สำหรับคนโสด ก็มักจะมีคำถามว่า "คนที่ ใช่ เมื่อไรจะเจอสักที"
ฝ่ายชายก็เฝ้ารอคอย "นางในดวงใจ" ฝ่ายหญิงก็เฝ้ารอคอย "ชายในฝัน"
ที่เจอๆมาแล้ว ผ่านไปแล้ว ก็ยังไม่ใช่ คนที่ "ใช่" สักที ใครหนอคือคนที่ใช่ของเรา
บางคนก็เชื่อเรื่องบุพเพสันนิวาส ว่าคู่แล้วไม่แคล้วกัน ยังไงๆคงต้องได้เจอสักวันจนได้
บางคนก็เชื่อเรื่องพรหมลิขิต ยังไงเสีย ต้องดลใจให้เนื้อคู่ของเรา มาพบมาเจอเราจนได้
อัน ที่จริงแล้ว ทุกอย่างนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกของเราเองต่างหาก
บางทีบุพเพสันนิวาสก็ทำให้เราได้พบได้เจอคนที่เรารู้สึกถูกชะตา ถูกอัธยาศัย
แต่ถ้าเราไม่สานสัมพันธ์ต่อให้ดีๆ เขาหรือเธอก็อาจจะไปใกล้ชิดสนิทสนมกับคนอื่น
และตกร่องปล่องชิ้น แต่งงานแต่งการกับเขาหรือเธอไปเสียก่อน เราก็ต้องรับประทาน "แห้ว" ไปตามระเบียบ
บางทีพรหมลิขิตก็ทำงานหนักแล้ว ดลใจให้เขาหรือเธอมาพบกับเราแล้ว
แต่ด้วยค่านิยมที่ผิดๆ ด้วยความเขิน ด้วยความเหนียมอาย จนกลายเป็นเล่นตัว
คนที่เขามาทีหลัง เขากล้าหาญชาญชัยกว่าเรา เขาก็คว้าเอาไปครอบครองเสียก่อน แล้วเราก็ต้องรับประทาน "แห้ว" อีกวาระหนึ่ง
จาก คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ทำให้เรารู้ว่า คนทุกคนที่มีความสัมพันธ์กับเราทุกวันนี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ต่างก็เคยได้มีความสัมพันธ์กับเรามาแล้วทั้งนั้นในอดีตชาติ คนที่เคยมีความสัมพันธ์ในทางที่ดีต่อเรามาก่อน
เมื่อได้มาพบกันอีกในชาตินี้ จะทำให้รู้สึกถูกชะตา ถูกอัธยาศัยกัน ชอบพอกัน
แต่ความสัมพันธ์ในอดีตชาตินั้น ก็ยังไม่มีอิทธิพลหรือมีความสำคัญต่อเรามากเท่ากับความสัมพันธ์ในปัจจุบัน
เราจึงควรพิจารณาเรื่องความสัมพันธ์ในปัจจุบันนี้ให้มากว่า
หากต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแล้ว เขาหรือเธอ จะเข้ากับเราได้ดีไหม ไปกันได้ดีไหม
ยอมรับและเข้าใจกันได้ไหม และจะทำให้มีความสุขที่อยู่ด้วยกันหรือไม่
หลักธรรมในการเลือกคู่ครอง คือ สมชีวิธรรม 4 เราควรเลือกคู่ครองที่มีลักษณะดังนี้
สมชีวิธรรม 4 (qualities which make a couple well matched)
เป็นธรรมที่จะทำให้คู่สมรส ครองรักกันได้ราบรื่น กลมกลืน และยาวนาน ได้แก่
1. สมสัทธา (to be matched in faith)
คือ มีศรัทธาสมกัน มีความเชื่อในสิ่งเดียวกัน มีทัศนคติในการมองโลก มองชีวิต ไปในทางเดียวกัน
ก็จะทำให้เข้าใจกันง่าย ไม่มีความขัดแย้งกัน
2. สมสีลา (to be matched in moral)
คือ มีศีลสมกัน ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ต้องมีหลักในการประพฤติปฏิบัติตนเรื่องผิดชอบชั่วดีเหมือนๆกัน
เช่น ถ้าคนหนึ่งไม่ชอบการโกหก อีกคนหนึ่งต้องไม่ชอบการโกหกด้วย
ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมักโกหกเป็นนิสัย อีกฝ่ายหนึ่งย่อมเกิดความไม่ไว้วางใจ และอยู่ด้วยกันอย่างไม่มีความสุข
หรือถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ชอบเล่นการพนัน แต่อีกฝ่ายชอบมัวเมากับการพนัน
ก็ไม่ควรเลือกมาเป็นคู่ครอง เพราะจะมีแต่ความขัดแย้ง อยู่ด้วยกันไปก็ไม่มีความสุข
3. สมจาคา (to be matched in generosity)
คือ มีจาคะสมกัน มีใจเมตตากรุณา โอบอ้อมอารี เหมือนๆกัน
ชอบเกื้อกูลสนับสนุนญาติพี่น้อง และคนที่ตกทุกข์ได้ยาก
ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนตระหนี่ ก็ย่อมเกิดความไม่พอใจทุกครั้งที่อีกฝ่ายหนึ่งช่วยเหลือแบ่งปันแก่ผู้อื่น
หากอยู่ร่วมกันไป ชีวิตย่อมจะมีแต่ความขัดแย้ง ไม่มีความสงบราบรื่น
4. สมปัญญา (to be matched in wisdom)
คือ มีปัญญาสมกัน ทั้งชายและหญิง ต้องมีระดับสติปัญญาใกล้เคียงกัน มีความเฉลียวฉลาด พอๆกัน
ความคิดความอ่านต้องไปกันได้ มีการใช้วิจารณญาณในการมองปัญหา แก้ปัญหา และตัดสินใจ ไปในทิศทางเดียวกัน
เช่น ถ้าฝ่ายหนึ่งชอบใช้เหตุผลในการพิจารณาแก้ปัญหา แต่อีกฝ่ายหนึ่งชอบใช้อารมณ์ ก็ไม่ควรจะเลือกมาเป็นคู่ครอง
เพราะชีวิตสมรส จะมีแต่การทะเลาะเบาะแว้ง ไม่เข้าใจกันได้ คนที่มีอะไรคล้ายๆกัน ย่อมเข้าใจกันได้ดีกว่า
หรือถ้าฝ่ายหนึ่งฉลาดและเข้าใจอะไรได้ง่ายๆ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนสมองทึบ เข้าใจอะไรได้ช้า
การอยู่ด้วยกันทุกวัน จะทำให้เกิดความไม่กลมกลืนกัน ไม่สมดุลย์กัน คุยกันไม่รู้เรื่อง
มีแต่ความอึดอัดรำคาญใจ ก็ไม่ควรเลือกมาเป็นคู่ครอง
คู่ครองตามที่กล่าวไว้ใน สิทธิการิยะฯ มี 4 แบบ คือ
1. คู่เวรคู่กรรม
ได้แก่ คู่สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันแล้วทะเลาะเบาะแว้ง บางคู่ถึงขั้นตบตีกันแต่ก็ไม่เลิกรากันไป
ยังคงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน แต่มักมีเรื่องบาดหมางขัดใจกัน ทะเลาะกันอยู่เป็นประจำ
ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจไม่ซื่อสัตย์ อาจสุรุ่ยสุร่าย ล้างผลาญเงินทอง
อาจดูถูกดูหมิ่นอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ยกย่องให้เกียรติ ไม่มีความเคารพเกรงใจกัน
แม้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันไม่มีความสุข แต่ก็ยังต้องอยู่ด้วยกันต่อไป
2. คู่ทุกข์คู่ยาก
ได้แก่ คู่สามีภรรยาที่ลำบากลำบนมาด้วยกัน ฟันฝ่าอุปสรรคของชีวิตมาด้วยกัน แต่ก็รักและเห็นอกเห็นใจกันเสมอ
3. คู่สร้างคู่สม
ได้แก่ คู่สามีภรรยาที่อยู่ร่วมกัน ชีวิตมีแต่ความสุข มีโชคดี ไม่มีปัญหาและอุปสรรคใดๆ
รักและให้เกียรติยกย่องกันและกัน มีความสุขอยู่ด้วยกันจนวันตาย
4. คู่อาศัย
ได้แก่คู่รัก หรือคู่สามีภรรยา ที่รักกันได้ไม่นาน ก็มีอันต้องเลิกรากันไป
ถ้า คู่สมรสคู่ใด ที่ครองรักกันอย่างมีความสุขในชีวิตนี้ และมี ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา สมกัน
แม้ตายจากกันไปแล้ว ชาติต่อไปก็ย่อมได้เกิดมาเป็นคู่ครองกันอีก เรียกว่า คู่แล้วไม่แคล้วกัน
จาก อังคุตตรนิกาย มีพระสูตรที่ 2 ปฐมสังวาสสูตร และทุติยสังวาสสูตร
แห่งปุญญาภิสันทวรรค ทุติย- ปัณณาสก์ จตุกกนิบาต ที่ว่าด้วยการอยู่ร่วมกันระหว่างสามีภรรยามี 4 แบบ
โดยเปรียบเทียบว่า คนทุศีลเป็นเสมือนผี คนมีศีลเป็นเสมือนเทวดา ดังนี้
1. การอยู่ร่วมกันแบบผีอยู่ร่วมกับผี
หมายถึงสามีทุศีลอยู่ร่วมกับภรรยาทุศีล ต่างฝ่ายต่างชั่วพอๆกัน บางคู่อาจเข้าใจกันดี ไปกันได้ดี
อยู่ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน บางคู่อาจเป็นแบบ ขิงก็รา ข่าก็แรง
2. การอยู่ร่วมกันแบบผีอยู่ร่วมกับเทวดา
หมายถึงสามีทุศีลอยู่ร่วมกับภรรยามีศีล สามีเลวแต่อยู่ร่วมกับภรรยาที่ดี
ฝ่ายสามีจะเป็นฝ่ายที่เอาเปรียบภรรยา ปฏิบัติต่อภรรยาไม่ดี การอยู่ด้วยกัน ไม่ทำให้มีความสุข
3. การอยู่ร่วมกันแบบเทวดาอยู่ร่วมกับผี
หมายถึงสามีมีศีลอยู่ร่วมกับภรรยาทุศีล สามีดีอยู่ร่วมกับภรรยาที่เลว
ฝ่ายภรรยาเป็นภาระของสามี เอารัดเอาเปรียบสามี ปฏิบัติต่อสามีไม่ดี
อาจไม่ซื่อสัตย์ นอกใจ หรือ ล้างผลาญสมบัติ การอยู่ด้วยกัน ย่อมไม่มีความกลมกลืน เข้ากันไม่ได้ดี
4. การอยู่ร่วมกันแบบเทวดาอยู่ร่วมกับเทวดา
หมายถึงสามีมีศีลอยู่ร่วมกับภรรยามีศีล ต่างฝ่ายต่างดีพอๆกัน
รักใคร่ปรองดองกัน ถนอมน้ำใจกัน ยกย่องให้เกียรติกันและกัน
สามีภรรยาแบบนี้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตลอดไป
พระ พุทธเจ้า ได้จำแนกภรรยาไว้ 7 แบบ ดังนี้
ถ้าท่านต้องการภรรยาแบบไหน
ย่อมเลือกลักษณะหญิงที่ท่านจะเลือกมาเป็นคู่ครองได้ตามลักษณะดังกล่าวนี้ คือ
ภรรยา 7 (seven types of wives)
ภรรยาแบบต่างๆ ซึ่งจำแนกโดยคุณธรรม ความประพฤติลักษณะนิสัย และการปฏิบัติต่อสามี ดังนี้
1. วธกาภริยา (a wife like a slayer; destructive wife)
ภรรยาเยี่ยงเพชฌฆาต
ได้แก่ ภรรยาที่คิดร้ายกับสามี เป็นผู้หญิงที่ซื้อได้ด้วยเงิน เห็นแก่เงิน ไม่ได้อยู่กินกับสามีด้วยความรัก มักเจ้าชู้ มีใจยินดีในชายอื่น ดูหมิ่นไม่ยกย่องให้เกียรติ ไม่เคารพสามี
2. โจรีภริยา (a wife like a robber; thievish wife)
ภรรยาเยี่ยงโจร
ได้แก่ ภรรยาผู้ล้างผลาญทรัพย์สมบัติ ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักประหยัด อาจติดการพนัน หรือชอบความหรูหราฟุ่มเฟือย ใช้เงินเกินตัว ไม่รู้จักประมาณตน
3. อัยยาภริยา (a wife like a mistress; Madam High and Mighty)
ภรรยาเยี่ยงนาย
ได้แก่ ภรรยาที่เกียจคร้าน ไม่ใส่ใจการงาน กินมาก ปากร้าย หยาบคาย ใจเหี้ยม ชอบข่มสามี
4. มาตาภริยา (a wife like a mother; motherly wife)
ภรรยาเยี่ยงมารดา
ได้แก่ ภรรยาที่หวังดีเสมอ คอยห่วงใยเอาใจใส่สามี เหมือนมารดาปกป้องบุตร และประหยัดรักษาทรัพย์ที่หามาได้
5. ภคินีภริยา (a wife like a sister; sisterly wife)
ภรรยาเยี่ยงน้องสาว
ได้แก่ ภรรยาผู้เคารพรักสามี ดังน้องรักพี่ มีใจอ่อนโยน รู้จักเกรงใจและคล้อยตามสามี
6. สขีภริยา (a wife like a companion; friendly wife)
ภรรยาเยี่ยงสหาย
ได้แก่ ภรรยาที่เป็นเหมือนเพื่อน พบสามีเมื่อใด ก็ปลาบปลื้มดีใจเหมือนเพื่อนพบเพื่อนที่จากไปนาน เป็นผู้มีการศึกษาอบรม มีกิริยามารยาท ความประพฤติดี ภักดีต่อสามี เป็นคู่คิดคู่ครอง เคียงบ่าเคียงไหล่สามี
7. ทาสีภริยา (a wife like a handmaid; slavish wife)
ภรรยาเยี่ยงทาสี
ได้แก่ ภรรยาที่ยอมอยู่ในอำนาจสามี ถูกขู่ตะคอกเฆี่ยนตี ก็อดทนไม่โกรธตอบ รักสามีมาก ยอมรับใช้และทำทุกอย่างเพื่อความสุขของสามี
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ภรรยาสำรวจตนเองว่า ตนเป็นภรรยาประเภทไหน และจะให้ดีควรจะเป็นภรรยาประเภทใด
สำหรับชาย อาจใช้เป็นหลักสำรวจอุปนิสัยของตนว่าเหมาะแก่หญิงประเภทใดที่จะเลือกมาไว้เป็นคู่ครอง และสำรวจหญิงที่จะเป็นคู่ครองว่าเหมาะกับอุปนิสัยของตนหรือไม่ (สำหรับผู้เขียนเอง ขอเลือกภรรยาในแบบที่ 6 คือ ภรรยาเยี่ยงสหาย)
การปฏิบัติต่อสามีหรือภรรยา มีกล่าวไว้ใน ทิศ 6 (directions; quarters)
บุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางสังคม ดุจทิศที่อยู่รอบตัว
ภรรยานั้น ถือเป็นทิศที่ 3 ปัจฉิมทิศ (ทิศตะวันตก)
ปัจฉิมทิศ (wife and children as the west or the direction behind)
ทิศเบื้องหลัง ทิศตะวันตก ได้แก่ บุตรภรรยา เพราะติดตามเป็นกำลังสนับสนุนอยู่ข้างหลัง
ก. สามีบำรุงภรรยา ผู้เป็นทิศเบื้องหลัง ดังนี้
1) ยกย่องให้เกียรติสมกับฐานะที่เป็นภรรยา
2) ไม่ดูหมิ่น
3) ไม่นอกใจ
4) มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้
5) หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส
ข. ภรรยาย่อมอนุเคราะห์สามี ดังนี้
1) จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
2) สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
3) ไม่นอกใจ
4) รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
5) ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง
ขอให้คน ได้เลือกคนที่มี ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา สมกันกับท่านมาเป็นคู่ครอง และเป็นคู่สร้างคู่สมที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความรัก มีความสุขด้วยกันตลอดไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น