...+

วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เลือกจบชีวิตคู่ด้วยการหย่าร้าง/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน 4 พฤศจิกายน 2552 07:16 น.
การ ใช้ชีวิตคู่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป
เพราะการใช้ชีวิตคู่เป็นเรื่องของคนสองคนที่จะนิยามว่าควรจะต้องมีองค์
ประกอบอะไรในการใช้ชีวิตคู่

การใช้ชีวิตคู่ไม่ได้มีสูตรสำเร็จว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะครองรัก
ครองเรือนกันได้นาน หรือวิธีของใครได้ผล ของใครดีกว่า
เพราะการใช้ชีวิตคู่มีเงื่อนไขของชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน
การประคับประคองให้ชีวิตคู่มีความสุข ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร
ก็ไม่ใช่เรื่องที่สามารถลอกเลียนแบบวิธีการกันได้

เพราะการใช้ชีวิตคู่เป็นศาสตร์และศิลปแขนงหนึ่งทีเดียว

ปัจจุบันมีหลายครอบครัวที่ไม่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคชีวิตคู่ไปได้
และสุดท้ายก็ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งมีมากมายเหลือเกิน
และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นๆ จนน่าเป็นห่วง

ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด
แต่ท้ายสุดเมื่อคุณเลือกจบชีวิตคู่ด้วยการหย่าร้าง คำถามที่ตามมา ก็คือ
แล้วจากนี้จะทำอย่างไรต่อไป ?


ในเมื่อตัดสินใจแยกทางกันเดิน ก็ควรเป็นการจากกันด้วยดี
ให้นึกถึงเมื่อครั้งที่รักกันก่อนจะแต่งงานกัน หรือคิดถึงสิ่งดีๆ
ที่มีให้กัน และเมื่อเข้ากันไม่ได้ หรือมีเหตุให้ต้องหย่าร้างกัน
ก็น่าจะเก็บความรู้สึกดีๆ ที่ครั้งหนึ่งมีให้กันและเคยรักกัน...
และการจากกันด้วยดี แม้จะทุกข์เพียงใด คิดซะว่าสุดท้ายเราก็ต้องผ่านไปได้

แต่...สิ่งที่คุณต้องคิดต่อและต้องมีสติ ก็คือ
จากนี้ไปคุณต้องเผชิญกับอะไรบ้างต่างหาก

ประการแรก ต้องเข้มแข็ง
เพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยความเข้มแข็งของจิตใจ
เมื่อคุณตัดสินใจแยกทางกันเดิน
ก็ต้องบอกตัวเองด้วยว่าพร้อมแล้วที่จะอยู่ได้โดยปราศจากเขาหรือเธอ
และต้องมีความหนักแน่นเพียงพอที่จะผ่านอุปสรรคชีวิตครั้งนี้ไปให้ได้
ความเข้มแข็ง กำลังใจ และวันเวลาเป็นสิ่งสำคัญ
กรณีที่มีลูกด้วยกัน อาจจะหนักหน่อย
เพราะต้องใช้พลังใจในการสร้างกำลังใจที่จะอยู่เพื่อดูแลเจ้าตัวเล็กให้ดี
จะเป็นทั้งพ่อและแม่ได้แม้จะต้องเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งนั่นหมายความว่า
จะต้องอ่านข้อต่อไป

ประการที่สอง พูดคุยเรื่องลูก ว่าจะอยู่กับใคร
และวางแผนชีวิตลูกร่วมกัน
ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงลำพัง
แล้วการจากกันด้วยดี ก็จะทำให้การวางแผนอนาคตของลูกเป็นไปได้ด้วยดี
ลูกจะอยู่กับใคร จะเรียนหนังสือที่ไหน
และใครจะส่งเสียค่าใช้จ่ายเรื่องลูก
รวมถึงการวางแผนเรื่องการพบปะกันของพ่อแม่ลูก
ซึ่งอาจมีข้อกำหนดร่วมกันว่า ถ้าลูกอยู่กับฝ่ายหนึ่ง
อีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถพบปะลูกได้ด้วยเงื่อนไขอะไรบ้าง

แต่ถ้าไม่สามารถตกลงเรื่องนี้กันได้
ก็ต้องใช้ข้อกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา 1520
ในกรณีหย่าโดยความยินยอม
ให้สามีภรรยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคน
ใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

มาตรา 1522 ถ้าสามีภรรยาหย่าโดยความยินยอม
ให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าสามีภรรยาทั้งสองฝ่าย
หรือสามีหรือภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวน
เงินเท่าใด ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่า
อุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด

ที่ผ่านมา
คนเป็นแม่มักตกเป็นผู้รับภาระและความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูลูกตามลำพัง
อาจเป็นด้วยความคิดที่ว่า ลูกฉัน-ฉันเลี้ยงเองได้ หรืออาจเพราะความไม่รู้
ฝ่ายหญิงจึงมักตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่เสมอ ฉะนั้น
จำเป็นที่ฝ่ายสามีและภรรยาต้องแสวงหาความรู้ ข้อมูลที่ถูกต้อง
เพราะในเมื่อได้ชื่อเป็นพ่อแม่
ก็ต้องมีความรับผิดชอบในชีวิตลูกร่วมกันมิใช่หรือ..!!!

ประการที่สาม พูดคุยเรื่องข้อกฎหมายต่างๆ
ถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ก็อาจจะตกลงกันเอง แต่ถ้าจดทะเบียนสมรส
ก็ต้องไปจดทะเบียนหย่า และก็เจรจากันเรื่องสินสมรส
หรือหนี้สินว่าควรจะเป็นอย่างไร
ถ้ามีการพูดคุยกันก่อนแต่งงานก็ไม่มีปัญหา

แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องอาศัยข้อกฎหมาย
ซึ่งท้ายสุดมักจบลงด้วยการฟ้องหย่า
ปัจจุบันเรื่องการฟ้องหย่าเพิ่มจำนวนมากขึ้น และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนใหญ่เกิดจากกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้

ฉะนั้น เรื่องที่คุณควรรู้ ก็คือ

1.ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถฟ้องหย่าได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1516 (1)
และยังสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523
2.เรื่องการดูแลบุตรถ้าตกลงกันไม่ได้ศาลจะเป็นผู้ชี้ขาด ตาม
ป.พ.พ.มาตรา 1520, มาตรา 1521, มาตรา 1522
3.หนี้สินที่เกิดขึ้นระหว่างเป็นสามีภรรยาและนำมาใช้ในครอบครัว
ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489, มาตรา 1490
4.ค่าเลี้ยงดูบุตรต้องตกลงกันเอง แต่ต้องอยู่ภายใต้ความเป็นไปได้
ไม่เกินกำลังของสามี

แล้วสาเหตุใดบ้างที่เข้าเกณฑ์ต้องอาศัยกฎหมายเพราะต้องการฟ้องหย่า

1.สามีหรือภรรยามีชู้ นอกใจซึ่งกันและกัน
หรือยกย่องผู้อื่นฉันภรรยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้
หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

2.ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
หรือทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายหนึ่งถึงบาดเจ็บ หรือหมิ่นประมาทอีกฝ่ายหนึ่ง
หรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

3.สามีหรือภรรยา จงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินกว่าหนึ่งปี
หรือไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์
ต่อการเป็นสามีภรรยาอย่างร้ายแรง
จนอีกฝ่ายหนึ่งไม่อาจจะอยู่กินเป็นสามีภรรยาต่อไป
อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

4.สามีภรรยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุกฐานลักทรัพย์
ชิงทรัพย์ปล้นทรัพย์โจรสลัด หรือปลอมแปลงเงินตรา
หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุกในความผิดอย่างอื่นเกินกว่าสามปี
อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

5.สามีหรือภรรยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ
และศาลยังไม่เพิกถอนคำสั่งนั้น อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

6.สามีหรือภรรยา ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
เพราะเหตุวิกลจริต ตลอดมาเกินกว่าสามปีนับแต่วันศาลสั่ง
และความวิกลจริตนี้ ไม่มีทางรักษาให้หายได้
ถึงขีดที่จะอยู่กินเป็นสามีภรรยาต่อไปไม่ได้อีกแล้ว
อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

7.สามีหรือภรรยาผิดทัณฑ์บน
ที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

8.สามีหรือภรรยาเป็นโรคติดต่อร้ายแรง อันอาจเป็นภัยอีกฝ่ายหนึ่ง
และโรคนี้ไม่มีทางรักษาให้หายได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

9.สามีหรือภรรยามีอวัยวะสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์
จนไม่มีความสามารถจะอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยาได้ตลอดกาล
อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

ทั้งหมดนี่ เป็นเพียงข้อกำหนดของกฎหมาย
แต่ในชีวิตจริงคงไม่ได้เป็นไปตามที่ว่านี้ทั้งหมด เพราะเรื่องความรัก
ความรู้สึกไม่สามารถที่จะระบุเป็นข้อกฎหมายได้
เพราะเหตุผลของการตัดสินใจในบางเรื่องก็มีเงื่อนไขของอารมณ์ความรู้สึกและ
เหตุปัจจัยมากมายที่นอกเหนือจากการควบคุมได้

ไม่มีใครอยากให้ปัญหานี้เกิดขึ้น
แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรับมือให้ได้
และการจะรับมือให้ได้ก็ต้องมีความรู้ร่วมด้วย

ฉบับหน้ามาดูกันว่า
แล้วลูกจะเกิดผลกระทบอย่างไรจากการหย่าร้างของพ่อแม่
และพ่อแม่ควรจะเลี้ยงดูเขาหรือเธอได้อย่างไร

* อ้างอิงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000131810

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น