...+

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

สร้างรายได้เสริม เติมความผูกพัน กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลโคกหินแฮ่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม

เรียบเรียงโดย นพรัตน์ จิตรครบุรี


        ชาวโคกหินแฮ่ คือ ชาวภูไทดั้งเดิมที่อพยพมาจากประเทศลาว มีวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียบประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีความเชื่อ ความผูกพันกับวิธีการรักษาด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นและการแพทย์พื้นบ้านมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาสมุนไพร  การรักษาตามหลักความเชื่อของศาสนาพุทธ ด้วยวิถีการประกอบอาชีพที่ยึดการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก การเจ็บไข้ได้ป่วยส่วนใหญ่จึงเป็นการเจ็บป่วยจากการประกอบอาชีพ อย่างอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยร่างกายหลังจากทำงาน ซึ่งเป็นการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรงจนถึงขั้นต้องไปโรงพยาบาล

        กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นองค์การบริหารส่วนตำบลโคกหินแฮ่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 เพื่อดูแลสุขภาพของคนในชุมชน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ และงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลโคกหินแฮ่

        การดำเนินงานกองทุนฯ ของ อบต.โคกหินแฮ่นั้นเน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และที่สำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือจากประชาชน  เพราะกองทุนฯนี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริการแก่ประชาชน ประชาชนคือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนฯ นี้มากที่สุด ดังนั้น ประชาชนทุกคน ทุกหลังคาเรือน ต้องมีความร่วมมือร่วมใจกัน โดยการเสนอโครงการผ่านคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของหมู่บ้านในเวทีประชาคมหมู่บ้าน เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ต่อไป หลังจากนั้น คณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละหมู่บ้านอยู่แล้ว จะนำข้อมูลมาประชุมเพื่อพิจารณาคัดเลือกโครงการร่วมกัน โดยเน้นว่า ต้องเป็นโครงการ ที่สร้างสุขภาพ ไม่ใช่ซ่อมสุขภาพ

        นอกจากนี้ กองทุนของ อบต.โคกหินแฮ่ ยังเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยให้ประชาชนทุกหลังคาเรือนสมัครเป็นสมาชิกของทุนฯ และบริจาคเงินสมทบเข้ากองทุนฯ หลังคาเรือนละ 20 บาทต่อปี ซึ่งชาวบ้านก็เต็มใจที่จะสมทบ และเพื่อดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด จึงจำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์โครงการผ่านทางหอกระจายข่าวและการเดินบอกข่าวโดย อสม.ในแต่ละหมู่บ้าน

        "สร้างรายได้เสริม เติมความผูกพัน" คือ แนวความคิดของโครงการที่มาจากสาเหตุอาการเจ็บป่วย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยร่างกายหลังจากการทำนา ทำไร่ โดยการรวบรวมกลุ่มคนที่มีความรู้ทางด้านการนวดมาปรึกษาหารือกัน เพื่อดำเนินการจัดตั้งกลุ่มรักษ์สุขภาพด้วยสมุนไพร แล้วนัดประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ และตัวแทนชาวบ้าน ทำประชาคมร่วมกันว่าจะจัดโครงการอะไรในกลุ่มดี โครงการอบรมการนวดเพื่อสุขภาพจึงถูกเสนอขึ้นมา

        โครงการอบรมการนวดเป็นโครงการที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ผู้เข้าอบรมบางคนสามารถนำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัว โดยการเปิดให้บริการนวดในหมู่บ้าน ส่วนคนที่ไม่ได้นำไปประกอบอาชีพก็จะนวดให้กับสมาชิกในครอบครัว เป็นการเสริมสร้างความรักความผูกพันในครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น หนึ่งในผู้ผ่านการอบรมกล่าวว่า " คิดว่าเป็นโครงการที่ดีที่สุด คือ โครงการอบรมเรื่องนวด เพราะว่าหลังจากอบรมแล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ผู้เข้าอบรมบางคนก็เปิดร้านนวด บางคนไปนวดตามบ้าน บางคนก็นวดให้กับคนที่บ้านทำให้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น รู้สึกว่าผูกพันกับคนในบ้าน เช่น นวดให้ผู้เฒ่าผู้แก่ นวดให้พ่อ -แม่ ตัวเองก็ได้นวดให้สามี ก็รู้สึกว่าทุกคนพอใจมาก"

        และโครงการที่ประสบความสำเร็จอีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการผลิตเกลือไอโอดีน เพราะชาวบ้านทุกคนได้ช่วยกันทำเกลือ ช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือ และสุดท้ายก็ได้เกลือกลับบ้านกันทุกหลังคาเรือน ความพึงพอใจที่มีต่อโครงการถูกแสดงออกจากความรู้สึกของชาวบ้านท่านหนึ่งว่า

        " ตั้งแต่มีกองทุนฯ นี้เข้ามาก็รู้สึกว่าดีนะ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องไปรอตรวจฟันหรือทำฟันที่โรงพยาบาลแล้ว เพราะหมอมาตรวจที่อนามัยเลย หมอก็บริการดีขึ้น ออกมาเยี่ยมและให้คำแนะนำชาวบ้านถึงบ้าน พูดจาดี ชาวบ้านก็ได้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เช่น จากที่ไม่เคยรู้ว่าเกลือไอโอดีนสำคัญอย่างไร ก็ได้รู้และได้ร่วมกันทำเกลือไอโอดีนด้วย ถ้าบ้านไหนไม่ไปก็จะได้รับแจกถึงบ้านเลย"

        การดำเนินการกองทุนหลักประกันสุขภาพของ อบต.โคกหินแฮ่ มีสิ่งขับเคลื่อนส่งผลต่อความสำเร็จที่น่าสนใจและสามารถสรุปได้ว่า เป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จในการบริหารกองทุนคือ
            ประสิทธิผลของการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ต้องเริ่มจากการร่วมใจ เป็นหนึ่งเดียวของกรรมการดำเนินงานและประชาชนในชุมชน โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน ให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับคณะกรรมการดำเนินงานซึ่ง เป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดทิศทางและความสำเร็จในการบริหารกองทุนฯ

        การสร้างและพัฒนาทีมงานที่เข้มแข็ง ให้มีความเสียสละทั้งแรงกายและแรงใจในการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน รวมถึงการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนการดำเนินโครงการทุกขั้นตอน มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอ มีการประเมินผลการปฏิบัติงาน ทบทวนปัญหาอุปสรรคและหาทางแก้ไขร่วมกัน

            ตลอดจนการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันกับชาวบ้าน ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือและร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในชุมชน รวมทั้งการประสานความร่วมมือที่ดีกับหน่วยงานต่างๆในท้องถิ่นก็เป็นการช่วยขยายเครือข่าย ในการดูแลสุขภาพ อันจะก่อให้เกิดการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนด้านสุขภาพของชาวชุมชนต่อไป

    ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
    สมสมร เรืองวรบูรณ์
    พิพัฒน์พงศ์ เข็มปัญญา
    จุรีรัตน์ กอเจริญยศ
    ศิริรัตน์ อินทรเกษม
    พยอม สินธุศิริ
    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชานี นครพนม          


 ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น