...+

วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์เมื่อเสด็จไปทรงศึกษาวิชาการในยุโรป เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๘




            วิชาที่จะออกไปเรียนนั้น ก็คงต้องเรียนภาษาและหนังสือในสามภาษา คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ให้ได้แม่นยำชัดเจนจนคล่องแคล่ว จนถึงแต่งหนังสือได้สองภาษาเป็นอย่างน้อย เป็นวิชาหนังสืออย่างหนึ่ง กับวิชาเลขให้เรียนรู้ คิดใข้ได้ในการต่างๆอีกอย่างหนึ่งเป็นต้น แต่วิชาอื่นๆที่จะเรียนต่อไปให้เป็นวิชาชำนาญวิเศษในกิจการข้างวิชานั้น จะตัดสินเป็นแน่นอนว่าให้เรียนสิ่งใดในเวลานี้ก็ยังไม่ควร จะต้องเอาไว้เป็นคำสั่งต่อภายหลัง เมื่อรู้วิชาขั้นต้นพอสมควรแล้ว แต่บัดนี้จะขอตักเตือนอย่างหนึ่งก่อนว่า ซึ่งให้ออกไปเรียนภาษาวิชาการในประเทศยุโรปนั้น ใช่ว่าต้องการ เอามาใช้แต่เฉพาะภาษาฝรั่ง หรือ อย่างฝรั่งนั้นอย่างเดียว ภาษาไทยและหนังสือไทย ซึ่งเป็นภาษาของตัว หนังสือของตัว คงจะต้องใช้อยู่เป็นนิจ จงเข้าใจว่าภาษาต่างประเทศนั้นเป็นแต่พื้นของความรู้ เพราะวิชาความรู้ในหนังสือไทยที่มีผู้แต่งไว้ เป็นแต่ของเก่าๆมีน้อย เพราะมิได้สมาคมกับชาติอื่นมาช้านาน เหมือนวิชาการในประเทศยุโรปที่ได้สอบสวนซึ่งกันและกัน จนเจริญรุ่งเรืองมากแล้วนั้น ฝ่ายหนังสือไทยจึงไม่พอที่จะเล่าเรียน จึงต้องไปเรียนภาษาอื่นเพื่อจะได้เรีนวิชาให้กว้างขวางออกไป แล้วกลับเอามาใช้เป็นภาษาไทยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จะทิ้งภาษา ของตัว ให้ลืมถ้อยคำที่จะพูดให้สมควรเสีย หรือจะลืมวิธีเขียนหนังสือไทย ที่ตัวได้ฝึกหัดแล้วเสียนั้นไม่ได้เลย ถ้ารู้แต่ภาษาต่างประเทศ ไม่รู้เขียนอ่านแปลลงเป็นภาษาไทยได้ ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด ถ้าอย่างนั้นหาจ้างแต่ฝรั่งมาใช้เท่าไรๆก็ได้ ที่ต้องการนั้น ต้องให้กลับแปลภาษาต่างประเทศลงเป็นภาษาไทยได้ แปลภาษาไทยออกเป็นภาษาต่างประเทศได้ จึงจะนับว่า เป็นประโยชน์ อย่าตื่นตัวเองว่าได้ไปร่ำเรียนภาษาฝรั่งแล้วลืมภาษาไทย กลับเห็นเป็นการเก๋การกี๋ อย่างเช่นนักเรียนบางคน มักจะเห็นผิดไปดังนั้น แท้ที่จริงเป็นการเสียที่ควรจะติเตียนแท้ทีเดียว เพราะเหตุฉะนั้นในเวลาที่ออกไปเรียนวิชาอยู่ ขอบังคับว่าให้เขียนหนังสือถึงพ่อทุกคน อย่างน้อยเดือนละฉบับ เมื่อเวลายังเขียนหนังสืออังกฤษไม่ได้ ก้เขียนมาเป็นหนังสือไทย ถ้าเขียนหนังสืออังกฤษหรือภาษาหนึ่งภาษาใดได้ ให้เขียนภาษาอื่นนั้นมาฉบับหนึ่ง ให้เขียนคำแปลเป็นหนังสือไทยอีกฉบับหนึ่ง ติดกันมาอย่าให้ขาด เพราะเหตุที่ลูกยังเป็นเด็ก ไม่ได้เรียนภาษาไทยแน่นอนมั่นคง ก็ให้อาศัยไต่ถามครูไทยที่ออกไปอยู่ด้วย หรือค้นดูตามหนังสือภาษาไทยซึ่งได้จัดออกไปให้ด้วย คงจะพอหาถ้อยคำที่จะใช้แปลออกเป็นภาษาไทยได้ แต่หนังสือไทยที่จะเป็นกำลังช่วยนี้ยังมีน้อยจริง เมื่อเขียนเข้ามาคำใดผิดจะติเตียนออกไปแล้วจงจำไว้ใช้ให้ถูกต่อไปภายหน้า อย่าให้มีความกลัวความกระดากว่าจะผิด ให้ทำตามที่เต็มความอุตสาหะความแน่ใจว่าเป็นถูกแล้ว เมื่อผิดก็แก้ไปไม่เสียหายอันใด......

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น