พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
http://84000.org/tipitaka/read/?12/256-262
พระ สูตรนี้ แสดงถึง
กุศโลบายที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำวิธีปฏิบัติต่ออกุศลในจิตที่ปรากฏในเวลา
เจริญประกอบอธิจิต (บรรยายถึงผลจากการปฏิบัติเช่นนี้ด้วยคำว่า
"จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายใน" ) .
อนึ่ง อธิจิตตสิกขา ประกอบด้วยองค์แห่งอริยมรรค คือ
สัมมาวายามะ(เพียรชอบ) สัมมาสติ(ระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ(ตั้งมั่นชอบ) {จาก
หนังสือ พุทธธรรม ฉบับขยายความ หน้า 603 }
เริ่มพระสูตรด้วย พระพุทธดำรัส
"[๒๕๗] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้หมั่นประกอบอธิจิต ควรมนสิการถึงนิมิต ๕
ประการ ตามเวลาอันสมควร นิมิต ๕ ประการเป็นไฉน?"
ปล....
@ ภาษาคำว่า "มนสิการ" ในพระสูตรนี้ หมายถึง การทำในใจ, ใส่ใจ, พิจารณา
{จาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)}
@ ภาษาคำว่า"นิมิต"ในพระสูตรนี้ ไม่ใช่ ภาพ-แสง-สี-เสียงใดๆ
ที่อาจบังเกิดขึ้นในเวลาเจริญสมาธิภาวนา เช่น เห็นสวรรค์ วิมาน
พระพุทธรูป แสงสว่าง ๆลๆ ดังที่เข้าใจกันในปัจจุบัน. แต่ " นิมิต ได้แก่
การณะ (คือ เหตุ) " เช่น นิมิตอื่นที่ควรมนสิการ ในกรณีที่จิตมีโทสะ คือ
การเจริญเมตตาภาวนา . นิมิตอื่นที่ควรมนสิการ ในกรณีที่จิตมีฉันทะ(ราคะ)
คือ การเจริญอสุภสัญญา และ ๆลๆ.
@ ภาษาคำว่า "ฉันทะ"ในพระสูตรนี้ สื่อถึง (ฉันทะ)ราคะ
5แนวทาง ที่พระพุทธองค์ทรงวางการปฏิบัติต่ออกุศลในจิต นั้น มีดังนี้
1." ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ อาศัยนิมิตใดแล้ว
มนสิการนิมิตใดอยู่ วิตกทั้งหลายอัน
เป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุนั้นควรมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศล
เมื่อเธอมนสิการนิมิตอื่นจาก
นิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศลอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง
โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ "
### จาก อรรถกถา ข้อนี้ หมายถึง
การเจริญภาวนาด้วยกุศลธรรมที่ยังให้อกุศลในจิตนั้นๆระงับ เช่น
เมื่อจิตมีโทสะก็ให้เจริญเมตตา เป็นต้น.
ปัจจุบัน ชาวพุทธยุคใหม่บางส่วน จะเชื่อว่า การปฏิบัติเช่นนี้ เป็นลักษณะ
แทรกแซงจิต กดข่มจิต และ "ไม่สมควรทำ ในทุกๆกรณี" เพราะ จะทำให้เครียด
และ ไม่เป็นการรับรู้สภาวะธรรมตามที่เป็นจริง
อีกทั้งยังคงเป็นการอาศัยธรรมที่ยังคงเป็นเครื่องปรุงแต่งจิตอยู่(เช่น
การเจริญเมตตาภาวนา ในกรณีจิตมีโทสะ) . ที่สมควรทำคือ
การเจริญสติกำหนดรู้เท่าทันสภาวะของจิต และ จิต "เท่านั้น".
อนึ่ง การ เจริญสติกำหนดรู้เท่าทันสภาวะของจิต และ จิต
โดยรู้ชัดตามที่ปรากฏจริง เช่นในจิตตานุปัสสนา นั้น
ก็เป็นการเจริญภาวนาที่นำไปสู่ที่สุดแห่งทุกข์ได้จริง....
***แต่ ความจริงแล้ว ในขณะที่ รู้ชัดว่าจิตมีโทสะ
พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ห้ามแผ่เมตตา*** และ
การแผ่เมตตาก็ไม่ใช่เป็นการกระทำที่ขาดสติ.
เพราะ ถ้าหากจิตขาดสติจริงๆก็จะไม่สามารถระลึกได้ทัน
ไม่สามารถเจริญเมตตาจิตได้เลย จะระเบิดอารมณ์แสดงออกเป็นกายกรรม-วจีกรรม
เบียดเบียนผู้อื่นไปเลย
จากพระสูตรต่างๆ
พระพุทธองค์ก็ทรงสอนถึงการเจริญกุศลธรรมที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับอกุศลในจิต
และ ไม่ได้ห้ามใจในทุกๆอารมณ์ แต่ให้
ห้ามใจเฉพาะจากอารมณ์ที่นำไปสู่บาป-ไม่พึงห้ามใจในอารมณ์ที่นำไปสู่ความสำรวม
ดังที่ทรงตรัสใน
มโนนิวารณสูตร ว่าด้วยการห้ามใจ จากพระไตรปิฎกเล่มที่ 16 สังยุตตนิกาย
สคาถวรรค เทวตาสังยุต สัตติวรรค
เทวดากราบทูลว่า
"บุคคลห้ามใจจากอารมณ์ใดๆ ได้ ทุกข์เพราะอารมณ์นั้นๆ ย่อมไม่มาถึงเขา
เขาห้ามใจจากอารมณ์ทั้งปวงได้ย่อมพ้นจากทุกข์ เพราะอารมณ์ทั้งปวง"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
"***บุคคลไม่พึงห้ามใจจากอารมณ์ทั้งปวง***ไม่พึงห้ามใจที่ถึงความสำรวม
บาปเกิดขึ้นในอารมณ์ใดๆ พึงห้ามใจจากอารมณ์นั้นๆ "
และ จากในพระสูตรอื่น มีการกล่าวถึง การทำให้จิตอยู่ในอำนาจ ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการแล้ว ***ย่อมทำจิตให้อยู่ในอำนาจได้***
และภิกษุนั้น ก็ไม่ตกอยู่ในอำนาจของจิต เจ็ดประการ คือ
(๑) ภิกษุนั้น เป็นผู้ฉลาดใน สมาธิ
(๒) ภิกษุนั้น เป็นผู้ฉลาดใน การเข้าสู่ สมาธิ
(๓) ภิกษุนั้น เป็นผู้ฉลาดใน การดำรงอยู่ใน สมาธิ
(๔) ภิกษุนั้น เป็นผู้ฉลาดใน การออกจากสมาธิ
(๕) ภิกษุนั้น เป็นผู้ฉลาดใน ความเหมาะสมแห่งสมาธิ
(๖) ภิกษุนั้น เป็นผู้ฉลาดใน ธรรม เป็นที่โคจรแห่งสมาธิ
(๗) ภิกษุนั้น เป็นผู้ฉลาดใน อภินิหารแห่งสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบแล้วด้วย ธรรม ๗ ประการเหล่านี้แล
ย่อมทำจิตให้อยู่ในอำนาจได้และภิกษุนั้น ก็ไม่ตกอยู่ในอำนาจของจิต
สตฺต อํ ๓๒/๓๕/๓๘
และ ในพระสูตรอื่น จาก วิชิตเสนเถรคาถา
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย
วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
สุภาษิตเกี่ยวกับการฝึกจิต
[๓๔๓] เราจักระวังจิตนั้นไว้ เหมือนนายหัตถาจารย์ กักช้างไว้ที่ประตูนคร
ฉะนั้น เราจักไม่ประกอบจิตไว้ในธรรมอันลามก
จักไม่ยอมให้จิตตกลงไปสู่ข่ายแห่งกามอันเกิดในร่างกาย
เจ้าถูกเรากักขังไว้แล้ว จักไปตามชอบใจไม่ได้ เหมือนช้างได้ช่องประตู
ฉะนั้น ดูกรจิตผู้ชั่วช้า
บัดนี้เจ้าจักขืนยินดีในธรรมอันลามกเที่ยวไปเนืองๆ ดังก่อนมิได้
นายควาญ-ช้างมีกำลังแข็งแรง ย่อมบังคับช้างที่จับได้ใหม่ ยังไม่ได้ฝึก
ให้อยู่ในอำนาจด้วยขอ ฉันใด ***เราจักบังคับเจ้าให้อยู่ในอำนาจ
ฉันนั้น*** นาย
สารถีผู้ฉลาดในการฝึกม้าให้ดี เป็นผู้ประเสริฐ
ย่อมฝึกม้าให้รอบรู้ได้ฉันใด เราจักฝึกเจ้าให้ตั้งอยู่ในพละ ๕ ฉันนั้น
จักผูกเจ้าไว้ด้วยสติ จักฝึกจักบังคับเจ้าให้ทำธุระด้วยความเพียร
เจ้าจักไม่ได้ไปไกลจากอารมณ์ภายในนี้ละนะจิต.
***พึงสังเกตุว่า วิธีการเจริญภาวนาด้วยกุศลธรรมที่ยังให้
อกุศลในจิตนั้นๆระงับ นี้ พระพุทธองค์ทรงวางไว้เป็นอันดับแรก***
อนึ่ง ถ้าหากได้เจริญภาวนาด้วยกุศลธรรมที่ยังให้อกุศลในจิตนั้นๆระงับแล้ว
แต่จิตก็ยังคงไม่คลายจากอกุศลธรรมนั้นๆ ก็ให้ปฏิบัติตามข้อต่อไป คือ
2." ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นว่า
วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอกุศลแม้อย่างนี้
วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโทษแม้อย่างนี้
วิตกเหล่านี้ล้วนแต่มีทุกข์เป็นวิบากแม้อย่างนี้ ดังนี้ "
## นี่ก็คือ การพิจารณา การเป็นอกุศล เป็นโทษ มีทุกข์เป็นวิบาก
ของอกุศลในจิตเหล่านั้น ด้วยปัญญา
เพื่อให้จิตเห็นชอบและวางอกุศลในจิตเหล่านั้น
อนึ่ง ถ้าหากเจริญภาวนาด้วยการพิจารณา การเป็นอกุศล เป็นโทษ
มีทุกข์เป็นวิบาก ของอกุศลในจิตเหล่านั้น แล้ว
จิตก็ยังไม่คลายจากอกุศลธรรมนั้นๆ ก็ให้ปฏิบัติตามข้อต่อไปคือ
3. " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้น "
## ในอรรถกถากล่าวถึงข้อนี้ว่าเป็น การเบี่ยงเบนไปหาสิ่งอื่นทำแทน.
อนึ่ง ถ้าหากเจริญภาวนาด้วยความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้น แล้ว
จิตก็ยังไม่คลายจากอกุศลธรรมนั้นๆ ก็ให้ปฏิบัติตามข้อต่อไปคือ
4." ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้น ควรมนสิการสัณฐานแห่งวิตกสังขาร ของวิตกเหล่านั้น"
### ในอรรถกถาบรรยายว่า หมายถึง
การมนสิการถึงเหตุและมิใช่เหตุของอกุศลวิตกในจิตทั้งหลายว่า
มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นปัจจัย เพราะเหตุไรจึงเกิดขึ้น . คือ
เป็นการพิจารณาด้วยสติ-ปัญญาถึง ที่มา ที่ไป เหตุ ปัจจัย
ของอกุศลในจิตเหล่านั้น. เป็นการทำลายมูลรากของอกุศลในจิต
ปล... ความเห็นส่วนตัว คือ ข้อนี้อาจจะคล้ายๆกับ การเจริญสติปัฏฐาน ใน
ธัมมานุปัสสนา นิวรณ์พรรพ แห่งสติปัฏฐานสูตร ที่ว่า
รู้ชัดว่า มีหรือไม่มีนิวรณ์อยู่ในจิต
รู้ชัดว่า นิวรณ์ที่มีนี้ มีเพราะเหตุใด
รู้ชัดว่า นิวรณ์ที่มันดับไป ดับด้วยเหตุใด
รู้ชัดว่า นิวรณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น จะไม่เกิดขึ้นด้วยเหตุใด
และ เห็นสภาวธรรมทั้งหลาย เป็นเรื่อง"สักแต่ว่า" ที่ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
อนึ่ง ถ้าหากเจริญภาวนาด้วยการมนสิการสัณฐานแห่งวิตกสังขารแล้ว
จิตก็ยังไม่คลายจากอกุศลธรรมนั้นๆ ก็ให้ปฏิบัติตามข้อต่อไปคือ
5." ภิกษุนั้นพึงกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตด้วยจิต "
# .ในข้อนี้ จากพระสูตรบรรยายด้วย
"เหมือนบุรุษผู้มีกำลังมากจับบุรุษผู้มีกำลังน้อยกว่าไว้ได้แล้ว บีบ กด
เค้นที่ศีรษะ คอ หรือก้านคอไว้ให้แน่น "
อนึ่ง ข้อนี้ อาจจะฟังดูขัดหู สำหรับชาวพุทธในยุคปัจจุบัน!!! ที่
เน้นการไม่กดข่มจิต เพราะ เชื่อว่าเป็นเหตุให้เครียด และ
ไม่เป็นเพียงการรู้ตามสภาวะเฉยๆ....
แต่ ในหัวข้อนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงเปรียบเทียบด้วยคำว่า
"บังคับจิตด้วยจิต"!!! คือ ทรงเปรียบเทียบด้วย คนมีแรงมากกว่า
จับคนมีแรงน้อยกว่า กดหัวกดคอ เอาไว้ เลยทีเดียว.
โดยสรุป
วิธีปฏิบัติต่ออกุศลในจิตจากระดับพระพุทธพจน์ ก็มีวิธีการที่หลากหลาย .
มีลักษณะทั้ง บ้างนุ่มนวล-บ้างหนักแน่น ใช้ ทั้งไม่อ่อน-ไม้แข็ง .
ดังนั้น การปฏิบัติต่ออกุศลในจิตด้วยกุศโลบายต่างๆ
หาได้ต้องจำกัดอยู่เฉพาะ วิธีใดวิธีหนึ่งเท่านั้น.
นอกเหนือจากกุศโลบายที่หลากหลาย ในการปฏิบัติ(ควรเรียกด้วย
คำว่า"ภาวนา"คือทำให้จิตเจริญ มากกว่าคำว่า "แทรกแซงจิต") ต่อ อกุศลในจิต
ดังที่ปรากฏใน วิตักกสัณฐานสูตร แล้ว
การปฏิบัติเพียรเพื่อละอาสวะ(สัมมัปปธาน หรือ สัมมาวายามะ)
ก็ยังมีกุศโลบายที่หลากหลาย ตามเหตุ-ปัจจัย-สถานการณ์-จริตนิสัย ๆลๆ
ดังที่ทรงแสดงไว้ในระดับพระสูตร
"......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการสำรวม
คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็น
ผู้สำรวมด้วยการสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
ซึ่งเมื่อเธอไม่สำรวมพึงเป็นเหตุให้อาสวะที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อน
เกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะเหล่านั้น... ย่อมไม่มีแก่เธอ...
"......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการซ่องเสพ....
คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว
เป็นเสพจีวรเพียงเพื่อป้องกัน หนาว ร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด....
เพียงเพื่อปกปิดอวัยวะอันน่าละอาย... ย่อมเสพบิณฑบาต...
เพียงเพื่อความดำรงอยู่... ย่อมเสพเสนาสนะ เพียงเพื่อป้องกันหนาว ร้อน
เหลือบ ยุง ลม แดด... เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายที่เกิดจากฤดู....
ย่อมเสพคิลานปัจจัย เภสัชบริขารเพียงเพื่อบรรเทาเวทยาอันเกิดจากอาพาธต่าง
ๆ ... เมื่อเธอเสพอยู่
อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มี....
"......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยความอดกลั้น....
คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเป็นผู้อดทนต่อหนาว
ร้อน หิว กระหาย เหลือบ ยุง ลม แดด ย่อมเป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำหยาบ
คำเสียดสี... อดกลั้นต่อทุกขเวทนาทางกาย.... เมื่อเธออดทนอยู่
อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ....
"......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการหลีกเลี่ยง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยง ช้างดุ ม้าดุ
โคดุ สุนัขดุ งู หลักตอ ที่มีหนาม หลุม ตลิ่งชัน บ่อโสโครก ท่อโสโครก...
ย่อมหลีกเหลี่ยงที่ไม่ควรนั่ง ที่ไม่ควรเที่ยวไป และบาปมิตร....
เมื่อเธอหลีกเลี่ยงอยู่
อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ....
"......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการบรรเทา....
คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมไม่รับไว้ ย่อมละ
ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้สิ้นไป ย่อมทำให้หมดไปซึ่งพยาบาทวิตก....
ซึ่งวิหิงสาวิตก... ซึ่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ...
เมื่อเธอบรรเทาทาอยู่
อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ....
"......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการภาวนา....
คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อม
เจริญธรรมอันเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ๗ ประการ คือ สติ.... ธัมมวิจยะ...
วิริยะ... ปีติ.... ปัสสสัทธิ... สมาธิ... อุบเกขา อันอาศัยวิเวก
อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธน้อมไปเพื่อความสละ ... เมื่อเธอเจริญโพชฌงค์อยู่
อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ.... " ฯ
อาสวสูตร ฉ. อํ. (๓๒๙)
ตบ. ๒๒ : ๔๓๔-๔๓๗ ตท. ๒๒ : ๓๙๘-๔๐๐
ตอ. G.S. III : ๒๗๖-๒๗๘
ใน กุศโลบายที่เพียรละอาสวะทุกๆข้อ ไม่ว่าจะ "....สำรวม ซ่องเสพ อดกลั้น
หลีกเลี่ยง บรรเทา ภาวนา..." ก็ตามแต่
พึงสังเกตุว่า ทุกๆกุศโลบายที่ปฏิบัติในการเพียรละอาสวะนั้น มีคำว่า
"พิจารณาโดยแยบคายแล้ว " ปรากฏในทุกข้อ ซึ่งนี่ก็คือ ลักษณะของ
โยนิโสมนสิการ นั่นเอง คือ เป็นความเพียรที่มีปัญญาเห็นชอบเป็นเหตุนำ
ไม่มีข้อใดเลย ที่ปราศจากปัญญาเห็นชอบเป็นเหตุนำ
และ ไม่มีทางเลยที่ความเพียรชอบเหล่านี้จะปิดกั้นการเกิดปัญญา....(เว้นเสียแต่
จะปฏิบัติผิดพลาดไปจากพระพุทธพจน์เสียเอง แล้ว กลายไปเป็นสีลัพพรตปรมาศ)
อยากเสนอ ให้ เพ่ง กันตรงข้อที่ว่า
"......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยความอดกลั้น....
คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเป็นผู้อดทนต่อหนาว
ร้อน หิว กระหาย เหลือบ ยุง ลม แดด ย่อมเป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำหยาบ
คำเสียดสี... อดกลั้นต่อทุกขเวทนาทางกาย.... เมื่อเธออดทนอยู่
อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ....
ปัจจุบันนี้ ชาวพุทธรุ่นใหม่บางส่วน จะมองว่า
"การอด ทน(ขันติ) และ การข่มใจ(ทมะ)" เป็น ความหมายอย่างเดียวกับ
"การกดข่มจิต" ซึ่งเขาเห็นว่าทำให้เกิดความเครียด และ
ปิดบังการรู้สภาวะของจิต และ จิต ตามที่เป็นจริง.ทางที่ถูก คือ
ต้องตามรู้สภาวะของจิต และ จิต อย่างตรงๆ โดยไม่แทรกแซง"เท่านั้น"....
ซึ่ง นี่คือสิ่งที่ได้ยินกันบ่อยๆมากในช่วงนี้
แต่ ความจริงแล้ว การเพียรชอบปฏิบัติ(ที่ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว)ในการ
อดทน และ ข่มใจ นั้น เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และ
ถ้าการปฏิบัตินั้นๆประกอบด้วยปัญญาเห็นชอบ
ไม่ใช่ไปตั้งหน้าตั้งตารังเกียจนิวรณ์ หรือ
หงุดหงิดเมื่อมีนิวรณ์ปรากฏขึ้นในใจ
ก็จะเป็นลักษณะที่เรียกว่า"ปฏิบัติด้วยฉันทะ"คือ เป็น
เหตุนำไปสู่ความเจริญ.
หาก ถ้าการปฏิบัตินั้นขาดปัญญาเห็นชอบ คือ
ไปตั้งหน้าตั้งตารังเกียจนิวรณ์ หรือ
รู้สึกหงุดหงิดเมื่อนิวรณ์ปรากฏขึ้นในใจ
ก็จะเป็นลักษณะที่เรียกว่า"ปฏิบัติด้วยวิภวตัณหา" ซึ่ง ตรงนี้
จะทำให้เครียดและทุกข์ได้จริงๆ
ประเด็น มันจึงอยู่ที่ การมีปัญญาเห็นชอบ และ มีมุมมองที่ถูกต้องในการปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม เรื่อง
ความเครียดที่อาจจะเกิดจากบ้างจากการไม่ทำตาม"ใจที่มีกิเลส" .เพราะ
เคยชินแต่การตามใจที่มีกิเลสมานาน พอฝืนไม่ทำตามมัน
มันก็อาจจะมีความรูสึกตึงเครียดอยู่บ้างจริง แต่ ย่อมเป็นสิ่งที่คุ้มค่า
เพราะ หากเอาแต่ทำตาม"ใจที่มีกิเลส" แล้ว นำไปสู่การกระทำทางกาย และ วาจา
ที่อาจสร้างความรุนแรงเสียหายแก่ผู้อื่น และ อาจนำเราไปสู่อบายได้
มันย่อมไม่คุ้มค่ากันเลย
ส่วนประเด็นเรื่อง ความเห็นที่ว่า การอดทน และ การข่มใจ
อาจเป็นการปิดบังการรู้สภาวะของจิต และ จิต ตามที่เป็นจริง และ
ทำให้ไม่เกิดปัญญา นั้น ผมมีความเห็นดังนี้ว่า ในขณะที่เรารู้สึกโกรธ
ถ้ามีสติครองใจ และ "รู้ชัด"ว่าโกรธ จะมีส่วนช่วยไม่ปล่อยให้เกิด วจีกรรม
และ กายกรรม ที่รุนแรงขึ้น ซึ่ง นี่ก็คือ เหตุที่ทำให้มี ความอดทน และ
การข่มใจ นั่นเอง.
ดังนั้น การอดทน และ การข่มใจ ตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้
จึงประกอบด้วยสติและปัญญา ย่อมไม่เป็นการปิดกั้นการเกิดปัญญาแต่อย่างใด.
{ปล. ผมไม่ได้ปฏิเสธ การตามรู้สภาวะของจิต และ จิต อย่างเดียว ตรงๆ
น่ะครับ... เพราะ ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็กล่าวไว้เช่นนั้นจริง
.อีกทั้ง ครูบาอาจารย์ เช่น หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
ท่านก็เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้.ท่านใดมีจริตนิสัยเช่นนั้น
ก็โปรดได้ปฏิบัติไปตามที่ท่านชำนาญเถิด ผมขออนุโมทนา แต่ กำลังทักท้วง
การที่ชาวพุทธรุ่นใหม่บางส่วน กล่าวเหมือน "การอดทน(ขันติ) และ
ทมะ(ข่มใจ)" เป็นอย่างเดียวกับคำว่า "กดข่มจิต"(ในความหมายที่เขาเข้าใจ)
และ เป็นสิ่งที่ไม่พึงปฏิบัติ)}
ประเด็น เรื่องของ ภาษาที่ใช้ หากคลาดเคลื่อน-ไม่รัดกุม
อาจนำไปสู่ความเข้าใจที่ไม่ตรง กับ ความหมายดั้งเดิมในพระพุทธพจน์ เช่น
คำว่า การอดทน(ขันติ) การข่มใจ(ทมะ)....ในพระไตรปิฎกแปลไทย กับ คำว่า
การกดข่ม ....ในภาษาที่ชาวพุทธรุ่นใหม่นิยมใช้กัน และ การเก็บกด
...ซึ่งสื่อไปในทางที่เป็นลักษณะอาการของจิตที่เครียดเป็นอกุศล เพราะ
เก็บเอาอารมณ์ต่างๆมาค้างคาไว้ในใจ
เราลองมาดูกันดีๆ ผมกำลังจะบอกว่า พยัญชนะ(ภาษา)ที่คลาดเคลื่อน
อาจนำไปสู่อรรถ(ความหมาย)ที่คลาดเคลื่อน
ออกไปจากอรรถ(ความหมาย)ดั้งเดิมแห่งพระพุทธพจน์
ในความจริงจริงแล้ว การกดข่ม
ที่ชาวพุทธรุ่นใหม่กล่าวกันบ่อยๆว่าพึงหลีกเลี่ยงนั้น
....ไม่ใช่อย่างเดียวกันกับ การอดทน(ขันติ) การข่มใจ(ทมะ)
ในพระไตรปิฎกแปลไทย แต่ การกดข่ม ที่ชาวพุทธรุ่นใหม่กล่าวกันนั้น
มันมีความหมายมาทาง การเก็บกด เสียมากกว่า... เพราะ
จะได้ยินคำอธิบายต่อว่า ในการทำเช่นนี้ ทำให้เครียด เป็นอกุศล
ซึ่ง จะต่างจาก การอดทน(ขันติ) การข่มใจ(ทมะ) ในพระไตรปิฎกแปลไทย
ที่มีความหมายไปในทางการเกิดกุศล หรือ ป้องกันการเกิดอกุศล
ดังเช่นที่ปรากฏใน โอวาทปาติโมกข์ว่า
"ขันติปรมัง ตโป ตีติกขา =ขันติ คือความอดกลั้นเป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง."
(ปล... พระพุทธองค์ท่านไม่ทรงสอน สิ่งที่ทำให้เครียด เป็นอกุศล
เอาไว้ในโอวาทปาติโมกข์หรอก)
อย่างไรก็ตาม การอดทน(ขันติ) และ การข่มใจ(ทมะ) นั้น
ไม่ใช่จุดสุดท้ายในการปฏิบัติ รับมือต่อโทสะ เพราะ ในความจริงแล้ว
พระพุทธองค์ไม่ได้สอนไว้เพียงแค่ ต้องอดทน ต้องข่มใจ เท่านั้น
หากแต่ พระพุทธองค์ทรงสอนให้ปฏิบัติต่อโทสะที่อยู่ในใจเราด้วยภาวนาวิธีอื่นๆต่อจาก
นั้นอีกด้วย เช่น เมตตาภาวนา หรือ การพิจารณานิวรณ์ในจิต
ดังที่ปรากฏในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ....รวมทั้ง
การรู้จักปล่อยวางอารมณ์ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย.
ดัง นั้น การอดทน(ขันติ) และ การข่มใจ(ทมะ) นั้น จึงเป็นในลักษณะ
ด่านแรกสุด ที่จะกั้นไม่ให้โทสะในใจเราแผลงฤทธิ์ออกไปก่อเวรกรรมกับผู้อื่น.
คือ เก็บโทสะไว้ภายในก่อน
ไม่ปล่อยให้มันออกไปแผลงฤทธิ์กับผู้อื่น....แล้วค่อยใช้ภาวนาวิธีอื่นๆมา
ปฏิบัติกับโทสะที่อยู่ในใจเราต่ออีก....หาได้จบเพียงแค่ การอดทน(ขันติ)
การข่มกลั้น(ทมะ) เท่านั้น
ดังนั้น การอดทน(ขันติ) การข่มกลั้น(ทมะ) จึงไม่ใช่ลักษณะ การเก็บกด
แบบที่ถูกเข้าใจกัน
....................................
อยากเสนออ่าน บทธรรมของ ท่าน อ.มิตซูโอะ ท่านกล่าวไว้ชัดเจนมากในเรื่องนี้
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=523
ตอนที่ ๗ แม่ขี้บ่น.....ลูกต้องไม่ขี้โกรธ
ให้เราพิจารณาดูว่า นิสัยขี้บ่นของแม่นั้น เราจะช่วยทำให้ลดลงได้ไหม
ปกติก็จะเปลี่ยนได้ยาก
หรือเปลี่ยนไม่ได้ เราคงต้องปล่อยให้เป็นอย่างนั้น
ไม่ต้องคิดจะให้เปลี่ยน มองให้เห็นว่า อารมณ์ของแม่ เหมือนลมฟ้าอากาศ
มีทั้งหนาว เย็น ร้อน ฝนตก แห้งแล้ง มีลม ไม่มีลม ลมแรงและพายุ
อารมณ์ของแม่ที่ไม่ถูกใจเรา เปรียบเหมือนสภาวะอากาศ ที่เราไม่ชอบ เช่น
หนาวไป ร้อนไป สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ป้องกันรักษาตัวไม่ให้ทุกข์
จิตใจก็เหมือนกัน เราต้องป้องกันด้วยใจดีมีเมตตา
ใช้สติปัญญารักษาใจไม่ให้ทุกข์ คือหน้าที่ของเรา
หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติมั่นคง
ใจเราก็ไม่ยินดียินร้าย ถึงอย่างไรก็สำรวมกาย วาจา
การแสดงออกทางกายให้เป็นปกติ ทางวาจาให้พูดดีๆ ไพเราะน่าฟัง ใจก็คิดดี
มีเมตตา เห็นอกเห็นใจแม่ พยายามรักษาความรู้สึกที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น
ถึงแม้ว่าไม่ชอบ ก็อดทน อดกลั้นไว้ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ
พิจารณาดูว่า อารมณ์ขี้บ่นเป็นเหมือนอาการท้องผูก
ของเสียเก็บไว้ในร่างกายนานๆ ทำให้ไม่สบาย เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
เมื่อกินยาระบายเข้าไประบายของเสียออกมาได้ ก็รู้สึกสบายกาย
สำหรับคนขี้บ่น อารมณ์หงุดหงิด เป็นของเสียที่สะสมไว้ในใจ
ถ้าเก็บกดไว้จะเครียด เป็นโรคประสาทได้ เมื่อได้ระบายออกมาทางวาจา
เขาก็ค่อยสบายใจขึ้น
ตามรายงานของจิตแพทย์ พบว่าผู้หญิงอเมริกันวัยกลางคน มีความรู้สึกปฏิเสธ
หรือไม่พอใจ มากถึงประมาณ 30,000 ครั้งต่อวัน หรือทุก 3 วินาที
ความรู้สึกชอบ ไม่ชอบนี้ เกิดจากการรับรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เราจะจัดการกับความรู้สึกได้ถูกต้อง
โดยไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น เก็บเอามาคิดปรุงแต่ง ตรงกันข้าม ถ้าไม่ฉลาด
ก็จะยึดถือ นำมาคิดปรุงแต่ง
แสดงออกทางวาจา เป็นคนขี้บ่น ประสบการณ์ภายในใจของมนุษย์เราจริงๆ
แล้วมีพอๆ กัน แต่บางคนเก็บสะสม เหมือนอาการท้องผูก
คำพูดที่ไม่พอใจคือ บ่น ไม่มีใครอยากฟัง แต่เมื่อแม่ของเราบ่น
ให้เข้าใจว่าท่านกำลังทุกข์ไม่สบายใจ เราควรเสียสละ
ใจดีพอที่จะรับเป็นสุขภัณฑ์ที่ดีให้แก่แม่ เป็นสุขภัณฑ์สะอาด ใช้ได้สะดวก
มีน้ำไหลแรงๆ หน่อย แม่บ่นเมื่อไรก็ใจดีรับฟัง แม่จะสบายใจ ไม่ต้องขัดใจ
ยิ่งของเสียออกมากยิ่งดีต่อสุขภาพ อายุยืน แต่เราก็ต้องระวัง
ถ้าคุณภาพสุขภัณฑ์ไม่ดีพอ เราจะ...สกปรกน่าดู
เราต้องมีสติปัญญา เมตตา กรุณา ขันติ เป็นคุณธรรมประจำใจ
เป็นโอกาสที่เราจะสร้างคุณงามความดี และเข้าใจธรรม ทำได้ดี
ทำได้มากเท่าไร ก็เท่ากับเราก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม
แล้วในที่สุดจะรู้สึกขอบคุณแม่ ที่เป็นแบบฝึกหัดให้แก่เราได้พัฒนาจิตใจ
..... ..... เป็นสุขภัณฑ์ที่ดีให้แก่แม่
คัดลอกจาก ตรงประเด็น อกาลิโก http://www.agalico.com/board/showthread.php?t=31329
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น