...+

วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การสร้างประชาธิปไตยภายในพรรค (ประชาธิปไตยกงล้อ/cycle democracy)

โดย สันติ ตั้งรพีพากร 24 พฤศจิกายน 2552 13:04 น.
ประชาธิปไตยที่จะสร้างขึ้นภายในพรรคการเมืองใหม่ ตั้งอยู่บนฐานของ “อำนาจปัญญา” มวลมหาชนชาวพันธมิตรฯ เรียกกันเรื่อยมาว่า “ประชาธิปไตยมวลมหาชน” มันเป็นสิ่งที่พวกเราชาวพันธมิตรฯ สร้างขึ้นมากับมือ มีการนำมาปฏิบัติใช้กันแล้วในทั้งในระหว่างการเคลื่อนไหวต่อสู้ 193 วันและหลังจากนั้น ปัจจุบัน ได้ปรากฏเป็นเค้าโครงเบื้องต้น พร้อมที่จะพัฒนาเติบใหญ่ เข้มแข็งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ตามการพัฒนาขยายตัวของขบวนการการเมืองภาคประชาชนนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยมวลมหาชน เป็นจินตภาพสำคัญอีกอันหนึ่งต่อจากจินตภาพ “การเมืองใหม่” และ “อำนาจกำหนดใหม่” ที่จะเป็นกุญแจไขประตูให้เราสามารถเข้าถึงความเป็นจริงระดับ “แก่นแกน” ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่นี้ สมควรที่พวกเราชาวพันธมิตรฯและสมาชิกพรรคการเมืองใหม่เอาใจใส่ ทำความเข้าใจ “ติดอาวุธ” ทางปัญญา

ลักษณะสำคัญของระบบประชาธิปไตยมวลมหาชน

ประการแรก เป็นการใช้อำนาจกำหนดจากเบื้องล่าง (มวลมหาชนที่มีปัญญา ด้วยกลไกที่สอดคล้อง ส่งเสริม และในรูปแบบที่แน่นอน ในบรรยากาศที่เปิดกว้าง แต่มิใช่ประชาธิปไตยเฟ้อ มั่ว) กำกับให้ส่วนบนใช้อำนาจที่มวลมหาชนเบื้องล่างมอบให้นั้นอย่างถูกต้อง สามารถสนองตอบผลประโยชน์ของมวลมหาชนเบื้องล่างอย่างรอบด้าน นำไปสู่การเกิดเงื่อนไขใหม่ๆ ให้มวลมหาชนเบื้องล่างพัฒนาปัญญารู้ทัน หูตาสว่าง เกิดความตื่นตัวในระดับสูงขึ้นอีกขั้นหนึ่ง พร้อมยิ่งขึ้นในการขับเคลื่อนกระบวนการใช้อำนาจกำหนดไปในทิศทางที่ถูกต้อง สอดคล้องกับผลประโยชน์ที่แท้จริงของตนเอง สอดคล้องกับสภาพเป็นจริงของประเทศชาติ สอดคล้องกับลักษณะยุคสมัยและแนวโน้มพัฒนาการของสังคมโลก

ประการที่สอง เป็นต้นแบบประชาธิปไตยแบบ “กงล้อ” (cycle democracy) โดยมีอำนาจกำหนดของมวลมหาชนจากเบื้องล่างเป็นจุดตั้งต้น ผู้ใช้อำนาจส่วนบนเป็นจุดขยายผล จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ตามต้องการ โดยทั้งหมดนั้น จะมุ่งไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของมวลมหาชนเบื้องล่าง เพื่อนำไปสู่การใช้อำนาจกำหนดในรอบต่อไปอย่างมีคุณภาพ เกิดเป็นพลวัตขับเคลื่อน “กงล้อ” ระบบประชาธิปไตยมวลมหาชนให้เดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน

ประชาธิปไตยมวลมหาชน เป็นพัฒนาการต่อเนื่องของประชาธิปไตยโลก บนฐานความเป็นไปได้ของการเมืองในประเทศไทย นั่นคือ ฐานอำนาจมวลมหาชนเบื้องล่างมีความเข้มแข็งยิ่งกว่า อำนาจการนำส่วนบน ตรงกันข้ามกับระบบประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนที่อำนาจกลุ่มทุนเข้มแข็ง อยู่ในฐานะอำนาจกำหนด และระบบประชาธิปไตยชนชั้นกรรมาชีพ ที่อำนาจรวมศูนย์ของรัฐบาลโดยพรรคคอมมิวนิสต์เข้มแข็ง อยู่ในฐานะอำนาจกำหนด

จนถึงทุกวันนี้ ระบบประชาธิปไตยของโลกมีอยู่สองแบบด้วยกัน จากการประมวลของจอห์น เนสบิตต์ นักอนาคตศาสตร์ ผู้โด่งดังจากงานเขียนเกี่ยวกับแนวโน้มใหญ่โลก (mega trends) คือประชาธิปไตยแนวนอน (horizontal democracy) และประชาธิปไตยแนวตั้ง (vertical democracy)

จอห์น เนสบิตต์ อธิบายคร่าวๆ ว่า ประชาธิปไตยแนวนอน เป็นการใช้อำนาจของกลุ่มการเมืองที่สลับกันใช้อำนาจบริหาร ฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐบาล อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายค้าน ต่อสู้กันในระบบรัฐสภา โจมตีซึ่งกันและกัน เพื่อหาทางเปลี่ยนถ่ายอำนาจบริหารจากมือฝ่ายตรงกันข้ามมาอยู่ในมือตน เป็นแบบที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในประเทศตะวันตก

ส่วนประชาธิปไตยแนวตั้ง มีใช้กันอยู่ในประเทศจีน อำนาจอยู่ในมือของกลุ่มนำสูงสุด ขณะที่เบื้องล่างเป็นมวลชนอันกว้างใหญ่ไพศาล ชนชั้นนำเป็นผู้ออกคำสั่ง ขณะที่มวลชนก็มีสิทธิ์เสนอ เป็นการใช้อำนาจจากบนลงล่างและจากล่างขึ้นบน

ในความเข้าใจของผม ประชาธิปไตยแนวนอนมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ชนชั้นสูงเท่านั้นที่มีสิทธิประชาธิปไตย กลุ่มอภิสิทธิชนในสังคมซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม จะต่อสู้ช่วงชิงอำนาจบริหารรัฐ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าครองอำนาจ โดยฝ่ายที่พลาดก็เป็นฝ่ายค้านในสภา การทำงานของระบบประชาธิปไตยดังกล่าว ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของมวลมหาชนเบื้องล่างแต่ประการใด บรรดา “ชาวบ้าน”ได้แต่มองกลุ่มอภิสิทธิชน “เล่น”การเมือง

เมื่อเข้าถึงยุคอุตสาหกรรม กลุ่มทุนในประเทศอุตสาหกรรมรณรงค์ให้เกิดการเมืองที่ยึดถือเอาเรื่อง อิสรภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพเป็นเกณฑ์ ต่อสู้ช่วงชิงอำนาจนจากชนชั้นศักดินาเจ้าที่ดิน เกิดการรวมตัวกันเข้าของรัฐและแว่นแคว้นต่างๆ เป็นรัฐชาติ หรือ “ประเทศชาติ” ตามความหมายที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน การเมืองการปกครองได้พัฒนาเป็นระบบประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน กลุ่มทุนต่อสู้ช่วงชิงอำนาจบริหารระหว่างกัน โดยอาศัยการออกเสียงเลือกตั้งของประชาชนเป็นตัวตัดสิน ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ก็เพื่อให้กลุ่มทุนมีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้นในสายตาประชาชนทั่วไป ในเรื่องการใช้อำนาจบริหารประเทศ

ดังนั้น ประชาธิปไตยแนวนอน จริงๆ แล้วก็คือรูปแบบการใช้อำนาจบริหารประเทศของกลุ่มทุน ที่มีสถานภาพ “ลอย” อยู่เหนือมวลมหาชน มีการถ่ายเทอำนาจจากกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่งในระดับเดียวกันของ “ส่วนบน” โดยมวลมหาชน “ส่วนล่าง” ไม่มีโอกาสได้ใช้อำนาจนั้นอย่างแท้จริง

ในส่วนของระบบประชาธิปไตยแนวตั้ง ที่ใช้อยู่ในประเทศจีน อำนาจตกอยู่ในมือของกลุ่มผู้นำพรรคการเมืองที่ผูกขาดอำนาจไว้ในมืออย่าง เคร่งครัด หรือที่พวกเขาเรียกกันว่า “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” ซึ่งในทางเป็นจริงก็คือการรวมศูนย์อำนาจไว้ในมือผู้นำพรรค เพียงแต่มีความพยายามที่จะเปิดช่องทางให้มวลมหาชนเบื้องล่างสามารถนำเสนอแนว คิด ความเห็น ให้ผู้นำเบื้องบนนำไปปฏิบัติใช้

เห็นได้ชัดว่า การไหลเลื่อนของอำนาจในระบบประชาธิปไตยแนวตั้ง หลักๆ ก็คือไหลจากเบื้องบนลงสู่เบื้องล่าง การสะท้อนจากเบื้องล่างสู่เบื้องบน เป็นไปในฐานะขององค์ประกอบขององค์อำนาจรวมเท่านั้น

พอสรุปได้ว่า ปัจจุบัน มีระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่อยู่สองแบบด้วยกัน คือแบบตะวันตกที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และแบบจีนที่ใช้กันอยู่ในประเทศจีน เวียดนาม และกลุ่มประเทศสังคมนิยม ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ประเทศ

หากมองด้วยสายตาประวัติศาสตร์ ก็พบว่า ประชาธิปไตย แนวนอน ประชาชนรับรู้การใช้อำนาจของกลุ่มทุน ที่ดำเนินไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเป็นที่ตั้ง สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้(ตามที่รับรู้) แต่ไม่มีโอกาสเข้าใช้อำนาจแทนที่กลุ่มทุน ขณะที่ประชาธิปไตยแนวตั้ง ประชาชนไม่ค่อยรับรู้การใช้อำนาจของผู้นำพรรคหรือรัฐบาลเบื้องบน ไม่อยู่ในฐานะที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยตรง เมื่อใดที่การใช้อำนาจของเบื้องบนมุ่ง “รับใช้ประชาชน” ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะได้รับประโยชน์

ประชาธิปไตยมวลมหาชนที่กำลังดำเนินไปในขบวนการการเมืองภาคประชาชนนำ โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและพรรคการเมืองใหม่ ปัจจุบันยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง อยู่ในขั้นของการประมวลจินตภาพจากการปฏิบัติ หากพัฒนาขึ้นมาได้จริงก็จะเป็นระบบประชาธิปไตย “กงล้อ” แบบไทย

โดยสาระก็คือ อำนาจ มวลมหาชนเบื้องล่าง เป็นอำนาจกำหนด หรืออำนาจตั้งต้น ขับเคลื่อนการทำงานของระบบประชาธิปไตยกงล้อ ส่งอำนาจขึ้นสู่เบื้องบน ให้ผู้ใช้อำนาจเบื้องบนสนองตอบความต้องการของมวลมหาชนเบื้องล่างตั้งแต่ต้น จนปลาย ส่งผลให้อำนาจเบื้องล่างเพิ่มความเข้มแข็งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ขับเคลื่อนกงล้อประชาธิปไตยไทยให้พัฒนาไปได้อย่างแข็งขันยิ่งขึ้น โดยกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะยังประโยชน์สูงสุดแก่มวลมหาชนตั้งแต่ต้นจน ปลาย

ในทางทฤษฎี ระบบประชาธิปไตยกงล้อแบบไทย มีความก้าวหน้ามากที่สุด เพราะมวลมหาชนเป็นเจ้าของอำนาจ เป็นผู้กำหนดการใช้อำนาจของกลุ่มคนส่วนบน ให้ใช้อำนาจเพื่อมวลมหาชนเบื้องล่าง ระบบนี้มีความเป็นธรรมสูงสุด เพราะไม่มีการลิดรอนสิทธิของฝ่ายใด ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ถ้วนหน้า เพียงแต่ว่ามวลมหาชนก็ได้ด้วย และได้อย่างมีหลักประกัน ไม่มีใครฉกฉวยไปได้ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับระบบประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน (แนวนอน) กับประชาธิปไตยแบบเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพ (แนวตั้ง)

อาจ เรียกระบบประชาธิปไตยกงล้อแบบไทยว่า เป็น “ประชาธิปไตยเปิดกว้าง” ให้โอกาสแก่ชนทุกชั้นพัฒนาชีวิตของตนเอง และอุทิศตัวทำประโยชน์เพื่อมวลมหาชน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่แต่ไหนแต่ไรมาไม่เคยได้สิ่งที่ตนควรได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น