...+

วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

อุปสรรคของการภาวนา หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ฝึกหัดทำสมาธิภาวนา จงทำเหมือนชาวนาเขาทำนา เขาไม่รีบร้อน เขาหว่านกล้า
ไถคราด ปักดำ โดยลำดับ ไม่ข้ามขั้นตอน แล้วรอให้ต้นข้าวแก่
ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังไม่เห็นเมล็ดไม่เห็นรวงข้าวเลย
แต่เขาก็มีความเชื่อมั่นของเขาว่าจะมีเมล็ดมีรวงวันหนึ่งข้างหน้าแน่ๆ
เมื่อต้นข้าวแก่แล้วออกรวงมาจึงเชื่อแน่ว่าจะได้รับผลแน่แล้ว
เขาไม่ไปชักดึงต้นข้าวให้ออกรวงเอาตามชอบใจ
ผู้กระทำเช่นนั้นย่อมไร้ผลโดยแท้

การฝึกหัดสมาธิภาวนาก็เช่นเดียวกัน จะรีบร้อนข้ามขั้นตอนย่อมไม่ได้
ต้องตั้งจิตให้เลื่อมใสศรัทธาแน่วแน่ว่าอันนี้ละเป็นคำบริกรรมที่จะทำให้จิต
ของเราเป็นสมาธิได้อย่างแท้จริง แล้วอย่าไปลังเลสงสัยว่า
คำบริกรรมนี้จะถูกจริตนิสัยของเราหรือไม่หนอ คำบริกรรมอันนั้น
คนนั้นทำแล้วมันเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ เราทำแล้วจิตไม่ตั้งมั่น
อย่างนี้ใช้ไม่ได้

ถ้าจิตตั้งมั่นแน่วแน่ในคำบริกรรมที่ตนภาวนาอยู่นั้นแล้วเป็นใช้ได้ทั้งนั้น
เพราะภาวนาก็เพื่อต้องการทำจิตให้แน่วแน่เท่านั้น
ส่วนนอกนั้นมันเป็นตามบุญวาสนาของแต่ละบุคคล

ครั้งพุทธกาล มีพระรูปหนึ่งไปภาวนาอยู่ใกล้สระแห่งหนึ่ง
เห็นนกกระยางตัวหนึ่งโฉบปลากินเป็นอาหาร
ท่านเลยถือเอาเป็นคำบริกรรมภาวนาจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
นกกระยางกินปลาไม่เคยเห็นมีในกัมมัฏฐานบทใด ท่านเอามาภาวนาจนได้สำเร็จ
นี้เป็นตัวอย่าง

จิตที่ตั้งใจอบรมให้อยู่ในขอบเขตของคำบริกรรม พุทโธๆๆ
ซึ่งมีสติเป็นผู้ควบคุมแล้วย่อมจะละพยศตัวเองได้
แต่เราก็ต้องฝึกฝนอบรมเพราะต้องการความสุขสงบของจิต
ธรรมดาของจิตย่อมมีอารมณ์ส่งส่ายหาความฟุ้งซ่านเป็นวิสัยอยู่แล้ว
ดังอธิบายมาแล้ว โดยมากมันจะส่งส่ายไปในอารมณ์เหล่านี้คือ

พอเริ่มบริกรรมพุทโธๆๆ เอาจิตไปตั้งไว้ที่พุทโธๆๆ เท่านั้นแหละ
มันจะไม่อยู่ในพุทโธ มันจะวิ่งไปหาการงานที่เราเริ่มจะทำหรือกำลังทำอยู่
ปรุงแต่งทำนั้นทำนี้วุ่นวายกันไปหมด กลัวมันจะไม่ดีไม่งาม
กลัวมันจะไม่สำเร็จ
การงานที่เรารับจากคนอื่นหรือเรารับเฉพาะส่วนตัวมันจะเสียผลประโยชน์
หรือขายขี้หน้าเขาเมื่อเรารับแล้วไม่ทำตาม ฯลฯ
นี่เป็นเรื่องรบกวนใจไม่ให้เป็นสมาธิของผู้อบรมใหม่อย่างหนึ่ง

เราดึงเอาจิตมาไว้ที่พุทโธๆๆนั้นอีก บอกว่านั้นไม่ใช่หนทางแห่งความสงบ
ทางสงบแท้จริงต้องเอาจิตมาตั้งไว้ที่พุทโธแห่งเดียว แล้วบริกรรมพุทโธๆๆ
เรื่อยไป ฯลฯ

เดี๋ยวส่งไปอีกแล้ว โน่นคราวนี้ไปถึงครอบครัว
ส่งไปหาลูกไปหาภรรยาไปหาสามี เขาจะอยู่อย่างไร
เขามีสุขภาพพลานามัยดีหรือไม่หนอ ได้บริโภคอาหารดีมีรสหรือไม่หนอ
ถ้าอยู่ห่างไกลกันก็คิดถึงที่อยู่ที่นอน จะอยู่จะกินอย่างไร
ผู้จากไปก็คิดถึงผู้อยู่ทางบ้าน ผู้อยู่ทางบ้านก็คิดถึงผู้ไปไกล
กลัวว่าจะไม่ปลอดภัย กลัวคนอื่นจะมาข่มเหง ไม่มีผู้อยู่เป็นเพื่อน
กลัวจะเหงาหงอย ฯลฯ คิดไปร้อยแปดพันเก้า สุดแท้แต่จิตจะปรุงแต่งไป
ซึ่งเกินกว่าเหตุทั้งนั้น

หรือถ้ายังเป็นโสด ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่
ก็จะปรุงแต่งไปในทางสนุกสนานเพลิดเพลินอยู่กับหมู่เพื่อนที่เคยเที่ยวสนุก
เฮฮาไปในที่ต่างๆ บางคนถึงกับอุทานออกมาเป็นเสียงดังหัวเราะก๊ากก็มี
กิเลสตัวนี้มันร้ายยิ่งกว่าเพื่อน

เมื่อภาวนาพุทโธๆๆ มันเห็นว่าไม่ได้การแล้ว เขาจะหนีจากเราไปแล้ว
มันก็สรรหาสิ่งที่จะผูกมัดให้เราติดมั่นเข้าทุกที
เราเกิดมาตั้งแต่เด็กจนโต เราก็ไม่เคยมาฝึกหัดสมาธิภาวนาเลย
มีแต่ปล่อยให้จิตไปตามอารมณ์ของกิเลส เพิ่งมาฝึกหัดเดี๋ยวนี้เอง
เมื่อภาวนาพุทโธๆๆเข้า จิตมันจะมารวมอยู่ที่พุทโธๆๆ
จิตมันจึงดิ้นเหมือนกับบุคคลโยนปลาขึ้นจากน้ำไปบนหาดทราย
ปลาย่อมดิ้นหาน้ำเป็นธรรมดา เราดึงเอาจิตให้เข้ามาหาพุทโธๆๆอีก
พุทโธๆๆ เป็นของเย็น เป็นทางที่ให้เกิดสันติสุข
มีทางเดียวเท่านั้นที่ทำให้พ้นจากทุกข์ในโลกนี้ได้

เราดึงเอาจิตเข้ามาอยู่ในพุทโธๆๆอีก หากคราวนี้พอสงบลงไปได้บ้าง
พอรู้สึกว่าจิตมันอยู่ พอเห็นลางๆว่าจิตมันอยู่ มีความสุขสบาย จิตสงบ
ไม่มีความเดือดร้อน ตั้งใจระวังเอาสติประคองอารมณ์นั้นไว้
เอ้า.....ไปอีกแล้ว
โน้น......คราวนี้ไปยึดเอาผลประโยชน์มาเป็นเครื่องอ้าง
ถ้าสิ่งนั้นเราไม่ทำหรือเราไม่แสวงหาก็จะเสียโอกาสอันมีค่ามหาศาล
แล้วก็เอาจิตไปจดจ่ออยู่เฉพาะสิ่งนั้นแทนคำบริกรรมพุทโธ
ส่วนพุทโธมันเลยหายไปไหนแล้วก็ไม่รู้ กว่าจะรู้ว่าพุทโธหายไปแล้ว
มันก็สายเสียแล้ว จิตนี้เป็นของดิ้นรนกระเสือกกระสน
รักษาได้ยากเหมือนกับลิงอยู่ไม่เป็นสุข

นั่งสมาธิภาวนานานๆเข้า กลัวโลหิตจะไม่เดินหรือเดินไม่สะดวก
เส้นประสาทจะตาย เกิดเป็นเหน็บชา ในที่สุดเป็นอัมพาต
ถ้าไปภาวนาไกลบ้านหน่อยหรือในป่าก็ยิ่งกลัวใหญ่ กลัวเสือจะมากิน
กลัวงูจะมากัด กลัวผีจะมาหลอกทำท่าทีต่างๆนานาใส่
ความกลัวตายยุบยิบไปหลายอย่างหลายประการ
ล้วนแล้วแต่ตัวเองหลอกตัวเองทั้งนั้นแต่เกิดมาจนป่านนี้ยังไม่เห็นเสือกินคน
เลยสักคนเดียว ผีก็ไม่เคยเห็นหลอกเลยสักที
แม้แต่ตัวผีก็ไม่เคยเห็นเลยสักที ไม่ทราบว่าตัวมันเป็นอย่างไร
แต่ก็ปรุงแต่งขึ้นมาหลอกตัวเอง

อุปสรรคของการภาวนาที่ชักตัวอย่างมาอธิบายนี้พอเป็นบางอย่างเท่านั้น
ความจริงแล้วมันมีมากกว่านี้ตั้งหลายเท่า ผู้ภาวนาแล้วจะรู้ด้วยตัวเอง

แต่เราก็ยึดพุทโธๆๆ มาไว้ที่ใจ
แล้วเอาสติควบคุมจิตให้อยู่กับพุทโธอันเดียว
ภัยอันตรายทั้งปวงจะไม่มีมาแผ้วพาน

ขอให้เชื่อมั่นในพุทโธจริงๆเถอะ รับรองว่าไม่มีอันตรายแน่นอน
เว้นเสียแต่กรรมเก่าที่เขาเคยได้กระทำไว้
นั่นเป็นของสุดวิสัยแม้พระพุทธเจ้าก็ป้องกันให้ไม่ได้

ผู้ภาวนาทั้งหลายแรกๆศรัทธายังอ่อน ไม่ว่าจะบริกรรมอะไรก็แล้วแต่เถอะ
จะต้องถูกกิเลสเหล่านี้รบกวนด้วยกันทั้งสิ้น
เพราะกิเลสเหล่านี้มันเป็นพื้นฐานของโลก
เมื่อเรามาทำภาวนาทำจิตให้เป็นอันเดียวเท่านั้นแหละ
กิเลสมันเห็นว่าเราจะหนีจากบ้าน
กิเลสเหล่านั้นมันมารุมล้อมไม่ให้เราหนีจากโลกนี้ได้

ผู้มาเห็นโทษของมันว่ามันร้ายแรงอย่างนี้แล้ว ทำใจให้กล้าหาญ
ศรัทธาให้หนักแน่นมั่นคง
คิดเสียว่าเราได้หลงเชื่อกิเลสมาหลายภพหลายชาติแล้ว
คราวนี้เราจะยอมเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า เอาพุทโธ ไม่ให้จิตหนีจากพุทโธ
เมื่อเราตั้งปณิธานไว้อย่างนั้นแล้ว
จิตก็จะดิ่งลงสู่อารมณ์อันเป็นหนึ่งเข้าถึงสมาธิได้

ด้วยอำนาจจิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียวนั่นแหละเป็นเหตุนำจิตให้เข้าถึงสมาธิได้

ผู้เข้าถึงสมาธิทีแรกจะมีอาการอย่างนี้
เราจะไม่ทราบเลยว่าสมาธิหรือจิตเป็นเอกัคคตารมณ์เป็นอย่างไร
เราเพียงแต่ตั้งสติให้แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว
ด้วยอำนาจจิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียวนั่นแหละเป็นเหตุนำจิตให้เข้าถึง
สมาธิได้ แล้วก็ไม่ได้นึกว่าอาการของสมาธิเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
และอยากให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่มันเป็นของมันเองโดยอัตโนมัติ
ใครๆจะบังคับให้เป็นไม่ได้

ในขณะนั้นจะมีความรู้สึกเหมือนกับเราอยู่อีกโลกหนึ่ง(โลกจิต)
มีความสุขสบายวิเวกหาอะไรเปรียบมิได้ในโลกนี้

เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว จะรู้สึกเสียดายอารมณ์อันนั้น
แลจำอารมณ์อันนั้นได้แม่นยำ
ที่พูดกันอยู่ทุกวันนี้ล้วนแล้วแต่จิตถอนออกมาจากอารมณ์ทั้งนั้น
ในขณะที่จิตกำลังรวมอยู่นั้น ใครจะพูดจะทำอะไรไม่รับรู้ทั้งหมด

เราต้องฝึกหัดจิตให้เข้าถึงสมาธิอย่างนี้อยู่บ่อยๆเพื่อให้ชำนิชำนาญ
แต่อย่าไปจำอารมณ์เก่า อย่าอยากให้เป็นอย่างเก่า
มันจะไม่เป็นอย่างนั้นซ้ำจะยุ่งใหญ่
เป็นแต่เราคอยบริกรรมพุทโธๆๆให้จิตอยู่ในคำบริกรรมนั้นก็แล้วกัน
มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน

จิตเป็นสมาธิใหม่ๆ เมื่อมันเป็นอีกมันจะไม่เป็นอย่างเก่า แต่ก็ช่างมัน
มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ขอให้มันเป็นสมาธิก็แล้วกัน
ที่มันเป็นหลายอย่าง มันจึงได้ความรู้กว้างขวางและมีอุบายมาก

ที่อธิบายมาโดยย่อนี้พอเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์
ขอผู้ทำตามนี้จงอย่าได้เอามาใส่ใจ มันจะเป็นสัญญา ภาวนาจะไม่เป็นไป
เพียงแต่จำไว้เป็นเครื่องเทียบเคียงในเมื่อเราภาวนาเป็นไปแล้ว

ผู้ภาวนาทั้งหลาย ไม่ว่าจะภาวนาพุทโธ หรือยุบหนอพองหนอ หรือสัมมาอะระหัง
อะไรแล้วแต่ เมื่อจิตจะรวมเป็นสมาธิแล้ว
ไม่ว่าจิตเราจะรวมหรือกำลังรวมอยู่ หรืออะไรทั้งหมด
แต่มันรวมของมันเองโดยอัตโนมัติ
แม้ที่สุดแต่คำบริกรรมอยู่นั้นไม่ทราบมันวางแต่เมื่อไหร่
มันจะมีแต่ความสงบสุขอยู่อันหนึ่งต่างหาก
ซึ่งมิใช่โลกนี้แลโลกอื่นหรืออะไรทั้งหมด และไม่มีใครหรือสิ่งอะไรทั้งหมด
เป็นสภาพของมันต่างหาก (ซึ่งเรียกว่าโลกของจิต)

ในที่นั้นจะไม่มีคำว่าโลกนี้หรืออื่นใดๆทั้งสิ้น
สมมติบัญญัติในโลกอันนี้จะไม่ปรากฏในที่นั้น เพราะฉะนั้น
ในที่นั้นมันจะไม่เกิดบัญญัติอะไรทั้งสิ้น
เป็นแต่หัดจิตให้เป็นสมาธิไว้เทียบเคียงกับจิตที่ไม่เป็นสมาธิว่าผิดแปลก
ต่างกันอย่างไร จิตเข้าถึงสมาธิแล้วเมื่อถอนออกมาพิจารณาในทางโลกกับทางธรรม
มันต่างกันอย่างไรกับจิตที่ไม่ได้เป็นสมาธิ


http://larndham.net/index.php?showtopic=25748

ที่มา http://board.palungjit.com/f4/อุปสรรคของการภาวนา-208869.html

1 ความคิดเห็น: