...+

วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ความล้มเหลวของระบบการศึกษา

โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช 1 พฤศจิกายน 2552 13:35 น.
เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เด็กมัธยมของอังกฤษหนึ่งในสาม
คนเชื่อว่าดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก และเสียงเดินทางเรียกว่า แสง
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันคือ ค.ศ. 1990 ก็มีรายงานว่า
เด็กหนึ่งในห้าของอเมริกาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ร้อยละ 20
ของผู้ใหญ่จำนวน 15,000 คน เขียนเช็คผิดๆ ถูกๆ จนธนาคารจ่ายเงินไม่ได้
ร้อยละ 40 ซื้อของและนับเงินทอนไม่ถูก เด็กหนึ่งในห้าซึ่งอายุระหว่าง
18-24 ปี ไม่สามารถหาสหรัฐอเมริกาบนแผนที่โลกได้

ผมไม่มีสถิติของประเทศไทยเรา แต่อยากให้ข้อสังเกตว่า
เหตุใดเด็กอังกฤษ
และอเมริกันที่จัดว่าได้รับการศึกษาที่ดีกว่าเมืองไทยจึงแย่ขนาดนั้น
ปรากฏการณ์ใหม่ของโลกในปัจจุบันก็คือ ความล้มเหลวของการเรียนรู้ หรือ
Learning Failure

ความล้มเหลวของการเรียนรู้มาจากระบบการเรียนที่เน้นโรงเรียน
และครูเป็นศิษย์กลาง มิได้เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง
ส่วนการศึกษานั้นก็เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายเศรษฐกิจมากจนเกินไป
นอกจากนั้น ระบบการศึกษาที่ตะวันตกสอนเรามา
ก็ยังมีลักษณะของการแข่งขันเชิงปริมาณโดยวัดความสำเร็จจากคะแนนที่ได้
การทำข้อสอบเก่ง การมีคะแนนเฉลี่ยสะสมสูงเป็นสำคัญ
โดยละเลยการแข่งขันเชิงคุณภาพ ซึ่งหมายถึงการแข่งขันกับตัวเอง
การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การร่วมมือกับผู้อื่น การมีวินัย
ความสามารถที่จะจัดการกับวิถีชีวิตของตนเอง

แต่เดิมความเชื่อผิดๆ
ที่คิดว่าการสอนเด็กตั้งแต่ยังเล็กนั้นเป็นของดี
แม้ในปัจจุบันพ่อแม่บางคนก็ยังให้ลูกเรียนโน่นเรียนนี่ตั้งแต่เล็ก
เด็กมีทั้งการเรียนในห้อง มีการบ้าน ต้องเรียนพิเศษ เรียนดนตรี
ซ้อมกีฬาจนแทบจะไม่มีเวลาเป็นของตนเอง

เมื่อสามร้อยกว่าปีมานี้ มีเด็กคนหนึ่งชื่อ Richard Evelyn
ซึ่งพ่อสอนสารพัดสอนตั้งแต่เขาอายุขวบกว่าๆ
พอสองขวบครึ่งเขาก็เจนจบในปุจฉาวิสัชนาประเด็นทางศาสนา อ่านภาษาอังกฤษ
ละติน ฝรั่งเศส กอธิกโบราณออก พออายุ 5 ขวบสามารถท่องจำศัพท์เก่าๆ
ของภาษาละติน และฝรั่งเศสได้ แปลอังกฤษเป็นละติน และละตินเป็นอังกฤษได้
แถบเขียนภาษากรีก และชอบอ่านงานของปราชญ์กรีกมาก ท่องโคลงฉันท์ กาพย์
กลอนได้ ชอบอ่านนิทานอีสป จำทฤษฎีของยูคลิคได้

แต่น่าเสียดายที่เจ้าหนูมหัศจรรย์ผู้นี้ตายตอนอายุ 5 ขวบ
ก็เลยไม่รู้จักความเป็นเด็ก วัยเด็ก และความสนุกสนานเหมือนเด็กคนอื่น

น่าเสียใจที่ผู้ใหญ่บางคนเห็นของดีที่เด็กอายุน้อยๆ
สามารถทำอะไรได้เท่ากับมาตรฐานของผู้ใหญ่ หรือทำได้ดีกว่า

ในสมัยใหม่นี้คนเริ่มคิดถึงเรื่องการศึกษามากขึ้น ใครๆ
ก็เห็นความสำคัญของการศึกษา เวลานี้คนเริ่มเข้าใจแล้วว่า การศึกษานั้นคือ
การอบรมกล่อมเกลา ไม่ใช่การบังคับ
และเป็นการเตรียมการเพื่อชีวิตในอนาคตมากกว่าเป็นธุรกิจ

รายงานเกี่ยวกับการศึกษาที่ฮือฮากันมาก เมื่อสามสิบกว่าปีมาแล้ว
คือ Plowden Report เมื่อ ค.ศ. 1966 รายงานนี้อาศัยแนวคิดของ Jean Piaget
เป็นพื้นฐาน โดยแนะว่า
วิธีการเรียนที่ดีที่สุดสำหรับเด็กวัยแรกเริ่มเรียนรู้ก็คือ open class
room แต่ก็มีคนแปลความหมายนี้เถรตรงจนเกินไป แล้วนำไปปฏิบัติผิดๆ คือ
ไปแปลว่า เปิดประตูโรงเรียนหรือห้องเรียน แนะให้ไปเรียนนอกห้องเรียน

แท้จริงแล้ว open ในความหมายนี้
ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกำแพงห้องเรียน
แต่หมายถึงการที่มีการจัดการศึกษาที่ เปิดทางเลือก
ให้เด็กแต่ละคนบรรลุถึงโดยตัวเด็กเป็นผู้เลือกมากกว่าอย่างอื่น

ความเข้าใจผิดนี้ ยังมีเกี่ยวกับความหมายของเสรีภาพทางการศึกษา
หรือการให้เด็กมีเสรีภาพอีกด้วย ตัวอย่างที่อยากยกมาเล่าก็คือ
ความพยายามของ Bertrand Rusell และ Dora
ภรรยาของเขาในการจัดตั้งโรงเรียนที่ Telegraph Hill

ทั้งคู่เห็นว่าโรงเรียนที่ดีควรปล่อยให้เด็กทำอะไรก็ได้
ไม่ไปควบคุมจำกัดบังคับ แนวคิดนี้เกิดขึ้นเมื่อ 70 ปีมาแล้ว
และมีอิทธิพลต่อโรงเรียน "สาธิต" ต่างๆ มาก ผลที่ปรากฏก็คือ เด็กๆ
ในโรงเรียนที่ Telegraph Hill เละเป็นโจ๊ก บางคนไม่อาบน้ำ
ไม่เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นอาทิตย์ โรงเรียนนี้ไม่มีการออกคำสั่ง เพราะ
Bertrand Rusell เห็นว่าไม่เข้าท่า
เขาไม่เฉลียวใจว่าเผด็จการกับความโกลาหลอลหม่านนั้น
ต่างก็เน้นสุดขั้วทั้งคู่

โรงเรียนแบบนี้จึงล้มเหลว เพราะไม่เดินสายกลาง
การศึกษาจึงต้องมีทั้งวัตถุประสงค์ เพื่อบอกให้เรารู้ว่า เรากำลังทำอะไร
และตอบได้ว่าเหตุใด เราจึงทำเช่นนั้น และผลที่จะตามมาจะเป็นอย่างไร
ไม่ใช่จะสนใจเฉพาะทำอย่างไรแต่ประการเดียว ต้องประสานทั้ง Why
และคาดถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ด้วย

ผมเชื่อว่าเด็กๆ จะเรียนรู้ได้ดี ก็ต่อเมื่อเขามีความสุข
และสนุกกับสิ่งนั้นเสียก่อน อะไรที่เด็กมีความสุข สนุก
และชอบกับมันอยากเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีครูมาสั่ง
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ครูและผู้บริหารโรงเรียนควรรีบทำก็คือ
การสร้างสภาวการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ
สภาวการณ์ที่เด็กเรียนรู้ด้วยความสนุก และมีความสุข

ที่ผมกล่าวมานี้ เป็นเงื่อนไขขั้นต้นที่นักการศึกษาไทยควรเข้าใจ
น่าเสียดายที่นักการศึกษาไทยนิยมแก้ปัญหาการศึกษาด้วยการปรับปรุงโครงสร้าง
อย่างเช่น อยากตั้งสถาบันครูขึ้นใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการศึกษา เป็นต้น ไปๆ
มาๆ ก็ลงเอยด้วยการมีตำแหน่งเพิ่มขึ้นให้กับนักการศึกษา

การ ปรับปรุงการศึกษานั้น ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนสิ่งที่เรียกว่า
paradigm คือ เข้าใจว่า การศึกษา คือ การกล่อมเกลา
และการเปิดทางเลือกให้เด็กแต่ละคนบรรลุถึงศักยภาพของเขา
รู้จักเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสันติ

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ9 สิงหาคม 2555 เวลา 04:02

    จิง

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ9 สิงหาคม 2555 เวลา 04:04

    ผมเห็นด้วยกับความคิดของคุณมากผมเองก็เคยผ่านการศึกษาในระบบของประเทศเรามาเเละเมื่อมาคิดทบทวนในสิ่งที่ได้รับจากโรงเรียนส่วนใหญ่ก็คือการ ฝึกกฎระเบียบโรงเรียนอย่างไม่เกิดประโยชน์ กับการมุ่งพัฒนาเเต่สมอง. มากกว่าการพัฒนาทางความคิด จิตวิญญาณ อิสระทางความคิดสร้างสรรค์ การทดลองทางความคิดจากจินตนาการ ผมหวังว่าคงมีคนมองอย่างผมบ้างและช่วยกันหาทางแก้ไขอย่างจริงจังเพื่อประเทศของเราจะได้เปี่ยมไปด้วยบุคคลที่มีคุณภาพ เราคงไม่อาจมั่นใจได้ว่าการกําจัดสิทธินักเรียนบางส่วนในโรงเรียนกับการเรียนอย่างเอาเป็นเอาตายจะนําไปสู่การผลิตคยรุ่นใหม่ที่มีวิศัยทัศน์และสติปัญญาคู่คุณธรรมได้อย่างแน่นอน

    ตอบลบ