...+

วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553

กองทุนหลักประกันสุขภาพแบบมีส่วนร่วม : เครือข่ายพันธมิตร กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลสร้างถ่อน้อย อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ

เรียบเรียงโดย นพรัตน์ จิตรครบุรี


       "ตำบลสร้างถ่อน้อยเข้มแข็ง เป็นแหล่งท้องถิ่นธรรมาภิบาล สืบสานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลือเลื่องอนุรักษ์ทรัพยากรป่าดงใหญ่ งามวิไลวัฒนธรรมอันล้ำค่า พัฒนาการศึกษาเพื่อประชาธิปไตย" วิสัยทัศน์ชาวตำบลสร้างถ่อน้อย

          กองทุนระบบหลักประกันสุขภาพฯ ตำบลสร้างถ่อน้อย เป็นกองทุนที่เกิดขึ้นจากทุนทางสังคมที่มีหลากหลาย ทั้งทุนคน ทุนทรัพยากร ทุนธรรมชาติต่างๆ และการนำทุนทางสังคมเหล่านั้นมาหลอมรวมเข้ากับการบริหารจัดการกองทุนฯ

        โดยมีหลักยุทธศาสตร์ในการบริหาร 5 ด้าน คือ
  1. ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย
  2. พัฒนเชิงพหุภาคี
  3. ส่งเสริมและป้องกันโรค
  4. เน้นการมีส่วนร่วม
  5. สอดคล้องกับปัญหาพื้นที่       
          เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาโรคภัยไข้เจ็บแบบมีส่วนร่วมโดยยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง ด้วยการทำให้ชุมชนรู้จักการค้นหาปัญหา และให้ผู้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการเครือข่ายในการจัดระบบบริการสุขภาพ
         ตำบลสร้างถ่อน้อยจึงเกิดการระดมทุนด้านบุคลากรในพื้นที่เข้ามา มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาพในลักษณะเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ องคฺ์การบริหารส่วนตำบล, โรงเรียน, วัด, ศูนย์พัมนาเด็กเล็ก,เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย, ทหารประจำการที่โครงการศิลปาชีพ, โรงพยาบาลหัวตะพาน, สำนักงานสาธารณสุขอำเภอหัวตะพาน, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญและหน่วยธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่ เช่น ธนาคารชุมชน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์

          ชุมชนสร้างถ่อน้อยมีจุดแข็งที่ถือว่าสำคัญไม่แพ้กันคือ มีวัดเป็นศูนย์กลางการบริหารงานต่างๆ และมีการรวมกลุ่มของประชากรในการประกอบอาชีพต่างๆ เช่น กลุ่มทอผ้าซึ่งเป็นพวกผ้าขิด ผ้าไหมเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน , กลุ่มท่องเที่ยวและเรียนรู้ , กลุ่มโรงงานน้ำปลาป่าดงใหญ่, เพื่อผลิตน้ำปลานที่มีคุณภาพใช้ภายในชุมชน ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลดเงินไหลออกนอกชุมชน

          การพัฒนาดำเนินการของกองทุนฯ ได้เน้นการมีส่วนร่วมของเครือข่ายพันธมิตร อาจเรียกว่าเป็นระยะของการพัฒนาแนวคิดการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการกองทุนฯ และ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ว่าได้ โดยมีกิจกรรมสำคัญในการดำเนินการที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ได้แก่
  •  จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในระดับพื้นที่ของคณะกรรมการกองทุนฯ
  • จัดทำแผนประชาคมระดับหมู่บ้าน
  • จัดลำดับความสำคัญของปัญหาสุขภาพที่สำคัญในระดับพื้นที่
  • จัดทำแผนแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่
  • การนำทุนทางสังคม หรือแหล่งประโยชน์ที่สำคัญของชุมชนมาใช้เพื่อการดำเนินงานกองทุนฯ
  • คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาอนุมัติแผนงานโครงการ
  • ทุกหมู่บ้าน / องค์กรดำเนินงานตามแผนที่ได้กำหนดไว้
  • คณะกรรมการกองทุนฯ ติดตามประเมินผลตามแผนงาน โครงการระดับพื้นที่ 2 ระยะ คือ ระยะดำเนินการและระยะสิ้นสุดโครงการ
  • สรุปผลการดำเนินงานโครงการระดับหมู่บ้านและในภาพรวมระดับตำบล
           จากลักษณะภูมิประเทศที่พื้นที่บางส่วนของตำบล อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงใหญ่ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากป่าดงใหญ่ โดยเฉพาะการเก็บหาเห็ดต่างๆ ผักต่างๆ การเก็บหาแมลงกินได้ การใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ชุมชนจึงเกิดการระดมแนวคิดการจัดการทุนทางสังคมที่มีอยู่ในพื้นที่ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนในชุมชน

         "ครั้งแรกก็ไม่ค่อยมีใครรู้เพราะไม่เคยได้รับงบประมาณจากตรงนี้ เมื่อได้มาก้ไม่รู้จะทำอย่างไรก็เลยประชุมชาวบ้านว่าจะทำอย่างไร บ้านเราเป็นบ้านที่มีป่า และก็มีสมุนไพรเยอะก็เลยตกลงกันว่า จะทำห้องอบสมุนไพรโดยสร้างในวัด ให้พระเป็นผู้หาสมุนไพร และก็แต่งตั้งคณะกรรมการดูแลการเก็บเงิน ค่าบริการครั้งละ 10 บาท การปฏิบัติตัวก่อนเข้าห้องอบช่วงแรกก็ปฏิบัติตัวกันไม่ค่อยถูก ให้ทางสถานีอนามัยมาอบรมเรื่องการอบตัวด้วยสมุนไพร" นายอติพร รักษาศรี กำนันตำบลสร้างถ่อน้อย

         ความสำเร็จของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ตำบลสร้างถ่อน้อย เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยการทำงานเป็นเครือข่ายพันธมิตร องค์กรชุมชนมีความสามารถในการบริหารจัดการกลุ่ม องค์กรต่างๆ ทีมีอยู่ในหมู่บ้าน มีการระดมทุนและจัดการทุนด้วยการใช้องค์ความรู้ หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการเชื่อมโยงและประสานประโยชน์กันทุกกลุ่ม มีการจัดการคน ทุน และองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้เกิดคุณค่ามากกว่าเดิม ด้วยการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งภายในและภายนอกชุมชน

          อาจกล่าวได้ว่า ตำบลสร้างถ่อน้อย เป็นต้นแบบตำบลจัดการระบบหลักประกันสุขภาพที่มีความเข้มแข็ง เพราะชุมชนมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง สามารถพึ่งพาตนเองและสามารถจัดการระบบดูแลสุขภาพได้ด้วยชุมชนเอง


ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
วรางคณา บุตรศรี

ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น