...+

วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2552

วิถีจิตสู่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

แสดงธรรมที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย

แสดงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๘


ณ สถานที่แห่งนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ภายหลังจากที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยามาทุกแบบทุกรูป และได้ไปศึกษาในสำนักอาจารย์ต่าง ๆ สำนักอาจารย์ใด ฤาษีตนใดที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเก่งที่สุดในสมัยนั้น พระองค์ทรงไปศึกษาหมดทุกแห่ง จนจบหลักสูตรของคณาจารย์นั้น ๆ สมัยนั้นนิยมการบำเพ็ญสมาธิเพื่อให้ได้ฌาน ได้อภิญญา คือบำเพ็ญสมาธิแบบฌานสมาบัติมุ่งให้จิตสงบนิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน อยู่ภายในจิตเพียงอย่างเดียว แล้วจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติก็เพื่อสร้างชื่อเสียง เป็นอันว่าคณาจารย์หรือนัก ปฎิบัติในสมัยนั้นยังถูกโลกธรรมหรือเอาโลกธรรมเทิดไว้บนศีรษะเพราะยังติด อยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข การปฏิบัติก็มุ่งที่จะสร้างบารมีให้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เป็นที่นิยมนับถือของปวงชนในยุคสมัยนั้น จึงอยู่ในลักษณะการปฏิบัติเพื่อแสวงหาลาภ ผล แสวงหาบริวาร ไม่ได้มุ่งเพื่อความหลุดพ้นโดยตรง

แต่จะด้วยประการใดก็ตาม การปฏิบัติของท่านเหล่านั้นก็เป็นการสร้างบารมี เพราะความเข้าใจของคนในยุคนั้นความสำเร็จที่เขาพึงประสงค์อยู่ตรงที่ว่า ในเมื่อปฏิบัติเคร่งครัด บำเพ็ญตบะแก่กล้า พระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ หรือพระเจ้าที่เขานับถือจะประทานพรให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งสุดแท้แต่เขาจะตั้งปณิธานความปรารถนาไว้อย่างไร ก็เป็นอันว่าการปฏิบัติก็เพื่อมุ่งลาภ ผล ชื่อเสียง ให้เป็นที่ประทับใจของคนในยุคนั้นสมัยนั้น การปฏิบัติของท่านเหล่านั้นจึงได้ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสร้างกิเลส เขาเอาโลกธรรมเทิดไว้บนศีรษะ

แต่เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้ทรงศึกษาในสำนักของคณาจารย์นั้น ๆ เข้าไปศึกษาในสำนักอาจารย์ใด อาจารย์นั้นก็หมดภูมิ คือหมดภูมิที่จะสอนพระองค์อีกต่อไป เช่นอย่างไปศึกษาในสำนักของอาฬารดาบส อุทกดาบส ก็สอนพระองค์ได้เพียงฌาน ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เท่านั้น เมื่อถึงฌานขั้นนี้แล้ว อาจารย์ทั้งสองก็บอกว่าหมดภูมิแล้ว ไม่มีอะไรจะสอนท่านอีกต่อไป ขอให้ท่านอยู่ในสำนักเพื่อช่วยสั่งสอนประชาชนอบรมศิษยานุศิษย์ต่อไปเถิด
เมื่อพระองค์ได้พิจารณาดูโดยรอบคอบแล้ว คือพระองค์สังเกตอย่างนี้ ในขณะที่จิตของพระองค์อยู่ในสมาธิ ฌานขั้นที่ ๔ ร่างกายตัวตนหายไปหมด มีแต่จิตดวงเดียว นิ่ง สว่าง ลอยเด่นอยู่ในท่ามกลางแห่งความว่าง มีจิตอาศัยความสว่างเป็นอารมณ์ ความรู้สึกยินดีไม่มี ความรู้สึกยินร้ายไม่มี คณาจารย์เหล่านั้นจึงถือว่าเขาหมดกิเลสแล้ว แต่เมื่อพระพุทธองค์ได้ไปศึกษาจนจบหลักสูตรของอาจารย์ดังกล่าว ในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิ มองหากิเลสตัวใดไม่มี เป็นจิตบริสุทธิ์สะอาดแท้จริง แต่ยังไม่เป็นอมตะ เพราะเมื่ออกจากสมาธิแล้ว เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ได้สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ความยินดียินร้ายมันยังมีปรากฏอยู่ในจิต พระองค์จึงพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามันยังไม่ถึงที่สุด ถ้าหากว่าเราหมดกิเลสอย่างแท้จริง อยู่ในสมาธิเป็นอย่างไร กิเลสไม่มี เมื่ออกจากสมาธิแล้ว กิเลสก็ต้องหมดไป สิ่งที่ส่อแสดงให้พระองค์รู้ว่าพระองค์ยังมีกิเลสอยู่ก็คือ พระองค์ยังมีความยินดียินร้ายพอใจ ไม่พอใจ แล้วก็ยังยึดมั่นอยู่ในสังขารร่างกายว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นของเรา ของเขา ดังนั้นพระองค์จึงตัดสินพระทัยอย่างแน่วแน่ว่ายังทรงไม่สำเร็จ

ภายหลังจากที่พระองค์ทรงรับหญ้าคา ๘ กำ ของโสตถิยพราหมณ์ กุสะ แปลว่า หญ้าคา คา แปลว่าข้อง ติด มาตอนนี้พระองค์ทรงเอาหญ้าคา ๘ กำ มาขดเป็นบรรลังก์ประทับนั่ง มุ่งหน้าประพฤติปฏิบัติโดยไม่มุ่งผลประโยชน์อันใดในด้านวัตถุธรรม มุ่งแต่เพียงจะดำเนินไปสู่การตรัสรู้ คือความหมดกิเลส สู่ความเป็นพระอรหันต์เท่านั้น จึงได้ชื่อว่าเอาโลกธรรม ๘ มารองนั่ง แทนที่จะเอาเทิดไว้บนศีรษะดังก่อน คราวนี้เอาโลกธรรมมารองนั่ง

พระองค์ประทับนั่งอย่างไร เราเคยเห็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิอย่างไร พระองค์ก็ประทับนั่งอย่างนั้น อันนี้ไม่ต้องอธิบาย ทีนี้เมื่อพระองค์ประทับนั่งขัดสมาธิเป็นที่เรียบร้อย พระองค์ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น คือกำหนดรู้ที่จิตของพระองค์เพียงถ่ายเดียว ไม่ได้สนใจกับสิ่งใด ๆ แต่ในช่วงขณะจิตนั้นเอง พอพระองค์มาวิตกว่าเราจะเริ่มกันที่จุดไหน อตีตารมณ์คืออารมณ์ในอดีตได้ผุดขึ้นมาในพระทัยของพระองค์ ทำให้พระองค์ทรงรำลึกถึงเมื่อสมัยยังเป็นพระกุมาร พระบิดาทำพิธีแรกนาขวัญ พระพี่เลี้ยงนางนมผูกพระอู่ให้บรรทมอยู่ใต้ต้นหว้า ในช่วงที่พี่เลี้ยงนางนมหรือคนทั้งหลายเขาเพลิดเพลินในการดูมหรสพ ดูพิธีแรกนาขวัญ พระองค์ถูกปล่อยให้บรรทมในพระอู่ใต้ต้นหว้าแต่เดียวดาย

ณ โอกาสที่ว่างจากการคลุกคลีจากผู้คนนั้นเอง พระองค์ผู้เป็นพระกุมารน้อย ๆ ทรงวิตกถึงลมหายใจ กำหนดรู้ลมหายใจเป็นอารมณ์ นับว่าพระองค์ได้สำเร็จปฐมฌานตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อพระองค์มารำลึกถึงที่ตรงนี้ พระองค์ก็ได้ความรู้ตัวขึ้นมาว่า จุดเริ่มของการปฏิบัติอยู่ตรงนี้ คือการกำหนดลมหายใจเป็นอารมณ์เพื่อกำหนดให้รู้ความเป็นจริงของร่างกาย แล้วพระองค์ก็มีพระสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก

วิธีการของพระองค์นั้น เพียงแต่มีพระสติกำหนดรู้อยู่เท่านั้น แต่เพราะอาศัยที่กายกับจิตของพระองค์ยังมีความสัมพันธ์กันอยู่ เมื่อจิตอยู่ว่าง ๆ สิ่งที่จะปรากฏเด่นชัดก็คือลมหายใจ เพราะอาศัยที่พระองค์เคยบรรลุปฐมฌานมาแล้ว จิตของพระองค์จึงจับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก แต่พระองค์เพียงมีพระสติกำหนดรู้ลมหายใจ ไม่ได้บังคับลมหายใจ ไม่ได้บังคับจิตให้สงบ ปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่พระองค์กำหนดเอาพระสติอย่างเดียวรู้ที่จิต บางครั้งลมหายใจก็ปรากฏว่าหยาบ คือหายใจแรงขึ้น พระองค์ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ ในบางครั้งลมหายใจค่อย ๆ ละเอียดขึ้น ๆ คล้าย ๆ กับจะหยุดหายใจ พระองค์กลัวว่ามันจะเลยเถิดเมื่อกระตุ้นเตือนจิตให้มีความหยาบขึ้น ลมหายใจก็เด่นชัดชัดขึ้น เมื่อกำหนดรู้ลมหายใจอย่างไม่ลดละแล้วพระองค์ไม่ได้นึกว่า ลมหายใจสั้น ลมหายใจยาว ลมหายใจหยาบ ลมหายใจละเอียด เพียงแต่กำหนดรู้เฉยอยู่เท่านั้น ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติของจิต เมื่อหนัก ๆ เข้า จิตยึดลมหายใจอย่างเหนียวแน่น ในบางครั้งพระองค์จะมองเห็นลมหายใจวิ่งออกวิ่งเข้าเป็นท่อยาว สว่างเหมือนหลอดไฟนีออน หนัก ๆ เข้า พอจิตสงบละเอียดไปในระหว่างอุปจารสมาธิ จิตของพระองค์วิ่งเข้าไปสว่างนิ่งอยู่ในท่ามกลางของร่างกายไปรวมตัวอยู่ใน ท่ามกลางระหว่างทรวงอก ความสว่างไสวแผ่ซ่านออกมาทั่วร่างกาย พระองค์มีความรู้สึกประหนึ่งว่าความสว่างได้ครอบคลุมพระกายของพระองค์อยู่ ในช่วงนั้น พระองค์เกิดความรู้ความเห็น เห็นอาการ ๓๒ ที่เรายึดมาเป็นบทสวดมนต์ในปัจจุบันนี้

อะยัง โข เม กาโย กายของเรานี้แล

อุทธัง ปาทะตะลา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา
อะโธ เกสะมัตถะกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป
ตะจะปะริยันโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ
ปูโร นานัปปะการัสสะ อะสุจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ
อัตถิ อิมัสมิง กาเย มีอยู่ในกายนี้
เกสา คือผมทั้งหลาย โลมา คือขนทั้งหลาย
นะขา คือเล็บทั้งหลาย ทันตา คือฟันทั้งหลาย
ตะโจ คือหนัง มังสัง คือ เนื้อ
นะหารู คือเอ็นทั้งหลาย อัฏฐิ คือกระดูกทั้งหลาย
อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก วักกัง ม้าม
หะทะยัง หัวใจ ยะกะนัง ตับ
กิโลมะกัง พังผืด ปิหะกัง ไต
ปัปผาสัง ปอด อันตัง ไส้ใหญ่
อันตะคุณัง ไส้น้อย อุทะริยัง อาหารใหม่
กะรีสัง อาหารเก่า มัตถะเก มัตถะลุงคัง เยื่อในสมอง
ปิตตัง น้ำดี เสมหัง น้ำเสลด
ปุพโพ น้ำเหลือง โลหิตัง น้ำเลือด
เสโท น้ำเหงื่อ เมโท น้ำมันข้น
อัสสุ น้ำตา วะสา น้ำมันเหลว
เขโฬ น้ำลาย สิงฆานิกา น้ำมูก
ละสิกา น้ำไขข้อ มุตตัง น้ำมูตร
เอวะมะยัง เม กาโย กายของเรามีอย่างนี้ อุทธัง ปาทะตะลา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา
อะโธ เกสะมัตถะกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป ตะจะปะริยันโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ
ปูโร นานัปปะการัสสะ อะสุจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ อย่างนี้แล
ความรู้อันนี้พระพุทธองค์ได้รู้เห็นก่อนการตรัสรู้ แล้วกลายเป็นกายคตาสติสูตร ที่เราผู้ปฏิบัติยึดเป็นแนวทางแห่งการพิจารณาอสุภกรรมฐาน เมื่อจิตของพระพุทธองค์ไปสงบนิ่งสว่างอยู่ในท่ามกลางของร่างกาย ทำให้พระองค์รู้ความเป็นจริงของร่างกายทั่วหมดในขณะจิตเดียว คือพระองค์มองเห็นหัวใจกำลังเต้น ฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มองเห็นปอดกำลังสูดอากาศเข้าไปเลี้ยงร่างกาย มองเห็นตับกำลังแยกเก็บอาหารส่วนละเอียดไว้ไปเลี้ยงร่างกาย มองเห็นตับอ่อนกำลังทำหน้าที่ช่วยย่อยอาหารและนำเอากรดมาช่วยย่อยอาหาร ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ พระองค์รู้ทั่วถ้วนหมดทุกสิ่งทุกอย่างในขณะจิตเดียว แล้วพระจิตของพระองค์ก็วิตกอยู่กับสิ่งเหล่านี้ กำหนดรู้อยู่กับสิ่งเหล่านี้จนกระทั่งจิตละเอียดลงไป ๆ กายจางหายไป ยังเหลือแต่จิตนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในจักวาลนี้รู้สึกว่ามีแต่จิตของพระองค์ดวงเดียวเท่านั้นสว่างไสวอยู่

ในตอนนี้จิตของพระองค์เป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตเป็น อัตตาทีปะ มีตนเป็นเกาะ เป็น อัตตสรณา มีตนเป็นที่ระลึก คือ ระลึกอยู่ที่ตน รู้อยู่ที่จิต อัตตาหิ อัตตโน นาโถ จิตมีตนเป็นตนของตน

เมื่อจิตของพระองค์ไปดำรงอยู่ในสมาธิขั้นจตุตถฌานนานพอสมควร



ต่อไปนี้จะได้ลำดับองค์ฌาน
ปฐมฌาน มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา วิตก หมายถึง จิตไปรู้อยู่กับสิ่ง ๆ หนึ่ง หรือบางทีไปรู้เฉพาะในจิตเพียงอย่างเดียวแล้วก็มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง คือจิตรู้อยู่ที่จิต อันนี้เป็นปฐมฌาน
ทุติยฌาน จิตไม่ได้ยึดสิ่งรู้ แต่รู้อยู่ที่ตัวเอง แต่ก็ยังรู้สึกว่ามีปีติ มีสุข แล้วก็มีเอกัคคตา
เมื่อจิตสงบละเอียดลงไป ปล่อยวางปีติ ยังเหลือแต่ความสุขก็อยู่ในฌานที่ ๓ ตอนนี้จะรู้สึกว่ากายละเอียด ค่อย ๆ จางไป แต่ยังปรากฏอยู่ จิตจะเสวยสุขในปีติอย่างล้นพ้น ซึ่งจะหาความสุขใดเปรียบเทียบไม่ได้
แล้วในที่สุดกายก็หายไป ความสุขก็พลอยหายไปด้วย ยังเหลือแต่จิตนิ่งสว่างไสวอยู่อย่างนั้น จิตเป็นหนึ่งคือ เอกัคคตา แล้วก็เป็นกลางโดยเที่ยงธรรม ซึ่งเรียกว่า อุเบกขา ขอย้ำอีกที่หนึ่งว่า
ฌานที่ ๑ ประกอบไปด้วยองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ฌานที่ ๒ ประกอบไปด้วยองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
ฌานที่ ๓ ประกอบไปด้วยองค์ ๒ คือ สุข กับเอกัคคตา
ฌานที่ ๔ ประกอบไปด้วยองค์ ๒ คือ เอกัคคตา กับอุเบกขา

เป็นอันว่าในช่วงนั้นจิตของพระองค์ดำรงอยู่ในจตุตถฌาน เมื่อเข้าถึงจตุตถฌานแล้ว แทนที่จะก้าวหน้าไปอากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตะนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ แต่พอขยับจะเคลื่อนจากฌานที่ ๔ วกเข้าไปสู่สัญญาเวทยิตนิโรธ คือเข้านิโรธสมาบัติ จิตอยู่ในนิโรธสมาบัติ ดับความสว่าง จิตรู้อยู่ในจิตอย่างละเอียด สัญญาเวทนาดับไปหมด แต่ก็ยังมีเหลือรู้อยู่เพียงนิดเดียวเท่านั้น สัญญาเวทยิตนิโรธเป็นฐานสร้างพลังจิต คือพลังสมาธิ พลังสติปัญญา เพื่อเตรียมก้าวขึ้นไปสู่ภูมิธรรมขั้นโลกุตตระ

เมื่อจิตของพระองค์ดำรงอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธ สร้างพลังเพียงพอแล้ว จิตเบ่งบานออกมาทีหนึ่งสามารถแผ่รัศมีสว่างไสวครอบคลุมจักวาลทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดจะปิดบังจิตดวงนี้ พระจันทร์ พระอาทิตย์ แม้จะส่องแสงลงมาสู่โลก ก็ส่องไปได้เฉพาะที่ไม่มีสิ่งกำบัง แต่จิตของพระพุทธองค์นั้นส่องสว่างไปทั่วหมดทุกหนทุกแห่ง ไม่มีสิ่งกำบัง ไม่มีอะไรที่จะปิดบังดวงจิตดวงนี้ได้ มองทะลุจนกระทั่งบาดาลถึงพิภพพญานาค มองทะลุจนกระทั่งผืนแผ่นดิน พระองค์สามารถกำหนดความหนาของแผ่นดินได้ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ในช่วงนั้นทำให้พระองค์ตรัสรู้เป็นโลกวิทู ผู้รู้แจ้งโลก

โลก ตามความหมายในทางธรรมะ มีอยู่ ๓ โลก
ยมโลก ได้แก่โลกเบื้องต่ำ คือต่ำกว่าภูมิมนุษย์และภูมิสัตว์เดรัจฉาน ลงไป ได้แก่ภพของภูตผีปีศาจ เปรต อสุรกาย สัตว์นรก อันนั้น เรียกว่า ยมโลก
มนุสสโลก ได้แก่ แดนเป็นที่อยู่ของมนุษย์และสัตว์ผู้มีกายมีใจ
เทวโลก ได้แก่ แดนเป็นที่อยู่ของเทวดา ตั้งแต่เทวดาชั้นจาตุ ฯ สูงสุด จนกระทั่งพรหมโลกชั้นอกนิษฐาพรหม
พระองค์รู้พร้อมในขณะจิตเดียว ทั้งยมโลก มนุสสโลก เทวโลก แล้วเกิดความรู้ต่อไปอีก ทำไมสัตว์ทั้งหลายจึงมีประเภทต่าง ๆ กัน อันนี้พระองค์ยังไม่ได้คิดเช่นนั้น เป็นแต่มองเห็นความแตกต่างของสัตว์และมนุษย์ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ภูตผีปีศาจ เปรต อสุรกายทั้งหลายเท่านั้น แล้วก็รู้กฎของกรรมเป็นสิ่งจำแนกสัตว์ให้มีประเภทต่าง ๆ รู้กิเลสคืออวิชชาที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์ทั้งหลายต้องทำกรรม แต่ในขณะที่รู้นั้น พระองค์รู้นิ่งอยู่เฉย ๆ ทรงรู้จนกระทั่งเหตุ รู้ทั้งปัจจัย รู้ความเป็นไปของมวลหมู่สัตว์ทั้งหลายในจักวาลนี้



แต่จิตดวงนี้คิดไม่เป็น พูดไม่เป็น สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น รู้เห็นแล้วก็สามารถบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เอาไว้พร้อมหมดทั้งเรื่องของปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ บันทึกไว้พร้อมไม่มีขาดตกบกพร่อง ตามนิสัยของพระสัพพัญญู

อันนี้เป็นการตรัสรู้ของพระองค์ พระองค์ตรัสรู้ในขณะที่จิตไม่มีร่างกายตัวตน ซึ่งแม้ไม่มีร่างกายตัวตน จิตสามารถรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่ว่าพูดไม่เป็น คิดไม่เป็น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น จิตของเรานี่จะคิดได้ต่อเมื่อยังสัมพันธ์อยู่กับร่างกาย เมื่อแยกจากร่างกายออกไปแล้วไม่มีเครื่องมือจึงคิดไม่เป็น ความคิดมันเกิดจากประสาทสมอง จิตไม่มีร่างกายตัวตน ไม่มีรูป ไม่มีร่าง จึงไม่มีมันสมองที่จะใช้ความคิด เพราะฉนั้นรู้เห็นอะไรก็ได้แต่นิ่ง แต่สามารถบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ไว้พร้อมหมดไม่มีขาดตกบกพร่อง
เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นโลกวิทูละเอียดถี่ถ้วนดีแล้ว จิตของพระองค์ถอนจากสมาธิขั้นนี้มา พอมารู้สึกว่ามีกาย ตอนนี้ได้เครื่องมือแล้ว จิตของพระองค์จึงมาพิจารณาทบทวนถึงสิ่งที่รู้เห็นนั้นซ้ำอีกทีหนึ่ง เรียกว่าเจริญวิปัสสนา ทรงพิจารณาเรื่องปุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติหนหลังได้ ตั้งแต่ชาติหนึ่ง ชาติสอง ชาติร้อย ชาติพัน ชาติหมื่น ชาติแสน ชาติล้าน....ไม่มีที่สิ้นสุด ว่าพระองค์เคยเกิดเป็นอะไรมาบ้างกว่าจะได้มาถึงการตรัสรู้นี่
นอกจากพระองค์จะรู้เรื่องของพระองค์เองแล้ว ยังสามารถรู้เรื่องของคนอื่นสัตว์อื่นได้ด้วยว่ามวลสัตว์ทั้งหลายในจักวาล นี้ได้เกิดมาแล้วกี่ภพกี่ชาติ เคยเป็นอะไรมาบ้าง อันนี้เป็นความรู้เรื่องปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จิตของพระองค์คิดพิจารณาเรื่องปุพเพนิวาสานุสสติญาณในปฐมยาม และในมัชฌิมยามพระองค์ได้พิจารณาเรื่องการจุติและเกิดของสัตว์ทั้งหลาย จุติก็คือตาย เกิดก็คือเกิดนั่นแหละ ทำไมสัตว์ทั้งหลายจึงมีประเภทต่าง ๆ กัน อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย เพราะกรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัย จึงเป็นสุภาษิตขึ้นมาว่า กมฺมํ สตฺเต วิภชฺชติ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้มีประเภทต่าง ๆ กัน เกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์มาสอนธรรมแก่มวลสัตว์ทั้งหลาย พระองค์จึงสอนให้พิจารณากรรมเป็นส่วนใหญ่ว่า เรามีกรรมเป็นของ ๆ ตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กฎของกรรมนี่เกิดจากการทำ การพูด โดยอาศัยความคิดเป็นผู้ตั้งเจตนาว่าจะทำจะพูดจะคิด ในเมื่อทำอะไรลงไปโดยเจตนา สิ่งนั้นสำเร็จเป็นกรรม เรื่องนี้พระองค์พิจารณาจบลงในมัชฌิมยาม
แล้วก็ทรงคำนึงต่อไปอีกว่า อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์ทั้งหลายต้องทำกรรม ก็มาได้ความเป็นภาษาสมมติบัญญัติว่าอวิชชาความไม่รู้จริง ความรู้ไม่จริงนี่เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายทำกรรมตามที่ตนเข้าใจว่ามันถูกต้อง แต่สิ่งที่สัตว์เข้าใจและมีความเห็นว่าถูกต้องนั้น บางอย่างมันก็ถูกต้องตามใจของตนเอง แต่ขัดกับกฎธรรมชาติ บางอย่างมันก็ถูกต้องตามใจของตนเอง และถูกกับกฎธรรมชาติ ดังนั้นสัตว์ทั้งหลายผู้รู้ไม่จริง จึงทำกรรมดีทำกรรมชั่วคละเคล้ากันไป หมายถึงทำกรรมที่เป็นบาป ทำกรรมที่เป็นบุญ ทำกรรมที่เป็นชั่ว ทำกรรมที่ดี ภาษาบาลีว่า กุศลกรรมคือกรรมดี อกุศลกรรมคือกรรมชั่ว ทำไปตามความเข้าใจของตนเอง ในเมื่อทำแล้วก็ย่อมได้รับผลของกรรม ได้รับผลของกรรมแล้วก็ต้องเกิดอีก เกิดมาอีกก็ต้องอาศัยกิเลสคืออวิชชาตัวเดียวนั่นแหละ ทำกรรมแล้วทำกรรมเล่า เกิดแล้วเกิดเล่าไม่รู้จักจบจักสิ้น เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร เรื่องนี้พระองค์พิจารณาจบลงในปัจฉิมยาม

ในเมื่อพระองค์ได้พิจารณา ๓ เรื่อง ตามลำดับยามทั้ง ๓ จบลงแล้ว จิตของพระองค์ยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ตรัสรู้นี้ เป็นความจริงแท้ไม่แปรผัน ในช่วงขณะจิตนั้น อรหัตตมัคคญาณจึงบังเกิดขึ้น ตัดกิเลสอาสวะขาดสะบั้นไปในปัจฉิมยาม จึงได้พระนามว่า อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ด้วยประการฉะนี้ อันนี้คือลักษณะการตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่มา http://www.dhammajak.net/board/viewt...8003060f09fab0

ที่มา http://board.palungjit.com/f10/วิถีจิตสู่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า-หลวงพ่อพุธ-ฐานิโย-115266.html

โดยคุณ jony_buddhist

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น