...+

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เวทีนโยบาย:ความเป็น 'อิสระ' ของสภาเกษตรกรหมุดหมายความเป็น 'ไท' ของเกษตรกรไทย

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ 19 ตุลาคม 2552 16:41 น.
แน่นอนสุดว่าความอิสระสำคัญสุดสำหรับองค์กร สถาบัน
และหน่วยงานที่ทุ่มเททำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
เฉกเช่นเดียวกันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้อง
เป็นไทไถ่ถอนตนเองออกจากอาณัติอิทธิพลของกลุ่มการเมืองและกลุ่มทุนธุรกิจ
เพื่อจะบริหารชาติบ้านเมืองบนผลประโยชน์สาธารณะมากกว่าประโยชน์ส่วนตัวของตน
เองและเจ้าของเงิน

ยิ่งเป็นองค์กรที่มีพันธกิจคุ้มครองคนปลายอ้อปลายแขมของสังคม
ไทยอย่างสภาเกษตรกรที่กำลังจัดตั้งตามมาตรา 84(8) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.
2550 ที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการรวม
กลุ่มของเกษตรกรในรูปสภาเกษตรกรเพื่อวางแผนการเกษตรและรักษาผลประโยชน์ร่วม
กันของเกษตรกรด้วยแล้ว ความเป็น 'อิสระ' สำคัญยิ่ง

ด้วยถึงที่สุดแล้วการคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและ
การตลาดผ่านรูปแบบสภาเกษตรกรจะต้องปราศจากการก้าวก่ายแทรกแซงจากกลุ่มธุรกิจ
การเมือง แต่ต้องเป็นของเกษตรกรโดยเกษตรกรเพื่อเกษตรกร
ดุจเดียวกับระบอบประชาธิปไตยที่ต้องไม่ถูกอำนาจนอกเหนือประชาชนครอบงำ
ดังถ้อยคำว่าประชาธิปไตยต้องเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

เช่นนี้ การมีอิสระในตนเองจึงเป็นหลักประกันการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปเพื่อ
ประโยชน์สุขของเกษตรกรครบถ้วนสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพประสิทธิผล
โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่วิถีชีวิตยึดโยงกับความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากร
ธรรมชาติ รวมทั้งมิให้ซ้ำรอยอดีตที่มีการพยายามผลักดัน
พ.ร.บ.สภาการเกษตรแห่งชาติเพื่อเปิดช่องทางและสร้างความชอบธรรมให้กับบรรษัท
อุตสาหกรรมเกษตรเข้ามามีบทบาทด้านการโซนนิ่ง การปรับปรุงพันธุ์
การกำหนดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์

ดังนั้น การพิจารณาประเด็นความอิสระของ พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ
พ.ศ. ... โดยเรียนรู้บทเรียนแห่งอดีตเพื่อกำหนดปัจจุบันและอนาคตที่สร้างสรรค์จึงจำ
เป็นและสำคัญยิ่งยวด
เพราะหากปราศจากกลุ่มทุนธุรกิจการเมืองที่แฝงฝังเข้ามาในสภาเกษตรกรก็จะ
สามารถทอนอำนาจบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรทั้งระดับชาติและข้ามชาติที่มักสม
ประโยชน์กับภาคการเมืองด้วยการกำหนดนโยบายที่กอบโกยปัจจัยการผลิตแต่กลับ
เพิ่มพูนพันธนาการหนี้สินแก่เกษตรกรรายย่อยได้ไม่น้อย

โดยนัยนี้ พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. ...
จึงต้องวางอยู่บนหลักการพื้นฐานสำคัญ 4 ประการด้วยกัน ทั้ง 1)
มีที่มาจากเกษตรกร
เนื่องจากเกษตรกรเป็นเจ้าของสภาเกษตรกรอันเป็นองค์กรที่มาจากการรวมกลุ่มของ
ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรในสาขาต่างๆ
เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนดูแลรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มเกษตรกร
ฉะนั้นบุคลากรที่มีตำแหน่งในสภาเกษตรกรต้องเชื่อมร้อยกับเกษตรกรผู้เป็นเจ้า
ของด้วย 2) เมื่อมีที่มาจากเกษตรกรก็ต้องถูกกำกับควบคุมโดยเกษตรกร
โดยเกษตรกรเป็นผู้ตรวจสอบการบริหารจัดการเพื่อให้สภาเกษตรกรก้าวหน้าตามพันธ
กิจหน้าที่ด้วยดี

3) ต้องผูกพันความรับผิดชอบต่อเกษตรกร
ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนและประเมินมาตรการที่ดำเนินไปว่าส่งผลอย่างไร
และ 4) ต้องสามารถตอบสนองปัญหาความต้องการของเกษตรกรที่มีลักษณะพลวัต
ด้วยปัจจุบันเกษตรกรเดือดร้อนแสนสาหัสทั้งจากกลไกตลาด
การรานรุกของบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่
และการกำหนดนโยบายภายในประเทศและระหว่างประเทศของภาครัฐ
ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA)
หรือความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน (ACIA)
ที่จะเปิดเสรีการลงทุนด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง พร้อมๆ กัน

อย่าง น้อยสุดในสภาวะวิกฤตพึ่งพิงใครไม่ได้
ก็ต้องได้สภาเกษตรกรเป็นกัลยาณมิตรเคียงข้าง
เหมือนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นที่พึ่งแก่ประชาชนที่
ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และรักความยุติธรรมตามลำดับ

ทั้งนี้ ด้วยเจตนารมณ์คุ้มครองผลผลิตและการตลาดของเกษตรกรให้ได้ค่าตอบแทนที่เป็น
ธรรม รวมทั้งส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด
การมีอิสระจากทุนธุรกิจการเมืองและบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรทว่ามิได้อิสระจาก
การกำกับดูแลของเกษตรกร ตลอดจนบริหารโดยผู้มีความรู้ความสามารถ
ก็จะทำให้สภาเกษตรกรเกิดเอกภาพ ไม่แยกเคลื่อนไหวเฉพาะสินค้าแต่ละตัว

ด้วยเหตุปัจจัยนี้ การพยายามผลักดันสิทธิเกษตรกร (Farmers'
rights) ที่เกี่ยวเนื่องกับการเข้าถึงและครอบครองปัจจัยการผลิตทั้งเมล็ดพันธุ์
ที่ดิน และแหล่งน้ำ อันเป็นหัวใจหลักใน
พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติฉบับประชาชนเข้ามาในร่าง
พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. ...
ที่กำลังถกเถียงขบคิดกันอยู่จึงสำคัญเท่าๆ
กับการรังสรรค์สายธารความเป็นอิสระใน 4 ด้านนับแต่ต้นธารถึงปลายธาร

กล่าวคือ 1) ต้องมีความเป็นอิสระในการเข้าสู่อำนาจ
ไม่ถูกฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงแต่งตั้ง 2)
ต้องมีความเป็นอิสระในการทำนโยบาย
ไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรที่มีสายสัมพันธ์แนบ
แน่นกับกลุ่มกุมอำนาจรัฐ 3) ต้องมีความเป็นอิสระด้านงบประมาณ
มีเพียงพอต่อการดำเนินการเพื่อจะสามารถวางแผนและกำหนดทิศทางได้ด้วยตัวเอง
ไม่ถูกข่มขู่ว่าจะตัดงบถ้ากำหนดมาตรการและนโยบายขัดผลประโยชน์ทุนอุตสาหกรรม
เกษตร

และสุดท้าย 4) ต้องมีความเป็นอิสระด้านสำนักงาน
ทั้งแง่มุมสถานที่และอำนาจการบังคับบัญชา
เพราะสำนักงานคือฝ่ายเลขานุการและฝ่ายธุรการในการปฏิบัติหน้าที่ของสภา
เกษตรกร หากนำสำนักงานผูกโยงกับกระทรวงก็จะมีผลต่อการแทรกแซงความอิสระ
ไม่เท่าทันวัฒนธรรมความสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้นเพราะคุ้นเคยรวมศูนย์อำนาจ
รวมถึงความล่าช้าในการปฏิบัติตามนโยบายด้วย

กล่าว ถึงที่สุด
ดีกรีความเป็นอิสระคือดัชนีชี้วัดว่าสภาเกษตรกรสามารถธำรงเจตนารมณ์รัฐ
ธรรมนูญไว้ได้มากน้อยแค่ไหน ในขณะเดียวกันก็สัมพันธ์กับความเป็น 'ไท'
ไถ่ถอนพันธนาการหนี้สินที่ท่วมท้นรุ่นต่อรุ่นของเกษตรกรส่วนใหญ่ในชาติที่
เป็นรายย่อยด้วย

เนื่องจากว่าถ้าสภาเกษตรกรถูกครอบครองชี้นำโดยทุนธุรกิจอุตสาหกรรม
เกษตร กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะสามารถอาศัยอำนาจและภาพลักษณ์ของสภาเกษตรกรเสนอแนะ
มาตรการและนโยบายต่างๆ
ที่ขัดกับการดูแลรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของเกษตรกรออกมาได้อย่างมีความชอบ
ธรรม ทั้งยังมิต้องเอ่ยว่าปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยก็ถูกจองจำไว้ในพันธนาการ
หนี้สินสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการซื้อหาเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี
ยาฆ่าแมลงของบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรที่อาศัยกลไกตลาด ให้สินเชื่อ
และโน้มน้าวเกษตรกรให้ยินดีเป็นผู้รับความเสี่ยงแทนจากการทำเกษตรพันธสัญญา
(Contact farming)

ทางตรงข้าม
ถ้าสภาเกษตรกรแห่งชาติที่อยู่ระหว่างขับเคี่ยววาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียงพึ่ง
พิงตนเองกับการส่งเสริมการลงทุนและส่งออกตามขนบเศรษฐกิจทุนนิยมยืนหยัดอยู่
บน 4 หลักการพื้นฐาน และ 4
สายธารความเป็นอิสระอันเป็นองคาพยพขับเคลื่อนอย่างเคร่งครัด
ศักดิ์ศรีความเป็นอาชีพเลี้ยงประชากรโลก (Feed the world)
ก็จะฟื้นคืนสู่เกษตรกรไทยที่มีภาพลักษณ์ยากจนข้นแค้นและถูกติดฉลากเป็นชนชาย
ขอบของสังคมทุนนิยมไทยมาช้านานได้

ไม่เพียงเพราะจะมีเวทีที่หนักแน่นมั่นคงในการส่งเสียง (Voice)
ความต้องการ ข้อเรียกร้องและทวงถามความเป็นธรรม
หากยังได้พื้นที่กว้างขวางในการร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อยับยั้ง คัดค้าน
หรือเสนอแนะมาตรการและนโยบายต่างๆ อันจะกระทบวิถีชีวิต
จากเดิมต้องอาศัยการเคลื่อนไหวชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเครื่องมือ
สื่อสารความเดือดร้อนกับสังคมเพียงอย่างเดียว

ทว่าก็ว่าเถอะสภาเกษตรกรเป็นเพียง 'กลไกภายนอก'
ที่หนุนนำเกษตรกรให้เป็นอิสรชนไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัวจากการวางแผนการเกษตร
โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของเกษตร
ไม่ใช่คำนวณแค่กำไรของบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรเหมือนก่อนมา หาก 'กลไกภายใน'
ที่สำคัญไม่ด้อยกว่ากันก็คือจิตใจเป็นไทของเกษตรกรที่ไม่หวังผลประโยชน์
เฉพาะหน้าและไม่จำนนต่อบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรระดับชาติและข้ามชาติ
ดังการทวนกระแสของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกต่างๆ

เพียง แต่ว่าวันนี้หมุดหมายความเป็น 'ไท'
ของเกษตรกรไทยจะถูกย้ำหมุดหนักแน่นขึ้นจากสภาเกษตรกรที่มีความเป็น
'อิสระ' และบริหารจัดการเพื่อแก้วิกฤตเกษตรกรโดยตัวเกษตรกรเอง

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น