กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลพุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์
เรียบเรียงโดย กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ในสายตาของนักท่องเที่ยว จ.บุรีรัมย์ เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีความน่าสนใจเพราะเป็นแหล่งวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมโบราณ โดยเฉพาะโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ในยุครุ่งเรืองของขอม
คนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร โดยเฉพาะการทำนา เช่นเดียวกับ คนใน ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง ที่คนมากกว่า 80% คือ เกษตรกร ส่วนใหญ่คนในตำบลแห่งนี้มีอาชีพชาวนา ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม นอกเหนือจากนั้น เป็นอาชีพรับจ้างทั่วไป
อบต.พุทไธสง เป็น อบต.ขนาดเล็กที่มีคนทำงานเพียง 17 คน เท่านั้น แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ด้วยความตระหนักและให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคน กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ถูกคิดค้นเพื่อพัฒนาและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคมพร้อมกับกิจกรรม ที่ประสานความมีส่วนร่วมจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพราะว่า องค์การบริหารส่วนตำบลพุทไธสง มีพื้นที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลพุทไธสง ซึ่งสามารถเดินทางติดต่อประสานงานกันได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ (PCU) จากโรงพยาบาลพุทไธสงเป็นผู้ดำเนินงานพัฒนาระบบสุขภาพทั้งชุมชน
ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสภาพของประชาชนในพื้นที่ ใช้งบประมาณจากโรงพยาบาลพุทไธสง ซึ่งทำหน้าที่เป็น CUP ของหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยดูแลพื้นที่จำนวน 23 หมู่บ้านและครอบคลุม 11 หมู่บ้าน ในเขตพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลพุทไธสงที่รับผิดชอบด้วย
ดังนั้น แนวคิดหลักของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ อบต.พุทไธสง ถือเป็นการต่อยอดจากโครงการหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ นี่เอง
คณะกรรมการกองทุน ภายใต้การนำของนายก อบต.พุทไธสง ได้วางหลักเกณฑ์ให้มีการประชุมเพื่อทำความเข้าใจในเรื่อง "ภาวะสุขภาพชุมชนท้องถิ่น " ร่วมวางแผนดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในชุมชน ภายใต้ชื่อโครงการ "ผสมงาน-ผสานใจ"
ผสมงาน - การดูแลสุขภาพชุมชนกับโรงพยาบาลพุทไธสง
ผสานใจ - ออกดำเนินงานร่วมกัน
ทั้งสององค์กรมีเป้าหมายเดียวกัน คือ สุขภาพที่ดีของคนในชุมชน
หลังจากนั้น มีการจัดตั้งคระทำงานที่ประกอบไปด้วยแพทย์-พยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ออกทำงานคัดกรองโรคและทำงานประชาสัมพันธ์ไปในคราวเดียวกัน
คณะทำงาน ได้ทำประชาสังคมตามหมู่บ้านเพื่อสร้างความเข้าใจโครงการ โดยใช้ชื่อว่า "โครงการผสมงาน-ผสานใจ เพื่อสุขภาพประชาชน" เน้นงานส่งเสริมทั้งในเชิงป้องกัน ตรวจสุขภาพและคัดกรองโรค โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง คัดกรองภาวะโภชนาการและพัฒนาการเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี และคัดกรองออทิสติก
แม้ว่าในระยะเริ่มแรกของการดำเนินโครงการจะมีจุดเริ่มต้นที่ตัวนายก อบต.พุทไธสงและโรงพยาบาลพุทไธสง แต่เมื่อได้มีการประชาสัมพันธ์ออกไปและเกิดการปฏิบัติการคัดกรองโรคในชุมชน ทำให้หน่วยต่างๆของชุมชน อย่างเช่น วัด, ส.อบต., อสม. ผนึกำกลัง ผสานเข้ามาให้ความช่วยเหลือในการจัดกิจกรรมในทุกรูปแบบ นับว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของปัจจัยความสำเร็จของโครงการ
นอกจากนี้ ความสำเร็จของงานได้แสดงผลออกมาจากความรู้สึกพึงพอใจของผู้เข้ารับบริการ ทั้งในแง่ของความรู้และการปฏิบัติตัวเพื่อปลอดโรค ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้รับบริการยังได้รับความรู้เรื่องการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมและผู้ให้บริการเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ
อบต.พุทไธสง มีความเข้าใจสุขภาวะของชุมชน การทำงานเป็นทีม การวางแผนการทำงานและการกำหนดเป้าหมายงานร่วมกันด้วยการทำประชาคม นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องความโปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำและทุกกลุ่มอายุได้รับการดูแล คัดกรองความเสี่ยงและส่งเสริมสุขภาพได้ครอบคลุมมากกว่า 80%
โครงการผสมงาน ผสานใจทำให้เกิดโครงการดูแลสุขภาพเฉพาะกลุ่มผู้พิการโดยเฉพาะ คือ "โครงการพัฒนาระบบบริการผู้พิการ" จนได้รับรางวัลชนะเลิศในกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2549 อันเป็นผลมาจากคิดอย่างมีส่วนร่วม ความโปร่งใสและการปฏิบัติการอย่างเป็นขั้นตอน
ใช่หรือไม่ว่า เวลานี้ทั้งงานทั้งใจ ถูกผสมอยู่ด้วยกันภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพนั้นแล้ว
ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
ดร.อดิพร ทองหล่อ
กิตติภูมิ ภิญโย
ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น