อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน
ไม่น่า เชื่อว่า ทั้งๆ ที่ประเทศไทยพยายามรณรงค์กันแทบตาย
ให้คนไทยเลิกสูบบุหรี่ แถมมีกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบอยู่
แต่กลับเปิดโอกาสให้ธุรกิจอุตสาหกรรมบุหรี่ข้ามชาติเข้ามาจัดแสดงสินค้าใน
ไทยได้แบบครบวงจรในอีกไม่กี่วันข้างหน้า งานนี้ นอกจากเป็นการ
"ตบหน้าตัวเอง" ของประเทศไทยที่จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียน
เรื่องนโยบายการควบคุมยาสูบในปีหน้าแล้ว ยังเหมือนกับปล่อยปละ
"เยาวชนคนรุ่นใหม่" ที่น่าจะเป็นอนาคตของชาติ ให้กลายเป็น
"เหยื่ออันโอชะ" ของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติด้วย
แม้จะมีนักวิชาการและหลายภาคส่วนของไทยออกมาคัดค้าน-ต่อต้านงานแสดงสินค้ายา
สูบครั้งนี้ แต่ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จากรัฐบาล
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
สัปดาห์หน้า
จะมีงานแสดงสินค้างานหนึ่งที่ไม่น่าปล่อยให้จัดขึ้นในเมืองไทย
แต่ก็คงสายเกินไปที่จะมีใครห้ามไม่ให้จัด
แม้จะมีกระแสคัดค้านจากหลายภาคส่วนหลายองค์กรก็ตาม นั่นคือ งาน "TABINFO
ASIA 2009" หรืองานแสดงสินค้ายาสูบแบบครบวงจร ที่อิมแพค อารีนา
เมืองทองธานี ซึ่งจัดโดยนิตยสาร Tobacco Reporter
กระแสคัดค้านการจัดงานดังกล่าว
ไม่เพียงแสดงออกด้วยการยื่นหนังสือถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบของการจัดงานดังกล่าวในไทย
พร้อมเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐเข้าไปสนับสนุน
หรือเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมใดๆ ของงานดังกล่าว
แต่ยังมีการเข้าชื่อของประชาชน โดยเฉพาะบุคลากรด้านสาธารณสุข
เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านการจัดงานแสดงสินค้ายาสูบแบบครบวงจรในไทยด้วย
โดยมีประชาชนเข้าชื่อเกินกว่า 5 หมื่นชื่อ
ลองไปดูกันว่า
เหตุใดหลายภาคส่วนในสังคมจึงคัดค้านการจัดงานดังกล่าว?
และเหตุใดบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ
จึงเลือกที่จะมาจัดงานแสดงสินค้าที่คร่าชีวิตประชาชนในประเทศไทย?
ผศ.ดร.ปิยะรัตน์ นิ่มพิทักษ์พงศ์ แห่ง คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยนเรศวร
บอกถึงสาเหตุที่คัดค้านการจัดงานแสดงสินค้ายาสูบแบบครบวงจรในประเทศไทย
ว่า เพราะบุหรี่เป็นสินค้าที่ทำลายสุขภาพและชีวิตประชาชนทั่วโลก และว่า
การที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติเลือกมาจัดในประเทศไทย
เพราะตลาดบุหรี่ในเอเชียยังเป็นตลาดที่ใหญ่มาก
อุตสาหกรรมบุหรี่ข้ามชาติจึงเห็นลู่ทางที่จะเข้ามาหาลูกค้าหน้าใหม่
โดยเฉพาะ "เยาวชน"ซึ่งเป็นอนาคตของทุกประเทศ
แต่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติก็มองว่า เยาวชนคืออนาคตของบริษัทเช่นกัน
"ประเด็น ก็คือการที่เขาพยายามที่จะขายบุหรี่ให้ได้มากขึ้น
เพราะบุหรี่เราทราบกันว่าเป็นสินค้าที่ทำลายสุขภาพของประชาชนไม่ใช่เฉพาะใน
ประเทศไทย ทั่วโลกโดยเฉพาะในทวีปเอเชีย
งานนี้เป็นงานแสดงสินค้าของอุตสาหกรรมยาสูบนานาชาติ
เป้าหมายหลักไม่ใช่ประเทศไทยอย่างเดียว ทั้งเอเชีย
ที่เขาจะเอาผู้ค้าจากหลายประเทศเข้ามา
และเข้ามาช็อปพวกสินค้าเหล่านี้ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ เช่น บุหรี่ชูรส
ซิการ์ที่ทำเป็นสีๆ พวกนี้เราดูสินค้าเรารู้ว่า เขา Target ใคร คือ
เยาวชนกับผู้หญิง เพราะตลาดตรงนี้ยังเป็นตลาดที่ใหญ่มากในภูมิภาคเอเชีย
เขาเห็นตรงนี้เขาก็เลยมาที่นี่
เพราะเขารู้ว่าคนที่สูบบุหรี่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
เพราะฉะนั้นเขาต้องหาลูกค้าหน้าใหม่เข้ามาเติมเต็มในธุรกิจของเขา
เพราะฉะนั้นเยาวชน มันมีเอกสารลับของบริษัทบุหรี่ที่กล่าวเลยว่า
เยาวชนเนี่ยเป็นอนาคตของบริษัท เพราะต้องหาหน้าใหม่เข้ามาเรื่อยๆ นั่นคือ
ทำไมถึงผลิตหรือพัฒนาสินค้าเพื่อที่จะเข้าถึงคนกลุ่มนี้"
ผศ.ดร.ปิยะรัตน์ ยังชี้ด้วยว่า
แม้จะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติจะจัดงานแสดงสินค้ายาสูบ
ครบวงจรในไทยได้
แต่บริษัทผู้จัดงานก็ต้องไม่ทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ
ของไทย ซึ่งขณะนี้ยังมีบางประเด็นที่ผู้จัดงานกับผู้เกี่ยวข้องของไทยเห็นไม่ตรงกัน
จึงต้องตีความว่าถ้าทำ จะผิดกฎหมายของไทยหรือไม่ เช่น
การโฆษณายี่ห้อบุหรี่ และการสูบบุหรี่ภายในงาน
"ใน ทางกฎหมายเนี่ย เป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย
อันนี้เราต้องยอมรับประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นสินค้าถูกกฎหมายอย่างเดียวที่ฆ่าคน
มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนที่ใช้เนี่ยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรตามงานวิจัย
อย่างไรก็ตาม มันเป็นสินค้าถูกกฎหมาย เพราะฉะนั้นภาคธุรกิจที่มาจัดเนี่ย
มันคงไม่ได้ผิดในลักษณะกฎหมายใดๆ
ยกเว้นว่าเขาจะทำผิดกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของประเทศไทย เช่น
มาโฆษณายี่ห้อบุหรี่ในงาน ซึ่งผู้จัดเขาบอกว่าเขาทำได้
สามารถที่จะโฆษณาในงานได้ และสามารถสูบบุหรี่ในงานได้ด้วย
ซึ่งตรงนี้กรมควบคุมโรคต้องเข้าไปดู
ซึ่งกรมควบคุมโรคก็มีนโยบายที่จะเข้าไปเฝ้าระวังอยู่แล้ว จริงๆ
แล้วการโฆษณาในงานเนี่ย ตามกฎหมายเราก็ทำไม่ได้ แต่ตรงนั้นกำลังตีความ
เพราะเขาใช้คำว่า Private Event ตีความว่า Private Event เนี่ยมันคืออะไร
เพราะเราจะมีข้อยกเว้นในกฎหมายหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้กรมควบคุมโรค
กระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณา
แต่เท่าที่ทราบกฎหมายเราเนี่ยไม่ได้มีข้อยกเว้น
แต่ตรงนี้คงต้องดูในตัวบทกฎหมายอีกครั้ง คือ
เขาบอกว่าสามารถสูบได้ในส่วนแสดงสินค้าที่เป็นฮอลล์
และเปิดเครื่องปรับอากาศ ซึ่งจริงๆ
แล้วตรงนี้เรามีกฎหมายคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่
ซึ่งห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ภายใน โดยเฉพาะในที่ปรับอากาศอยู่แล้ว
ซึ่งส่วนแสดงสินค้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในประกาศกระทรวงอยู่แล้วว่าจะต้อง
เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ เพราะฉะนั้นตรงนี้เขาทำอย่างไร
กรมควบคุมโรคกำลังเข้าไปดู"
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิต เลขาธิการ
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
พูดถึงเหตุที่คัดค้านการจัดงานแสดงสินค้ายาสูบครบวงจรในไทยว่า
ปัจจุบันมีคนไทยสูบบุหรี่ประมาณ 10 ล้านคนเศษ โดยเป็นผู้ชายประมาณ 90%
ขณะที่ผู้สูบรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โดยเฉพาะวัยรุ่น
และว่า หลังจากมูลนิธิรวมทั้งภาครัฐได้มีการรณรงค์ถึงพิษภัยของบุหรี่และออกมาตรการ
เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ ทำให้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
มีผู้เลิกสูบบุหรี่แล้ว 4.6 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่าที่ควรจะเป็นจริงๆ 4
ล้านคน และเมื่อจู่ๆ บริษัทบุหรี่ข้ามชาติจะมาจัดงานในไทย
ย่อมทำให้การควบคุมการสูบบุหรี่ในไทยทำได้ยากขึ้น
"เครือ ข่ายวิชาชีพสาธารณสุชทั้งหมด ก็เห็นว่า
การจัดงานนี้มันตรงข้ามและมันก็มาบั่นทอนความพยายามที่พวกเราพยายามทำงานกัน
อยู่ในการที่จะควบคุมการสูบบุหรี่
เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมาแสดงจุดยืนว่าไอ้พวกนี้มันมาทำให้งานของเราทำยากขึ้น
ไปอีก ซึ่งที่เราทำๆ อยู่นี่เราก็เหนื่อยพอแล้ว คนทำก็น้อย
งบประมาณก็น้อย และเรื่องที่ต้องทำอีกก็ตั้งเยอะ
คนสูบบุหรี่ก็ยังไม่ลดลงเท่าที่ควร แต่ขณะเดียวกัน
ธุรกิจก็จะมาโปรโมตสินค้าตัวนี้และมาโปรโมตในบ้านเรา
เราก็คิดว่าเราต้องแสดงให้คนรู้
และเราก็เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขไปเฝ้าระวังไม่ให้เขาทำอะไรที่มัน
ฝ่าฝืนกฎหมาย พร้อมทั้งเราก็เรียกร้องให้รัฐบาลได้มีการให้นโยบายให้หน่วยงานรัฐเข้าไป
ยุ่งเกี่ยวหรือสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้
รวมทั้งที่สำคัญเราต้องการให้รัฐบาลได้ดำเนินตามมาตรา 5.2
ก็คือการให้ธุรกิจยาสูบให้ออกไปจากกระบวนกำหนดนโยบายสาธารณะของเรา
และในมาตรา 5.3 มันก็ยังกำหนดต่อไปอีกว่า
ไม่ให้หน่วยงานของรัฐร่วมกิจกรรมใดใดกับธุรกิจยาสูบ
ไม่ให้หน่วยงานของรัฐรับการบริจาคจากธุรกิจยาสูบหรือรับของขวัญจากธุรกิจยา
สูบ รวมทั้งไม่ให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปร่วมกิจกรรมใดๆ
ที่บริษัทบุหรี่บอกว่ามีกิจกรรมที่ทำเพื่อสังคมอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราเรียก
ร้องและทำ"
"(ถาม-เราคิดว่าเมื่องานนี้จัดในบ้านเราได้
จะทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ในบ้านเราเพิ่มขึ้นอีกสักแค่ไหน?)
มันคงประมาณไม่ได้ แต่มันมีผลกระทบแน่
คือรูปแบบการตลาดหรือสิ่งที่จะออกมาจากการระดมสมองของเขาเรื่องการทำตลาดใน
ประเทศที่มีกฎหมายห้ามโฆษณาเข้มงวดอย่างประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ที่เขาจะมีออกมา ผลิตภัณฑ์ไร้ควันทั้งหลาย จริงๆ
มันก็คือสถานการณ์ที่เขาจำลองขึ้นมา ก็คือ สถานการณ์ประเทศไทยนั่นเอง
คิดว่า เขาจะทำตลาดอย่างไรในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมที่ค่อนข้างเข้มงวด
ประเทศไทยก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งในการควบคุมที่ค่อนข้างเข้มงวด
เพราะฉะนั้นเขาก็หาลู่ทางที่จะค้าขายให้ได้ ไม่ว่านโยบายจะเข้มงวดอย่างไร
และบทเรียนที่เกิดขึ้นที่ 4 ปีก่อนที่เขาจัดที่กัวลาลัมเปอร์ ก็คือ
หลังจากนั้น 1-2 ปี สินค้าทั้งหลายที่เขาแสดงอยู่ในที่นิทรรศการครั้งนั้น
ก็ออกสู่ตลาดประเทศมาเลเซีย
อันนี้ก็ย่อมมีส่วนที่จะกระทบทำให้การสูบบุหรี่มากขึ้น
ซึ่งเป้าเขาคงอยู่ที่เอเชียและผลิตภัณฑ์ทั้งหลายที่จะมีการพัฒนาขึ้นมาก็คง
จำหน่ายไปทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยไม่ใช่เฉพาะเอเชีย"
ศ.นพ.ประกิต บอกด้วยว่า
คงไม่สามารถเรียกสำนึกจากเอกชนที่ยอมให้มีการจัดงานแสดงสินค้ายาสูบครบวงจร
ในไทยได้ เพราะงานใกล้จะมีขึ้นแล้ว แต่อยากเรียกสำนึกจากร้านค้าปลีกกว่า
5 แสนร้านที่ขายบุหรี่ในเมืองไทยขณะนี้มากกว่า ว่า
ให้ปฏิบัติตามกฎหมายด้วยการไม่ขายบุหรี่ให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
และห้ามตั้งซองบุหรี่ ณ จุดขาย
ด้าน นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธาน สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ซึ่งเป็น 1
ในผู้ที่คัดค้านการจัดงานแสดงสินค้ายาสูบครบวงจรในไทย
ก็ชี้ให้เห็นถึงเล่ห์กลของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่หันมารุกรานและล่าเหยื่อ
ในประเทศด้อยพัฒนา รวมทั้งประเทศไทยในครั้งนี้
"อุตสาหกรรม ยาสูบเป็นอุตสาหกรรมที่ฆ่าคน
อย่าลืมว่าคนในโลกเราเนี่ย ปีหนึ่งตาย 5.5 ล้านคน
เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยาสูบทั้งหลาย แล้วที่สำคัญ ก็คือ
อุตสาหกรรมยาสูบเนี่ยเขาในประเทศที่เจริญแล้ว หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว
อย่างอเมริกา อย่างยุโรป คนสูบบุหรี่น้อยลงเรื่อยๆ
เพราะรัฐบาลเขาเข้มแข็งมีมาตรการทุนที่จะดำเนินการ
เพราะฉะนั้นคนสูบบุหรี่น้อยลงๆ
เมื่อเป็นเช่นนี้บริษัทบุหรี่เขาก็ต้องออกมารุกรานประเทศที่ด้อยพัฒนาอย่าง
ในทวีปเอเชียของเรา ทวีปแอฟริกา และในอเมริกาใต้
เพราะยังเป็นประเทศที่ยากจนและรัฐบาลไม่เข้มแข็ง ดังนั้น เขาก็ออกมา
พูดง่ายๆ ว่า ออกมาล่าเหยื่อ ให้คนในประเทศที่กำลังยากจนเป็นเหยื่อของเขา
เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะในจำนวน 5.5
ล้านคนที่ตายเนี่ย 70% มันอยู่ในประเทศที่ยากจน ดังนั้น
เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำทุกอย่างไม่ให้เขาทำให้คนในประเทศยากจนตายสูบ
บุหรี่มากขึ้นและตายมากขึ้น อันนี้คือเหตุผลสำคัญ
แล้วอุตสาหกรรมยาสูบเป็นอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยมาก และมีเล่ห์กลมาก
โกหกมากที่สุด เขาทำทุกอย่างที่จะทำให้กิจการของเขาเจริญ ขายได้ดีขึ้น
แล้วน้ำตามันตกอยู่กับคนที่ยากจนในประเทศยากจนทั้งหลาย"
นพ.หทัย ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า
เหตุที่ประเทศไทยกลายเป็นเหยื่อของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติในครั้งนี้
เป็นเพราะการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยมีจุดอ่อน
โดยเฉพาะสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)
ที่เป็นผู้อนุญาตให้บริษัทบุหรี่ข้ามชาติสามารถจัดแสดงสินค้ายาสูบในไทยได้
โดยคิดแต่เรื่องรายได้ที่จะได้รับอย่างเดียว ไม่คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา
"บริษัท บุหรี่เขามาติดต่อ
สสปน.(สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ)
นานเป็นปีแล้วที่จะมาจัดงานและจะมาเช่าเมืองทองธานี ซึ่งเราก็ไม่ทราบ และ
สสปน.ก็ไม่เคยมาถามเรา ไม่เคยมาถามกระทรวงสาธารณสุข ว่า
ความเห็นของท่านเป็นอย่างไร
เราไม่ทราบจนกระทั่งเขาตกลงกันไปเรียบร้อยแล้ว
คงเซ็นสัญญากันไปเรียบร้อยแล้วว่าจะมาจัด
อันนี้ก็คือจุดอ่อนของระบบการทำงานของประเทศไทย เขาจะนึกถึงด้านเดียว
เขาจะนึกว่าถ้ามีคนมาจัดงาน ประเทศก็จะมีรายได้มากขึ้น
คนต้องเข้ามามากขึ้น มาพักโรงแรม มาทานอาหาร
มาใช้จ่ายในประเทศของเราทำให้ประเทศไทยมีรายได้มากขึ้น
แต่เขาไม่เคยนึกเลยว่าผลเสียหายอะไรจะเกิดขึ้น
ถ้าเผื่อคนไทยสูบบุหรี่มากขึ้น คนไทยก็ต้องตายมากขึ้น
รัฐบาลก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมากขึ้น เขาไม่ทราบ
คนที่รับทำสัญญาจัดงานครั้งนี้ สสปน.เนี่ยเขาไม่ทราบ
และนอกจากไม่ทราบแล้ว เขาก็ไม่สนใจจะถามใคร มันก็คล้ายๆ
กับกระทรวงพาณิชย์นะ
กระทรวงพาณิชย์ของเราเนี่ยเที่ยวได้ไปทำสัญญาการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ
เยอะแยะไปหมด ในภูมิภาคอาเซียนที่เรียกว่าอาฟต้านี่ก็ 10
ประเทศในภูมิภาคนี้ก็ไปทำสัญญากับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน อินเดีย
เต็มไปหมดเลย ก็โดยอ้างว่าเมืองไทยจะได้ขายสินค้ามากขึ้น
แต่มากขึ้นแล้วเป็นบวกจริงหรือเปล่าก็ไม่ทราบ
อะไหล่รถยนต์เราอาจจะขายได้มากขึ้นจริง
แต่เรื่องอื่นเราก็เสียเปรียบประเทศอื่น"
นพ.หทัย ยังเผยด้วยว่า
สสปน.หรือสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ
ที่เป็นผู้อนุญาตให้บริษัทบุหรี่ข้ามชาติสามารถเข้ามาจัดงานแสดงสินค้ายาสูบ
ครบวงจรในไทยได้นั้น เป็นองค์กรมหาชนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ แต่ไม่แน่ใจว่า
การอนุญาตดังกล่าวมีขึ้นในรัฐบาลใด แต่คงไม่ใช่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์
เพราะการขออนุญาตเข้ามาจัดงานในไทยต้องขอล่วงหน้าเป็นปีๆ
ซึ่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เข้ามาบริหารประเทศยังไม่ถึง 1 ปี
เมื่อถามว่า คิดว่า
จะมีวิธีป้องกันไม่ให้มีการจัดงานแสดงสินค้ายาสูบครบวงจรในไทยอีกได้อย่างไร
นพ.หทัย บอกว่า ที่ตนวางแผนไว้ ก็คือ เรามีกฎหมายขององค์การอนามัยโลก
และมีมาตรา 5.3 ที่บอกไว้ว่า ไม่ให้รัฐบาลประเทศต่างๆ
ให้ความร่วมมือกับบริษัทยาสูบในเรื่องใดบ้าง ซึ่งคงต้องนำมาตรา 5.3
มาแปลเป็นภาษาไทย แล้วตกแต่งให้ดี จากนั้นเสนอ
ครม.ให้เห็นชอบเพื่อเป็นระเบียบให้ส่วนราชการต่างๆ ปฏิบัติตาม
นั่นหมายถึง ต่อไป
สสปน.ก็ไม่สามารถที่จะอนุญาตให้มีการจัดงานแสดงสินค้ายาสูบครบวงจรในไทยได้
อีก ส่วนกระทรวงพาณิชย์ก็เช่นเดียวกัน
ไม่สามารถไปเจรจาแล้วปล่อยให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ ได้อีก
นพ.หทัย บอกด้วยว่า
แม้การออกระเบียบดังกล่าวอาจจะต้องใช้เวลาดำเนินการ
แต่อย่างน้อยหากทำสำเร็จ
ก็จะช่วยให้ประเทศไทยมีเกราะป้องกันตัวจากการรุกรานของอุตสาหกรรมบุหรี่ข้าม
ชาติได้!!
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000132619
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น