๆ เราจะควบคุมกำลังใจให้มัน ทรงอยู่ ใจมันก็คงจะแยกไปโน่น แยกไปนี่ คิดโน่นคิดนี่ คิดป้วนเปี้ยน เรียกว่า นอกรีตนอกรอย อย่างนี้อย่าเพิ่งตั้งใจว่า เราจะไม่ดี

            ถ้าบังเอิญเราทำกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกควบ พุทธานุสสติกรรมฐาน ไปได้สักนาทีสองนาที จิตนี้มันเกิดอารมณ์พล่าน แล้วต่อมามีความรู้สึกว่า โอหนอ นี่ใจ เราออกนอกลู่นอกทางไปเสียแล้วหรือ เราก็ดึงอารมณ์เข้ามา ดึงอารมณ์เข้ามาจับ อานาปานุสสติกรรมฐาน ให้เป็นปกติ กับ พุทธานุสสติกรรมฐาน ควบคู่กัน ประเดี๋ยวหนึ่งมันก็ไป มันไปเรารู้ตัว เราก็จับมันมาใหม่

 การทำอย่างนี้จงอย่าทำแต่เฉพาะเวลาที่ได้ยินคำสอน จงใช้เวลาของท่าน ตลอดวันที่ทำงานอยู่ พูดอยู่ กินอยู่ ขี้อยู่ เยี่ยวอยู่ เดินอยู่ นอนอยู่ ยืนอยู่ ใช้เวลาเป็นปกติ คำว่าใช้เวลาเป็นปกติ จะถามว่าเวลาพูดรู้ลมหายใจเข้าออกได้รึ เวลาพูดนั่นจริง ๆ เราจะ ขาดเฉพาะภาวนาเท่านั้น การกำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออกเป็นของไม่ยาก เพราะอะไรจึงว่า ไม่ยาก ถ้าหากว่าเรารู้ไปด้วยมันเป็นของไม่ยาก มันไม่ได้ห้ามปากของเราพูด เวลาทำงานจะรู้ ลมหายใจเข้าออกไปด้วย มันก็ไม่ได้ห้ามมือเราทำ เวลาเราจะเดินไปไหน เราจะรู้ ลมหายใจ เข้าออกมันก็ไม่ได้ห้ามเดิน



ให้นึกถึงภาพพระพุทธรูปเป็นปกติ

            ที่ให้ภาวนาว่า พุทโธ และให้นึกถึงภาพพระ นึกถึงภาพพระพุทธรูป เป็นพุทธานุสสติกรรม ฐาน

ถ้าหากว่าพระสีเหลืองเป็นทองคำ เป็น ปีตกสิณ

พระสีเขียวหรือสีดำเป็น นีลกสิณ

พระสีขาว เป็น โอทาตกสิณ

นี่เป็นได้ทั้งสองอย่าง และก็เป็นกสิณด้วย ทั้งพยายามทำจิตจับภาพพระพุทธรูป ไว้ในใจ คือเห็นลอยอยู่ตรงหน้า อยู่ตรงไหนก็ได้ ไม่ว่าอะไรใช้ได้หมด อย่างนี้ไม่ช้า อารมณ์จิตก็จะ เป็นฌานโดยง่าย ทั้งเวลาจับภาพพระ จิตก็นึกถึงลมหายใจเข้าออกไว้ด้วย ลมหายใจเข้าออก นี่เราทิ้งไม่ได้ แต่ก่อนที่จะจับภาพพระ เราก็นึกถึงลมหายใจเข้าออกเสียก่อน ทำใจให้สบายแล้ว ค่อยจับภาพพระ จนกระทั่งจิตนี่จะทรงตัว นั่งอยู่ เดินอยู่ ยืนอยู่ ไปทางไหนอยู่ ภาพนั้นปรากฏติดตา ติดใจอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้ชื่อว่าเราได้ ฌานในกสิณ



ให้ปฏิบัติในอนุสสติทั้งหลาย

 คนที่นึกถึงพระพุทธเจ้า คุณความดีของพระพุทธเจ้าเป็นปกติ ไม่ขาดในอารมณ์ของจิต อันนี้เป็นการเจริญพระกรรมฐานเป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน

ปรารภคุณความดีของพระธรรม ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นปกติ ไม่ลืมความดีใน พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้ว อันนี้เป็น ธัมมานุสติกรรมฐาน

เรานึกถึงคุณความดีของพระอริยสงฆ์ ที่ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน จนได้บรรลุ มรรคผลเราก็แสวงหาความดีตามนั้นตามท่าน ปฏิบัติตามท่าน นึกถึงท่านเข้าไว้ อย่างนี้เป็น สังฆานุสสติกรรมฐาน

เรานึกถึงศีลที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงมอบให้แนะนำสั่งสอนเรา ระมัดระวังศีลทุกข้อ ทุกสิกขาบท ให้ปรากฏอยู่ครบถ้วนอยู่ด้วยดี อย่างนี้เป็น สีลานุสสติกรรมฐาน

เรานึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ คิดว่าการปฏิบัติอย่างนี้ เรามีความมุ่งหมายอย่างเดียว คือพระนิพพาน อย่างนี้เป็น อุปสมานุสสติกรรมฐาน

เรามีความรู้สึกอยู่เสมอว่า เราจะต้องตายแน่ จะตายเช้า ตายสาย ตายบ่าย ตายเที่ยง ตายด้วยอาการปกติ หรือด้วยอุบัติเหตุก็ตาม ก็ขึ้นชื่อว่าจะต้องตาย อย่างนี้เป็น มรณานุสสติกรรมฐาน



การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกจนหลับ

            ทีนี้การที่จะเจริญพระกรรมฐานให้ดีน่ะ เขาจะไม่ยอมให้เวลาว่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลานอนก่อนจะหลับให้จับ อานาปานุสสติกรรมฐาน ให้ทรงตัว ท่านจะหลับง่าย และให้หลับ ไปกับ อานาปานุสสติกรรมฐาน เวลาหลับจะมีความสุข ขณะที่หลับจะถือว่าเป็นผู้ทรงฌานอยู่ การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกจนหลับ ขณะที่หลับจิตจะต้องเข้าถึง ปฐมฌาน หรือ ฌานสูงกว่า นั้นจึงจะหลับ และเมื่อขณะที่หลับอยู่ก็ถือว่าหลับอยู่ในฌาน ถ้าตายระหว่างนั้นท่านเป็นพรหม เวลาที่ตื่นมาใหม่ ๆ ท่านจะลุกจากที่นอนก็ตาม หรือไม่ลุกก็ได้ จะนอนอยู่อย่างนั้นกำหนด รู้ลมหายใจเข้าออก หรือว่าอยากจะนั่งก็ได้ แต่ระวังให้ดีการลุกขึ้นมานั่ง ต้องคุมสติสัมปชัญญะ ให้ดีเมื่อตื่นนอนเข้ามาแล้วต้องจับลมหายใจเข้าออกทันที เพื่อทรงสมาธิจิตให้ทรงตัว ตอนตื่น เช้ามืดพยายามทำให้สงบสงัดให้มากที่สุด เป็นการรวบรวมกำลังใจสูงสุด เพื่อประโยชน์แก่การ บิณฑบาต



เอาจิตจับอานาปานุสสติกรรมฐานในทุกอิริยาบถ

            สำหรับ อานาปานุสสติกรรมฐาน ผมขอแนะนำให้ทุกท่านใช้ทุกอิริยาบถที่ทรงอยู่ จำไว้ให้ดีด้วยนะ ถ้าว่าท่านใช้ทุกอิริยาบถที่ทรงอยู่ละก็ อารมณ์จิตมันจะเลี้ยวเข้าไปหาความเลว ไม่ได้ จะมีเวลาว่างเพื่อสร้างความเลวตรงไหน จะกินอยู่ก็ดี จะเดินอยู่ก็ดี จะนั่งอยู่ จะนอนอยู่ ทำการงานอยู่จะพูดจาปราศรัยก็ดี ให้เอาใจของทุกท่านกำหนดจับ อานาปานุสสติกรรมฐาน ไว้เป็นปกติ จำได้ไหม และก็ลองคิดดูทีเถอะว่า ถ้าเราเอาจิตไปจับ อานาปานุสสติกรรมฐาน ไว้เป็นปกติ จิตมันไม่มีเวลาว่างจากการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก แล้วก็จิตดวงนี้มันจะ เอาอารมณ์เลวมาจากไหน อกุศลกรรมใดใดที่ไหนจะเข้ามาแทรกจิตได้ โปรดจำไว้ด้วยว่า การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก จะทำเป็นปกติ นี่ผมไม่ได้บอกว่า ให้ท่านเลือกเวลาทำ ขณะใดที่ใจของท่านยังตื่นอยู่ แม้ตาจะหลับแต่ใจยังตื่นอยู่ ให้เอาจิตรู้ ลมหายใจเข้า หายใจออกไว้เสมอ เวลาหายใจเข้ารู้ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก ในด้านของ มหาสติปัฏฐานสูตร เท่านี้ก็พอ รู้ไว้เสมอแม้แต่เวลาที่เราจะพูด จะคุยกัน จิตใจก็ตั้งกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไว้ด้วย .

จงอย่าเป็นผู้ลูบคลำในศีล สมาธิ ปัญญา

            ด้านสมาธิก็ฝึกซ้อมไว้เป็นปกติ เวลาฝึกซ้อมไม่ต้องไปนั่งหลับตา หลับตามันไม่เก่ง ลืมตาอยู่อย่างนี้แหละให้จิตมันทรงสมาธิ ลืมตาอยู่อย่างนี้แหละให้จิตมันทรงตัว ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาและความเป็นจริง เห็นอะไรเข้าตายหมด เห็นคน คนตาย เห็นสัตว์ สัตว์ตาย เห็นวัตถุธาตุ วัตถุธาตุพัง แล้วก็นึกถึงว่า เราจะต้องตายเหมือนกัน นี่ต้องถอยหน้าถอยหลังจะก้าวไปแต่ข้างหน้า แล้วก็ไม่เหลียวหลัง ท่านทั้งหลายที่ระงับความวุ่นวายของจิตไม่ได้นั้นน่ะ เขาเรียกว่า  สีลัพพตปรามาส  เป็นผู้ลูบคลำในศีล จิตตปรามาส ลูบคลำในสมาธิ ปัญญาปรามาส ลูบคลำใน วิปัสสนาญาณ ทำเท่าไร เท่าไรก็ไม่พ้นความวุ่นวายของจิต มีอารมณ์หุนหันพลันแล่น โฉงเฉงโวยวาย ปราศจากเหตุผล คนประเภทนี้ทำกี่แสนกัปก็ลงนรก เพราะสักแต่ว่าปฏิบัติ ไม่รู้จักพิจารณาจิตตัวเองว่า  ดีหรือชั่ว

ให้ปฏิบัติในอนุสสติ ๓ ประการ

            จงตั้งใจไว้ว่า สมถภาวนาเป็นอุบายเครื่องสงบใจ อารมณ์สมาธิของเราจะถึงไหนก็ช่าง เราพอใจอารมณ์สมาธิที่เราถึงในขณะนั้น ต้องการอย่างเดียวคืออารมณ์จิตเป็นสุข ถ้าหากว่าท่านไปกำหนดว่า วันนี้จะต้องเอาอย่างนั้น วันนี้จะต้องเอาอย่างนี้ นั้นมันเป็น นิวรณ์ เข้ามาครอบงำจิต คือ อุทธัจจกุกกุจจะ ถ้าอารมณ์ไม่สามารถจะถึงจุดนั้นได้จริง ๆ ความกลุ้มมันก็เกิด แทนที่จะมีสุข อารมณ์สงบตามความมุ่งหมายของ สมถภาวนา มันก็เลยกลายเป็นจิตพล่านไป ขาดทุน ตอนนี้ต้องจำให้ดี วิธีที่จะดีที่สุด นั้นก็คือ นั่งอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี เดินไปบิณฑบาต เดินไปทำงาน หรือทำงานทำการอยู่ก็ดี เอาจิตจับคำภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ไว้เป็นปกติ อย่าให้อารมณ์ขาดจากอนุสสติทั้ง ๓ ประการ ถ้าอาการของท่านทรงได้อย่างนี้ละก็ ก็ถือว่าท่านเป็นผู้ทรงฌาน
            ถ้าใครเขาว่าสมถภาวนาไม่มีความสำคัญ ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของการบรรลุมรรคผลก็อย่าไปเชื่อเขา เพราะสมถภาวนาถ้าไม่ดีจริง ๆ พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงสอนให้เราปฏิบัติ และพระพุทธเจ้าก็จะไม่ยึดสมถภาวนาไว้เป็นอารมณ์ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว นี่จงอย่าลืมว่า พระอรหันต์ทุกท่านแม้แต่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี ใช้กรรมฐาน ๔๐ กอง ควบกับวิปัสสนาญาณเพื่อความอยู่เป็นสุขไม่ใช่ว่าเป็นพระอรหันต์แล้วเลิกกัน อย่างนั้นเข้าใจผิด พระอรหันต์นี่ท่านกลับขยันกว่าเราทั้งหมด เพราะท่านเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ หมายถึงว่าการเห็นสภาวะตามความเป็นจริงของขันธ์ ๕ ท่านเห็นเป็นปกติ ท่านไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมละ

ความหมายของคำว่าจิตเป็นสมาธิ

          คำว่าจิตเป็นสมาธินั้น หมายถึงจิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่จิตหยุดโดยไม่รับอารมณ์ใดเลยทั้งสิ้น นักปฏิบัติใหม่หรือท่านที่ไม่เคยปฏิบัติสมาธิเลยมักจะเข้าใจอย่างนั้น ความจริงการเข้าใจอย่างนั้น เป็นการเข้าใจที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ธรรมดาของนักปฏิบัติใหม่ จิตที่ว่างจากอารมณ์ โดยไม่รับรู้อารมณ์เลย สำหรับการปฏิบัติเบื้องต้นนี้ ไม่มีอาการอย่างนั้น

            จิตที่ว่างจากอารมณ์ เป็นอาการของ สัญญาเวทยิตนิโรธ พระอรหันต์ขั้นปฏิสัมภิทาญาณ หรือพระอนาคามีระดับปฏิสัมภิทาญาณเท่านั้นที่จะเข้าได้ พระอริยะนอกนั้นแม้จะเป็นพระอรหันต์ระดับเตวิชโช หรือฉฬภิญโญก็ไม่สามารถทำได้ ปกติของจิตเป็นอย่างนี้

            เมื่อทราบแล้วว่าจิตไม่ว่างจากอารมณ์ เพื่อฝึกฝนจิตให้มีกำลังที่ควรแก่การเจริญวิปัสสนาญาณ ในขั้นต่อไปท่านจึงสอนให้ภาวนา เพื่อโยงจิตให้อยู่ในอารมณ์ ภาวนา คือหาทางให้จิตนึกคิด แต่นึกคิดในขอบเขตที่มอบหมายให้ ไม่ใช่จะนึกคิดเพ่นพ่านไป การภาวนาคาถาบทใดบทหนึ่ง นี้เป็นการระงับการฟุ้งซ่านของจิต

อารมณ์สงบเป็นอย่างไร

          ไอ้ตัวสงบนี่ต้องระวังให้ดีนะ มันไม่ใช่ว่าง คำว่า “สงบ” นี่ไม่ใช่ว่าง จิตของคนนี่มันไม่ว่าง คือว่ามันต้องเกาะส่วนใดส่วนหนึ่ง ถ้ามันละอกุศลมันก็ไปเกาะกุศล ไอ้จิตตัวที่เรียกว่าสงบก็เพราะว่า สงบจากกรรมที่เป็นอกุศล คืออารมณ์ที่เป็นอกุศล อารมณ์ชั่ว สงบความปรารถนาในการเกิด อารมณ์สงบคือไม่คิดว่าเราต้องการความเกิดอีก และจิตก็มีความสงบเห็นว่า สภาพร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ไอ้ตัวคิดว่าเรา ว่าของเรานี่สงบไป สงบตัวยึดถือวัตถุก็ตาม สิ่งมีชีวิตก็ตาม ว่าเป็นเรา เป็นของเรา นี่สงบ ตัวนี้นะ มีอารมณ์เป็นปกติอยู่เสมอ คิดว่าอัตภาพร่างกายนี้ไม่มีเรา ไม่มีของเรา และมันก็ไม่มีอะไรเป็นเราอีก หาตัวเราในนั้นไม่ได้

หากไม่สามารถทรงสมาธิถึง ปฐมฌาน แล้ว วิปัสสนาญาณไม่มีผล
            จิตนี่มีสภาพรับอารมณ์ อารมณ์เดียว เมื่อจิตมันรับอารมณ์ที่เป็นกุศลทรงสติสัมปชัญญะด้วย อานาปานุสสติกรรมฐาน แล้วอะไรมันจะเข้ามาอีก ถ้าหากว่าท่านไม่สามารถจะทรง อานาปานุสสติกรรมฐาน ได้ถึง ปฐมฌาน ผลแห่งการเจริญวิปัสสนาญาณของท่านทั้งหลาย จะไม่มีผลตามต้องการ เพราะจิตมีกำลังไม่พอที่จะทำลายกิเลสให้เป็น สมุจเฉทปหาน ได้

วิธีการถามพระให้รู้คำตอบ

          จิตของฌาน ๔ มีเอกัคคตากับอุเบกขาเป็นปกติ จิตดวงนี้ต้องจำเอาไว้ว่าต้องให้มันทรงอยู่ตลอดเวลา ถ้ามันทรงตัวอยู่ตลอดเวลาแล้ว เรื่อง ทิพจักขุญาณ มันง่ายเหลือเกิน ยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก แต่ถ้าว่า ถ้าจิตเข้าถึงจุดนี้แล้ว ท่านที่มีความรู้ในขั้นนี้จริงๆ ท่านบอกว่าถ้ายังใช้อารมณ์จิตของตนรู้อยู่ ท่านบอกว่าใช้ไม่ได้ ต้องหาทางเข้าถามถึงพระ ถามพระกันตอนไหน

            จับภาพนิมิตพระองค์ใดองค์หนึ่งขึ้นเป็นบรรทัดฐาน เรียกว่าภาพ พระพุทธนิมิต จับแล้ว เวลาที่ต้องการอยากจะทราบอะไรก็ถามพระ พระบัญชาการมาอย่างไรเป็นคำตอบที่เราได้รับปรากฏเองแล้วก็ถูกต้องตามความเป็นจริง

            ต้องจำไว้เลยทีเดียวว่าพระลักษณะนี้ที่เราเห็น เราถามแล้ว ทรงพยากรณ์ตรงตามความเป็นจริงทุกประการจำภาพพระไว้ ถ้าทำอย่างนี้จนชำนาญก็เลิกฝึกวิธีอื่น ต้องการอะไรก็ถามพระ

ถ้าได้ทิพจักขุญาณแล้วจงอย่าเหลิง

          ทิพจักขุญาณ นี่ถ้าหากว่าจะดูกันให้แจ่มใสจริง ๆ รู้กันให้แจ่มใสจริง ๆ ก็ต้องทำจิตของเราเข้าสู่อารมณ์วิปัสสนาญาณ

          แล้วอารมณ์วิปัสสนาญาณนี้ ต้องว่ากันให้ตรง ๆ จริงนะ อย่าปัสฯ ส่งเดช ถ้าปัสฯ ส่งเดชไม่มีผล ถ้าเราได้ทิพจักขุญาณเสียแล้ว การปัสฯ ส่งเดชย่อมไม่มีนี่สำหรับคนดีนะแต่คนที่เหลิงแล้วก็ใช้อะไรไม่ได้เหมือนกันบางทีพอได้ทิพจักขุญาณแล้วก็เหลิง นึกว่าตัวเป็นผู้วิเศษ ความจริงยังไม่พ้นนรก ถ้าเหลิงเสียหน่อย เดี๋ยวฌานโลกีย์มันก็จะเสื่อมทิพจักขุญาณมันก็จะสูญ ทีนี้ก็เหลือแต่อุปาทาน พวกเหลือแต่อุปาทานหรือได้ทิพจักขุญาณใหม่ ๆ จะมีอุปทานกันมาก เห็นเทวดาหัวเป็นช้าง นี่อย่างนี้ก็มี เห็นเทวดาไม่ใส่เสื้อเสียบ้างก็มี อะไรอย่างนี้เป็นต้น เห็นพระจุฬามณีเป็นอิฐ เป็นปูน หรือเป็นทองคำอย่างนี้ยังใช้ไม่ได้นะเขาไม่ใช้กันเลย เป็นอารมณ์จิตที่เลวมาก เรียกว่าเลวจนใช้ไม่ได้ถ้าจะเป็นการตรวจคะแนนในสนามหลวงจะให้สักกี่ร้อยศูนย์ก็ยังไม่พอกับความเลวทีนี้ความจริงมันก็ดีบ้างแล้วเหมือนกัน แต่ดีไม่ถึงดี ถ้าไปเทียบกับระบบของความดีเข้าก็เลวมากเพราะฟั่นเฝือเห็นไม่ตรงกับความเป็นจริง





ความมุ่งหมายของเจโตปริยญาณ

          เจโตปริยญาณ พระพุทธเจ้าสอนไว้ คือ

            หนึ่ง มีไว้ให้เปลื้องความสงสัยว่ากิเลสมีจริงไหม

            สอง รู้จิตของตนเองว่า เวลานี้กิเลสอะไรมันเข้ามาสิงอยู่ อะไรเข้ามาทับอยู่ แล้วเราจะแก้อารมณ์ของกิเลสนั้นด้วยประการใด

 นี่ท่านมีไว้ให้ดูใจตนเองนะ ใจของชาวบ้านชาวเมืองจะเป็นอย่างไรก็ช่างเขาอย่าไปยุ่ง ยกเว้นบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่เราจะต้องสงเคราะห์จึงค่อยรู้เขา แต่เวลาอยากจะรู้ของเขาก็รู้เถอะ รู้แล้วนิ่ง ๆ ไว้ อย่าทำปากบอนไป ถ้าเขายังไม่ปรารถนาจะรับฟังก็อย่าพูด เขาไม่เลื่อมใสไม่ศรัทธาจงอย่าพูด อย่าเป็นขี้ข้าของชาวบ้าน อย่าเอาความรู้ของตนที่มีอยู่ไปเป็นเครื่องมือ เป็นลูกจ้างชาวบ้าน ให้ชาวบ้านชมว่าดี คำชมของชาวบ้านไม่มีความหมาย ถ้าเราเลวเสียอย่างเดียว เขาจะชมอย่างไรเราก็ดีไม่ได้ ถ้าเราดีเสียอย่างเดียว เขาจะนินทาว่าร้ายอย่างไร เราก็เลวไม่ได้ เหมือนกันไม่มีความสำคัญ

เราเจริญพระกรรมฐานเพื่ออะไร

            จงจำไว้ว่า การเจริญพระกรรมฐานน่ะ เรามุ่งหมายอย่างเดียวคือความเป็นพระอริยเจ้า ไอ้เทพต่าง ๆ ที่เห็น อารมณ์ต่าง ๆ ที่ฝัน อาการต่าง ๆ ที่เกิดมา มันจะเป็นอย่างไง ก็ช่างมันเถอะ เรามองของเราไว้ว่า จิตของเราเวลานี้นะ เราลืมความตายหรือเปล่า มีความประมาทในชีวิตไหม มีความเคารพในพระรัตนตรัย แน่นอนหรือเปล่า มีศีล ๕ บริสุทธิ์ไหม มีอารมณ์รักพระนิพพานหรือเปล่า เอาจิตจับมันไว้แค่นี้พอ ถ้าเจริญกัน จริง ๆ เขาเอาแค่นี้พอ ไอ้เรื่องอารมณ์ต่าง ๆ ที่มันผ่านเข้ามานี่อย่าไปยุ่งมั นนัก ถ้าเอาจิตไปยุ่งกับอาการต่าง ๆ ทางร่างกายบ้าง อาการต่าง ๆ ทำมาทั้งด้านจิตใจบ้าง ก็จะถือว่าเป็นการถือมงคลตื่นข่าว ยังไม่ได้อะไรเลยสักนิดหนึ่งในพระพุทธศาสนา นี่เป็นจุดแรกที่เราต้องการ
            จุดแรกในการเจริญพระกรรมฐาน ที่เราต้องการคือ พระโสดาบัน ฉะนั้นอารมณ์อย่างอื่นที่มันเกิดขึ้น จงปล่อยมันไปเอากำลังใจของเราจับไว้ในจุดนี้ อย่าปล่อยจิตให้มันยุ่งซุ่มซ่ามไปอย่างอื่น โดยมากมักจะมาถามกันหลาย ๆ ราย เรียกว่า คนประจำบ้าง คนไม่ประจำบ้าง เข้ามาถามกันอยู่เสมอว่าอาการอย่างนี้เกิดขึ้น อาการอย่างนั้นเกิดขึ้น มันเป็นอะไร อันนี้เบื่อที่จะรับฟัง คือไม่อยากจะรับฟังแล้วไม่อยากจะตอบ ไม่อยากจะพูดด้วย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าสอนกันพอ แต่ว่ามีนิสัยไม่จำ ถ้าสอนกันอย่างนี้ยังมีนิสัยไม่จำ แล้วเมื่อไหร่มันจะได้ดีกัน

ใจคิดไว้เสมอว่าร่างกายเรานี่มันสกปรก เราอาศัยมันอยู่ เราก็ปฏิบัติตามหน้าที่ ถ้ามันสลายตัวเมื่อไรเรากับมันก็เลิกกัน ขึ้นชื่อว่าร่างกายอย่างนี้จะไม่มีกับเราต่อไปอีก

การเจริญพระกรรมฐาน ความมุ่งหมายมีเท่านี้ แล้วทำกันจริงๆ แค่นี้มันก็เป็นพระอรหันต์ แต่ขอให้เรารักจริงๆ เท่านั้น อย่าหลอกตัวเอง อย่าหลอกชาวบ้าน อย่าเมาในความชั่ว จงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ สิ่งใดที่ควรไม่ควรมันต้องรู้ ไม่ใช่จะไปนึกว่า ควรไม่ควรตามอัธยาศัย พระมีวินัยอยู่ คำสอนพระพุทธเจ้ามีอยู่ ศึกษาคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมครูให้ครบถ้วน แล้วปฏิบัติตามนั้น ให้มันตรงตามจุดที่พระพุทธเน้าทรงสอน คำว่าดีมันจึงปรากฏ


การรักษาศีลเป็นเรื่องสำคัญ

            การที่มีคนพูดว่า ฌานสมาบัติหรือมรรคผลในสมัยนี้ไม่ควรหวัง เพราะไม่มีใครจะบรรลุได้นั้น ไม่เป็นความจริง ขอให้ท่านดีเท่าดีถึงเถิด ฌานและมรรคผลยังมีสนองความดีท่านอยู่เป็นปกติ ที่ไม่ได้ ไม่ถึงแม้แต่ฌานโลกีย์ ก็เพราะแม้แต่ศีลที่เป็นความดีหยาบ ๆ ที่พระอริยเจ้าเห็นว่าเป็นของเด็กเล่น ก็ไม่สามารถจะรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ จะเอาอะไรมาเห็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น