โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 พฤศจิกายน 2552 11:24 น.
การศึกษาต่อใน ต่างประเทศ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การย้ายสถานที่เรียน แต่เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ ให้ตัวเราทราบว่า โลกใบนี้มีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัว ไปจนถึงการซึมซับเอาแก่นสารดีๆของความเป็นประเทศนั้น นำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง
เรื่องเล่านักศึกษาจากต่างแดน สัปดาห์นี้ เป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของนักศึกษาไทยในญี่ปุ่นอย่าง “น้องกฤษชา” ที่ชีวิตของสาวคนนี้ ไม่ได้มีแค่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมเท่านั้น
ความรู้สึกแรกในญี่ปุ่น
กฤษชา เล่าถึงความรู้สึกครั้งแรก เมื่อรู้ว่าจะต้องไปเรียนที่ญี่ปุ่นว่า “ประเทศ ญี่ปุ่นคือประเทศที่หลายคนใฝ่ฝันว่าสักครั้งหนึ่งของชีวิตขอให้ได้มาเที่ยว สักครั้ง แล้วถ้าเป็นเด็กที่เรียนมาทางด้านสายญี่ปุ่นล่ะก็ ความอยากที่จะมาเรียนต่อที่ญี่ปุ่นย่อมเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า สำหรับหนูก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกันค่ะ เมื่อได้ทราบว่าทางโรงเรียนที่ญี่ปุ่นตอบรับเป็นนักเรียนแล้ว บอกได้คำเดียวว่า ดีใจมากๆ”
แต่เมื่อเดินทางถึงแดนปลาดิบเข้าจริงๆ ความรู้สึกของสาวน้อยคนนี้ ก็เปลี่ยนแปลงไปบ้าง “เมื่อ ไปถึงสนามบินฟุคุโอกะ ความรู้สึกมันแตกต่างจากเวลาที่อยู่สนามบินสุวรรณภูมิเลยค่ะ เพราะที่นี่ไม่มีครอบครัวของเราอยู่ข้างๆ ไม่มีแม้แต่คนที่รู้จัก ความคิดแรกที่ออกมาตอนนั้น คือ ฉันต้องมาใช้ชีวิตที่นี่คนเดียวแล้วจริงๆหรือเนี่ย”
ปรับตัวกับชีวิตการเรียน
กฤษชา เล่าถึงการปรับตัวว่า “ช่วงแรกที่อยู่ที่นี่ หลายๆอย่าง ยังไม่เข้าที่ ถึงแม้ว่าจะเรียนภาษาญี่ปุ่นมาแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่เรียนในตำรา กับ การใช้ชีวิตจริงๆในญี่ปุ่น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงค่ะ คือ ต้องปรับตัวเอง พยายามศึกษาด้วยตัวเองจริงๆ และต้องอดทนต่อการใช้ชีวิต ไม่ว่าที่ไหน ถ้าหากเราไม่ปรับเข้าหา หรือไม่ใฝ่หา ก็ไม่มีทางที่จะใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นแน่นอนค่ะ”
“ในตอนแรกๆ ไม่ว่าจะเรื่องเรียน อาหารการกิน เพื่อน สังคมที่นี่ ล้วนดูจะแปลก และแตกต่างจากสังคมไทย เช่น เรื่องเรียน ในชั้นเรียน หนูได้เรียนกับเพื่อนที่อยู่ญี่ปุ่นมาแล้ว 6 เดือน ซึ่งแน่นอนว่า เพื่อนทุกคน (จีน,เวียดนาม)ปรับตัวกันได้หมดแล้ว เราก็รู้สึกกดดันอยู่พอสมควร ใน ชั้นเรียนเซนเซ (ครูผู้สอน) จะให้นักเรียนทุกคนแต่งประโยค การแต่งประโยคไม่ใช่มีประธาน กริยา กรรมแล้วจบ แต่เซนเซจะถามต่อว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น แล้วให้อธิบายต่อ ในตอนแรกที่เรียนจึงรู้สึกว่า ‘ยากมาก’ฉันจะเรียนไหวไหมเนี่ย” นักเรียนไทยในญี่ปุ่น กล่าว
นอกจากนี้ กฤษชา ยังเปิดเผยต่อไปว่า ช่วงแรกต้องอ่านหนังสือมาก และต้องพยายามฝึกฝนทักษะการฟังให้มาก เพราะคนญี่ปุ่นแต่ละคน สำเนียงไม่เหมือนกัน ยิ่งถ้าเป็นคนสูงอายุ ยิ่งฟังลำบาก แต่เธอเองก็ต้องฝึกที่จะฟัง และพูดให้ได้ โดยใช้วิธีเรียนรู้จากสื่อต่างๆ “หนูฝึกจากการดูละครญี่ปุ่นจากอินเตอร์เน็ต กับดูรายการในโทรทัศน์ญี่ปุ่นค่ะ ซึ่งเมื่อได้ลองฝึกไปสักระยะหนึ่ง จะเริ่มเข้าใจในการใช้ภาษา หรือสำนวนนั้นๆ มากขึ้น”
“ตอนนี้เข้าสู่เดือนที่ 6 แล้ว การใช้ชีวิตเริ่มสบายมากขึ้น เพราะ เริ่มที่จะเข้าใจวัฒนธรรม ความคิดของคนญี่ปุ่น และถ้ามีอะไรไม่เข้าใจ หนูจะถามคนญี่ปุ่นเสมอ ภาษาญี่ปุ่นไม่ใช่ภาษาแม่ ถ้าอะไรที่ไม่เข้าใจ หนูคิดว่า เราควรที่จะถามเซนเซทันที แล้วก็จดไว้ จึงจะเข้าใจว่า ทำไมคำศัพท์นี้ถึงใช้กับประโยคแบบนี้ เพราะภาษาญี่ปุ่นต้องฝึกใช้ให้เป็นประจำค่ะ”
เรื่องกิน เรื่องใหญ่
เมื่อพูดถึงเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน กฤษชา เล่าว่า เรื่องอาหารเป็นเรื่องที่หนักหนาพอสมควร เพราะที่ญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นของแห้ง หรือของสด ล้วนมีราคาแพงทั้งสิ้น “หนู เลือกจับจ่ายซื้อของแล้วมาทำทานเองที่หอ เพราะว่าจะถูกกว่าซื้อสำเร็จ เริ่มแรกทำอะไรไม่ค่อยเป็น ก็เน้นหนักไปที่มาม่าต้มยำกุ้ง ใส่ผัก ใส่เนื้อค่ะ อาหารประจำชาติเลยนะคะ หรือไม่ก็ซื้ออาหารกล่องที่ 7-11 แต่เมื่อเริ่มเก่งหน่อยจะเป็นผัดผักทุกชนิด เริ่มทำซุปญี่ปุ่น โดยอาหาร 3 มื้อมักจะไม่แตกต่างกันค่ะ แล้วถ้าวันไหนต้องทำงานด้วย (ทำงานที่ 7-11)อาหารมื้อนั่นก็จะเป็นของ 7-11 ไป”
ความแตกต่างของเด็กไทย กับญี่ปุ่น
กฤษชา แสดงความคิดเห็น ในเรื่องความแตกต่างระหว่างเด็กไทยกับญี่ปุ่นเพิ่มเติมว่า “ต่างกันอยู่พอสมควรค่ะ แต่ก็มีสิ่งที่เหมือนเช่นกัน ซึ่งเท่าที่สังเกตมีเรื่องที่โดดเด่นของวัยรุ่นญี่ปุ่น 3 อย่าง คือ ความรับผิดชอบ ความกล้าตัดสินใจ และความรัก”
กฤษชา กล่าวถึงประเด็นแรกเรื่องของความรับผิดชอบว่า “เด็กวัยรุ่นที่นี่ มีความรับผิดชอบสูงมาก ขอย้ำว่าสูงมากจริงๆ คือ วัย รุ่นญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะทำงานพิเศษกัน ดูเหมือนจะเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งไปแล้วที่ว่าต้องทำงานพิเศษหลังเลิกเรียน และเก็บเงินซื้อของด้วยตนเอง ซึ่งต่างจากวัยรุ่นไทยที่พอเลิกเรียนก็จะไปเรียนพิเศษ หรือเดินสยาม ดูหนัง เที่ยวกับเพื่อน หรือถ้าอยากไปช้อป ก็จะขอเงินจากพ่อแม่ หนูคิดว่า ถ้าเด็กไทยหันมาทำงานพิเศษมากขึ้น ไม่มองว่าการทำงานพิเศษเป็นเรื่องที่น่าอาย เด็กไทยก็จะให้ความสำคัญกับการใช้เงินมากขึ้น จะไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย ถ้าเราใช้เงินซื้อด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ดูจะเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ มากกว่าการขอเงินพ่อแม่เสียอีก การทำงานไม่จำเป็นว่าต้องรอจบมหาวิทยาลัยฉันถึงจะทำงานได้ การทำงานถือเป็นการฝึกตัวเองหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรงต่อเวลาในการมาทำงาน การรู้จักแบ่งเวลา ความอดทน หลายๆอย่างทำให้เราได้เรียนและมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นค่ะ”
ส่วนเรื่อง ความกล้าที่จะตัดสินใจนั้น เธอบอกต่อว่า “เด็ก วัยรุ่นญี่ปุ่นมีความคิดเป็นของตัวเองมาก เขาจะมองว่าอนาคตจะทำอะไร อย่างเพื่อนรุ่นน้องที่ทำงานที่ 7-11 ด้วยกัน เขาตัดสินใจไม่เรียนต่อ ม.ปลาย เพื่อทำงานเก็บเงิน หรือ บางคนชอบที่จะทำอาหาร ก็จะเป็นเรียนทำอาหาร คนญี่ปุ่นจะไม่มองว่า คนที่จะประสบความสำเร็จนั้นต้องมีใบปริญญา คนญี่ปุ่นมองว่า ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม ถ้ามีความอดทน ตั้งใจ คุณก็สามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน”
สุดท้าย ในเรื่องความรัก กฤษชา มองว่า “เป็นเรื่องที่แปลกใจ และคิดว่าต่างกับเด็กไทย คือ ความรักของเด็กญี่ปุ่นดูจะเป็นเรื่องจริงจัง คือ รักเดียวใจเดียวจริงๆ จะไม่มีกิ๊กเยอะแยะเหมือนเด็กไทย จากประสบการณ์เท่าที่เห็นมา ด้วยความที่เด็กญี่ปุ่น ต้องรับผิดชอบตัวเอง เมื่อคิดที่จะมีคนรัก ก็อยากจะรับผิดชอบความรักของตัวเองให้ดีที่สุด ด้วยการสร้างครอบครัว และทำครอบครัวของตัวเองให้สมบูรณ์ที่สุด ดังนั้นเรื่องความรักของคนที่นี้จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆค่ะ”
ข้อแนะนำสำหรับใครที่อยากโกอินเตอร์
กฤษชา กล่าวสรุปว่า การที่อยากมาเรียนในต่างประเทศ ไม่ยากอย่างที่คิด แต่การใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศนั้น ยากมากกว่า โดยเฉพาะการปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ
“เราจะจัดการอย่างไรกับความรู้สึกของตัวเอง ที่จะต้องไกลบ้านและรู้สึกเหงา จะทำอย่างไรที่จะใช้ชีวิตให้คุ้มค่าที่สุด เพราะที่นี่จะไม่มีใครที่จะคอยดูแลเรา นอกจากตัวของเราเองเท่านั้น เรื่องทุกอย่างต้องตัดสินใจเอง จำไว้ว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ชีวิตที่ดี หรือไม่ดี เราเองเท่านั้นที่เป็นคนเลือก”
สุดท้ายใครที่คิดอยากจะเรียนต่อต่างประเทศ ขอให้เตรียมใจให้พร้อมกับโลกใบใหม่ที่คุณไม่เคยสัมผัสค่ะ ...
Life on Campus เปิดพื้นที่ เรื่องเล่านักศึกษาในต่างแดนจากผู้อ่าน
หากชาวแคมปัสคนไหน เคยมีประสบการณ์ใช้ชีวิตในต่างประเทศ ทั้งด้านการศึกษา หรือการฝึกงาน-ทำงาน ทั้งระยะสั้น หรือระยะยาว และต้องการบอกเล่าประสบการณ์ผ่าน "เรื่องเล่านักศึกษา" เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน
ติดต่อขอเล่าเรื่องได้ที่ mgr_campusworld@yahoo.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น