...+

วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552

รายงานพิเศษ : คดีหวยบนดิน ..."คตส.-อัยการ" เหตุผลใคร "เข้าท่า" กว่ากัน?

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2

อมรรัตน์ ล้อถิรธร......รายงาน

นาที ที่ศาลฎีกาฯ จะชี้ชะตา "ครม.ทักษิณ" กับพวกรวม 47 คน
ในคดีทุจริตโครงการออกหวยบนดินใกล้เข้ามาทุกขณะ คดีนี้
ไม่เพียงจำเลยจะถูก "คตส." ฟ้องฐานทำผิดอาญาหลายมาตรา แต่
คตส.ยังขอให้จำเลยทั้ง 47 คน
ชดใช้เงินงบประมาณของแผ่นดินจากการออกหวยบนดินที่ไม่ได้ส่งเข้าคลัง 3
หมื่นกว่าล้านบาทด้วย
...คงไม่ใช่แค่จำเลยในคดีนี้เท่านั้นที่รอคำพิพากษาด้วยใจระทึก
แต่หลายฝ่ายในสังคมก็ลุ้นผลแห่งคดีนี้เช่นกัน เพราะไม่เพียงเป็นอีก 1
คดีที่ คตส.ต้องฟ้องต่อศาลเอง เพราะอัยการไม่ฟ้องให้ โดยหาว่าสำนวนสอบของ
คตส.มีข้อไม่สมบูรณ์ 5 ประเด็น แต่ผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสุด
ที่ล่วงรู้สำนวนของ คตส.หมดแล้ว
ยังไปเป็นพยานเบิกความช่วยจำเลยในคดีนี้เช่นเดียวกับคดีทุจริตกล้ายางที่ศาล
เพิ่งยกฟ้องไปหมาดๆ ด้วย

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

กรณีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว หรือหวยบนดิน
ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ดำเนินคดี
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และคณะรัฐมนตรี(ครม.)
รวมทั้งคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลรวมทั้งสิ้น 47 คน
ฐานทำผิดกฎหมายหลายมาตรานั้น
คตส.ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนคดีนี้ตั้งแต่กลางปี 2550 โดยมีนายอุดม
เฟื่องฟุ้ง กรรมการ คตส.และอดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญา กรุงเทพใต้
เป็นประธานคณะอนุกรรมการ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดได้ชี้แจง

เมื่อไต่สวนแล้วเสร็จ
คตส.ได้ส่งมอบสำนวนและความเห็นให้อัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2550
เพื่อส่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลฎีกาฯ ซึ่งพยานหลักฐานที่
คตส.มอบให้อัยการมีมากถึง 32 แฟ้ม 4 ลัง ระบุพฤติการณ์การกระทำผิดของ
ครม.ทักษิณและผู้เกี่ยวข้องมากถึง 20 ประเด็น ด้านนายชัยเกษม นิติสิริ
อัยการสูงสุด ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาคดีนี้ โดยมีนายวัยวุฒิ
หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุดเป็นประธาน

ทั้งนี้ คณะทำงานอัยการชุด นายวัยวุฒิ
ได้ส่งผลสรุปความเห็นคดีหวยบนดินให้อัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาสั่งคดีเมื่อ
วันที่ 14 ม.ค.2551 ซึ่งต่อมาวันที่ 18 ม.ค. นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการ
สูงสุด เผยว่า คณะทำงานอัยการพิจารณาคดีหวยบนดินที่มีนายวัยวุฒิ
เป็นประธาน ได้เสนอให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการกับ
คตส.เพื่อให้มีการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มใน 4-5
ประเด็นที่ยังไม่สมบูรณ์

25 ม.ค.2551
คณะทำงานร่วมของทั้งสองฝ่ายได้ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาข้อที่ไม่สมบูรณ์
ของสำนวนคดีหวยบนดิน หลังประชุม นายสัก กอแสงเรือง กรรมการและโฆษก
คตส.ซึ่งเป็น 1 ในคณะทำงานร่วมฝ่าย คตส.แถลงว่า คณะ
ทำงานของอัยการสูงสุดยังยืนยันความไม่สมบูรณ์ของสำนวนทั้ง 5 ประเด็น
ขณะที่ตัวแทนของ คตส.เห็นว่า สำนวนถูกต้องสมบูรณ์แล้ว
ไม่จำเป็นต้องสอบพยานหรือรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีก เมื่อที่ประชุม 2
ฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกันทั้ง 5 ประเด็น จึงได้นัดประชุมอีกครั้งวันที่ 1
ก.พ.เพื่อพิจารณาว่าจะมีทางออกเรื่องนี้อย่างไร?

หลังประชุมร่วมกันวันที่ 1 ก.พ.ปรากฏว่า ทั้ง 2
ฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้
เพราะคณะทำงานของอัยการสูงสุดยังยืนยันเหมือนเดิมให้ คตส.สอบเพิ่มเติม
ขณะที่ฝ่าย คตส.ก็ยืนยันว่า ผลการไต่สวนสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว ดังนั้น
คณะทำงานทั้ง 2 ฝ่ายจะกลับไปรายงานให้ต้นสังกัดของแต่ละฝ่ายทราบ
โดยเฉพาะในส่วนของ คตส.นั้น จะพิจารณาว่า จะขอสำนวนคืนจากอัยการสูงสุด
เพื่อดำเนินการฟ้องคดีนี้ต่อศาลฎีกาฯ เองหรือไม่ ซึ่ง
คตส.สามารถดำเนินการได้ตามวิธีพิจารณาคดีความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการ
เมือง

ทั้งนี้ ที่ประชุม คตส.วันที่ 4
ก.พ.ได้มีมติให้ขอสำนวนคดีหวยบนดินคืนจากอัยการสูงสุด
เพราะเมื่ออัยการสูงสุดเห็นไม่ตรงกับ คตส.ก็เท่ากับว่า
อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ ดังนั้น
คตส.จะได้ดำเนินการตามกฎหมายด้วยการฟ้องต่อศาลฎีกาฯ เองภายใน 14
วันนับแต่วันที่ได้รับสำนวนคืนจากอัยการสูงสุด

แต่ดูเหมือนอัยการจะยื้อเวลา เพราะหลังจาก
คตส.ได้มีหนังสือแจ้งให้อัยการสูงสุดคืนสำนวนคดีหวยบนดินตั้งแต่วันที่ 5
ก.พ.ปรากฏว่า เวลาผ่านไปเป็นสัปดาห์
อัยการสูงสุดก็ยังไม่ยอมคืนสำนวนคดีให้ คตส.

วันที่ 12 ก.พ.ทีมทนายความจากสภาทนายความที่
คตส.ขอให้มาช่วยพิจารณาสำนวนคดีหวยบนดินว่าสำนวนมีความสมบูรณ์หรือไม่
(ก่อนพิจารณาส่งฟ้องต่อศาลฎีกาฯ) ได้ออกมาเผยว่า
หลังจากตรวจสอบสำนวนคดีของ คตส.แล้ว ยืนยันว่า
สำนวนการสอบสวนมีความสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว สามารถส่งฟ้องต่อศาลได้

วันเดียวกัน (12 ก.พ.) นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด
ในฐานะประธานคณะทำงานคดีหวยบนดิน และคณะทำงานร่วมฝ่ายอัยการ
ได้นำทีมอัยการเปิดแถลงว่า อัยการได้ส่งสำนวนคดีคืน
คตส.แล้วในวันเดียวกันนี้ แถมยังออกตัวด้วยว่า
การที่อัยการมีความเห็นแตกต่างจาก คตส.ไม่ได้มีความขัดแย้ง
และไม่ได้เป็นผลมาจากแรงกดดันทางการเมือง
เพราะขณะที่อัยการมีความเห็นเสนอให้ คตส.สอบเพิ่มใน 5 ประเด็น
เกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลนายสมัครและพรรคพลังประชาชนจะได้รับการแต่งตั้ง
และยังไม่ทราบว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล!?!

เป็น ที่น่าสังเกตว่า คำอ้างของนายวัยวุฒิขัดแย้งกับข้อเท็จจริง
เพราะคณะทำงานอัยการที่นายวัยวุฒิเป็นประธาน
ได้สรุปผลการพิจารณาสำนวนคดีหวยบนดินเสนออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 14 ม.ค.
ขณะที่นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ได้เผยต่อสาธารณชนในวันที่ 18
ม.ค.ว่า คณะทำงานเสนอให้ คตส.สอบเพิ่ม 4-5 ประเด็น
เพราะสำนวนยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น การที่นายวัยวุฒิอ้างว่า
อัยการมีความเห็นให้
คตส.สอบเพิ่มในขณะที่อัยการยังไม่ทราบว่าใครจะเป็นรัฐบาล
จึงเป็นเรื่องที่โกหกโดยสิ้นเชิง เพราะพรรคพลังประชาชนได้จับมือพรรคเล็ก
3 พรรค(พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา-พรรคมัชฌิมาธิปไตย-พรรคประชาราช)
ประกาศจัดตั้งรัฐบาล 254 เสียงตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2550 แล้ว
ก่อนจะมีการชวนอีก 2 พรรค (พรรคชาติไทย-พรรคเพื่อแผ่นดิน)
เข้าร่วมในเวลาต่อมา ดังนั้น ข้อเท็จจริงก็คือ
อัยการทราบว่าพรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาล
ก่อนหน้าที่อัยการจะสรุปผลสำนวนคดีหวยบนดินถึงครึ่งเดือนด้วยซ้ำ!

นอกจากนี้ แม้ นายวัยวุฒิ จะยืนยันว่า ไม่ได้ขัดแย้ง
คตส.และไม่มีนัยยะทางการเมือง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นาย วัยวุฒิ
ได้พูดดักคอเหมือนกับต้องการดิสเครดิต
คตส.ว่ายังไม่สามารถส่งฟ้องคดีต่อศาลเองได้ โดยอ้างว่า การที่
คตส.ขอสำนวนคืนจากอัยการเพื่อดำเนินการฟ้องคดีนี้เองนั้น
อาจมีปัญหาทางกฎหมายว่าความเห็นแตกต่างของอัยการสูงสุดในเรื่องการรวบรวม
พยานหลักฐานนั้น ยังไม่ใช่ความเห็นแตกต่างที่จะเข้าข้อกฎหมายให้
คตส.ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเองได้
เพราะคดีนี้อัยการสูงสุดยังไม่ได้มีความเห็นในคดีนี้
(ว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง) แต่อย่างใด!?!

วันต่อมา (13 ก.พ.) ที่ประชุม
คตส.ได้มีมติเอกฉันท์ส่งสำนวนคดีหวยบนดินยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ
โดยจะดำเนินการภายใน 1-2 สัปดาห์ ขณะเดียวกัน
ได้มีการแต่งตั้งคณะทนายความจากสภาทนายความ 12 คน
ให้เป็นทนายในคดีหวยบนดิน

กระทั่งวันที่ 10 มี.ค.ทีมทนายความซึ่งได้รับมอบหมายจาก
คตส.ก็ได้นำคำฟ้อง 57 หน้า
พร้อมสำนวนพยานหลักฐานการทุจริตโครงการหวยบนดินจำนวน 45 ลัง
ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเอาผิด
พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกฯ พร้อม ครม.ที่มีมติ
ครม.ให้ดำเนินโครงการออกหวยบนดิน
รวมทั้งคณะผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลรวม 47 คน ใน
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 152, 153, 154, 157 ประกอบมาตรา
83, 84, 86, 90, 91 และความผิดตาม
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
มาตรา 3, 4, 8, 9, 10, 11
พร้อมขอให้จำเลยชดใช้เงินงบประมาณของแผ่นดินจากการออกหวยบนดินที่ไม่ได้ส่ง
เข้าคลังจำนวน 28% หรือ 3 หมื่นกว่าล้านบาทด้วย

ด้านศาลฎีกาฯ ได้มีคำสั่งรับฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2551
นอกจาก 3 รัฐมนตรีในรัฐบาล
พ.ต.ท.ทักษิณที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้และมานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลนาย
สมัคร สุนทรเวช (ประกอบด้วย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ
และรัฐมนตรีคลัง-นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีช่วยคมนาคม-นางอุไรวรรณ
เทียนทอง รัฐมนตรีแรงงาน)
จะไม่ยอมหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาแล้ว
รัฐบาลนายสมัครยังได้ออกมติ ครม.วันที่ 29
ก.ค.ให้สำนักงานอัยการสูงสุดจัดอัยการไว้แก้ต่างให้จำเลยในคดีหวยบนดินทั้ง
47 คนด้วย!

ด้าน นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
รีบออกมารับลูกมติ ครม.ดังกล่าว โดยบอกในวันเดียวกันว่า
ครม.ถือเป็นผู้บังคับบัญชาของสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อมีมติอย่างไร
อัยการคงต้องปฏิบัติตาม ไม่อาจฝ่าฝืนคำสั่งได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้
อัยการจะเห็นว่า เพื่อความชอบธรรมแล้ว ในคดีที่
คตส.เป็นโจทก์ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ อัยการไม่ควรแก้ต่างให้ก็ตาม

หลังถูกกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมว่า
"อัยการคือทนายของแผ่นดิน
ไม่มีสิทธิรับเป็นทนายแก้ต่างให้จำเลยของแผ่นดิน" แล้ว
ทุกอย่างก็ดูเหมือนเงียบไป

กระทั่งศาลฎีกาฯ ได้พิพากษายกฟ้องคดีทุจริตกล้ายางฯ เมื่อวันที่
21 ก.ย.ปรากฏว่า นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
ได้ออกมาแถลงดิสเครดิตการทำงานของ คตส.(22 ก.ย.)ว่า ใจร้อน
ฟ้องคดีกล้ายางฯ เอง
โดยไม่สอบเพิ่มเติมตามที่อัยการสูงสุดได้ชี้ข้อบกพร่องของสำนวน
นายธนพิชญ์ ยังหยาม คตส.ด้วยว่า การสอบสวนไต่สวนจนนำไปสู่การฟ้องคดี
ควรยืนอยู่บนพยานหลักฐาน มิใช่ความเชื่อมั่นส่วนตัว
หรือตามกระแสกดดันของข่าวสารหรือประชาชน...

ไม่เท่านั้น นายธนพิชญ์ ยังทำเหมือนต้องการช่วยเหลือ ครม.รัฐบาล
พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีทุจริตโครงการหวยบนดิน
ด้วยการพูดชี้นำศาลฎีกาฯ ที่จะพิพากษาคดีทุจริตโครงการหวยบนดินในวันที่
30 ก.ย.นี้ว่าคดี หวยบนดิน อัยการสูงสุดก็ได้แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ให้
คตส.กลับไปสอบสวนเพิ่มเติมหลายประเด็นเช่นเดียวกับคดีทุจริตกล้ายาง แต่
คตส.ก็ไม่ได้สอบสวนเพิ่มเติมและจ้างทนายฟ้องเอง

ร้อนถึงประธานและกรรมการ คตส.ต้องออกโรงชี้แจง
พร้อมแฉพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระบวนการยุติธรรมบาง
คนที่ไปเบิกความช่วยจำเลยทั้งในคดีทุจริตกล้ายางฯ และคดีทุจริตหวยบนดิน
ด้วยการเบิกความว่า การฟ้องจำเลยในคดีนี้ไม่ใช่เรื่องข้อกฎหมาย
แต่เป็นเรื่องการเมือง!?!

ทั้งนี้ มีข่าวว่า
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระบวนการยุติธรรมที่ไปเบิกความช่วยจำเลยในคดีกล้ายางฯ
และคดีหวยบนดิน ก็คือ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด และนายวัยวุฒิ
หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด ซึ่งล่าสุด (28 ก.ย.) นายวัยวุฒิ
ได้ยอมรับระหว่างร่วมงานสัมมนาเรื่อง
"บทบาทพนักงานอัยการในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ" ว่า
ตนเป็นพยานให้จำเลยในคดีหวยบนดินจริง แต่ยืนยันว่า
ไม่ได้เป็นพยานในคดีกล้ายาง!

เมื่ออัยการ ซึ่งอยู่ในฐานะทนายของแผ่นดิน
แต่กลับช่วยเบิกความเป็นพยานให้ฝ่ายจำเลย ทั้งที่ตัวเองได้เห็นสำนวนของ
คตส.หมดแล้ว ทำให้จำเลยยกประเด็นที่อัยการชี้ข้อไม่สมบูรณ์ของสำนวนของ
คตส.ขึ้นมาต่อสู้
จะสามารถทำให้จำเลยคดีหวยบนดินหลุดพ้นความผิดในคดีนี้ได้หรือไม่
คงต้องลองมาพิจารณาข้อบ่งชี้ของอัยการที่อ้างว่า สำนวนการสอบของ
คตส.ในคดีหวยบนดินยังไม่สมบูรณ์ 5 ประเด็น ควรสอบเพิ่ม ขณะที่
คตส.ยืนยันว่า การสอบสมบูรณ์และได้ข้อยุติแล้วทั้ง 5 ประเด็น
ลองมาชั่งน้ำหนักกันว่า เหตุผลของฝ่ายใดจะฟังได้มากกว่ากัน?

ประเด็นที่ 1 อัยการ ชี้ว่า
การนำเพียงบันทึกถ้อยคำของบุคคลในชั้นตรวจสอบ
มาเป็นพยานหลักฐานในชั้นไต่สวน
ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังให้ศาลลงโทษได้

ด้านนายสัก กอแสงเรือง กรรมการและโฆษก คตส.แถลงยืนยันว่า
ประเด็นนี้จบแล้ว เพราะศาลฎีกาฯ ได้วินิจฉัยแล้วว่า
พยานหลักฐานในชั้นตรวจสอบ สามารถนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนได้

"คำ ให้การชั้นตรวจสอบเนี่ย
อัยการบอกว่าจะต้องเอามาสอบใหม่ชั้นไต่สวน
คือของเราเนี่ยมีตั้งตรวจสอบก่อน แล้วถึงจะมาไต่สวนอีกครั้งหนึ่ง
ทีนี้ตอนเราตรวจสอบ เราก็สอบเป็นพยานในฐานะพยานผู้ให้ถ้อยคำเหมือนกันหมด
และตามระเบียบเราก็ใช้ได้ในชั้นตรวจสอบ เอามาใช้ในชั้นไต่สวนได้
ซึ่งตอนที่เราสอบเราก็ยืนยันว่า ถ้อยคำเขาอาจจะต้องถูกใช้ในศาลด้วย
ซึ่งส่วนนี้เราได้บันทึกไว้ในคำให้ถ้อยคำหมดแล้ว ประการต่อมาคือ
โดยหลักตามระเบียบของ ป.ป.ช. รวมทั้งระเบียบของ คตส. ซึ่งเหมือนกันก็คือ
พยานใช้ในชั้นตรวจสอบเนี่ย เอามาใช้เป็นพยานในชั้นไต่สวนได้
โดยไม่ต้องสอบใหม่ อันนี้เป็นไปโดยระเบียบแล้ว แล้วประเด็นนี้
อัยการก็จะแจ้งข้อไม่สมบูรณ์มาทั้ง 3 คดี
และพวกนี้จำเลยก็เอาไปเป็นประเด็นข้อต่อสู้ในศาลเหมือนกับกล้ายาง
กล้ายางก็ยกไปเป็นข้อต่อสู้ในศาลว่า พยานหลักฐานชั้นตรวจสอบเนี่ย
ไม่ได้ให้พยานยืนยันเอามาใช้ในชั้นไต่สวนได้ ซึ่งศาลฎีกาฯ
ก็ได้ตัดสินไว้ในคดีกล้ายาง แล้วว่า พยานหลักฐานชั้นตรวจสอบเนี่ย
เอามาใช้เป็นพยานหลักฐานชั้นไต่สวนแล้ว เป็นพยานหลักฐานที่ชอบแล้ว
ประเด็นข้อต่อสู้นี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น ซึ่งศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว
ประเด็นนี้จบแล้ว มีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ แล้ว"

ประเด็นที่ 2 อัยการ ชี้ว่า ไม่มีคำนิยามในกฎหมายว่า
การออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัวหรือหวยบนดิน
เป็นสลากกินแบ่งหรือสลากกินรวบ และว่า
คดีนี้มีปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษีการพนัน
ซึ่งจำเป็นต้องสอบผู้ชำนาญการพิเศษว่า เป็นการพนันประเภทใด
การที่ไม่ได้มีการสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ
จึงเป็นข้อไม่สมบูรณ์ของการสอบสวน

ซึ่งประเด็นนี้ กรรมการและโฆษก คตส.ยืนยันว่า
คตส.ได้แยกแยะประเภทของสลากไว้หมดแล้ว
และคณะกรรมการกฤษฎีกาก็เคยยืนยันแล้วว่า หวยบนดินเป็นสลากกินรวบ
ซึ่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่สามารถออกสลากกินรวบได้

"เรื่อง ของสลากกินแบ่ง สลากการกุศล และสลากกินรวบเนี่ย
คตส.ได้แยกแยะไว้หมดแล้ว ซึ่งสลากกินแบ่งก็คือ
พิมพ์โดยสำนักงานสลากและพิมพ์จำนวนแน่นอน จ่ายรางวัล 60% เข้ารัฐ 28%
เป็นค่าใช้จ่ายของกองสลาก 12% กองสลากก็จะไม่มีการขาดทุน
อย่างนี้ถือว่าเป็นสลากกินแบ่ง ตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ
ทีนี้สลากการกุศล หมายถึง
หน่วยงานขออนุญาตออกสลากเพิ่มขึ้นเป็นการกุศลเฉพาะครั้งเฉพาะคราว เช่น
ของสภากาชาด ของทหารผ่านศึก เป็นต้น และออกจำนวนที่แน่นอน
และออกในลักษณะของสลากกินแบ่ง เพราะฉะนั้นสลากการกุศลเนี่ย
ก็เป็นสลากกินแบ่งประเภทหนึ่งที่ชัดเจน"

"แล้วเรื่องหวย 2 ตัว 3 ตัว หวยบนดิน 2 ตัว 3 ตัวเนี่ย
เป็นสลากกินรวบหรือไม่
ก็มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วว่าเป็นสลากกินรวบ
ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาก็วินิจฉัยตามคำปรึกษาของสำนักงานสลาก
และกระทรวงการคลัง ทำหนังสือไปหารือ และเขาก็ตอบมาว่าเป็นสลากกินรวบ
ไม่ใช่สลากกินแบ่ง เพราะฉะนั้นสำนักงานสลากกินแบ่งฯ ออกไม่ได้
เขาถึงได้หยุด อันนี้จบไปแล้วอันหนึ่ง และ
คตส.ก็ได้เคยสอบถามกระทรวงมหาดไทยแล้ว กระทรวงมหาดไทยก็ตอบว่า หวย 2 ตัว
3 ตัว เป็นการพนัน แต่ไม่บอกว่าเป็นสลากกินรวบหรือสลาก
เขาบอกว่าเป็นการพนัน เขาไม่ได้ยืนยันว่าเป็นสลากกินรวบ
แต่การดำเนินการเรื่องสลากของหวย 2 ตัว 3 ตัวในลักษณะนี้
หรือที่เขาเรียกว่าหวยใต้ดินเนี่ย
ก็เป็นกรณีของการจับกุมฟ้องร้องดำเนินคดีมาช้านานแล้ว การจับสลาก 2 ตัว 3
ตัวเนี่ย ทางตำรวจก็จะแจ้งข้อหาเป็นสลากกินรวบ
อัยการก็ฟ้องคดีเป็นสลากกินรวบ แล้วศาลฎีกาก็ลงโทษเป็นสลากกินรวบ
มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกามาตลอดหลายคดี
อัยการเองทั่วประเทศก็ฟ้องเป็นสลากกินรวบ
เพราะฉะนั้นเรื่องสลากกินรวบก็จบแล้ว
ประเด็นเรื่องการสอบผู้ชำนาญการพิเศษหรือผู้เชี่ยวชาญเนี่ย
คตส.ได้สอบถามแล้ว ไม่มีใครจดทะเบียนกับกระทรวงยุติธรรม
และไม่มีใครจดทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญการพนันกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เพราะฉะนั้นหาผู้ชำนาญการพิเศษมาสอบเป็นพยานไม่ได้
เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็น่าจะยุติแล้ว ไม่มีอะไรต้องสอบเพิ่มเติมอีก"

ประเด็นที่ 3 อัยการชี้ว่า ในสำนวนการสอบสวน
ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะรัฐมนตรีเคยมีมติให้สำนักงานสลากฯ
หรือหน่วยงานของรัฐอื่นออกสลากกินแบ่งหรือสลากพิเศษเพื่อหารายได้ไปใช้ใน
กิจการสาธารณกุศล
ข้อกล่าวหาที่ว่าร่วมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีอากร
พยานหลักฐานจึงยังไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้

ด้าน คตส.ชี้ว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่อัยการตั้งข้อสังเกต
แต่ความผิดอยู่ที่ ครม.และสำนักงานสลากฯ
ไม่มีสิทธิอนุมัติไม่ให้นำเงินภาษีจากการออกหวยบนดินส่งเข้าคลังต่างหาก

"ประเด็น นี้... รู้สึกเขาจะอ้างว่า
ที่ผ่านมาเนี่ยเคยมีออกสลากอย่างอื่น เช่น หวยขูดของภูมิพล
แต่มีการออกสลากการกุศลอย่างอื่นก็ออกเป็นสลากกินแบ่ง
ซึ่งเราได้วินิจฉัยไปหมดแล้ว แต่สลากหวย 2 ตัว 3 ตัวบนดินแบบสลากกินรวบ
ไม่เคยออกมาก่อน เพราะฉะนั้นก็ไม่มีตัวอย่างอะไรที่จะไปสอบอีก
และพวกนั้นมันเป็นข้อยุติไปหมดแล้ว แล้วประเด็นความผิดมันอยู่ที่ว่า
คณะกรรมการสลากฯ ก็ดี หรือ ครม.ก็ดีอนุมัติให้ไม่เอาเงินภาษีส่งคลัง
เป็นความผิดตรงนี้ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายว่า ในกรณีของเงินตรงนี้ ต้องส่งคลัง
และข้อกฎหมายว่า ถ้า ครม.จะลดภาษีนั้น ก็ต้องไปแก้ประมวลรัษฎากร
ต้องไปแก้ พ.ร.บ.การพนัน ต้องไปแก้กฎหมาย มติ
ครม.ไม่มีอำนาจที่จะยกเว้นภาษีได้
ตรงนี้มันก็เป็นปัญหาที่ไม่มีอะไรจะต้องสอบอีกแล้ว"

ประเด็นที่ 4 อัยการชี้ว่า ในสำนวนของ
คตส.ไม่ได้สอบพยานหลักฐานว่า
มีการนำรายได้จากการออกหวยบนดินไปใช้อย่างไรบ้าง

ซึ่ง คตส.ชี้ว่า แค่
ครม.มีมติให้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อนำเงินที่สำนักงานสลากฯ
ไม่ส่งเข้าคลัง ไปใช้ได้ ก็ถือว่าผิดแล้ว

"ตรง นี้ไม่ใช่ประเด็นที่เรากล่าวหาว่าเป็นการกระทำความผิด
เพราะมติ ครม.ให้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เอาเงินที่ไม่ส่ง ไปใช้เนี่ย
มันก็ถือว่ามติ ครม.ฝ่าฝืน เป็นความผิดแล้ว และคณะกรรมการสลากฯ เสนอ
ครม.เพื่อขออนุมัติเอาเงินส่วนนี้ไปใช้
โดยกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อคืนสู่สังคมเนี่ย 1.ไม่มีกฎหมายรองรับให้
ครม.มีอำนาจทำได้ เพราะฉะนั้นการกระทำส่วนนี้ก็ถือว่าฝ่าฝืนกฎหมาย
ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะฉะนั้นในส่วนที่ใครเอาเงินไปใช้อย่างไร
ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในคดีนี้"

ส่วนประเด็นที่ 5 ที่อัยการชี้ว่า
ต้องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)
ตรวจสอบและรับรองการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานสลากฯ
เพื่อมาเป็นหลักฐานในคดีหวยบนดินด้วยนั้น

ทาง คตส.ชี้แจงว่า สิ่งที่อัยการระบุ เป็นคนละเรื่องกับที่
คตส.ตรวจสอบในคดีนี้

"เขา อ้างว่าในรายรับ-รายจ่าย การใช้งบประมาณของสำนักงานสลากฯ
เนี่ยต้องผ่านการตรวจสอบบัญชีโดย สตง.เป็นทุกปีอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นก็ให้ไปสอบ สตง.ว่า สตง.ได้ตรวจสอบบัญชีสำนักงานสลากฯ
แล้วเป็นอย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ทาง คตส.ก็ได้ชี้แจงว่า เรื่อง
สตง.สอบบัญชีรายรับ-รายจ่าย หรืองบดุลของสำนักงานสลากฯ เนี่ย
คนละเรื่องกับเรื่องที่เราตรวจสอบ ส่วนเรื่องที่เราตรวจสอบเนี่ย
เราก็ได้เอาการสอบเบื้องต้นของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ตรวจว่า
มีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตรวจสอบไต่สวน
เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องไปสอบ สตง.อีก
เพราะประเด็นนี้ไม่ได้เป็นประเด็นโต้แย้งโดยตรงในคดีที่กล่าวหาคดีนี้"

ฟังข้อบ่งชี้ของอัยการ และคำชี้แจงของ คตส.ในคดีหวยบนดินแล้ว
นอกจากต้องลุ้นว่า จำเลยทั้ง 47 คนในคดีนี้ ใครจะผิด-ใครจะรอด
หรือผิดยกพวง-รอดยกพวงแล้ว ผลแห่งคำพิพากษา ยังจะสะท้อนด้วยว่า
การที่อัยการ ซึ่งล่วงรู้สำนวนของ คตส.หมดแล้ว
แต่กลับไปเป็นพยานให้ฝ่ายจำเลยนั้น
จะสามารถช่วยให้จำเลยของแผ่นดินรอดพ้นจากความผิดได้ทุกคดีหรือไม่?


http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000114497
1-//////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น