...+

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2552

บ้านท่าพรุ-อ่าวท่าเลนแบบอย่างชุมชนเข้มแข็ง

', '

ความงามบางครั้งก็เป็นภัย ดึงดูดอันตรายเข้ามาใกล้ตัว...
คำกล่าวนี้เห็นจะจริงถ้าใคร ได้มีโอกาสไปเยือน ชุมชนบ้านท่าพรุ และ
อ่าวท่าเลน ที่ ต.เขาทอง อ.เมือง จ.กระบี่...

ชุมชนแห่งนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพ มาจากพื้นที่ใกล้เคียง
ในอดีตเคยมีพื้นที่พรุกว้าง กั้นบ้านท่าพรุกับพื้นที่อื่นเอาไว้
ภูมิประเทศเป็นที่ราบติดทะเล มีภูเขาหินปูนในทะเล มีป่าไม้ถึง 2,000 ไร่
วิถีชีวิตคนที่นี่ผูกพันอยู่กับทะเล
การประมงในอดีตเป็นการทำประมงพื้นบ้าน แต่ความเจริญที่เข้ามา
ทำให้ชาวบ้านหันไปใช้เครื่องมืออวนลากมากขึ้น
ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

นอกจากชาวบ้านในพื้นที่แล้ว ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรบริเวณนี้
ยังดึงดูดนายทุนต่างพื้นที่ เอาเรือติดอวนลาก อวนรุน
เข้ามาตักตัวทรัพยากรอย่างละโมบ ยังไม่พอ
นายทุนเหล่านี้ยังรุกคืบเข้าไปหาผลประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ในบริเวณชุมชน
ทำให้ ประมงพื้นบ้านต้องออกเรือไปไกลฝั่ง
เสี่ยงอันตรายและค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดแคบลงๆ
เพราะถูกกลุ่มที่มีทุนหนากว่ายึดหัวหาดแทน

สมชาย เหล่าสกุล กำนันตำบลเขาทอง ผู้นำชุมชนที่ไม่อาจนิ่งดูดาย
ปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ปรึกษาหารือกับผู้นำคนอื่นๆ และได้ข้อสรุปว่า
ต้องชี้ให้เห็นถึงผลกระทบ จากการใช้อวนรุน อวนลาก ซึ่งก็ได้ผล
ชุมชนเริ่มตระหนักถึงความสูญเสีย และเลิกใช้อวนรุน อวนลาก
แต่ก็ยังมีบางพวกที่เพิกเฉย จึงต้องจับดำเนินคดี ความเด็ดขาดนี้ส่งผลถึง
กลุ่มผู้มีอิทธิพลนายทุนหลายกลุ่ม ทำให้แกนนำเผชิญกับความรุนแรง
ถึงขั้นยิงต่อสู้กันก็มี แม้พยายามพึ่งอำนาจรัฐ
แต่เมื่อไม่สามารถจัดการได้ ชาวบ้านจึงหันมาพึ่งตัวเอง

ในปี 2538-2539 ได้จัดตั้งกลุ่มอาชีพประมงขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านช่วยสอดส่องดูแลกันเอง
จากการจัดการที่เท่าทันกับปัญหา ทำให้ สามารถจับเรืออวนรุน อวนลาก
ดำเนินคดีได้ คืนหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก และจากปฏิบัติการเอาจริงเอาจัง
ทำให้กลุ่มเข้มแข็ง สามารถจัดการกับเรือพวกนี้ได้สำเร็จ
โดยนอกจากกลุ่มประมงแล้ว ยังได้ก่อตั้งกลุ่มสวนยางพารา สวนปาล์ม ฯลฯ
แต่ละกลุ่มจะมีคณะกรรมการกลุ่มเป็นผู้ดูแล

เมื่อจัดการอวนรุนอวนลากได้แล้ว ชุมชนก็หันมาฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ
ด้วยการทำปะการังเทียมและปล่อยสัตว์น้ำในป่าชายเลนเพื่อให้ขยายพันธุ์
พร้อมๆ กับช่วยกันสอดส่องดูแลอยู่ตลอดเวลา
แต่การดูแลให้ทั่วถึงไม่ใช่เรื่องง่าย แนวคิดที่ชุมชนใช้เป็นทางออกก็คือ
"การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์" เนื่องจากกระแสกำลังมาแรง
ถ้าไม่เตรียมรับมือให้ดีอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติได้อีก

ดังนั้น จึงได้มีจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนขึ้นมาดูแล
มีการออกกฎระเบียบการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน
ซึ่งที่บ้านท่าพรุและอ่าวท่าเลนนี้มีความหลากหลาย
ของระบบนิเวศที่เหมาะในการพายเรือพักผ่อน พร้อมๆ
กับศึกษาธรรมชาติไปในขณะเดียวกัน

ณ ที่แห่งนี้ มีจุดท่องเที่ยวงดงามหลายแห่งด้วยกัน อาทิ วังขนาบน้ำ
เวลาน้ำขึ้นจะมีสีเขียวมรกตสวยงามมาก อ่าวทราย โครงกระดูกชาวเล (อายุกว่า
100 ปี) ภาพเขียนโบราณ (ที่ยังไม่เคยมีการสำรวจจากกรมศิลปากร) ถ้ำปลาดุก
(เป็นที่อยู่ของปลาดุกทะเล) ผาหินงาม ที่มีลวดลายสวยงามจนได้รับสมญาว่า
Paradise Canyon นอกจากนี้ ยังมี Fishing Tour ให้กับนักท่องเที่ยวด้วย

การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นอกจากเป็นแนวทางในการสอดส่องดูแลทรัพยากร
ที่พวกเขาหวงแหนอย่างดีแล้ว
ยังนำมาซึ่งรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนอีกทางหนึ่ง
และจากการร่วมแรงร่วมใจในการพิทักษ์ ปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
ทำให้ ชุมชนบ้านท่าพรุ และ อ่าวท่าเลน ชนะใจคณะกรรมการ
คว้ารางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทชุมชน ของ ปตท.ไปครองในที่สุด...

ดวงแก้ว ผุงเพิ่มตระกูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น