...+

วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

เวทีนโยบาย:รากฐานทิฐิเสรีภาพการชุมนุม

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ 31 สิงหาคม 2552 15:12 น.
นับวันความสุดโต่งในข้อเรียกร้องของการชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนจะไม่ใช่
ประเด็นเดียวที่สร้างความอีหลักอีเหลื่อใจให้แก่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น
เนื่องจากหลากเฉดหลายด้านของความเคลื่อนไหวได้ไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพบุคคล
อื่นที่อยู่ร่วมสังคม ตลอดจนสถาปนาความรุนแรงขึ้นในสังคมไทยทั้งทางกายภาพ
โครงสร้าง และวัฒนธรรมถึงขนาดความเป็นมนุษย์ของผู้คนเห็นต่างติดลบ

การชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนหนึ่งในเสรีภาพหลักทางประชาธิปไตยจึง
กลายเป็นแค่เครื่องมือยกระดับข้อเรียกร้องที่มักขาดความชอบธรรมเหตุผลเพียง
พอของมวลชนผู้ผ่อนทอนประสบการณ์ด้านบวกของตนในการเข้าร่วมรังสรรค์
ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory democracy)
ลงเหลือแค่การยอมตนเป็นศัตราวุธสังหารปฏิปักษ์ที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาด้วยความ
คับแค้น

มรดกกรรมร่วมจากการชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนที่ก่อเกิดจากความชิงชัง
รังเกียจเคียดแค้นอันเนื่องมาจากโลภะโมหะโทสะเช่นนี้
เมื่อบวกกับพัฒนาการเทคโนโลยีสื่อสารอย่างโฟนอิน วิดีโอลิงค์ ทวิตเตอร์
ยูทูบ อินเทอร์เน็ต ฟอร์เวิร์ดเมล์ จนล่าสุดตัดต่อคลิปเสียง
ที่ถูกนำมาใช้สนองความโลภหลงและโกรธด้วยเจตนาปลุกปั่นประชาชนเชื่อ
'ข่าวลือ-ลวง-เท็จ' จึงแพร่กระจายความเสียหายร้ายแรงแก่สังคม
เพราะกล่อมเกลากลุ่มผู้ชุมนุมและมีแนวโน้มเข้าร่วมลุ่มหลงโฆษณาชวนเชื่อ
เหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะมีข้อเท็จจริงตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
หรือยุติธรรมยืนยันหักล้างก็ตามที

คลิปเสียงจึงกลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกใช้อย่างไม่รับผิดชอบ
เพื่อสนองความโกรธเกลียดทำร้ายทำลายกัน ทั้งๆ เป็นนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์
ซ้ำร้ายกว่านั้นการชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนที่พ่วงด้วยเทคโนโลยีสื่อสารยัง
ไม่ได้เกิดขึ้นแล้วหายไปในเวลาไม่นาน
ด้วยไม่เพียงเข้าถึงได้ตลอดเวลาถ้าเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เท่านั้น
ทว่ายังยั่งยืนนานจากการหนุนนำของ 'ทิฐิ' ที่มาในนามของความคิด ความเชื่อ
ลัทธิ อุดมการณ์ ระบบ ระบอบ จนหยั่งรากลึกลงในสังคมไทย
ไม่ใช่ดำรงอยู่ชั่วครู่ชั่วยาม

ด้วย ถึงการชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนจะสิ้นสุดลงไปในตัวเอง
แต่เมื่อความโลภไม่รู้จักพอผสานความลุ่มหลงมัวเมาโกรธเกลียดชิงชังยังยึดจับ
กับอุดมการณ์แนบแน่น ก็จะหนุนเนื่องให้ความโลภ หลง
และโกรธก่ออันตรายร้ายแรงได้เสมอๆ
ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวนอกสภาผ่านรูปแบบการชุมนุม
แต่เป็นภายในสภาผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เช่นเดียวกัน
ยิ่งยึดถือกว้างขวางตามๆ กันไปทั้งโดยรู้หรือไม่รู้ตัว
ผลจากการกระทำก็จะเป็นมรดกกรรมร่วมของสังคมที่ยากไถ่ถอนอิสระ

กระนั้นใช่ว่าทิฐิที่ผู้คนทั่วไปให้ภาพด้านบวกว่าคืออุดมการณ์
ลัทธิ ทฤษฎี ว่าด้วยระบอบการปกครองจะเป็นปัจจัยเชิงลบเสียทั้งสิ้น
ด้วยถ้าถักทอขึ้นจากความถูกต้องชอบธรรมก็จะเป็นรากฐานหนุนคุณธรรมและแปรเป็น
พลังรังสรรค์สุขภาวะที่สมบูรณ์พร้อมทั้งทางกาย จิต ปัญญา และสังคม ได้
ด้วยสามารถยับยั้งโลภะ โมหะ
และโทสะไม่ให้เข้ามากรายกล้ำขณะใช้เสรีภาพทางประชาธิปไตยต่างๆ ได้
ไม่เว้นแม้แต่การชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนที่ก่อนหน้านั้นท่วมท้นความโกรธ
เกลียดโลภหลง

ทว่า ว่าก็ว่าเถอะ
การชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนทางการเมืองปัจจุบันกลับเสมือนใช้แต่เข็มทิศ
'หลงโลภโกรธ' ชี้นำ
โดยเข็มมุ่งชี้ผลประโยชน์บุคคลในฐานะทิศเหนือที่ต้องโล้สำเภามวลชนไปให้ถึง
ฝั่งฟากนั้นเสมอ
ไม่ว่าระหว่างทางมวลชนจะปลิดร่วงหล่นจากการโกลาหลจลาจลแค่ไหน

ในเมื่อตั้งต้นที่ความเห็นผิด
การกระทำตามมาจึงขัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอันเป็นกรอบกติกาการอยู่ร่วม
กันอย่างเคารพกันของสังคม
เพราะถูกความละโมบโลภลุ่มหลงและคับแค้นเคียดขึ้งอันเนื่องมาจากการประดิษฐ์
สร้างข้อมูลข่าวสารลับลวงพรางอย่างจำนวนคนตาย โฟนอิน วิดีโอลิงค์
หรือคลิปเสียงครอบงำกำกับวิถีทางใช้เสรีภาพ
จนทั้งสังคมตกบ่วงกรรมตามแรงทิฐิที่เข้าข่าย 'มิจฉาทิฐิ'
เหวี่ยงโยนทุกผู้คนไว้ในความหวาดกลัวด้วยไม่รู้ว่าการชุมนุมจะรุนแรงเลวร้าย
เมื่อใด

ความเห็นผิดทำนองคลองธรรมทำให้ความอยากได้ใคร่มีและความแตกแยกขัด
แย้งเกลียดชังกันก่อตัวเป็นทิฐิที่ลงหลักปักฐานหนักแน่นในสังคมไทย
ไม่โยกคลอนสั่นไหว ด้วยได้สถาปนาเป็นอุดมการณ์ หลักการ แนวความเชื่อ
ค่านิยม ที่มีผู้คนไม่น้อยสมาทานก้าวตามโดยไม่เคยตั้งคำถาม
ดังการรวมตัวกันชุมนุมและเดินขบวนเพื่อผลักดันการนิรโทษกรรมแก่บุคคลผู้ปัด
ปฏิเสธความรับผิด

รากฐานทิฐิแห่งเสรีภาพการชุมนุมจึงเป็นไปได้ทั้งทางบวกและลบ
ทั้งระดับกระพี้ผิวเผินและลุ่มลึกถึงแก่นแกนประชาธิปไตย
ในการแก้ไขการชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนที่รุนแรงจึงต้องทุ่มเทกระทำที่ทิฐิ
ที่เป็นเหตุปัจจัยกว่าคลี่คลายความเจ้าคิดเจ้าแค้นลุ่มหลงโลภโมโทสันอันเป็น
ปลายทาง

ทั้งนี้ปัจจุบันการชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนได้ถูกทำลายย่อยยับจาก
การถูกใช้เป็นเครื่องมือสนองความละโมบลุ่มหลงโกรธเกลียดของบุคคลและกลุ่ม
บุคคลที่มีทักษะหลอมรวมมวลชนด้วยการโฆษณาชวนเชื่อจรึงครึ่งเท็จครึ่งถึงเท็จ
ทั้งสิ้น จนสาธารณชนหวาดระแวงและตั้งแง่รังเกียจเดียดฉันท์
กระทั่งไม่น้อยคล้อยตามมายาคติว่าเสรีภาพนี้คือวิถีอนาธิปไตย (Anarchy)
ใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย (Mob rule)
ไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกเหนือเจตจำนงผู้ชุมนุมที่เรียกร้องสุดโต่ง
(Extreme)

กระทั่งกระบวนการเป้าหมายอธิบายวิธีการ (The ends justifies the
means.) ที่ใช้ทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายก็กลายเป็นฉลากประทับตราการชุมนุม
สาธารณะและเดินขบวนไปในที่สุด
ซึ่งถึงที่สุดแล้วภารกิจถูกต้องชอบธรรมก็อาจพ่ายแพ้ได้ในท้ายสุดเช่นเดียว
กัน ยังมิเอ่ยถึงความชอบธรรมและสมเหตุสมผลของข้อเรียกร้องที่เป็นลักษณะสัมพัทธ์
ทางสังคม เฉกเช่นเดียวกับจุดยืนทางการเมืองของผู้ชุมนุมทั้งแกนนำกุมอำนาจและมวลชน
สามัญชนที่เป็นอนิจจังเท่าๆ กับระบอบเคยยึดถือ
ที่ล้วนแล้วเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป
เพราะไม่มีความจริงแห่งธรรมชาติเป็นรากฐานรองรับที่จะทำให้ตั้งมั่นตลอดไป

กล่าว เช่นนี้มิได้หมายความว่าทิฐิที่เรียกจุดยืนทางการเมืองเรื่องรูปแบบระบอบการ
ปกครองไม่จำเป็น
ทว่าที่จำเป็นยิ่งกว่าคือทั้งรูปแบบและแก่นแกนต้องยืนหยัดกับธรรม
'ธรรมนำหน้า' สอดคล้องหลักธรรมชาติ
เพราะเอาเข้าจริงจุดยืนการเมืองเลื่อนไหลได้ดังผู้คนมากมายในประวัติศาสตร์
ไทยและสากล แต่เลื่อนไหลอย่างไรก็ควรผสานแนวทางธรรมชาติที่เกื้อกูลศักดิ์ศรีความเป็น
มนุษย์ของทุกคน

การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เป็นหมุดหมายของสังคมไทยอย่างน้อยสุด
จึงต้องก่อร่างจากรากฐานทิฐิที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรมหรือ 'สัมมาทิฐิ'
มองมนุษย์ทุกคนเสมอเท่าเทียมกัน

เพียงเท่านั้นการใช้เสรีภาพการชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนก็จะไม่ผลิ
บานจากความเกลียดโกรธโลภหลงจนนำมาสู่การปะทะระหว่างม็อบกับม็อบ
เคลื่อนม็อบไปปลุกปั่นยั่วยุเข่นคร่า
หรือลิดรอนละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นอันเป็นหลักการพื้นฐานที่รัฐ
ธรรมนูญรับรองไว้เหมือนกัน

นั่นทำให้การพินิจพฤติกรรมสังคมรวมหมู่ เช่น
การชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนที่รุนแรงจะละเลยแรงจูงใจอันเป็นแรงขับภายในไม่
ได้ ด้วยการเคลื่อนไหวในนามเสรีภาพแต่ใช้โลภะโมหะโทสะเหนี่ยวนำผู้คนมาเกาะ
เกี่ยวกันเป็นมวลชนนั้นอันตรายยิ่ง
เพราะวิธีการตลอดจนเป้าหมายจะกลายเป็นความก้าวร้าวเสมอ
ยิ่งผสมเทคโนโลยีบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ภัยร้ายยิ่งอยู่ในทุกจังหวะก้าว

เสรีภาพที่ไร้อิสรภาพเพราะพันธนาการล่ามร้อยไว้ด้วยโลภะ โมหะ
โทสะบนรากฐานทิฐิที่เห็นผิดเป็นชอบ กอปรกับไม่มี
'พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะและเดินขบวน พ.ศ. ....'
ที่แปรเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาเป็นภาคปฏิบัติการจริงกำกับควบคุมขอบเขตเสรีภาพ
ก็ทำให้ทั้งก่อน ระหว่าง
และหลังการเคลื่อนไหวมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ
และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งจากการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมเองและ
เจ้าหน้าที่รัฐผู้สลายการชุมนุมในเกมเอาล่อเอาเถิดนี้

ที่ สำคัญความอวดดื้อถือดี
ไม่ละวางทิฐิที่ผิดจากธรรมของผู้นำการชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนทั้งเบื้อง
หลังและเปิดเผยจักพันธนาการมวลชนไว้ในความคับแคบคับแค้น มัวเมาลุ่มหลง
ละโมบโลภมาก จนกระทั่งเสรีภาพนี้กลายเป็นความอีหลักอีเหลื่อใจในสังคมไทย

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น